เมืองปั่น (พม่า: မိုင်းပန်; ไทใหญ่: မိူင်းပၼ်ႇ) หรือเอกสารไทยเรียก เมืองพาน เป็นรัฐเจ้าฟ้าแห่งหนึ่งในกลุ่มสหพันธรัฐชาน มีราชธานีคือเมืองปั่น ตั้งอยู่กลางที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ รอบนอกเมืองหลวงรายล้อมด้วยภูเขาสูงที่เต็มไปด้วยป่าสัก และมีดอยขี้เหล็กเป็นภูเขาสูงที่สุด[1] ปัจจุบันอดีตรัฐเมืองพานตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐชานในเขตประเทศพม่า[2]

เมืองพาน
မိုင်းပန်နယ်
รัฐเจ้าฟ้าของสหพันธรัฐชาน
พ.ศ. 2180 – พ.ศ. 2502

รัฐเมืองพาน (สีน้ำตาล) ทางใต้ติดชายแดนไทย
เมืองหลวงเมืองปั่น
พื้นที่ 
• พ.ศ. 2444
3,703 ตารางกิโลเมตร (1,430 ตารางไมล์)
ประชากร 
• พ.ศ. 2444
16,629 คน
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
พ.ศ. 2180
• สิ้นสุดระบอบเจ้าฟ้า
พ.ศ. 2502
ก่อนหน้า
ถัดไป
รัฐแสนหวี
รัฐชาน

ประวัติ แก้

ช่วงต้นและรัฐในอารักขา แก้

รัฐเมืองปั่นก่อตั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2180[1] มีราชธานีอยู่ที่เมืองปั่น ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ส่วนเขตการปกครองทั้งหมดสี่เมือง ได้แก่ เมืองต่วน/โต๋น (Mongton) เมืองหาง (Monghang) เมืองจวด/จวาด/ชวาด (Mongkyawt) และเมืองทา (Monghta) ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน[2] มีเจ้าฟ้าเป็นผู้ปกครอง ใช้พระนามว่า กัมโพชมหาวังสะ สิริธรรมราชา (ကမ္ဘောဇမဟာဝံသသီရိဓမ္မရာဇာ Kambawsa Mahawuntha Thirdamaraza)[3] ซึ่งสหราชอาณาจักรมองว่าเป็นเขตปกครองของเจ้าฟ้า แต่ทางสยามอ้างสิทธิเหนือดินแดนแถบนี้มาตลอด

พ.ศ. 2005 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนา ได้ยกทัพมาตีเมืองนายและหัวเมืองไทใหญ่ ต่อมาใน พ.ศ. 2013 พระเจ้าติโลกราชกับแม่ท้าวหอมุกเสด็จมาเมืองปั่น เมืองนาย เงินป่องฟ้าเจ้าเมืองนาย ให้ลูกนำเครื่องบรรณาการมาถวาย หมื่นบุญเรือง เจ้าเมืองเชียงรายได้เสียชีวิตในระหว่างที่ตามเสด็จ ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า

ในปลีกดยี สกราช ๘๓๒ ตัว พระเปนเจ้ากับแม่ท้าวหอมุกไพเมืองปั่นเมืองนายเล่า เจ้าเมืองนายชื่อเงินปล่องฟ้าหื้อลูกมันมาไหว้พระเปนเจ้าแลถวายปัณณาการ หมื่นบุญเรืองผู้กินเมืองเชียงรายได้ไพตายเสียยังเมืองเยี้ยวปางนั้นแล

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

[4]


พ.ศ. 2502 หมื่นจ่าบ้านล้องนำกองทัพมาตีเมืองปั่น แต่ไม่สามารถตีเมืองปั่นได้และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับเมืองปั่น

สกราช ๘๗๑ ตัว จ่าบ้านล้องได้เปนขุนหมื่น ทือพลไพรบเยี้ยวเมืองปั่น จักปล่นเอาเมือง บ่ได้ พ่ายแก่เยี้ยว

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

[5]

พ.ศ. 2321 เจ้ากาวิละ ให้เจ้ารัตนหัวเมืองแก้ว (พระยาคำฟั่น) ทำการโจมตีเมืองปั่น ได้ตัวเจ้าฟ้าหน่อคำและกวาดต้อนผู้คนของเมืองปั่นและตองกายลงมาเมืองลำปาง เมืองป่าซาง ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า

เถิงสกราช ๑๑๔๘ ตัว ปลีรวายสะง้า... ...เถิงเดือน ๘ ออก ๒ ฅ่ำ วัน ๕ พระเปนเจ้าแต่งเจ้ารัตตนะหัวเมืองแก้วพระราชชะวังหลัง คุมริพล ๕๐๐ ขึ้นไปยุทธกัมม์เอาเมืองปั่น คราวทาง ๒๕ วัน เข้าครอบงำเอาได้เจ้าฟ้าหน่อฅำและลูกเมียครอบครัว แลกวาดเอาเมืองปั่นเมืองตองคายลงมาใส่บ้านเมือง

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

[6][7]

พ.ศ. 2361 พระยาธรรมลังกา ให้เจ้าสุวรรณคำมูลยกทัพไปตีเมืองปั่น กวาดต้อนชาวเมืองปั่นลงมาเมืองเชียงใหม่ ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า

ในสกราช ๑๑๘๐ ตัว ปลีเปิกยี เดือน ๔ ออก ๖ ฅ่ำ วัน ๖ พระเปนเจ้าช้างเผือกแต่งเจ้าสุวัณณะฅำมูลตนเปนหลาน คุมริพลพันฅน ยกไปตีเมืองปั่น ได้อุพพยุครอบครัวมาใส่บ้านเมืองครั้งนึ่ง

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

[8]

ต่อมาใน พ.ศ. 2431 รัฐบาลสยามส่งทหารมาประจำการในสี่หัวเมืองติดแม่น้ำสาละวินด้านตะวันออก และอ้างสิทธิเหนือเมืองสาดแต่ไม่ได้ตั้งกองทหารรักษาการ[9]

พ.ศ. 2432 มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนแองโกล-สยาม พ.ศ. 2432–2433 เพื่อแก้ปัญหาเขตแดนของรัฐหมอกใหม่ รัฐเมืองปั่น (เมืองพาน) และกลุ่มรัฐกะเหรี่ยงแดง ซึ่งเป็นรัฐในแถบลุ่มน้ำสาละวิน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะทางสยามไม่ตกลงด้วย ด้วยเหตุนี้ทางสหราชอาณาจักรจึงรวบเขตแดนรัฐขนาดน้อยเหล่านี้เข้ากับอาณานิคมพม่าของบริติช ทางสหราชอาณาจักรจึงให้สยามถอนกองกำลังทหารออกจากแถบลุ่มน้ำสาละวิน และจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนแองโกล-สยาม พ.ศ. 2435–2436 ขึ้นเพื่อหาข้อตกลงครั้งใหม่ร่วมกันกับสยาม[10]

อำเภอเมืองพานของไทย แก้

อำเภอเมืองพาน
อำเภอ
พ.ศ. 2485–2488
ยุคทางประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2
• ผนวกดินแดน
25 มกราคม พ.ศ. 2485
• ยกเป็นอำเภอ
18 ตุลาคม พ.ศ. 2486
• ยุบเลิก
22 กันยายน พ.ศ. 2488
ก่อนหน้า
ถัดไป
  พม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร
พม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร  
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ  พม่า

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จักรวรรดิญี่ปุ่นขอให้รัฐบาลไทยสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ยกกำลังทหารขึ้นไปยึดสหพันธรัฐชานจากทหารจีนก๊กมินตั๋งของจอมพลเจียงไคเช็ก และกองทัพอังกฤษเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ต่อมาพลเอก ฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้พบจอมพล แปลก พิบูลสงครามเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 เพื่อมอบพื้นที่จำนวน 12 เมืองของรัฐชานแก่ไทย รัฐบาลไทยจึงผนวกดินแดนแคว้นสหรัฐไทยใหญ่และรัฐเมืองพาน (เมืองปั่น) เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย[11] ก่อนทำสนธิสัญญากับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2486 หลังการประกาศมอบดินแดนทั้งหมดให้แก่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ราชกิจจานุเบกษาระบุว่า "ฉะนั้น กลันตัน ตรังกานู ไซบุรี ปะลิส และบันดาเกาะที่ขึ้นหยู่ กับทั้งเชียงตุงและเมืองพาน จึงเปนอันรวมเข้าไนราชอานาจักรไทยตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม พุทธสักราช 2486 เปนต้นไป"[12]

รัฐเมืองพานได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอเมืองพาน ต่างหาก ไม่ขึ้นกับจังหวัดใด มีการปกครองแบบทหารเช่นเดียวกับสหรัฐไทยเดิม[13] โดยให้หัวหน้าสถานีตำรวจปฏิบัติหน้าที่เป็นนายอำเภออยู่ในบังคับบัญชาของตำรวจสนามเชียงใหม่และทัพพายัพ ส่วนทางอรรถคดีให้ขึ้นกับศาลเมืองหางของสหรัฐไทยเดิมซึ่งอยู่ใกล้กัน[14] หลังจากที่ไทยที่เข้าครอบครองดินแดนของพม่าตามที่ได้วางเป้าหมายไว้แล้ว ก็ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยขึ้นทุกอำเภอ[15]

ทว่าหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง จักรวรรดิญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยจำต้องส่งมอบรัฐเชียงตุงและรัฐเมืองพานคืนให้กับกองพลอินเดียที่ 7 เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2488

สิ้นสุด แก้

รัฐเมืองพานสิ้นสุดการปกครองลงใน พ.ศ. 2502 และถูกยุบรวมขึ้นกับจังหวัดลางเคอ ดอยแหลม และเมืองสาต รัฐชาน ของประเทศพม่า จนถึงปัจจุบัน[16]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Imperial Gazetteer of India, v. 17, p. 407
  2. 2.0 2.1   Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Mōng Pan" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 18 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 722.
  3. Ben Cahoon (2000). "World Statesmen.org: Shan and Karenni States of Burma". สืบค้นเมื่อ 7 July 2014.
  4. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๓๘.
  5. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๓๘.
  6. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๓๘.
  7. รัตนาพร เศรษฐกุล, รองศาสตราจารย์ ดร. (2556). ศึกเชียงตุง : การเปิดแนวรบเหนือสุดแดนสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (PDF). Northern Illinois University. p. 16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-05-03. สืบค้นเมื่อ 2021-08-06.
  8. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๓๘.
  9. The Pacification of Burma, by Sir Charles Haukes Todd Crosthwaite
  10. Imperial Gazetteer of India, v. 22, p. 254.
  11. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 574
  12. "ประกาส รวมกลันตัน ตรังกานู ไซบุรี ปะลิส เชียงตุง และเมืองพาน เข้าไนราชอาณาจักรไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกสา. 60 (55ก): 1532–1533. 18 ตุลาคม พ.ศ. 2486. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  13. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 575
  14. "ประกาสกองบันชาการทหานสูงสุด เรื่องการจัดการปกครองรัถเมืองพาน" (PDF). ราชกิจจานุเบกสา. 60 (55ง): 3272. 18 ตุลาคม พ.ศ. 2486. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  15. บ. บุญค้ำ. เที่ยวเมืองเชียงตุง และแคว้นสาละวิน. 2499. มปถ., หน้า 175
  16. บ. บุญค้ำ. เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2555, หน้า 27