ลิลิตโองการแช่งน้ำ
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ลิลิตโองการแช่งน้ำ หรือ ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า[1] เป็นวรรณคดีเก่าแก่มากที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย มีความสำคัญทั้งด้านวรรณคดีนิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมของไทย
ลิลิตโองการแช่งน้ำ | |
---|---|
ชื่ออื่น | ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า |
กวี | พราหมณ์ ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง[ต้องการอ้างอิง] |
ประเภท | พิธีกรรม |
คำประพันธ์ | ร่ายดั้น และ โคลงห้า |
ความยาว | 37 บท |
ยุค | อยุธยา |
ปีที่แต่ง | สันนิษฐานว่า แต่งในช่วง สมัยพระเจ้าอู่ทองถึงสมัยอยุธยาตอนต้น |
ลิขสิทธิ์ | - |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์ |
ประวัติ
แก้โองการแช่งน้ำเป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ของไทย นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกัน ว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่นักวิชาการบางคน เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าวรรณคดีเรื่องนี้น่าจะแต่งขึ้นอย่างน้อยก็ในสมัย พระเจ้าอู่ทอง ผู้ทรงสถาปนาเมืองอโยธยา (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นอยุธยา)
คำศัพท์และสำนวนภาษา
แก้โองการแช่งน้ำเป็นวรรณคดีที่ใช้คำเก่า แต่เป็นคำไทยแท้เป็นส่วนมาก ทำให้อ่านเข้าใจยาก ทำให้นักวิจารณ์สับสน ซึ่งแตกต่างจากวรรณคดีที่ใช้ภาษาบาลีหรือสันสกฤต ที่สามารถสืบหาความหมายได้ง่ายกว่า เช่น ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งใช้คำศัพท์บาลีสันสกฤตปะปนอยู่ตลอดทั้งเรื่อง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยมีพระราชดำริ ว่า "โองการแช่งน้ำนี้เรียกว่า โคลง เขียนเป็นหนังสือพราหมณ์ แต่เมื่อตรวจดูจะกำหนดเค่าว่าเป็นโคลงอย่างไรก็ไม่ได้สนัด ได้เค้า ๆ บ้างแล้วก็เลือนไป แต่เนื้อความนั้นเป็นภาษาไทย ถอยคำที่ใช้ลึกซึ้งที่ไม่เข้าใจบ้างก็มี..." ("พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล", พระราชพิธีสิบสองเดือน)
คำศัพท์ในโองการแช่งน้ำมีการผสมผสาน เริ่มตั้งแต่คำศัพท์บาลีและสันสกฤต โดยเฉพาะในช่วงต้นที่เป็นการบูชาเทพเจ้าทั้งสาม เช่น โอม สิทธิ มฤตยู จันทร์ ธรณี เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์ไทยโบราณ มีลักษณะของคำโดดพยางค์เดียวเป็นส่วนใหญ่ หลายคำปรากฏอยู่ในเอกสารภาษาไทย และจารึกภาษาไทยสมัยสุโขทัย และอยุธยา นอกจากนี้ยังปรากฏคำในภาษาถิ่นของไทยด้วย เช่น สรวง แผ้ว แกล้ว แล้งไข้ แอ่น แกว่น ฯลฯ
สำหรับคำเขมรนั้นปรากฏไม่มากนัก เช่น ถวัด แสนง ขนาย ขจาย ฯลฯ
ในส่วนของสำนวนภาษานั้นมีลักษณะการแช่งที่ปรากฏทั่วไปในสังคมไทย เช่น "ขอให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี"
ลักษณะคำประพันธ์
แก้เชื่อกันว่าโองการแช่งน้ำฉบับนี้ แต่งขึ้นด้วย โคลงห้า ที่นิยมใช้กันในอาณาจักรล้านช้างในยุคเดียวกันนั้น[ต้องการอ้างอิง] กล่าวคือ บาทหนึ่ง มี 5 คำ เป็นวรรคหน้า 3 คำ วรรคหลัง 2 คำ หนึ่งบทมี 4 บาท นิยมใช้เอกโท (เอกสี่ โทสาม) แต่สามารถเพิ่มสร้อยหน้า และสร้อยหลังบาทได้ ทั้งนี้ยังมีร่ายสลับ จึงนิยมเรียกว่า ลิลิต แม้จะไม่สอดคล้องกับธรรมเนียมการแต่งลิลิตทั่วไปที่มักจะแต่งร่ายสุภาพร้อยกับโคลงสุภาพ หรือร่ายดั้นร้อยกับโคลงดั้นก็ตาม
ตามหลักแล้ว ลิลิต หมายถึง หนังสือที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภท โคลง และร่าย สลับกันเป็นช่วง ๆ ตามธรรมเนียมแล้ว มักจะใช้โคลงและร่ายในแบบเดียวกัน กล่าวคือ โคลงดั้น สลับกับร่ายดั้น, โคลงสุภาพ สลับกับร่ายสุภาพ อย่างนี้เป็นต้น โคลงและร่ายที่สลับกันนั้น มักจะร้อยสัมผัสด้วยกัน เรียกว่า เข้าลิลิต
วรรณคดีที่แต่งตามแบบแผนลิลิต มักจะใช้ร่ายและโคลงสลับกันเป็นช่วง ๆ ตามจังหวะ ลีลา และท่วงทำนอง และความเหมาะสมของเนื้อหาในช่วงนั้น ๆ สำหรับโองการแช่งน้ำ แม้จะเคยเรียกกันว่า ลิลิตโองการแช่งน้ำ มาก่อน แต่ในปัจจุบันนักวรรณคดีส่วนใหญ่สมัครใจที่จะเรียกชื่อโดยไม่มีคำว่าลิลิต ทั้ง ๆ ที่ในโองการแช่งน้ำ ก็แต่งด้วยร่ายสลับโคลง ทว่าเป็นร่ายโบราณ สลับกับโคลงห้า ซึ่งไม่ปรากฏแบบแผนที่ไหนมาก่อน
เนื้อหา
แก้เนื้อหาในลิลิตโองการแช่งน้ำอาจแบ่งได้เป็น 5 ส่วนด้วยกัน ดังนี้
- สดุดีเทพเจ้าทั้ง 3 องค์ ตามความเชื่อของฮินดู ได้แก่ พระผู้ประทับเหนือหลังครุฑ "สี่มือถือสังข์จักรคธาธรณี"(พระนารายณ์) พระผู้ประทับบนวัวเผือก "เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทรเปนปิ่น" (พระศิวะ) และผู้ประทับ "เหนือขุนห่าน" (พระพรหม) เป็นร่ายสามบทสั้น ๆ
- กล่าวถึงกำเนิดโลก และสังคมมนุษย์ อัญเชิญเทพยดา พระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผีต่าง ๆ มาเป็นพยาน ทั้งหมดนี้พรรณนาด้วยโคลงห้า
- คำสาปแช่งผู้ทรยศ คิดไม่ซื่อต่อเจ้าแผ่นดิน ให้ประสบภยันตรายนานา เป็นเนื้อหาที่ยาวที่สุดในบรรดา 5 ส่วน
- คำอวยพรแก่ผู้จงรักภักดีแก่ผู้ที่มีความจงรักภักดี มีเนื้อหาสั้น ๆ
- ถวายพระพรเจ้าแผ่นดิน เป็นร่ายสั้น ๆ เพียง 6 วรรค
อ้างอิง
แก้- ↑ กรมศิลปากร. (2540). วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว. ISBN 9744190825. หน้า (1)-(13).
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- จิตร ภูมิศักดิ์. โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา. ดวงกมล : กรุงเทพฯ, 2524.
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. โรงพิมพ์พระจันทร์ : พระนคร, 2496.
- สุภาพรรณ ณ บางช้าง, รองศาสตราจารย์. ขนบธรรมเนียมประเพณี : ความเชื่อและแนวทางปฏิบัติในสมัยสุโขทัย. โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพฯ, 2535.
- นิยดา เหล่าสุนทร. พินิจวรรณกรรม. แม่คำผาง : กรุงเทพฯ, 2535.