ราชลัญจกรจีน
ราชลัญจกรจีน (อังกฤษ: Imperial Seal of China) หรือ ตราแผ่นดินตกทอด (จีน: 傳國璽; พินอิน: chuán guó xǐ; อังกฤษ: Heirloom Seal of the Realm) เป็นตราประทับทำจากหยกเหอชื่อปี้ (和氏璧)[1]
ตราแผ่นดินตกทอด 傳國璽 传国玺 | |
---|---|
รายละเอียด | |
ผู้ใช้ตรา | จีนสมัยราชวงศ์ |
เริ่มใช้ | 221 ปีก่อนคริสต์ศักราช |
คำขวัญ | "โช่วมิ่ง-ยฺหวีเทียน จี้โช่วหย่งชาง"
受命 |
การใช้ | ตราอย่างเป็นทางการของรัฐ |
ราชลัญจกรจีน | |||||||||||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 傳國璽 | ||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 传国玺 | ||||||||||||||||||||||||||||
|
การสร้าง
แก้ราชลัญจกรดวงนี้สร้างขึ้นเมื่อปีที่ 221 ก่อนคริสตกาล เมื่อฉินฉื่อหฺวังตี้ (秦始皇帝) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฉิน รวมแผ่นดินจีนเข้าเป็นหนึ่ง แล้วเอาเหอชื่อปี้ หยกเลื่องชื่อซึ่งเป็นของแคว้นจ้าว (趙) มาทำ ให้นายช่างซุน โช่ว (孫壽) สลักอักษรแปดตัวที่อัครมหาเสนาบดีหลี่ ซือ (李斯) เขียนว่า "โช่วมิ่ง-ยฺหวีเทียน จี้โช่วหยงชาง" (受命於天,既壽永昌) แปลว่า "รับโองการจากฟ้า ขอพระชันษายืนยาวรุ่งเรือง" หรือที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลว่า "เทวดาประสิทธิ์ให้ ถ้าผู้ใดได้ไว้แล้วครองราชสมบัติก็จะจำเริญพระชันษาสืบไป"[2]
เหตุที่ใช้หยกสลักขึ้นเป็นราชลัญจกร เพราะตามธรรมเนียมจีนโบราณ หยกเป็นสัญลักษณ์แห่งความงดงามภายในใจมนุษย์ ทั้งสุสานและเครื่องทำศพก็นิยมประดับหยก เป็นต้นว่า ชุดหยก (玉衣) สำหรับสวมพระศพองค์ชายหลิว เชิ่ง (劉勝) ที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1968 ครั้นถึงราชวงศ์ฮั่น หยกก็เป็นที่นับถือดั่งยาอายุวัฒนะ ผู้คนพากันบริโภคเครื่องดื่มทำจากหยกด้วยหวังว่าจะอยู่ยงชั่วนิรันดร์ ความนิยมเช่นนี้ยิ่งสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องอาณัติแห่งสวรรค์ของสถาบันกษัตริย์จีน
การผ่านมือ
แก้ครั้นรัชสมัยจื่ออิง (子嬰) กษัตริย์พระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์ฉิน จื่ออิงเวนตราประทับดวงนี้ให้แก่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่แห่งราชวงศ์ฮั่น นับจากนั้น ราชลัญจกรนี้ก็เป็นที่รู้จักในนาม "ตราแผ่นดินตกทอดสู่ฮั่น" (Han Heirloom Seal of the Realm)
ในคราวสิ้นสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกเมื่อราว ค.ศ. 8–9 หวัง หมั่ง (王莽) ยึดอำนาจ แล้วบีบให้พระพันปีหวัง เจิ้งจฺวิน (王政君) ผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าหรูจึอิง (孺子嬰) มอบตราแผ่นดินให้แก่ตน พระพันปีพิโรธ ขว้างตราใส่ ตราไปถูกผนังตึก เหลี่ยมบุบแตกไปเหลี่ยมหนึ่ง เมื่อได้ตราแล้ว หวัง หมั่ง จึงให้เอาทองคำเข้าบูรณะเหลี่ยมที่แตกไปนั้น
ต่อมาในราวคริสต์ศตวรรษที่ 3 แม่ทัพนายกองรวมกำลังกันต่อต้านทรราชตั๋งโต๊ะ (董卓) แม่ทัพซุน เกี๋ยน (孫堅) พบตรานี้เข้า และมอบให้แก่อ้วนสุด(袁術) อ้วนสุดจึงตั้งตัวเป็นจักรพรรดิใน ค.ศ. 197 สถาปนาราชวงศ์จง (仲) ซึ่งดำรงอยู่เพียงชั่วประเดี๋ยว การที่อ้วนสุดตั้งตนเป็นเจ้านี้สร้างความกริ้วโกรธไปทั้งแว่นแคว้น เหล่าขุนพล เป็นต้นว่า โจโฉ (曹操), เล่าปี่ (劉備), และลิโป้ (呂布) หันมาปราบปรามเขาแทน ครั้นอ้วนสุดพ่ายแพ้แก่เล่าปี่ ใน ค.ศ. 199 ตราแผ่นดินก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของโจโฉ ครั้น ค.ศ. 220 โจผี (曹丕) บุตรของโจโฉ ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ ตั้งราชวงศ์ใหม่ คือ วุยก๊ก (魏) สืบต่อราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และได้ครองตราโบราณดวงนี้ ฉะนั้น ตราจึงได้ผ่านมือพระเจ้าแผ่นดินสกุลโจ(曹) แห่งราชวงศ์เว่ย์ จนกระทั่งเข้าสู่สกุลสุมา (司馬) ที่สถาปนาราชวงศ์จิ้น (晉) ใน ค.ศ. 265
การสูญหาย
แก้ตราแผ่นดินได้ผ่านมือกษัตริย์ยุคเว่ย์ (魏), จิ้น (晉), สิบหกแคว้น (十六國), สุย (隋), และถัง (唐) แต่สูญหายไปในสมัยต่อมา คือ ยุคห้าวงศ์สิบแคว้น (五代十國) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 907–960 เชื่อกันว่า ราชวงศ์หยวน (元) ของมองโกลได้ไป ฉะนั้น ใน ค.ศ. 1370 กองทัพราชวงศ์หมิง (明) บุกมองโกลไปกู้พระราชสมบัติที่ถูกขนถ่ายไป แต่ก็ไม่พบดวงตรา ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ต่อมา คือ ชิง (清) จึงไม่เคยมีตราโบราณนี้อยู่ในครอบครอง แต่ได้สร้างตราดวงอื่นขึ้นใช้ถึงยี่สิบห้าดวง เพื่อลดทอนความสำคัญของตราแผ่นดินตกทอดนี้ลง
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ The Complete Collection of Treasures of the Palace Museum, Beijing 30: Imperial Seals and Signets - Gugong Bowuyuan Cang Wenwu Zhenpin Quanji 30: Xi yin (Taiwanese Chinese) – 2008. by Beijing Palace Museum. ISBN 9620753453, ISBN 978-9620753459
- ↑ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) (n.d.). "สามก๊ก ตอนที่ ๕". กรุงเทพฯ: หอพระสมุดวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 2016-11-12.
บรรณนุกรม
แก้- Chen Shou (1977). Pei Songzhi, ed. 三國志 [Records of the Three Kingdoms]. Taipei: Dingwen Printing.
- Morrow, David & Pearlstein, Elinor (1998). "Immortal stone: Jade of the Han dynasty". Calliope, 9(2): 24.