รัตน์ เปสตันยี
รัตน์ เปสตันยี เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย อดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนแรก
รัตน์ เปสตันยี | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 เมืองพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 17 สิงหาคม พ.ศ. 2513 (62 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | ชื้น ทัพพะทัต |
บุตร | 3 คน |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2482 - พ.ศ. 2513 |
ผลงานเด่น | สันติ-วีณา (2497) โรงแรมนรก (2500) แพรดำ (2504) |
พระสุรัสวดี | พ.ศ. 2500 ชั่วฟ้าดินสลาย (ถ่ายภาพ) พ.ศ. 2502 โรงแรมนรก (กำกับการแสดง) พ.ศ. 2505 แพรดำ (ถ่ายภาพ) |
ฐานข้อมูล | |
IMDb |
ประวัติ
แก้เกิดวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 ตรงกับปีวอก (หนุมาน-เป็นที่มาของชื่อ หนุมานภาพยนตร์) เป็นบุตรของนายเล็กกับนางเจอราไม เปสตันยี บรรพบุรุษของรัตน์มาจากเตหะราน (เปอร์เซีย) เป็นชาวปาร์ซี นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์[1][2][3][4] ซึ่งมาทำการค้าขายในประเทศไทยกว่าร้อยปีมาแล้ว รัตน์ เปสตันยีเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียและอังกฤษ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ในปีพุทธศักราช 2475
เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์ระดับนานาชาติ และได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ภาพยนตร์สั้นสมัครเล่นเรื่อง “แตง” ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งเมืองกลาสโกล์ว ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2481[5] ต่อมาได้ก่อตั้งบริษัทหนุมานภาพยนตร์
เมื่อปี พ.ศ. 2497 สันติ-วีณา ผลงานเรื่องแรกในนามหนุมานภาพยนตร์ ได้เข้าร่วมประกวดในงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้รับ 2 รางวัล คือ รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี) และรางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ)
เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังเกิดอาการหัวใจวายอย่างกะทันหัน กลางที่ประชุมระหว่างสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทย กับรัฐมนตรีว่าการและข้าราชการระดับสูงกระทรวงเศรษฐการ เรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ที่โรงแรมมณเฑียร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2513
มูลนิธิหนังไทยได้ตั้งชื่อรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพยนตร์สั้นสำหรับบุคคลทั่วไปในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นเพื่อเป็นเกียรติว่า รางวัล "รัตน์ เปสตันยี"
ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กรุงเทพ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2547 ได้มีพิธีมอบรางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement ให้กับ รัตน์ เปสตันยี ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกในยุคต้น ๆ ของวงการภาพยนตร์ไทย [6]
ชีวิตส่วนตัวและจุดเริ่มต้น
แก้รัตน์ เปสตันยี เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2451 ที่ย่านถนนรอบเมือง จังหวัดพระนคร เป็นชาวปาร์ซี นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ แล้วไปศึกษาต่อยังประเทศอินเดีย และอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2475 รัตน์ เปสตันยี เริ่มต้นสนใจในเรื่องการถ่ายภาพตั้งแต่วัยเด็ก ใช้เวลาว่างในการฝึกฝนหาความรู้จนชำนาญ และเคยส่งภาพเข้าประกวดจนได้รับรางวัลอยู่เสมอ ๆ ตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี เมื่อครั้งขณะศึกษาอยู่ในประเทศอินเดียก็มีผลงานชนะการประกวดการถ่ายภาพในระดับประเทศ ในขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ ก็เป็นสมาชิกของ Royal Photographic Society ปี พ.ศ. 2481
รัตน์ส่งภาพยนตร์สั้นเรื่อง แตง เข้าประกวดที่เมืองกลาสโกล์ว ประเทศอังกฤษ ได้รับรางวัลจาก ผู้กำกับชื่อดัง อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก[7][8] หลังจากนั้นได้ส่งภาพยนตร์สั้นเรื่อง เรือใบสีขาว เข้าประกวดได้รับรางวัลจากงานมหกรรมโลกนิวยอร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2482 [8] ทำให้รัตน์ เข้าสู่โลกของศิลปะภาพยนตร์ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยคุณรัตน์ทำงานที่บริษัทนายเลิศ และบริษัทดีทแฮล์ม นานกว่าสิบปี ก่อนที่จะได้รับการชักชวนจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ของอัศวินภาพยนตร์ ให้มาเป็นช่างภาพ ให้กับภาพยนตร์เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ (2492) [9] ซึ่งในตอนนั้นถ่ายทำในระบบฟิล์ม 16 มม. หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายและได้รับการตอนรับที่ดีจากคนดู มีส่วนทำให้รัตน์ สนใจที่จะทำหนังอย่างจริงจัง
เข้าสู่โลกภาพยนตร์
แก้จากนั้น รัตน์จึงเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกของตัวเอง ตุ๊กตาจ๋า ในปี พ.ศ. 2494 [8] รับหน้าที่ทั้งกำกับการแสดง เขียนบทและกำกับภาพ โดยใช้บริเวณบ้านที่ถนนวิทยุ เป็นสถานที่ในการถ่ายทำ เมื่อหนังเรื่อง ตุ๊กตาจ๋า ออกฉายก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รัตน์จึงตกลงใจเป็นอาชีพสร้างภาพยนตร์จริงจัง
ภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา ผลงานเรื่องแรกที่สร้างโดย หนุมานภาพยนตร์ มีจุดประสงค์ในการสร้างเพื่อเข้าร่วมการประกวดภาพยนตร์แห่งเอเชียตะวันออกไกล ครั้งที่ 1 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2497 แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างด้วยความเร่งรีบ แต่ สันติ-วีณา กลับกลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับภาพยนตร์ไทย การประกวดครั้งนั้นมีภาพยนตร์ที่ส่งเข้าประกวด 26 เรื่อง ภาพยนตร์สั้น 8 เรื่อง จาก 9 ประเทศ สันติ-วีณา ได้รับ 2 รางวัลคือรางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม คือ รัตน์ เปสตันยี และรางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม คือ อุไร ศิริสมบัติ นอกจากนี้ยังได้รางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกาเป็นกล้อง Mitchell BNC ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่แสดงวัฒนธรรมของเอเชียได้ดี [8]
ท่ามกลางความดีใจของทีมงานที่ภาพยนตร์ไทยได้รับเกียรติประวัติอันน่าชื่นชม กลับต้องพบกับเรื่องที่ไม่คาดคิดเมื่อเดินทางกลับถึงเมืองไทย ต้องเสียภาษีในการนำเข้ากล้องที่เป็นรางวัลจากการประกวด เป็นจำนวนเงินสูงถึง 5000 เหรียญ ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนจากกล้อง Mitchell BNC เป็นกล้อง Mitchell NC ซึ่งมีราคาถูกกว่าเพื่อนำเงินส่วนต่างนั้นมาชำระค่าภาษีที่เกินขึ้น และอีกครั้งเมื่อคราวที่ต้องนำฟิล์มต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา กลับมาเมืองไทย ก็ถูกเรียกเก็บภาษีฟิล์มจากกองเซ็นเซอร์ ในข้อหาส่งฟิล์มเนกาทีฟออกนอกประเทศโดยมิได้รับอนุญาตจากกองเซ็นเซอร์ ทำให้รัตน์จำต้องทิ้งฟิล์มเนกาทีฟไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะส่งกลับไปเก็บไว้ยังแล็ปที่ประเทศอังกฤษ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี
เริ่มสร้างภาพยนตร์ไทย
แก้ในช่วงแรกของโรงถ่าย รัตน์มักจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง และผู้ถ่ายภาพ มาจนกระทั่ง ภาพยนตร์เรื่อง โรงแรมนรก ภาพยนตร์ที่รัตน์ รับหน้าที่กำกับและเขียนบทเองเพื่อทดลองว่าการถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. [10] ขาวดำนั้นมีการลงทุนที่ต่ำกว่าหนังที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี อีกทั้งยังสามารถล้างและพิมพ์ฟิล์มได้ภายในประเทศไม่จำเป็นต้องส่งไปยังแล็ปในต่างประเทศ เป็นเสมือนการเชิญชวนให้คนทำหนังในเวลานั้นหันมาสนใจสร้างภาพยนตร์ด้วยฟิล์ม 35 มม. กันมากขึ้นเพื่อช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ โรงแรมนรก เป็นภาพยนตร์ไทยที่ล้ำหน้ามากในปี พ.ศ. 2500 และจนถึง พ.ศ.นี้
จุดมุ่งหมายหนึ่งในการสร้างภาพยนตร์ของรัตน์ ที่เราจะพบเห็นอยู่เสมอ คือความพยายามที่จะเผยแพร่ภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2504 ภาพยนตร์ แพรดำ เป็นภาพยนตร์อาชญกรรมที่ถือได้ว่าเป็นฟิล์มนัวร์เรื่องแรกของประเทศไทย[11] เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความตั้งใจนี้อย่างแท้จริง และได้เข้าร่วมประกวดในงาน เทศกาลภาพยนตร์ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน แม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลใด ๆ กลับมา แต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากสื่อมวลชนที่ไปร่วมงาน [10][12]
หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง สันติ – วีณา ประสบความสำเร็จ สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดในระดับนานาชาติ ส่งผลให้วงการภาพยนตร์ไทยคึกคัก และเป็นเหตุให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เกิดความตั้งใจที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างจริงจัง ได้มีการมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ทำโครงการสร้างเมืองอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยจะทำการรวบรวมบริษัทสร้างภาพยนตร์ที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นหลักฐานเข้าร่วมกันเป็นองค์การรัฐวิสาหกิจ เตรียมการจัดสร้างขึ้นที่ บางแสน แต่โครงการก็มีอันต้องถูกระงับไปหลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2500
ชีวิตครอบครัว
แก้ในปี พ.ศ. 2480 รัตน์ เปสตันยี เข้าพิธีสมรสกับ ชื้น ทัพพะทัต และมีบุตรธิดา 3 คน คือ พรรณี (เปสตันยี) ตรังคสมบัติ, สันต์ เปสตันยี และ เอเดิ้ล เปสตันยี
เลิกสร้างภาพยนตร์
แก้ภาพยนตร์ น้ำตาลไม่หวาน ภาพยนตร์ที่สร้างในปี พ.ศ. 2507 เป็นงานที่รวบรวมองค์ประกอบของหนังตลาดเข้าไว้ด้วยกัน และในเวลาเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของรัตน์ไว้ได้ แต่กลับล้มเหลวด้านรายได้อย่างสิ้นเชิง เขาจึงยุติการสร้างภาพยนตร์ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ และความเบื่อหน่ายในการขอคิวนักแสดง นอกจากรับผลิตหนังสารคดีให้กับหน่วยงานต่าง ๆ [10]
การส่งเสริมของรัฐ
แก้นอกจากการบทบาทการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์แล้ว รัตน์ เปสตันยี ยังเป็นแกนนำสำคัญในการเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยกำลังเผชิญอยู่ เรียกร้องให้สนับสนุนภาพยนตร์ไทยในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งด้วย พร้อมทั้งเป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทยด้วย บทบาทในส่วนนี้ได้เดินมาพร้อมกับการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ โดยเริ่มต้นจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมก่อตั้ง สหพันธ์ผู้สร้างภาพยนตร์แห่งภาคตะวันออกไกล ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2496 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากประเทศ ญี่ปุ่น, จีน, ฟิลลิปปินส์, มลายู, อินโดนีเซีย และไทย ตัวแทนจากประเทศไทย ประกอบ หม่อมวิภา จักรพันธ์ จาก อัศวินภาพยนตร์, โรเบิร์ต จี นอร์ธ จากหนุมานภาพยนตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายในการก่อตั้งเพื่อผดุงฐานะภาพยนตร์ในอาเชียให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศในภาคพื้นยุโรป
ความพยายามในการก่อตั้ง สหพันธ์ผู้สร้างภาพยนตร์ในประทศไทย ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2497 นั้น ต้องประสบกับข้อปัญหาอย่างมากจากผู้อำนวยการสร้างบริษัทต่าง ๆ เนื่องจากระเบียบในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้นจะต้องเป็นบริษัทที่มีการจดทะเบียนการค้าอย่างถูกต้อง แต่ในช่วงเวลานั้นกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะเริ่มต้น หลายบริษัทยังไม่มีการจดทะเบียน ประกอบกับกลุ่มผู้สร้างส่วนใหญ่สร้างภาพยนตร์ในระบบ 16 มม. ซึ่งมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศมากกว่าการส่งออกไปฉายต่างประเทศ มีส่วนให้ความพยายามในการรวมกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ต้องเลื่อนออกไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2508 มีความพยายามอีกครั้งในการรวมกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ โดยในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า ”สมาคมผู้อำนวยการสร้างแห่งประเทศไทย“ และมีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2509 โดยมี รัตน์ เปสตันยี เป็นนายกสมาคมคนแรก
หลังจากมีการก่อตั้งสมาคมผู้อำนวยการภาพยนตร์แห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ มีการประชุมครั้งแรกในเดือนมีนาคม ทางสมาคมได้ขอความร่วมมือบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ทุกแห่งหารือร่วมกันในการตัดรายจ่ายในการทำโฆษณา และขณะเดียวกันก็จะให้ทุกบริษัทมีการโฆษณาแบบเสมอภาค ลด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้สร้าง โดยจะเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2510 พร้อมทั้งเสนอให้ทางรัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมภาพยนตร์ไทย เพื่อรับพิจารณาช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ของผู้สร้างภาพยนตร์ไทย การดำเนินการที่กำลังจะไปได้ด้วยดี มีอันที่จะต้องสะดุดลงอีกครั้งเมื่อหลังจากนั้น ภาครัฐได้ออก พ.ร.บ. 2509 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสมาคม ทำให้คณะกรรมการชุดริเริ่มต้องหมดสภาพไป ต้องมีการยื่นขอจดทะเบียนใหม่เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่ที่ออกมา และส่งผลให้ข้อตกลงที่ทำร่วมกันในเรื่องตัดรายจ่ายค่าโฆษณาไม่มีผลบังคับใช้กับสมาชิก จนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ อีกด้านหนึ่งคณะอนุกรรมสนับสนุนภาพยนตร์ไทยก็ได้ถูกยกเลิกไปหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
รัตน์ เปสตันยี เป็นนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยคนแรก ในปีพ.ศ. 2502-2503 ด้วยคะแนนนิยมจากบรรดาสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ ดำรงตำแหน่งต่อมาหลายสมัยในปีพ.ศ. 2505-2506, 2509 และ 2512เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2502 ภายหลังจากที่ได้ก่อตั้งสมาคมฯ ได้เพียงปีเดียว รัตน์และทางผู้บริหารสมาคมฯ ชุดนั้น ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ให้ทรงรับสมาคมฯ เข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
เสียชีวิต
แก้รัตน์เคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการถ่ายภาพเทคนิค ที่มหาวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ แผนกวิชาช่างภาพ ทำหน้าที่บรรยายวิชาการถ่ายภาพยนตร์และศิลปะการถ่ายภาพ เป็นเวลาประมาณ 8 ปี ผลงานชิ้นสุดท้ายของรัตน์ ก่อนที่เขาจะถึงแก่กรรม คือ การทำภาพนิ่งซึ่งต้องใช้เทคนิคพิเศษเรียกว่า ภาพโบรมอยล์ (Bromoil) ซึ่งเป็นการใช้สีผงมาแทนที่ในน้ำหนักของเกลือเงิน ภาพเหล่านี้จะต้องใช้เวลาทำนานและต้องใช้ความละเอียดปราณีตเป็นพิเศษ ภาพโบรมอยล์มีคุณสมบัติพิเศษคืออยู่คงทนเก็บไว้ได้นานนับร้อยปีโดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นกับภาพ เขาได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งกำลังสติปัญญาและทุนทรัพย์ให้กับวงการช่างภาพอย่างจริงจัง
ในช่วงหลังของชีวิตรัตน์ ป่วยด้วยโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจ ทำให้ไม่สามารถทำงานหนักได้ จำเป็นต้องหยุดงานสร้างภาพยนตร์ แต่ยังคงทำงานสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรรมภาพยนตร์ไทย ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2513 [8] สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทย ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ และข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่ารัฐบาลจะให้การช่วยเหลือภาพยนตร์ไทยอย่างไรบ้าง ณ ห้องเมธี โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนผลัดกันพูด คุณรัตน์ขออนุญาตลุกขึ้นพูดเป็นคนสุดท้าย แต่ด้วยความอัดอั้นและคับข้องใจที่เผชิญมาตลอดเวลาที่ทำงาน เป็นเหตุให้เกิดอาการหัวใจวายล้มลงกลางที่ประชุม และเสียชีวิตเมื่อเวลา 22.18 น. ที่ โรงพยาบาลจุฬา
การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของคุณรัตน์ เป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ และก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่สังคม และนั่นอาจจะเป็นแรงผลักครั้งสำคัญที่ทำให้รัฐบาลรีบจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนั้น
ผลงาน
แก้- แตง (2480) (ภาพยนตร์สั้น)
- เรือใบสีขาว (2482) (ภาพยนตร์สั้น)
- พันท้ายนรสิงห์ (2493) - ถ่ายภาพ
- ตุ๊กตาจ๋า (2494) - อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, กำกับภาพ
- สันติ-วีณา (2497) - อำนวยการสร้าง,กำกับภาพ
- ชั่วฟ้าดินสลาย (2498) - อำนวยการสร้าง,กำกับภาพ
- โรงแรมนรก (2500) - อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, ลำดับภาพ
- สวรรค์มืด (2501) - กำกับการแสดง
- แพรดำ (2504) - อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, กำกับภาพ, ลำดับภาพ
- น้ำตาลไม่หวาน (2507) - อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, ถ่ายภาพ
ภาพยนตร์สารคดี (ผลิตให้กับกรมศิลปกร)
- ธรรมจักร (2501) - ถ่ายภาพ
- ไทยแลนด์ (2501) - ถ่ายภาพ
- นิ้วเพชร (2501) - ถ่ายภาพ
-
ชั่วฟ้าดินสลาย (2498)
-
สวรรค์มืด (2501) ภาพยนตร์ 35 มม.สี เรื่องแรกของไทย
-
แพรดำ (2504) นำแสดงโดย รัตนาวดี รัตนาพันธ์ บุตรสาวคนโตของรัตน์
รางวัลที่ได้รับ
แก้รัตน์ เปสตันยี เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์ระดับนานาชาติ และได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ภาพยนตร์สั้นสมัครเล่นเรื่อง “แตง” ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งเมืองกลาสโกล์ว ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2481 กรรมการผู้ตัดสินคือ อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก ภาพยนตร์สั้นแตงได้รับรางวัลชนะเลิศ เมื่อครั้งที่อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก เดินทางมากรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2498 รัตน์ เปสตันยี ได้มาต้อนรับพร้อมกับนำถ้วยรางวัลที่ได้มาเมื่อปี พ.ศ. 2481 มาอวดด้วย
หลังจากนั้นได้ส่งภาพยนตร์สั้นเรื่อง เรือใบสีขาว เข้าประกวดได้รับรางวัลจากงานมหกรรมโลกนิวยอร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2482 ทำให้รัตน์ เข้าสู่โลกของศิลปะภาพยนตร์ และยังได้รับรางวัลอีกมากมาย มีรายละเอียดดังนี้
- พ.ศ. 2481 : เทศกาลภาพยนตร์สมัครเล่นสก็อตแลนด์ สาย British Subjects Abroad รางวัลชนะเลิศ - แตง (2480)
- พ.ศ. 2482 : งานมหกรรมโลกนิวยอร์ก - เรือใบสีขาว (2482)
- พ.ศ. 2497 : งานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 1 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม - สันติ-วีณา (2497)
- พ.ศ. 2500 : รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 1 รางวัลสำเภาทอง สาขา ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ประเภทฟิล์ม 35 ม.ม. - ชั่วฟ้าดินสลาย (2498) [13]
- พ.ศ. 2502 : รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 3 รางวัลตุ๊กตาทอง สาขา ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม - โรงแรมนรก (2500)[14]
- พ.ศ. 2505 : รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 5 รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม - แพรดำ (2504) [15]
สิ่งสืบเนื่องและสิ่งรำลึก
แก้ในปี พ.ศ. 2538 หอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ที่สร้างในระหว่างปี พ.ศ. 2498-2512 จากห้องแล็บของบริษัทแรงค์ แลบอราทอรี่ส์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเก็บรักษาในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จำนวนประมาณ 20 เรื่อง รวมถึงภาพยนตร์ของรัตน์ ได้แก่ ชั่วฟ้าดินสลาย (2498), โรงแรมนรก (2500), สวรรค์มืด (2501) และ แพรดำ (2504)
ปี พ.ศ. 2543 วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทะลายโจร ได้อุทิศความดีของภาพยนตร์เรื่องนี้ให้รัตน์ รวมทั้งทีมงานคัดเลือกนักแสดงนำชาย (บท ดำ) ใช้บุคลิกของ ชนะ ศรีอุบล เป็นต้นแบบ ส่วนนักแสดงนำหญิง บท (รำเพย) ใช้บุคลิกของ รัตนาวดี รัตนาพันธ์ บุตรสาวคนโตของรัตน์ จาก แพรดำ (2504) เป็นต้นแบบ [12]
ในปี พ.ศ. 2548 กิจกรรม 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ของหอภาพยนตร์แห่งชาติ เพื่อยังให้เกิดปัญญา ได้บรรจุผลงานของรัตน์[16] ,จัดสร้างหุ่นขี้ผึ้งจำลอง และ ฉากโรงแรมสวรรค์ ใน โรงแรมนรกไว้ให้ชมด้วย
ปัจจุบัน มูลนิธิหนังไทย เจ้าของลิขสิทธิ์ ได้จัดทำดีวีดีภาพยนตร์ของรัตน์ รวม 5 เรื่อง ได้แก่ ชั่วฟ้าดินสลาย (2498), โรงแรมนรก (2500), สวรรค์มืด (2501), แพรดำ (2504), น้ำตาลไม่หวาน (2507) พร้อมกับดีวีดีภาพยนตร์ของผู้สร้างอื่นๆ เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก (2484), เงิน เงิน เงิน (2508) และ เกาะสวาทหาดสวรรค์ (2512) สั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ของ มูลนิธิหนังไทย[17]
จากผลงานกำกับหนังสั้นรางวัลชนะเลิศ เรื่อง แตง มูลนิธิหนังไทย จึงจัดประกวดหนังสั้นสำหรับบุคคลทั่วไปประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 โดยใช้ชื่อเพื่อเป็นเกียรติว่า "รางวัลรัตน์ เปสตันยี"
เมื่อ พ.ศ. 2551 หอภาพยนตร์แห่งชาติ และมูลนิธิหนังไทย จัดโครงการ 100 ปี รัตน์ เปสตันยี ด้วยกิจกรรมรำลึกต่อเนื่องตลอดทั้งปี ที่ หอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา[18]
อ้างอิง
แก้- ↑ Individuals can make a difference[ลิงก์เสีย]
- ↑ Pestonji
- ↑ Artist profile[ลิงก์เสีย]
- ↑ The Parsi way of life[ลิงก์เสีย]
- ↑ ฉลอง ๑๐๐ ปีเกิด รัตน์ เปสตันยี เก็บถาวร 2008-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thaifilm.com
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-13. สืบค้นเมื่อ 2007-07-09.
- ↑ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต, "แตง" กับเกียรติภูมิครั้งแรกของภาพยนตร์สั้นไทย, วารสาร หนัง:ไทย ปีที่ 2 ฉบับที่ 5 เมษายน 2542
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 Chaiworaporn, Anchalee (2004). "The Man Who Died for his Art". ThaiCinema.org. สืบค้นเมื่อ August 3, 2007.
- ↑ Rithinondh, Pusadee; Chaiworaporn, Anchalee (February 11, 1995). "The Prince of Celluloid". The Nation (Thailand). pp. C1.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 Uabumrungjit, Chalida (2005). "Special Program – Remapping of Asian Auteur Cinema 1". Pusan International Film Festival. สืบค้นเมื่อ August 3, 2007.[ลิงก์เสีย]
- ↑ กระทู้จาก thaifilm เก็บถาวร 2010-11-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน .
- ↑ 12.0 12.1 Williamson, Robert (January 1, 2004). "Black Silk (Prae Dum)". Review. Thai Film Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ August 4, 2007.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-24. สืบค้นเมื่อ 2011-11-12.
- ↑ "กระทู้จาก thaifilm". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-24. สืบค้นเมื่อ 2011-11-12.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-24. สืบค้นเมื่อ 2011-11-12.
- ↑ "100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ฉายตลอดปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2011-11-13.
- ↑ "กระทู้จาก thaifilm". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-10. สืบค้นเมื่อ 2011-11-12.
- ↑ งานรำลึก 100 ปี รัตน์ เปสตันยี