วงศ์กิ้งก่า
ตะกอง หรือ มังกรน้ำอินโดจีน หรือ กิ้งก่ายักษ์ (Physignathus cocincinus) เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของวงศ์นี้ชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Agaminae
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Lacertilia
วงศ์: Agamidae
วงศ์

วงศ์กิ้งก่า (อังกฤษ: Dragon lizards, Old Wolrd lizards, ชื่อวิทยาศาสตร์: Agamidae) เป็นวงศ์ของสัตว์เลื้อยคลานในอันดับย่อยกิ้งก่า วงศ์หนึ่ง ที่มีจำนวนสมาชิกมากและมีความหลากหลายมาก ประมาณเกือบ 500 ชนิด จนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ย่อย (ดูในตาราง)

มีลักษณะโดยรวม คือ มีขา 4 ข้างเห็นชัดเจน มีเกล็ดปกคลุมด้านหลังและด้านท้องของลำตัว เกล็ดมีขนาดเล็กเรียงตัวซ้อนเหลื่อมกันหรือต่อเนื่องกัน ไม่มีกระดูกในชั้นหนัง กระดูกหัวไหล่มีกระดูกอินเตอร์คลาวิเคิลเป็นรูปตัวอักษรที และกระดูกไหปลาร้ามีรูปร่างโค้ง มีหางยาว แต่โดยทั่วไปน้อยกว่า 1.4 เท่าของความยาวจากปลายจมูกถึงรูก้น ไม่สามารถสะบัดหางให้หลุดจากลำตัวได้ ยกเว้นในสกุล Uromystax พื้นผิวด้านบนของลิ้นมีตุ่ม ฟันที่ขากรรไกรเกาะติดกับพื้นผิวกระดูกโดยตรง กระดูกพเทอรีกอยด์ไม่มีฟัน

พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในทวีปเอเชีย, แอฟริกา, ออสเตรเลีย ส่วนใหญ่ออกลูกเป็นไข่ มีเพียงบางสกุลเท่านั้นที่ตกลูกเป็นตัว

สำหรับในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาทิ ตะกอง (Physignathus cocincinus) ซึ่งเป็นกิ้งก่าขนาดใหญ่ พบได้ในป่าดิบชื้นใกล้แหล่งน้ำในป่า เช่น น้ำตก ในภูมิภาคอินโดจีน, กิ้งก่าบินคอแดง (Draco blanfordii), กิ้งก่าสวน (Calotes mystaceus), หรือ แย้เส้น (Leiolepis belliana) ที่พบได้ทั่วไปตามพื้นดินภาคอีสาน[1]

อ้างอิง

แก้
  1. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 373-374 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้