ราชวงศ์เว็ททีน

(เปลี่ยนทางจาก ราชวงศ์เวททิน)

ราชวงศ์เว็ททีน (อังกฤษ: House of Wettin) เป็นราชตระกูลกราฟ, ดยุก, เจ้านครรัฐผู้คัดเลือก และกษัตริย์เชื้อชาติเยอรมันที่เคยปกครองดินแดนที่ในปัจจุบันคือรัฐซัคเซินในประเทศเยอรมนีเป็นเวลากว่า 953 ปี และปกครองซัคเซินในรัฐซัคเซิน-อันฮัลท์และรัฐทือริงเงิน เป็นเวลากว่า 800 ปี นอกจากนั้นในบางครั้งก็ยังครองโปแลนด์ และ ลิทัวเนีย, บริเตนใหญ่, โปรตุเกส, บัลแกเรีย และเบลเยียม ในปัจจุบันเหลือเพียงในบริเตนใหญ่ (สหราชอาณาจักร) กับเบลเยียมเท่านั้นที่ยังครองราชบัลลังก์อยู่

ราชวงศ์เว็ททีน
พระราชอิสริยยศ
ปกครองซัคเซิน
เชื้อชาติเยอรมัน
สาขาตามลำดับอาวุโส:

สายแอ็นสท์:

สายอัลแบร์ท:

ประมุขพระองค์แรกทีเดอริคัส
ผู้นำสกุลองค์ปัจจุบันมิชชาเอิล เจ้าชายซัคเซิน-ไวมาร์-ไอเซอนัค แกรนด์ดยุกแห่งซัคเซินในนาม
ประมุขพระองค์สุดท้ายประมุขในหลายอาณาจักรจนถึง ค.ศ. 1918
สถาปนาราว ค.ศ. 900 (1,113 ปีก่อน)
สิ้นสุดค.ศ. 1918

ราชวงศ์เว็ททีนสายแอ็นสท์และอัลแบร์ท แก้

 
ตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์เว็ททีนสายอัลแบร์ท

ราชวงศ์ได้แบ่งเป็นทั้งหมด 2 สายปกครองใหญ่ ๆ ในปีค.ศ. 1485 เมื่อพระโอรสของฟรีดริชที่ 2 ผู้คัดเลือกแห่งซัคเซิน แบ่งดินแดนและปกครองร่วมกัน

พระโอรสพระองค์ใหญ่ แอ็นสท์ ผู้คัดเลือกแห่งซัคเซิน ได้รับตำแหน่งต่อจากพระราชบิดาในฐานะของเจ้านครรัฐผู้คัดเลือก รวมทั้งดินแดนส่วนหนึ่งที่ตกอยู่ในปกครองของพระองค์ ได้แก่ รัฐผู้คัดเลือกซัคเซินและทือริงเงิน ในขณะที่พระโอรสพระองค์เล็ก คือ ดยุกอัลเบิร์ตที่ 3 แห่งซัคเซิน ได้รับดินแดนรัฐมาร์เกรฟไมเซิน ซึ่งทรงปกครองจากเดรสเดิน ในฐานะที่พระองค์ทรงปกครองในฐานะ "ดยุกแห่งซัคเซิน"

สายที่อาวุโสกว่า คือ สายแอ็นสท์นั้นเป็นสายหลักที่ปกครองจนกระทั่งปีค.ศ. 1547 และมีบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงแรกของการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ บทบาทหลักของสายแอ็นสท์นั้นสิ้นสุดลงหลังจากสงครามชมัลกัลดิก ซึ่งได้สนับสนุนกับฝ่ายโปรเตสแตนท์ของกลุ่มสันนิบาตชมัลกัลดิก กับจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 และถึงแม้ว่าสายอัลแบร์ทจะเป็นโปรเตสแตนท์ด้วย แต่ก็ยกทัพเข้ากับฝ่ายของจักรพรรดิ พระองค์จึงพระราชทานรางวัลให้โดยตัดสมาชิกสายแอ็นสท์จากสิทธิ์ในการเป็นเจ้านครรัฐผู้คัดเลือก รวมทั้งดินแดนรัฐผู้คัดเลือกซัคเซินอีกด้วย ส่วนสายแอ็นสท์นั้นเหลือแต่การปกครองในดินแดนทือริงเงินเท่านั้น แต่นั้นมาราชวงศ์สายนี้ก็ระส่ำระสาย

สายอัลแบร์ทนั้นได้คุมอำนาจการปกครองดินแดนแห่งซัคเซิน และเป็นราชวงศ์สายที่มีอำนาจมากในดินแดนแถบนั้น และใช้การแบ่งดินแดนเล็ก ๆ เพื่อให้รัชทายาทปกครองตามอาวุโส ซึ่งบางดินแดนนั้นอยู่รอดผ่านมาได้เป็นเวลายาวนาน ในขณะที่ราชวงศ์เว็ททีนสายแอ็นสท์นั้น ได้เลือกที่จะแบ่งดินแดนเป็นดัชชีและราชรัฐต่าง ๆ ในทือริงเงิน

สายที่อาวุโสน้อยกว่า คือ สายอัลแบร์ทนั้นได้ปกครองในฐานะ เจ้านครรัฐผู้คัดเลือก (ค.ศ. 1546 - 1806) และต่อมากษัตริย์แห่งซัคเซิน (ค.ศ. 1806 – 1918) และยังมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของโปแลนด์: สมาชิกสองพระองค์ได้เป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ (ระหว่างปีค.ศ. 1697 - 1763) และอีกพระองค์ปกครองดัชชีแห่งวอร์ซอ (ค.ศ. 1807 - 1814) ในฐานะตัวแทนของจักรพรรดินโปเลียน และหลังจากสงครามนโปเลียน ได้สูญเสียดินแดนของสายนี้ไปถึง 40% รวมถึงดินแดนรัฐผู้คัดเลือกซัคเซิน ให้กับปรัสเซีย ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของรัฐซัคเซินในยุคถัดมา (ดูรายละเอียดใน การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา)

 
สมาชิกฝ่ายโรมันคาทอลิกของราชวงศ์เว็ททีนนั้นฝังอยู่ที่คริพท์ในโบสถ์คาทอลิกแห่งราชสำนักซัคเซิน (Katholische Hofkirche) ที่เดรสเดิน

ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา แก้

หลังจากที่สมาชิกอาวุโสสายแอ็นสท์ได้สูญเสียสิทธิการเป็นเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกให้แก่สายอัลแบร์ทในปีค.ศ. 1547 แต่ยังคงถือสิทธิ์ในดินแดนทือริงเงิน โดยแบ่งเป็นราชรัฐเล็ก ๆ หลายแห่ง โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ สายซัคเซิน-โคบวร์คและซาลเฟลด์ และต่อมาเปลี่ยนเป็น สายซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ตั้งแต่ปีค.ศ. 1826 เป็นต้นไป และจากนั้นได้รับการคัดเลือกเป็นกษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม (ตั้งแต่ปีค.ศ. 1831) และบัลแกเรีย (ค.ศ. 1908 - 1946) รวมถึงการส่งเจ้าชายไปอภิเษกกับประมุขแห่งโปรตุเกส (พระเจ้าเฟอร์นันโดที่ 2 แห่งโปรตุเกส) และสหราชอาณาจักร (เจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ราชบัลลังก์ของบริเตนใหญ่ และโปรตุเกสนั้นสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เว็ททีน

ตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 1 จนกระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ราชวงศ์แห่งอังกฤษนั้นมักจะถูกเรียกบ่อยครั้งว่า ฮันโนเฟอร์, เบราน์ชไวค์ และเกลฟ ต่อมาปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ทรงมีพระราชโองการให้ราชสำนักสืบค้นราชสกุลที่ถูกต้องที่สุดของพระราชสวามี คือ เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาซึ่งราชสกุลนี้จะกลายเป็นนามของพระราชวงศ์ที่จะใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระราชโอรสของพระองค์ และภายหลังจากการสืบค้นอย่างถี่ถ้วนแล้วสามารถสรุปได้ว่าเป็นราชวงศ์เว็ททีน แต่กระนั้นก็มิเคยเห็นนามนี้ปรากฏในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระราชินีนาถ พระราชโอรส หรือแม้กระทั่งพระราชนัดดาเลย โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้ทรงให้ออกพระนามพระราชวงศ์ว่า "ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา"

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้กระแสการต่อต้านเยอรมันนั้นรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อพระราชวงศ์ เนื่องจากนามพระราชวงศ์นั้นออกเสียงไปในทางแบบเยอรมัน ที่ปรึกษาของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้พยายามค้นหาชื่อที่เหมาะสมกว่าสำหรับพระราชวงศ์ แต่ "เว็ททีน" ก็ยังถูกปฏิเสธเนื่องจากความไม่เหมาะสม และในที่สุดก็ออกประกาศให้เปลี่ยนนามพระราชวงศ์ใหม่เป็น "วินด์เซอร์" มาจนกระทั่งปัจจุบัน

อ้างอิง แก้