ร. จันทพิมพะ เป็นนามปากกาของ เริ่ม จันทพิมพะ หรือ รวงทอง นักเขียนท่านนี้เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2452 เขียนหนังสือตั้งแต่เป็นนักเรียนโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เข้าทำงานเป็นนักเขียนจริงจังครั้งแรก ที่ หนังสือพิมพ์ "ประชามิตร" เมื่อ พ.ศ. 2484 ตำแหน่งหัวหน้าแผนกบันเทิงคดี เขียนเรื่องสั้นลงใน หนังสือพิมพ์ "รายวัน" ยุคนั้นเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงของเธอก็เช่น แสงอรุณ ค่าของความบาป และ เดือนดวงใหม่

รวงทอง จันทพิมพะ
เกิด24 สิงหาคม 2452
เสียชีวิต6 เมษายน 2497 (อายุ 45ปี)
นามปากการ.จันทพิมพะ
อาชีพนักเขียน

ประวัติ

แก้

ร.จันทพิมพะ ชื่อจริงของเธอ คือ น.ส.รวงทอง จันทพิมพะ หรือชื่อเดิมว่า เริ่ม เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2452 เป็นบุตรีของอำมาตย์โท พระประจำคดี (บัวรส จันทพิมพะ) กับนางประจำคดี (ตุ้ม)

เธอเริ่มการประพันธ์มาแต่ตอนที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยได้เขียนเรื่องยาวชื่อว่า"อวสานสวนกุหลาบ" ปรากฏว่าเป็นที่โปรดปรานของนักอ่านที่เป็นเพื่อนครูและบรรดาศิษย์มาแต่ครั้งนั้น

เมื่อลาออกจากครูและกลับไปอยู่บ้าน จึงได้ขอสมัครทำงานหนังสือพิมพ์โดยเริ่มที่วิกบางขุนพรหม และไปสมัครต่อ “ศรีบูรพา” โดยอยู่ในความดูแลของ “แม่อนงค์” หรือ คุณมาลัย ชูพินิจ

วิทยากร เชียงกูล เขียนบทความไว้ว่า ร.จันทพิมพะ (2452-2597) เป็นนักเขียนหญิงที่มีผลงานเด่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกือบจะถูกลืมไป อาจจะเป็นเพราะเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2497 โดยไม่มีทายาทหรือเพื่อนฝูงที่สนใจจะนำงานของเธอมาตีพิมพ์ซ้ำ

ถ้าจะกล่าวโดยรวม ๆ แล้ว ร.จันทพิมพะเขียนเรื่องสั้นแบบสมัยใหม่ โดยใช้ท่วงทำนองการเขียนแบบตะวันตกมากกว่าการเล่านิทานที่เล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ แบบไทย เรื่องของเธอมักจะกระชับ มีฉากมีตัวละคร บรรยากาศ บทสนทนาที่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็สะท้อนสภาพสังคมชีวิตและสังคมท้องถิ่น ความคิด บทสนทนาของผู้คนในยุคนั้น (พ.ศ. 2492-2495) ได้อย่างดีคือ เป็นนักเขียนที่มีความคิดอ่าน ช่างสังเกต ไม่ใช่แค่นักเล่านิทาน แสน ธรรมยศ ก็เป็นผู้หนึ่งที่เขียนเรื่องสั้นทำนองคล้าย ๆ กันนี้

ตัวละครผู้หญิงของ ร.จันทพิมพะ ออกจะมีลักษณะเสรีนิยมหรืออยากลองของใหม่ อยากเผชิญโลกใหม่ ชีวิตแบบใหม่ มากกว่าตัวละครของดอกไม้สด ซึ่งเป็นคนรุ่นใกล้ ๆ กัน แต่เอาจริงก็เป็นผู้หญิงที่อยากคิดอย่างเสรี มากกว่าที่จะอยากใช้ชีวิตเสรีจริง ๆ หลายเรื่องจึงกลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายชายเข้าใจฝ่ายหญิงผิด เช่นเรื่อง"ม่านดอกไม้" "ทางสุดท้าย" โดยเธอมักจะอยู่ข้างฝ่ายหญิงหรือให้ความยุติธรรมกับผู้หญิงอยู่เสมอ ซึ่งต่างจากนักเขียนผู้หญิงหัวเก่าบางคนที่ถูกครอบงำจากกระแสคิดหลักที่ยกย่องผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ร.จันทพิมพะ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2497 ขณะมีอายุได้ 45 ปี

การทำงาน

แก้

ร.จันทพิมพะ ทำงานอยู่ที่ น.ส.พ. "ประชามิตร-สุภาพบุรุษ" อยู่จนถึง พ.ศ. 2493 จึงลาออก นับว่าเป็นนักเขียนสตรียุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่เด่นมากคนหนึ่งในสมัยนั้น เรื่องที่เด่นคือ เราลิขิต และ บนหลุมศพวาสิฏฐี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน ตอนแรกชื่อ เราลิขิต ลงใน "ประชามิตร- สุภาพบุรุษ" ปี ๒๔๘๙ และตอนจบชื่อ บนหลุมฝังศพวาสิฏฐี ลงใน "สยามสมัย" ปี พ.ศ. 2493

เนื้อหาผลงานของ ร. จันทพิมพะสะท้อนภาพสังคมกรุงเทพฯ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น ภาวะข้าวยากหมากแพง การทุจริต คดโกง การลักลอบค้าข้าวสารของนักฉวยโอกาส นอกจากนั้นยังได้นำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 มาสอดแทรกเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อเรื่องได้อย่างกลมกลืน อีกทั้งยังแสดงความก้าวหน้าในยุคนั้นเกี่ยวกับการเสนอเรื่องสิทธิเสมอภาคของสตรีไว้ด้วย จนเคยถูกหาว่าเป็นนักเขียนสตรีที่แหกคอกสังคม[1]

ผลงาน

แก้

เท่าที่ปรากฏ

  • อวสานสวนกุหลาบ
  • เพื่อเธอเท่านั้น
  • จิตจำลอง
  • ฉากเช้าตรู่
  • ปาริชาติชีวิต
  • เรื่องรักข้ามศตวรรษ
  • เราลิขิต-บนหลุมศพวาสิฏฐี
  • ม่านดอกไม้
  • แสงอรุณ
  • ค่าของความบาป
  • เดือนดวงใหม่
  • ฯลฯ

อ้างอิง

แก้