รากหญ้า (อังกฤษ: grassroots) เป็นขบวนการอย่างหนึ่ง (มักใช้ในบริบทของขบวนการทางการเมือง) ที่ขับเคลื่อนด้วยการเมืองของชุมชนท้องถิ่น คำดังกล่าวเป็นการแสดงนัยว่าการสร้างขบวนการและกลุ่มที่สนับสนุนขบวนการดังกล่าวเป็นธรรมชาติและเกิดขึ้นเอง อันเป็นการเน้นความแตกต่างระหว่าง "รากหญ้า" กับขบวนการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามโครงสร้างอำนาจแบบเก่า ขบวนการรากหญ้ามักเกิดในระดับท้องถิ่น โดยมีอาสาสมัครจำนวนมากในชุมชนเสียสละเวลาเพื่อสนับสนุนพรรคในท้องถิ่น ซึ่งสามารถนำไปสู่การช่วยเหลือพรรคในระดับชาติได้ ยกตัวอย่างเช่น ขบวนการรากหญ้าสามารถนำไปสู่การลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอย่างสำคัญ ซึ่งจะช่วยรัฐและพรรคการเมืองระดับชาติ

จุดกำเนิด

แก้

จุดกำเนิดการใช้คำว่า "รากหญ้า" โดยเป็นคำอุปมาทางการเมืองนั้นไม่แน่ชัด ในสหรัฐอเมริกา การใช้วลี "รากหญ้าและรองเท้าบูท" คาดกันว่าถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยสมาชิกวุฒิสภา อัลเบิร์ต เจเรไมอาห์ เบเวอร์ริดจ์ แห่งรัฐอินเดียนา จากพรรคก้าวหน้าในปี ค.ศ. 1912 ในคำกล่าวที่ว่า "พรรคนี้มาจากรากหญ้า มันเติบโตมาจากดินแห่งความต้องการอย่างแรงกล้าของประชาชน"[1]

ในประเทศไทย

แก้

รากหญ้ามีที่มาจากภาษาอังกฤษว่า grassroots เป็นคำศัพท์ที่ใช้อย่างกว้างขวางในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งสองสมัย ใช้เปรียบเทียบหมายถึง ประชาชนชั้นล่างของสังคมไทย โดยมากเป็นเกษตรกร, ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย มีภาวะการครองชีพต่ำ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด

รากหญ้าจึงเป็นเป้าหมายของการใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งถือกันว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และกลุ่มรากหญ้านี่เองที่เป็นฐานเสียงให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย

ในช่วงกลางของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ทักษิณ ชินวัตร ให้เปลี่ยนการเรียกขานจากคำว่ารากหญ้าไปเป็นรากแก้วแทน โดยมีการเปิดตัวงานนิทรรศการ "เหลียวหลังแลหน้า จากรากหญ้าสู่รากแก้ว"[2] โดยอ้างการหมดไปของความยากจนจากผลงานของรัฐบาล และยกระดับรากหญ้าขึ้นเป็นรากฐานของสังคมเปรียบเหมือนรากแก้วของต้นประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อวิพากษ์ถึงผลการแก้ไขปัญหาความยากจนว่าเป็นเพียงมายาคติวาดฝันแต่งตัวเลข[3] และเป็นแค่การนำเงินไปแจก[4] มิได้เป็นการแก้ไขอย่างยั่งยืน

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็มีความพยายามผลักดันคำว่า รากแก้ว เรียกขานแทน และขอให้สื่อมวลชนเปลี่ยนมาใช้คำนี้แทน เช่นเดียวกับ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งเสนอให้เปลี่ยนตัวสะกดจาก grass root ไปเป็น glass root[5] แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมนัก

หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี​ ได้พยายามใช้มาตรา 44 ห้ามไม่ให้คำว่ารากหญ้า​ "ห้ามเรียกคนเหล่านี้ว่า รากหญ้า ให้เรียกว่าคนที่มีรายได้น้อย มีการศึกษาน้อย ซึ่งเราต้องยกระดับพวกเขามาให้เท่าเทียม อย่าไปเรียกเขาว่าเป็นรากหญ้า วันนี้บ้านเมืองเราไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นแล้ว ไม่มีอำมาตย์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น อำมาตย์ก็คือข้าราชการที่เป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะมาดูแลประชาชน"

อ้างอิง

แก้
  1. Courtesy: Eigen's Political & Historical Quotations "Beveridge, Albert J." 2006-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-16. สืบค้นเมื่อ 2011-07-14.
  2. "ภาพบรรยากาศงาน "เหลียวหลังแลหน้า จากรากหญ้าสู่รากแก้ว"". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 6 พฤศจิกายน 2547.[ลิงก์เสีย]
  3. "ความกลวงของนโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์". ประชาไท. 28 สิงหาคม 2548.
  4. "รากหญ้า". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 25 ตุลาคม 2547. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-12-09. สืบค้นเมื่อ 2015-08-26.
  5. "งานบรรยาย"สุขภาพจิตดี เพราะมีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง"". สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 13 กันยายน 2549.