ลิ้นมังกร
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
อันดับ: Asparagales
วงศ์: Asparagaceae
สกุล: Dracaena
สปีชีส์: D.  trifasciata
ชื่อทวินาม
Dracaena trifasciata
(Prain) Mabb.[1]
ชื่อพ้อง

Sansevieria trifasciata Prain[1] Sansevieria laurentii

ผลลิ้นมังกรในธรรมชาติ
ดอกลิ้นมังกร
ลิ้นมังกรพันธุ์แคระใบสั้น (Dracaena trifasciata Hahnii)

ลิ้นมังกร (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dracaena trifasciata; อังกฤษ: snake plant, Saint George's sword หรือ mother-in-law's tongue) เป็นพืชในวงศ์ Asparagaceae เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยว สีเขียวเข้มแกมเทา อวบน้ำ ดอกช่อ สีขาวมีกลิ่นหอม เป็นพืชท้องถิ่นในแอฟริกาตะวันตกตั้งแต่ไนจีเรียถึงคองโก ใช้เป็นไม้ประดับ ใบใช้ตำละเอียด แก้พิษตะขาบ แมงป่อง

ชื่อทวินามเดิม Sansevieria trifasciata ปัจจุบันจัดเป็นชื่อพ้องของลิ้นมังกร

อนุกรมวิธานและศัพทมูลวิทยา

แก้

เมื่อปี ค.ศ. 1794 ชื่อสกุล Sansevieria ตั้งขึ้นโดยคาร์ล พีเทอร์ ทุนเบอร์ก (Carl Peter Thunberg) เพื่อเป็นเกียรติแก่ไรมอนโด ดี ซานโกร (Raimondo di Sangro) เจ้าชายแห่งเมืองซานเซเวโร (San Severo) ประเทศอิตาลี[2] ในปี ค.ศ. 2017 ชื่อสกุลเปลี่ยนเป็น Dracaena[3] ชื่อลักษณะเฉพาะ trifasciata หมายถึง "สามมัด"[4]

ชื่ออื่นของ Dracaena trifasciata คือ ลิ้นแม่ยาย และอื่น ๆ เช่น ว่านหางเสือ, ว่านงาช้าง, คลีบปลาวาฬ, ลิ้นนาคราช[5]

ชื่ออื่นภาษาอังกฤษคือ mother-in-law's tongue (ลิ้นแม่ยาย-แม่ผัว), Saint George's sword (ดาบของนักบุญจอร์จ) และ snake plant (ต้นงู) จากรูปร่างใบที่แหลม และในชื่อ viper's bowstring hemp (ป่านสายธนูของงูพิษ) เนื่องจากเคยใช้ทำเป็นเส้นใยพืชของสายธนู[6]

ลักษณะ

แก้

เป็นไม้ล้มลุกหลายปี ไม่ผลัดใบ มีไหลใต้ดิน เป็นข้อปล้องสั้นๆ บางครั้งอยู่เหนือพื้นดิน

ใบแข็งหนาตั้งตรง รูปใบหอก บางครั้งบิดเล็กน้อยหรือบิดเป็นเกลียว ปลายเรียวแหลม ขอบเรียบ ใบที่โตเต็มที่มีสีเขียวเข้มถึงเขียวอมเทา มีแถบสีเขียวอ่อนหรือสีเทาอมเขียวพาดขวางเป็นระยะตลอดความยาวใบ เป็นลวดลายอยู่ที่แผ่นใบ[7] ในพันธุ์ปลูกต่าง ๆ มีสีและลวดลายที่ต่างกัน บางชนิดมีเส้นใยเหนียวที่ใช้ทำเชือก[8] ใบมักมีความยาวตั้งแต่ 70–90 เซนติเมตร (2.3–3.0 ฟุต) กว้าง 5–6 เซนติเมตร (2.0–2.4 นิ้ว) และอาจยาวได้ถึง 2 เมตร ( 6 ฟุต) หากเติบโตในสภาวะที่เหมาะสม

ช่อดอกออกจากซอกกาบใบ มักชูสูงพ้นพุ่มใบ มีหลายรูปแบบ ทั้งช่อเชิงลด (spike) ช่อกระจะ (raceme) ช่อกระจะแยกแขนง (racemose panicle) บางชนิดเป็นช่อกระจุกที่โคนต้น แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกสีขาวถึงสีขาวอมชมพู มีวงกลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 กลีบบานจากล่างขึ้นบนในช่วงเย็นถึงช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น และมีกลิ่นหอม[8] กลีบดอก 6 กลีบ เกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน[9]

ผลมีเนื้อนุ่ม เมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม ภายในมี 1–2 เมล็ด[8]

ลิ้นมังกรเป็นพืชกลางคืน ปิดปากใบเวลากลางวัน เปิดปากใบเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยในแสงแดดที่ร้อนจัด และเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พร้อมทั้งคายความชื้นและปล่อยแก๊สออกซิเจนออก พืชจะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บไว้ในตอนกลางคืนมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงในตอนเช้า ซึ่งเรียก กระบวนการสังเคราะห์แสงของกรดคราซุลาเซน (crassulacean acid metabolism, CAM) ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในพืชอวบน้ำหลายชนิดที่ต้องทนต่อสภาพแห้งแล้ง ลักษณะกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชกลุ่มนี้จะสลับกับพืชทั่วไป ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางคืนได้ดี จึงทำให้หลายคนนิยมนำเอาพืชกลุ่มนี้มาตกแต่งในอาคาร

การใช้งานและนิเวศวิทยา

แก้

นิยมใช้เป็นไม้ประดับกลางแจ้งในสภาพภูมิอากาศร้อนขึ้น และเป็นที่นิยมในฐานะเป็นพืชในร่มในที่อยูอาศัยและสำนักงาน (houseplant) ดูแลง่าย เนื่องจากลิ้นมังกรเป็นไม้อวบน้ำ มีความทนต่อระดับแสงน้อยและการให้น้ำที่ไม่สม่ำเสมอ มักเน่าได้ง่ายถ้าได้รับน้ำมากเกินไป[10] ในช่วงฤดูหนาวต้องการการให้น้ำเพียงครั้งเดียวทุกสองเดือน และควรปลูกในดินร่วนหรือดินปนทราย ระบายน้ำดี[8]

จัดเป็นวัชพืชในบางส่วนของภาคเหนือของออสเตรเลีย[11]

การศึกษาเรื่องอากาศสะอาดของนาซ่า พบว่า ลิ้นมังกร (D. trifasciata) มีศักยภาพในการกรองอากาศภายในอาคาร โดยขจัดสารพิษหลัก 4 ใน 5 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับอาการป่วยโรคตึกเป็นพิษ SBS (sick building syndrome)[12] แม้ว่าการใช้งานจริงภายในอาคารพืชมีอัตราการกรองที่น้อยกว่าในชั้นการการศึกษา[13]

ลิ้นมังกรสามารถขยายพันธุ์โดยการตัดหรือแบ่งไหล (เหง้า) ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เกิดการแปรผันทางพันธุกรรม (variegation)[14]

ลิ้นมังกรมีสารซาโปนินซึ่งเป็นพิษเล็กน้อยต่อสุนัขและแมวในระบบทางเดินอาหาร (หากบริโภคเข้าไป)[15] แม้ว่าเป็นพืชที่ไม่เป็นพิษในการทดลองกับหนู ในการศึกษาศักยภาพในการต้านการเกิดแผล[16]

ในประเทศไทย

แก้

พืชสกุลลิ้นมังกรกระจายพันธุ์ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของทวีปแอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย และประเทศในแถบอินดีสตะวันออก ซึ่งค้นพบแล้วประมาณ 70 ชนิด โดยประเทศไทยถือเป็นแหล่งปลูกเลี้ยง รวบรวมสายพันธุ์ และผลิตลูกผสมที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งของโลก[8]

การปลูกลิ้นมังกรบริเวณรอบรั้วบ้านจะช่วยป้องกันไม่ให้งูหรือสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นอันตรายเข้ามาได้ สันนิษฐานว่าลิ้นมังกรมีใบขึ้นเบียดกันหนาแน่น และบางสายพันธุ์มีขอบใบที่เรียบเป็นลักษณะที่สัตว์เลื้อยคลานบางประเภทไม่เข้าใกล้[17]

อ้างอิง

แก้
  • เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ว่าน. กทม. เศรษฐศิลป์. 2553 หน้า 110
  1. 1.0 1.1 "Sansevieria trifasciata". World Checklist of Selected Plant Families. Royal Botanic Gardens, Kew. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-27. สืบค้นเมื่อ 2020-02-18.
  2. "ลิ้นมังกร ปลูกเลี้ยง ป้องกันโรค และขยายพันธ์อย่างไร". บ้านและสวน (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-03-31.
  3. "World Checklist of Selected Plant Families: Royal Botanic Gardens, Kew". wcsp.science.kew.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-16. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.
  4. Harrison, Lorraine (2012). RHS Latin for gardeners. United Kingdom: Mitchell Beazley. p. 224. ISBN 9781845337315.
  5. "ลิ้นมังกร". srdi.yru.ac.th.
  6. "Sansevieria trifasciata" (ภาษาอังกฤษ). Stellenbosch University Botanical Garden. 20 July 2019. สืบค้นเมื่อ 30 July 2019.
  7. "ลิ้นมังกร". แฟชั่นไอส์แลนด์.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 "ลิ้นมังกร ปลูกเลี้ยง ป้องกันโรค และขยายพันธ์อย่างไร". บ้านและสวน (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-03-31.
  9. "ลิ้นมังกร". srdi.yru.ac.th.
  10. "Mother-in-Law's Tongue or Snake Plant". สืบค้นเมื่อ 2010-03-04.
  11. "mother-in-law's tongue | Weed Identification – Brisbane City Council". weeds.brisbane.qld.gov.au. สืบค้นเมื่อ 23 June 2019.
  12. BC Wolverton; WL Douglas; K Bounds (July 1989). A study of interior landscape plants for indoor air pollution abatement (PDF) (Report). NASA. NASA-TM-108061.
  13. Cummings, Bryan E.; Waring, Michael S. (2019-11-06). "Potted plants do not improve indoor air quality: a review and analysis of reported VOC removal efficiencies". Journal of Exposure Science & Environmental Epidemiology (ภาษาอังกฤษ). 30 (2): 253–261. doi:10.1038/s41370-019-0175-9. ISSN 1559-064X. PMID 31695112.
  14. "Sansevieria Production Guide".
  15. "Mother-in-Law's Tongue". ASPCA.
  16. Ighodaro, Osaseaga; Adeosun, Abiola; Ojiko, Barinemene; Akorede, Abeeb; FuyiWilliams, Oyindamola (2017). "Toxicity status and anti-ulcerative potential of Sanseviera trifasciata leaf extract in wistar rats". Journal of Intercultural Ethnopharmacology. 6 (2): 234. doi:10.5455/jice.20170421103553. ISSN 2146-8397. PMC 5429084. PMID 28512605.{{cite journal}}: CS1 maint: PMC format (ลิงก์)
  17. "ลิ้นมังกร ไม้ประดับตกแต่งได้ทั้งภายในและภายนอก ช่วยดูดซับสารพิษในอากาศ". kaset.today (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).