ลาร์รีย์ เอลลิสัน

ลอเรนซ์ โจเซฟ เอลลิสัน (อังกฤษ: Lawrence Joseph Ellison เกิด 17 สิงหาคม 2487 รู้จักโดยทั่วไปว่า ลาร์รีย์ เอลลิสัน) เป็นนักธุรกิจ นักลงทุน และนักการกุศลชาวอเมริกัน เป็นผู้จัดตั้ง ประธานบริหาร และหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของออราเคิลคอร์ปอเรชัน โดยเดือนสิงหาคม 2560 นิตยสารฟอบส์จัดเขาเป็นคนรวยที่สุดอันดับ 5 ในสหรัฐอเมริกาและอันดับ 7 ในโลก โดยมีทรัพย์สมบัติถึง 61,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,008,500 ล้านบาท)[3]

ลาร์รีย์ เอลลิสัน
(Larry Ellison)
ลาร์รีย์ เอลลิสันเมื่อปี 2559
เกิดลาร์รีย์ โจเซฟ เอ็ลลิสัน
(1944-08-17) สิงหาคม 17, 1944 (79 ปี)
แมนแฮตตัน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
สัญชาติอเมริกัน
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอิลลินอย เออร์แบนา-แชมเปญจน์
มหาวิทยาลัยชิคาโก
อาชีพประธานบริหารและหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี[1]
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2509–ปัจจุบัน
มีชื่อเสียงจากผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของบริษัทของออราเคิลคอร์ปอเรชัน
คู่สมรส
  • Adda Quinn
    (สมรส 2510; หย่า 2517)
  • Nancy Wheeler Jenkins
    (สมรส 2520; หย่า 2521)
  • Barbara Boothe
    (สมรส 2526; หย่า 2529)
  • Melanie Craft
    (สมรส 2546; หย่า 2553)
บุตรDavid Ellison
Megan Ellison
เว็บไซต์Larry Ellison

เอลลิสันเกิดในนครนิวยอร์กและโตขึ้นในเมืองชิคาโก เขาเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิลลินอย เออร์แบนา-แชมเปญจน์และมหาวิทยาลัยชิคาโก แต่ไม่จบการศึกษาก่อนย้ายไปอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2509 เมื่อกำลังทำงานให้แก่บริษัท Ampex ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ความสนใจในงานวิจัยฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ของ ดร. Edgar F. Codd ได้ทำให้เขาจัดตั้งบริษัทซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นออราเคิลคอร์ปอเรชันในปี 2520 บริษัทได้ขายระบบฐานข้อมูลในระดับล่างจนถึงกลาง แข่งขันกับ Sybase และ ไมโครซอฟท์ ซีควลเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งเป็นเหตุให้นิตยสารฟอบส์จัดเขาว่าเป็นคนมั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งในโลก

เอลลิสันได้บริจาคทรัพย์ของเขา 1% ให้กับการกุศลและได้ลงนามกับองค์กรสัญญาว่าจะให้ (The Giving Pledge) ซึ่งผู้ลงนามปกติสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งแก่สาธารณกุศลไม่ว่าจะเมื่อยังมีชีวิตอยู่หรือเมื่อเสียชีวิต นอกจากงานที่บริษัท เอลลิสันยังประสบความสำเร็จในการแข่งเรือยอชต์โดยเป็นส่วนของทีม Oracle Team USA เขามีใบอนุญาตขับเครื่องบินและเป็นเจ้าของเครื่องบินไอพ่นทหาร 2 ลำ[4]

การกุศล แก้

ในปี 2532 ข้อศอกของเอลลิสันแตกในอุบัติเหตุจักรยานยนต์ความเร็วสูง เมื่อเสาะหาศัลยแพทย์กระดูกที่เก่ง เขาได้พบ นพ. ไมเคิล แช็ปแมนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส เพราะประทับใจในการดูแล เอลลิสันจึงได้บริจาคทรัพย์ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 162.5 ล้านบาท) สนับสนุนการสร้างศูนย์วิจัยกล้ามเนื้อ-กระดูกลอเรนซ์ เจ เอลลิสัน ต่อมาในปี 2541 ศูนย์คนไข้นอกลอเรนซ์ เจ เอลลิสัน (Lawrence J. Ellison Ambulatory Care) จึงได้เปิดที่เมืองแซคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย[5]

เพื่อจะยุติการฟ้องศาลในข้อหาการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในเนื่องกับการขายหุ้นของออราเคิลมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ศาลได้อนุญาตให้เขาบริจาคทรัพย์มูลค่า 100 ล้านเหรียญ (ประมาณ 3,250 ล้านบาท) ให้กับมูลนิธิการกุศลของเขาเองโดยไม่ต้องยอมรับความผิด แต่ศาลแคลิฟอร์เนียไม่ยอมให้บริษัทจ่ายค่าใช้จ่ายในการสู้คดีกว่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทนายของเขาได้อ้างว่า ถ้าเอลลิสันจ่ายเอง อาจจะมองได้ว่าเขายอมรับความผิด การบริจาคทรัพย์ให้กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของเขา ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความเป็นกลางของศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสองท่านผู้ได้ตรวจสอบคดีเพื่อบริษัท[6]

โดยตอบสนองต่อเหตุการณ์เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เอลลิสันได้เสนอบริจาคซอฟต์แวร์ให้แก่รัฐบาลกลางสหรัฐ เพื่อให้สร้างและดำเนินการฐานข้อมูลประชาชนและเพื่อให้เริ่มใช้บัตรประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้ก่อข้อโต้แย้งอย่างมาก[7]

รายการบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศลของคนอเมริกันที่มั่งคั่งที่สุดโดยนิตยสารฟอบส์ปี 2547 แสดงว่า เอลลิสันได้บริจาคทรัพย์ $151,092,103 (ประมาณ 5,000 ล้านบาท) หรือประมาณ 1% ของทรัพย์สินส่วนตัว[8]

ในเดือนมิถุนายนปี 2549 เอลลิสันประกาศว่าเขาจะกลับคำพูดว่าจะให้ทรัพย์สินมูลค่า 115 ล้านเหรียญสหรัฐแก่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพราะอธิการบดีลอเร็นซ์ ซัมเมอร์สได้ลาจากมหาวิทยาลัยไป ผู้แถลงข่าวของบริษัทได้แถลงว่า "โครงการเป็นไอเดียของลาร์รีย์ ซัมเมอร์ส และเมื่อมันปรากฏว่า ลาร์รีย์ ซัมเมอร์สกำลังลาจากไป ลาร์รีย์ เอลลิสันจึงได้พิจารณาเรื่องนี้ใหม่ ไอเดียนี้มาจากลาร์รีย์ เอลลิสันและลาร์รีย์ ซัมเมอร์สตั้งแต่ต้น"[9]

ในปี 2550 เอลลิสันสัญญาว่าจะให้ 500,000 เหรียญสหรัฐ (16.25 ล้านบาท) แก่ศูนย์ชุมชนแห่งหนึ่งในประเทศอิสราเอล หลังจากที่พบว่า อาคารไม่ได้เสริมป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธ[10] การบริจาคเพื่อการกุศลอื่น ๆ ของเขารวมทั้งทรัพย์มูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (325 ล้านบาท) แก่องค์กร Friends of the Israel Defense Forces ในปี 2557 ซึ่งเขากล่าวว่า "ในใจของผม มันไม่มีเกียรติอื่นเหนือกว่าการสนับสนุนคนกล้าหาญที่สุดในโลกพวกหนึ่ง... ชายและหญิงเหล่านี้ร่วมมือกันเพื่อจุดหมายอันไม่มีการล้มเลิก คือ เพื่อป้องกันอิสราเอลและพยายามอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข"[11] ในปี 2560 เอลลิสันบริจาคทรัพย์ 16.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (539.5 ล้านบาท) แก่ Friends of the Israel Defense Forces ซึ่งจะช่วยสร้างอาคารสวัสดิภาพในค่ายทหารใหม่สำหรับทหารเกณฑ์ชายหญิง[12]

ในเดือนสิงหาคม 2553 มีรายงานว่า เอลลิสันเป็นหนึ่งในอภิมหาเศรษฐี 40 คนที่ได้ลงนามกับองค์กรสัญญาว่าจะให้[13][14] โดยเขาเขียนแถลงเหตุไว้ว่า "หลายปีก่อน ผมได้มอบทรัพย์สมบัติแทบทั้งหมดของผมให้แก่ทรัสต์ หมายจะให้สมบัติอย่างน้อย 95% เพื่อการกุศล ผมได้ให้ทรัพย์มูลค่าเป็นร้อย ๆ ล้านเหรียญเพื่อการวิจัยทางการแพทย์และการศึกษา และผมจะให้เป็นพัน ๆ ล้านอีกต่อไป จนกระทั่งบัดนี้ ผมได้ให้อย่างเงียบ ๆ เพราะผมเชื่อมานานแล้วว่า การให้เพื่อการกุศลเป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่ควรประกาศ"[15]

ในเดือนพฤษภาคม 2559 เอลลิสันได้บริจาค 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,500 ล้านบาท) แก่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (USC) เพื่อตั้งศูนย์วิจัยมะเร็งชื่อว่า สถาบันลอเรนซ์ เจ เอลลิสันเพื่อการแพทย์เปลี่ยนชีวิตแห่ง USC

อ้างอิง แก้

  1. "Lawrence J. Ellison - Executive Biography". Oracle. สืบค้นเมื่อ 2015-07-17.
  2. "Compensation Information for Lawrence J. Ellison, Chairman and Chief Technology Officer of ORACLE CORP - Salary.com". Salary.com.
  3. 3.0 3.1 "Larry Ellison". Forbes. สืบค้นเมื่อ 2015-11-03.
  4. Rohrlich, Justin (2008-08-28). "CEOs Gone Wild: Larry Ellison". Minyanville.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-05. สืบค้นเมื่อ 2013-06-04.
  5. "UC Davis Health System: Philanthropic Pioneers". UC Davis Medical Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-08. สืบค้นเมื่อ 2014-08-04.
  6. In Re Oracle Corp. Derivative Litigation (824 A.2d 917 (2003))
  7. "The Oracle of National ID Cards". Wired. 2001-10-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-10-27.
  8. Whelan, David (2004-09-24). "Charity And The Forbes 400". Forbes. สืบค้นเมื่อ 2016-05-10.
  9. "Oracle's CEO cancels $115m gift to Harvard". The Boston Globe. Associated Press. 2006-06-28. It was really Larry Summers' brainchild and once it looked like Larry Summers was leaving, Larry Ellison reconsidered ... [I]t was Larry Ellison and Larry Summers that had initially come up with this notion.
  10. Hadad, Shmulik (2007-08-09). "Oracle's Ellison promises $500,000 donation". Ynet.
  11. "Hollywood gala raises a record $33 million for IDF". Times of Israel. 2014-11-08. In my mind, there is no greater honor than supporting some of the bravest people in the world... These men and women come together with indefatigable purpose, to defend Israel and strive to co-exist in peace.
  12. "Record $53.8 million raised for IDF soldiers at Beverly Hills gala". Jewish Telegraphic Agency. 2017-11-05.
  13. "The Giving Pledge: Larry Ellison". สืบค้นเมื่อ 2010-08-08.
  14. "Ellison joins billionaire charity pledge". Bloomberg in The San Francisco Chronicle. 2010-08-08. สืบค้นเมื่อ 2010-08-09.
  15. Fried, Ina (2010-08-04). "Larry Ellison, dozens more, to give away wealth". CNET. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-17. สืบค้นเมื่อ 2011-03-10. Many years ago, I put virtually all of my assets into a trust with the intent of giving away at least 95 percent of my wealth to charitable causes. I have already given hundreds of millions of dollars to medical research and education, and I will give billions more over time. Until now, I have done this giving quietly because I have long believed that charitable giving is a personal and private matter.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้