ตระกูลเจ้าเจ็ดตน

ราชวงศ์ที่ปกครองล้านนาในเขตนครลำปาง นครเชียงใหม่ และนครลำพูน สถาปนาและสิ้นสุดใน พ.ศ. 2275-2486

ราชวงศ์ทิพย์จักร, ทิพย์จักราธิวงศ์ หรือตระกูลเจ้าเจ็ดตน[1] เป็นราชวงศ์ที่ปกครองนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน

ทิพย์จักราธิวงศ์
พระราชอิสริยยศ
ปกครอง
สาขา
  • ราชสกุล ณ เชียงใหม่
  • ราชสกุล ณ ลำปาง
  • ราชสกุล ณ ลำพูน
จำนวนพระมหากษัตริย์35 พระองค์
ประมุขพระองค์แรกพระยาไชยสงคราม
ผู้นำสกุลองค์ปัจจุบัน
ประมุขพระองค์สุดท้าย
ช่วงระยะเวลา
  • นครลำปาง : พ.ศ. 2275–2468
  • นครเชียงใหม่ : พ.ศ. 2325–2482
  • นครลำพูน : พ.ศ. 2357–2486
  • นครพะเยา : พ.ศ. 2387–2456
สถาปนาพ.ศ. 2275
ล่มสลาย5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486
วงศ์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
– ตำแหน่งในนาม –
ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์

เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่


วงศ์เจ้าผู้ครองนครลำปาง
– ตำแหน่งในนาม –
ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์
พระราชลัญจกรประจำเจ้าหลวงนครลำปาง

เจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง


เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง

วงศ์เจ้าผู้ครองนครลำพูน
– ตำแหน่งในนาม –
ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์

พลอากาศตรี เจ้าวัฒนัน ณ ลำพูน


การสถาปนา

แก้

ทิพย์จักราธิวงศ์[2][3][4][5] หรือ ราชวงศ์ทิพย์จักร[6] หรือ ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน[7] ได้รับการสถาปนาขึ้นในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งอาณาจักรอยุธยา โดย "หนานทิพย์ช้าง" ควาญช้างและพรานป่าผู้มีความสามารถ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองนครลำปาง มีพระนามว่า พระญาสุลวะฦๅไชย ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามจากราชสำนักกรุงอังวะเป็นพระยาไชยสงคราม ถือเป็นนครรัฐอิสระในปี พ.ศ. 2275

เมื่อถึงแก่พิราลัย เจ้าชายแก้วพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งในช่วงดังกล่าวนครลำปางมีฐานะเป็นประเทศราชของพม่า โดยพระเจ้ากรุงอังวะได้โปรดฯ เฉลิมพระนามให้เป็นเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว

เจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครลำปาง พระโอรสพระองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าชายแก้ว ได้ร่วมกับพระอนุชาทั้ง 6 พระองค์ และ พระยาจ่าบ้านผู้ครองนครเชียงใหม่ กอบกู้ล้านนาภายใต้การสนับสนุนจากทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2317 ซึ่งในครั้งนั้นได้โปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปช่วยปราบพม่า เมื่อยึดนครเชียงใหม่และนครลำปางได้แล้ว จึงโปรดฯ ให้พระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการครองนครเชียงใหม่ และเจ้ากาวิละเป็นพระยานครลำปาง ในการรบครั้งนั้น เจ้าพระยาสุรสีห์ได้พบรักกับเจ้าศรีอโนชา พระขนิษฐาของพระยากาวิละ และได้ทูลขอจากเจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งต่อมาเจ้าหญิงศรีอโนชาได้สร้างวีรกรรมสำคัญยิ่งในการปกป้องพระนครจากพระยาสรรค์ ซึ่งก่อการกบฏต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ พระสวามีติดการสงครามที่เขมร หลังจากปกป้องพระนครเสร็จ ได้เชิญเจ้าพระยาจักรีกลับพระนครและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในคราเดียวกันนั้นได้โปรดฯ สถาปนา "เจ้าพระยาสุรสีห์" พระอนุชาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดฯให้ พระยากาวิละขึ้นครองนครเชียงใหม่ (ซึ่งขณะนั้นได้กลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากพม่าได้เข้ามารุกรานจนพระยาจ่าบ้านต้องพาประชาชนอพยพหนี) โปรดฯ ให้พระยาคำโสม พระอนุชาพระองค์ที่ 2 ขึ้นครองนครลำปาง และโปรดฯ ให้เจ้าคำฝั้น พระอนุชาพระองค์ที่สามขึ้นครองนครลำพูน ตลอดต้นรัชสมัยที่ครองนคร เจ้ากาวิละได้ร่วมกับพระอนุชาทั้ง 6 พระองค์ กระทำการสงครามเพื่อขยายขอบเขตขัณฑสีมาออกไปอย่างขจรขจาย ได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาสร้างบ้านแปงเมือง รวมทั้งได้ทรงรื้อฟื้นโบราณราชประเพณีทุกอย่างให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนสมัยราชวงศ์มังรายครองอาณาจักรล้านนา ด้วยพระปรีชาสามารถและความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดฯ เฉลิมพระอิสริยยศพระยากาวิละขึ้นเป็นพระบรมราชาธิบดี พระเจ้านครเชียงใหม่ เป็นใหญ่ในล้านนาไท 57 เมือง

ชื่อราชวงศ์

แก้

คำว่า "ทิพย์จักราธิวงศ์" เกิดจากการสถาปนาของพระเจ้ากาวิละ โดยเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน[8] ซึ่งภายหลังได้มีพระประสงค์ของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ซึ่งเป็นองค์ประธานของการจัดสายสืบสกุล โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์[9]มอบหมายให้บรรดาเจ้านายในราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ในราชสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง ช่วยกันสืบเสาะทายาทและผู้สืบสายโลหิตจาก พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม และมอบหมายให้ เจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) เป็นผู้จารึกลำดับลงในสมุดข่อยโบราณภายใต้ "ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์" โดยจารึกเป็นอักษรล้านนาซึ่งภายหลังได้ถ่ายทอดมาเป็นอักษรไทยกลางและคงไว้ซึ่งอักษรล้านนาบ้างในฐานะที่ท่านเป็นเลขานุการของการจัดสายสืบสกุล[10] ภายหลังบางตำรามักนิยมเรียกโดยย่อว่าราชวงศ์ทิพย์จักร[6] อันหมายถึงชื่อราชวงศ์อย่างย่อจากพระนามเต็มของ พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์

ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์อื่น

แก้

ราชวงศ์ทิพย์จักรถือเป็นราชวงศ์ล้านนาที่เชื่อมความสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ล้านนาอันเก่าแก่เดิม อันได้แก่ ราชวงศ์มังรายอันมีพญามังรายมหาราชเป็นองค์ปฐมวงศ์ และราชวงศ์พะเยา พญางำเมือง ด้วยระบบความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติ[ต้องการอ้างอิง]

นอกจากนั้น เจ้านายในราชวงศ์ทิพย์จักรยังได้อภิเษกสมรสกับพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ พระองค์ที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ เจ้าศรีอโนชา พระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เจ้าจอมบัวคำ ในรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมคำเมา ในรัชกาลที่ 3 และเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสองพระราชวงศ์ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระราชอาณาจักรล้านนาเดิมได้เข้ารวมกับสยามประเทศอย่างสมบูรณ์

การที่ไทยในสยามประเทศสามารถรวมกันได้ เพราะอาศรัยพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทราชอนุชาเปนต้นเค้า ก็เปนความจริง แต่สมควรจะยกย่องผู้เปนหัวหน้าของชาวมณฑลพายัพในสมัยนั้นด้วย คือเจ้าเจ็ดตนอันเปนต้นตระกูลวงศ์ของเจ้านายเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปางและเมืองลำพูน กับทั้งเจ้าเมืองน่านที่ได้เปนบรรพบุรุษของเจ้านายในเมืองนั้น ที่ได้สามิภักดิ์แล้วช่วยรบพุ่งข้าศึกเปนกำลังอย่างสำคัญ...จึงทรงพระกรุณาโปรดยกย่องวงศ์สกุลเจ้าเจ็ดตนและสกุลเจ้าเมืองน่านให้มียศเปนเจ้าสืบกันมา ด้วยเปนสกุลคู่พระบารมีของพระบรมราชจักรีวงศ์มาตั้งแต่ปฐมกาล[11]

— พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469

ลำดับสกุลวงศ์

แก้

ชั้น 1 องค์ปฐมวงศ์

แก้

ชั้น 2 พระราชบุตรในพระยาไชยสงคราม

แก้
  • เจ้าชายอ้าย
  • เจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้านครเขลางค์ (ลำปาง) ประเทศราชของพม่า (2302 - 2317), เป็นพระราชบิดาใน"พระเจ้ากาวิละ" ด้วยพระราชโอรสทั้ง 7 พระองค์ ทรงมีบทบาทสำคัญในการกอบกู้ราชอาณาจักรล้านนาจากพม่า และต่อมาเจ้านายบุตรหลานได้ปกครองหัวเมืองเหนือ จึงเป็นที่มาของราชสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน" หรือ "เจ้าเจ็ดองค์"
  • เจ้าหญิงคำทิพ
  • เจ้าหญิงคำปา
  • เจ้าชายพ่อเรือน บิดาในพระยาพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์ที่ 4
  • เจ้าหญิงกม (กมลา)

เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (2325 - 2482)

แก้
ลำดับ พระนาม ปีที่ครองราชย์
1 พระเจ้ากาวิละ 2325 - 2358 (33 ปี) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
2 พระยาธรรมลังกา 2359 - 2365 (6 ปี)
3 พระยาคำฟั่น 2366 - 2368 (2 ปี)
4 พระยาพุทธวงศ์ 2369 - 2389 (20 ปี)
5 พระเจ้ามโหตรประเทศ 2390 - 2397 (7 ปี)
6 พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ 2399 - 2413 (14 ปี)
7 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ 2416 - 2440 (24 ปี)
8 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ 2444 - 2452 (8 ปี)
9 เจ้าแก้วนวรัฐ 2454 - 2482 (28 ปี)

เจ้าผู้ครองนครลำปาง (2275 - 2465)

แก้
ลำดับ พระนาม ปีที่ครองราชย์
1 พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) 2275 - 2306 (31 ปี) สมัยกรุงศรีอยุธยา
2 เจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว 2306 - 2317 (11 ปี) สมัยกรุงศรีอยุธยา
3 พระเจ้ากาวิละ 2317 - 2325 (8 ปี) สมัยกรุงธนบุรี
4 พระยาคำโสม 2325 - 2337 (12 ปี) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
5 พระเจ้าดวงทิพย์ 2337 - 2369
6 พระยาไชยวงศ์ 2369 - 2380
7 พระยาขัติยะ 2380 - 2380
8 พระยาน้อยอินท์ 2381 - 2391
9 เจ้าวรญาณรังษี 2399 - 2414
10 เจ้าพรหมาภิพงษธาดา 2416 - 2436
11 เจ้านรนันทไชยชวลิต 2436 - 2439
12 เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต 2441 - 2465
13 เจ้าราชบุตร (แก้วเมืองพวน ณ ลำปาง) 2465 - 2468 (3 ปี) ผู้รั้งตำแหน่งเจ้านครลำปาง

เจ้าผู้ครองนครลำพูน (2348 - 2486)

แก้
ลำดับ พระนาม ปีที่ครองราชย์
1 พระยาคำฟั่น 2348 - 2358 (10 ปี) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
2 พระเจ้าลำพูนไชย 2358 - 2370 (12 ปี)
3 พระยาน้อยอินท์ 2370 - 2380 (10 ปี)
4 พระยาคำตัน 2381 - 2384 (3 ปี)
5 พระยาน้อยลังกา 2384 - 2386 (2 ปี)
6 เจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ 2386 - 2414 (23 ปี)
7 เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ 2414 - 2431 (17 ปี)
8 เจ้าเหมพินธุไพจิตร 2431 - 2439 (8 ปี)
9 เจ้าอินทยงยศโชติ 2441 - 2454 (13 ปี)
10 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ 2454 - 2486 (32 ปี)

อ้างอิง

แก้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒ อักษร ช-จ. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2545. 420 หน้า. หน้า 323. ISBN 974-8123-83-9
  2. หนานอินแปง. (2546). พระราชชายาเจ้าดารารัศมี. กรุงเทพฯ: บางกอกบุ๊ค.
  3. กัลยา เกื้อตระกูล. (2552). ต้นตระกูลเจ้าเมือง สายสกุล ณ ในสยาม. กรุงเทพฯ: ยิปวี กรุ๊ป. หน้า 192.
  4. ทศ คณนาพร. (2549). 9 ตระกูลดังแห่งล้านนา. กรุงเทพฯ: เนชั่นบุ๊คส์. หน้า 17.
  5. ภาสกร วงศ์ตาวัน. (2009). ประวัติศาสตร์สงครามเก้าทัพ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป. หน้า 111.
  6. 6.0 6.1 ฮันส์ เพนธ์, ประวัติศาสตร์ล้านนาฉบับย่อ, เชียงใหม่ : หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่, 2547, หน้า 201
  7. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 336
  8. สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2008). ล้านนา: ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 26
  9. ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. (2507). เพ็ชรลานนา เล่ม 2. ผู้จัดการ ศูนย์ภาคเหนือ. หน้า 6.
  10. ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. (1980). ผู้บุกเบิกแห่งเชียงใหม่. เรืองศิลป์. หน้า 86-87.
  11. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๓ น่า ๔๐๗๓ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๙

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้