ลิงบาร์บารี
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
วงศ์: Cercopithecidae
สกุล: Macaca
สปีชีส์: M.  sylvanus
ชื่อทวินาม
Macaca sylvanus
(Linnaeus, 1758)[2]
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์: ปัจจุบันสถานะในตูนิเซียใกล้จะสูญพันธุ์
ชื่อพ้อง[1]
  • Macaca sylvana x

ลิงบาร์บารี หรือ บาร์บารีเอป หรือ มาก็อต (อังกฤษ: Barbary macaque, Barbary ape, Magot; ชื่อวิทยาศาสตร์: Macaca sylvanus[3]) เป็นลิงชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ลิงโลกเก่า (Cercopithecidae)

จัดเป็นลิงประเภทลิงแม็กแคกชนิดหนึ่ง จัดเป็นลิงเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่พบกระจายพันธฺุ์อยู่ทางตอนเหนือของทะเลทรายสะฮารา บริเวณยิบรอลตา, โมร็อกโก และในพื้นที่อนุรักษ์ของลิเบีย รวมถึงอาจพบได้ในทวีปยุโรปทางตอนใต้ที่กับช่องแคบยิบรอลตาได้ด้วย ซึ่งก็จัดได้อีกว่าเป็นลิงเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่พบได้ในทวีปยุโรป ซึ่งตามปกติแล้ว ทวีปยุโรปจะไม่มีลิง สันนิษฐานว่า เกิดจากการนำเข้ามาในฐานะของสัตว์เลี้ยงหรือเพื่อการละเล่นละครสัตว์[4]

ลิงบาร์บารี มีลักษณะเหมือนลิงแม็กแคกชนิดอื่น ๆ มีขนตามลำตัวเป็นสีส้มฟูหนา เป็นลิงที่ไม่มีหาง อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง และสามารถปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถพบได้ทั้งในทะเลทรายที่ร้อนระอุ รวมถึงสถานที่ ๆ อากาศเหน็บหนาวอุณหภูมิติดลบ มีหิมะและน้ำแข็งได้ด้วย กินอาหารได้หลากหลายทั้งพืช, เนืิ้อสัตว์ และสัตว์ขนาดเล็กต่าง ๆ

ลิงบาร์บารีตัวผู้และลูกน้อย

แต่ลิงบาร์บารี มีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากลิงแม็กแคกชนิดอื่น ๆ คือ ตัวผู้มักจะกระเตงลูกไปไหนมาไหนด้วย และจะปกป้องดูแลลูกลิงเป็นอย่างดี จากการศึกษาพบว่า เป็นไปเพื่อการปฏิสัมพันธ์กับลิงตัวผู้ตัวอื่น ๆ โดยใช้ลูกลิงเป็นตัวเชื่อม บางครั้งจะพบลิงตัวผู้ตกแต่งขนให้กัน รวมทั้งดูแลลูกลิงซึ่งกันและกันด้วย

ลิงบาร์บารี นิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยง โดยกลุ่มลักลอบค้าสัตว์ป่าจะจับลูกลิงประมาณ 300 ตัวจากป่าในโมร็อกโกเพื่อส่งไปขายยังตลาดสัตว์เลี้ยงในยุโรปที่เติบโตขึ้น ส่งผลเสียต่อความยั่งยืนของจำนวนประชากร ปัจจุบันมีจำนวนประชากรอยู่เพียง 6,000 ตัว ในจำนวนนี้ 4,000-5,000 ตัวอยู่ในโมร็อกโก โดยหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ลิงบาร์รารีถูกเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงมานานนับพันปีมาแล้ว เพราะมีการพบโครงกระดูกของลิงชนิดนี้ใต้เถ้าถ่านของเมืองปอมเปอี, ลึกลงไปในสุสานใต้ดินของอียิปต์ รวมทั้งถูกฝังใต้ยอดเขาในไอร์แลนด์ที่ซึ่งกษัตริย์อัลส์เตอร์ในยุคสำริดเคยครองบัลลังก์อีกด้วย[5]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Butynski, T. M., Cortes, J., Water, S., Fa, J., Hobbelink, M. E., van Lavieren, E., Belbachir, F., Cuzin, F., de Smet, K., Mouna, M., de Iongh, H., Menard, N. & Camperio-Ciani, A. (2008). Macaca sylvanus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 4 January 2009.
  2. Linne´, Carl von (1758). Systema naturæ. Regnum animale (10 ed.). p. 25. สืบค้นเมื่อ 19 November 2012.
  3. "Magot, n.". Oxford English Dictionary. สืบค้นเมื่อ 15 May 2013.
  4. หน้า 171, สัตว์สวยป่างาม (สิงหาคม, 2518) โดย ชมรมนิเวศวิทยามหาวิทยาลัยมหิดล
  5. "วานรน้อยแห่งโมร็อกโก". เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก. สืบค้นเมื่อ 10 November 2014.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Macaca sylvanus ที่วิกิสปีชีส์