ละองละมั่ง
เขาของละอง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Cervidae
วงศ์ย่อย: Cervinae
สกุล: Panolia
สปีชีส์: P.  eldii
ชื่อทวินาม
Panolia eldii
(M'Clelland, 1842)
ชนิดย่อย
  • P. e. eldi (M'Clelland, 1842)
  • P. e. thamin Thomas, 1918
  • P. e. siamensis (Lydekker, 1915)
ชื่อพ้อง
  • Cervus eldii M'Clelland, 1842
  • Rucervus eldii (M'Clelland, 1842)

ละองละมั่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Panolia eldii)[2] เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง เป็นกวางขนาดกลาง ขนตามลำตัวสีน้ำตาลแดง แต่สีขนจะอ่อนลงเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ขนหยาบและยาว ในฤดูหนาวขนจะยาวมาก แต่จะร่วงหล่นจนดูสั้นลงมากในช่วงฤดูร้อน

ในตัวผู้จะเรียกว่า ละอง ตัวเมียซึ่งไม่มีเขาจะเรียกว่า ละมั่ง แต่จะนิยมเรียกคู่กัน สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากภาษาเขมรคำว่า "รมัง" (រមាំង[3]) ละองตัวที่ยังโตไม่เต็มวัยจะมีขนแผงคอที่ยาว ลูกแรกเกิดจะมีจุดสีขาวกระจายอยู่รอบตัว และจุดนี้จะจางหายเมื่ออายุมากขึ้น ขอบตาและริมฝีปากล่างมีสีขาว มีความยาวลำตัวและหัว 150–170 เซนติเมตร ความยาวหาง 220–250 เซนติเมตร น้ำหนัก 95–150 กิโลกรัม

ถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย[1] ในประเทศไทยพบ 2 ชนิดได้แก่

  • ละองละมั่งพันธุ์ไทย หรือ ละองละมั่งอินโดจีน (P. e. siamensis) มีลักษณะสีขนอย่างที่กล่าวข้างต้น เขาจะโค้งขึ้น กางออกแล้วโค้งไปข้างหน้าคล้ายตะขอ ปลายเขาจะแตกออกเป็นแขนงเล็ก ๆ มีการกระจายพันธุ์อยู่ที่ภาคอีสานตอนใต้ของไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม สถานะปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติของไทย[4]
  • ละองละมั่งพันธุ์พม่า หรือ ทมิน ในภาษาพม่า (P. e. thamin) มีหน้าตาคล้ายละองละมั่งพันธุ์ไทย แต่สีขนจะออกสีน้ำตาลเหลือง กิ่งปลายเขาจะไม่แตกแขนงเท่าละองละมั่งพันธุ์ไทย พบกระจายพันธุ์อยู่ที่ตะเข็บชายแดนระหว่างไทยกับพม่า แถบเทือกเขาตะนาวศรี

ละองละมั่ง จะอาศัยและหากินในทุ่งหญ้าโปร่ง ไม่สามารถอยู่ในป่ารกชัฏได้ เนื่องจากเขาจะไปติดกับกิ่งไม้เหมือนสมัน (Rucervus schomburgki) อาหารหลักได้แก่ หญ้า ยอดไม้ และผลไม้ป่าต่าง ๆ เป็นสัตว์ที่ชอบรวมฝูง ในอดีตอาจพบได้มากถึง 50 ตัว บางครั้งอาจเข้าไปหากินและรวมฝูงกับสัตว์ที่ใหญ่และแข็งแรงกว่า อย่าง วัวแดง (Bos javanicus) หรือ กระทิง (B. gaurus) เพื่อพึ่งสัตว์เหล่านี้ในความปลอดภัย มีฤดูผสมพันธุ์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์เมษายน ตั้งท้องนาน 8 เดือน สถานภาพปัจจุบันเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว และเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ละองละมั่งที่พบในธรรมชาติ ปัจจุบันนี้ ส่วนมาก เกิดจากการเพาะขยายพันธุ์โดยมนุษย์

ในกลางปี พ.ศ. 2554 ในประเทศไทย โดยองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสบความสำเร็จในการผลิตละองละมั่งในหลอดแก้วเป็นครั้งแรกในโลก โดยแม่ละมั่งที่รับอุ้มท้องได้ตกลูกออกมาเป็นเพศเมียเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ปีเดียวกัน ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี โดยเป็นละองละมั่งพันธุ์พม่า[5] [6]

ในปลายปี พ.ศ. 2557 ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ละองละมั่งพันธุ์พม่าได้ตกออกมาพร้อมกันทั้งหมด 10 ตัว ทำให้จากเดิมที่เคยมีละองละมั่งพันธุ์ไทย 62 ตัว เพิ่มเป็น 72 ตัว นับเป็นสถานที่ ๆ มีละองละมั่งพันธุ์ไทยมากที่สุด [4]

คลังภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Timmins, R.J. & Duckworth, J.W. (2008). "Rucervus eldii เก็บถาวร 2010-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2010.4. International Union for Conservation of Nature. Retrieved 10 March 2011.
  2. Pitraa, Fickela, Meijaard, Groves (2004). Evolution and phylogeny of old world deer. Molecular Phylogenetics and Evolution 33: 880–895.
  3. 3.0 3.1 "ละอง หรือ ละมั่ง". สืบค้นเมื่อ 9 December 2014.
  4. 4.0 4.1 หน้า 16 เกษตร-สัตว์เลี้ยง, สมาชิกใหม่ 'ละมุ่งพันธุ์ไทย' วันเดียวเพิ่ม 10 ตัวที่สวนสัตว์เชียงใหม่. คมชัดลึก ปีที่ 14 ฉบับที่ 4796: วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557
  5. [1]เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ละมั่งหลอดแก้ว จากข่าวสด
  6. "ละอง, ละมั่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-01. สืบค้นเมื่อ 2010-01-08.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Panolia eldii ที่วิกิสปีชีส์