วงศ์ปลากราย
วงศ์ปลากราย | |
---|---|
ปลากราย (Chitala ornata) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Osteoglossiformes |
วงศ์: | Notopteridae Bleeker, 1859 |
สปีชีส์: | ดูในรายละเอียด |
สกุล | |
วงศ์ปลากราย (อังกฤษ: Featherback fish, Knife fish) เป็นปลากระดูกแข็งน้ำจืดที่อยู่ในอันดับ Osteoglossiformes คือ ปลาที่มีกระดูกแข็งบริเวณส่วนหัวและลิ้น อันเป็นอันดับเดียวกับปลาในวงศ์ปลาตะพัดและปลาไหลผีอะบาอะบา ใช้ชื่อวงศ์ว่า Notopteridae (มาจากภาษากรีกคำว่า noton หมายถึง "หลัง" และ pteron หมายถึง "ครีบ"[1])
เป็นปลาน้ำจืด มีรูปร่างแบนด้านข้างมาก และเรียวไปทางด้านท้าย ครีบหลังเล็ก ครีบก้นและครีบหางยาวติดกัน จึงใช้ครีบก้นที่ยาวติดกันนี้โบกพริ้วในเวลาว่ายน้ำ ครีบท้องมีขนาดเล็กมาก ปากกว้าง เกล็ดเป็นแบบขอบบางเรียบ และมีขนาดเล็กละเอียด บางครั้งอาจจะขึ้นมาผิวน้ำเพื่อฮุบอากาศโดยไม่ต้องผ่านซี่กรองเหงือกเหมือนเช่นปลาทั่วไปอื่น ๆ เนื่องจากเป็นปลาที่มีอวัยวะพิเศษพัฒนามาจากถุงลมใช้ในการหายใจได้โดยตรง เป็นปลากินเนื้อที่ออกหากินในเวลากลางคืน
มีจุดเด่นคือ ครีบก้นที่ต่อกับครีบหาง มีก้านครีบทั้งหมด 85-141 ก้าน เป็นครีบที่ปลาในวงศ์นี้ใช้ในการว่ายน้ำมากที่สุด ไม่ว่าจะเคลื่อนที่ไปทิศทางใด ส่วนที่อยู่เหนือครีบก้นขึ้นไปจะเป็นกล้ามเนื้อหนาทำหน้าที่เช่นเดียวกับครีบก้น ซึ่งส่วนของกล้ามเนื้อตรงนี้ มีชื่อเรียกกันในภาษาพูดว่า "เชิงปลากราย" จัดเป็นส่วนที่มีรสชาติอร่อยมาก
พฤติกรรมเมื่อวางไข่ตัวผู้และตัวเมียช่วยกันดูแลไข่ ไข่เป็นก้อนสีขาวทึบ ติดเป็นกลุ่มกับวัสดุใต้น้ำเช่นตอไม้หรือเสาสะพาน เลี้ยงดูลูกจนโต
พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทวีปแอฟริกา, เอเชียใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งสิ้น 4 สกุล 10 ชนิด ได้แก่
การจำแนก
แก้- สกุล Chitala มี 6 ชนิด
- สกุล Notopterus มีชนิดเดียว
- สกุล Xenomystus มีชนิดเดียว
- สกุล Papyrocranus มี 2 ชนิด
สำหรับในประเทศไทยพบทั้งสิ้น 4 ชนิด (4 ชนิดแรกในด้านบน) โดยในภาษาไทยมักจะเรียกรวม ๆ กันทั้งหมดว่า "ปลาตอง"[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ Greenwood, P.H. & Wilson, M.V. (1998). Paxton, J.R. & Eschmeyer, W.N., ed. Encyclopedia of Fishes. San Diego: Academic Press. pp. 82–83. ISBN 0-12-547665-5.
- ↑ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 264 หน้า. หน้า 15. ISBN 974-00-8701-9