ราชสำนักเซนต์เจมส์

ราชสำนักเซนต์เจมส์ คือราชสำนักของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร[1] ซึ่งถูกตั้งชื่อตามพระราชวังเซนต์เจมส์ พระราชวังหลวงที่เก่าแก่ที่สุดของระบอบราชาธิปไตยแห่งสหราชอาณาจักร[2] ราชสำนักเซนต์เจมส์ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรอังกฤษ (ก่อนปี พ.ศ. 2250) และสมัยราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ (พ.ศ. 2250 - 2343)

พระราชวังเซนต์เจมส์ในอดีตที่ถูกใช้เป็นที่ตั้งของราชสำนักอังกฤษ

ราชสำนักเซนต์เจมส์ยังถูกใช้เป็นสถานที่ต้อนรับเอกอัครราชทูตและข้าหลวงใหญ่ประจำสหราชอาณาจักรทุกคนอย่างเป็นทางการ[1] ส่วนพระราชวังเซนต์เจมส์ยังคงเป็นสถานที่ประจำสำหรับการรับรองการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตต่างชาติ และยังถูกใช้เป็นสำนักงานประจำของผู้แทนพระองค์พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรในการรับมอบอักษรสารตราตั้งจากเอกอัคราชทูตต่างชาติอีกด้วย[2] นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2552 ราชสำนักเซนต์เจมส์ในลอนดอนได้รับมอบพระราชสานส์และอักษรสารตราตั้งจากเอกอัครราชทูตจากต่างประเทศมากกว่า 172 ครั้ง[3] อันประกอบไปด้วยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ 46 แห่ง (อักษรสานส์ตราตั้งจากประเทศอื่น ๆ ในเครือจักรภพแห่งประชาชาติ) และจากสถานเอกอัครราชทูตประจำสหราชอาณาจักร 128 แห่ง (พระราชสานส์และอักษรสานส์ตราตั้งจากประเทศนอกเครือจักรภพแห่งประชาชาติ)

การใช้งานในด้านอื่น แก้

แม้ว่าพระราชวังบักกิงแฮมจะถูกใช้เป็นที่พำนักอย่างเป็นทางการของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียขึ้นครองราชสมบัติในปี พ.ศ. 2380[4] แต่พระราชวังเซนต์เจมส์ก็ยังคงดำรงสถานะการเป็นราชสำนักอย่างเป็นทางการของระบอบราชาธิปไตยแห่งสหราชอาณาจักร[1] อย่างไรก็ตามเมื่อพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ สถานที่อื่น ชื่อของราชสำนักก็จะถูกเปลี่ยนไปตามสถานที่นั้น ๆ ด้วย

เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถประทับอยู่ ณ พระราชวังบักกิงแฮม ราชสำนักก็จะย้ายมายังพระราชวังแห่งนี้ด้วย อีกทั้งยังจะถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมของสภาองคมนตรี (Privy Council)[4] การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถประทับอยู่ ณ สถานที่อื่น ๆ เช่น พระราชวังวินด์เซอร์ (ช่วงเทศกาลอีสเตอร์) พระตำหนักซานดริงแฮม (ช่วงเทศกาลคริสต์มาส) และที่พระราชวังฮอลีรูดหรือปราสาทแบลมอรัลในสกอตแลนด์ (ช่วงฤดูร้อน) นอกจากนี้ราชสำนักก็จะถูกย้ายตามพระมหากษัตริย์กรณีเสด็จฯ เยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการอีกด้วย[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "History of St. James's Palace". The Official Website of the British Monarchy. August 2008.
  2. 2.0 2.1 "St. James's Palace". The Official Website of the British Monarchy. August 2008.
  3. "Ambassadors' credentials". The Official Website of the British Monarchy. August 2009.
  4. 4.0 4.1 "Buckingham Palace". The Official Website of the British Monarchy. August 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-25. สืบค้นเมื่อ 2015-02-02.