เขตรัฐตุงคบุรี หรือ เขมรัฐโชติตุงบุรี โดยย่อว่า เขมรัฐ[1][2][3][4] (พม่า: ခေမာရဋ္ဌ เขมารฏฺฐ; บาลี: เขมรฏฺฐ) หรือ รัฐเชียงตุง (พม่า: ကျိုင်းတုံ; ไทใหญ่: ၵဵင်းတုင်; ไทยถิ่นเหนือ: ᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ) บ้างเรียก เมืองเขิน (ไทเขิน: ᨾᩮᩨ᩠ᨦᨡᩨ᩠ᨶ) และจารึกเมืองเชียงตุงเรียก เมืองไทย[5] เป็นรัฐเจ้าฟ้าแห่งหนึ่งในกลุ่มสหพันธรัฐชาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า[1] มีราชธานีคือเชียงตุง ซึ่งเป็นเขตเมืองใหญ่เพียงแห่งเดียวเพราะเป็นแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ ทั้งประเทศเป็นเขตภูเขาสูงสลับซับซ้อนของเทือกเขาแดนลาวมีที่ราบขนาดแคบ[6] ถือเป็นรัฐที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่รัฐชานอื่น ๆ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของรัฐชาน ตั้งแต่แม่น้ำสาละวินจรดแม่น้ำโขง[7] และถูกแยกจากรัฐชานตอนเหนือด้วยแม่น้ำข่า

เชียงตุง
ကျိုင်းတုံ / ᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ
รัฐเจ้าฟ้าของสหพันธรัฐชาน
ราว พ.ศ. 1786 – พ.ศ. 2502

รัฐเชียงตุง (สีฟ้า) ในแผนที่รัฐชาน
พื้นที่ 
• พ.ศ. 2444
31,079 ตารางกิโลเมตร (12,000 ตารางไมล์)
ประชากร 
• พ.ศ. 2444
190,698 คน
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้งโดยผู้แทนของพญามังราย
ราว พ.ศ. 1786
• เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายสละอำนาจ
พ.ศ. 2502
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรล้านนา
รัฐว้า
รัฐชาน

รัฐเชียงตุงมีลักษณะเป็นรัฐชายขอบ โอนอ่อนไปตามอิทธิพลของรัฐรอบข้างคือ พม่า จีน และล้านนา เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งมีอำนาจมากกว่า เจ้าผู้ครองเชียงตุงก็จะเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายนั้น กระนั้นเชียงตุงยังคงรักษาความสัมพันธ์กับเชียงใหม่ในฐานะบ้านพี่เมืองน้องมาตลอด[8] แต่ในช่วงหลังเชียงตุงสวามิภักดิ์กับพม่า เพราะพม่าไม่มีนโยบายกวาดต้อนผู้คน[9] ต่างจากฝ่ายสยามที่มุ่งทำลายเมืองเชียงตุง เพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายพม่าใช้เชียงตุงเป็นที่มั่นสำหรับโจมตีเมืองเชียงราย[10]

หลังการสละราชอำนาจของเจ้าจายหลวง มังราย เมื่อ พ.ศ. 2502 รัฐเชียงตุงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชานโดยสมบูรณ์ แม้จะพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชหลายครั้ง แต่ก็ตกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่าไปโดยปริยาย และหลังการรัฐประหารของนายพลเนวี่นเมื่อ พ.ศ. 2505 สิทธิพิเศษของเจ้าฟ้าไทใหญ่ต่าง ๆ ถูกยกเลิกลงทั้งหมด

ประวัติ แก้

แรกเริ่ม แก้

รัฐเชียงตุงเกิดจากการขยายอำนาจขึ้นทางเหนือของพญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา ที่ส่งพระราชนัดดาชื่อเจ้าน้ำท่วมขึ้นปกครองเชียงตุง อันเป็นดินแดนของชาวว้าและไทใหญ่[11][12] ประชากรส่วนใหญ่ในเมืองหลวงเป็นชาวเขิน ต่างจากหัวเมืองอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นไทใหญ่[13] ตามประวัติศาสตร์ พญามังรายสร้างเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1810[14] เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศเหนือของล้านนา[8] โดยมีสัมพันธ์อันดีจนถึงรัชสมัยพญากือนา ส่วนรัชสมัยพญาแสนเมืองมาจนถึงพญาสามฝั่งแกน เชียงตุงสวามิภักดิ์กับจีน จนรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงกับล้านนาจึงเฟื่องฟูอีกครั้ง เพราะมีการเผยแผ่ศาสนาพุทธและวรรณกรรมล้านนาไปยังเชียงตุง[15]

ร่วมสมัย แก้

 
การสมรสระหว่างเจ้านางสุคันธากับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2476

จักรพรรดิเฉียนหลงกระทำสงครามกับพระเจ้ามังระช่วง พ.ศ. 2303 รัฐเชียงตุงจึงสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2345 แต่ภายหลังเชียงตุงได้รับความช่วยเหลือจากพม่า จึงกลับเข้าสู่กับปกครองของพม่าตามเดิมและผนวกรัฐเมืองยองไปด้วยกันใน พ.ศ. 2357[16]

ยุครัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา สยามมีนโยบายมุ่งแผ่อำนาจไปยังเชียงตุงและเชียงรุ่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แม้ทั้งสองเมืองนี้จะยอมสวามิภักดิ์ต่อสยามก็ตาม หลังการปักปันเขตแดนกับสหราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 2428-2438 สยามเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เมื่อเขตแดนแบ่งออกอย่างชัดเจน สยามมีดินแดนสุดที่แม่สาย ส่วนเมืองเชียงตุง เมืองยอง และหัวเมืองไทใหญ่อื่น ๆ ขึ้นในอารักขาของสหราชอาณาจักร[17] ต่อมาสหราชอาณาจักรยุบรัฐเชียงแขงขึ้นกับเชียงตุง[18]

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ตรงกับสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐเชียงตุงถูกกองทัพพายัพจากประเทศไทยรุกรานและเข้ายึดเชียงตุงซึ่งเป็นเมืองหลวง ตามข้อตกลงระหว่างจอมพลแปลก พิบูลสงครามกับจักรวรรดิญี่ปุ่น เดือนธันวาคมปีเดียวกันกองทัพไทยเข้ายึดรัฐเชียงตุงและสี่อำเภอของรัฐเมืองปั่น ที่สุดรัฐบาลไทยผนวกดินแดนนี้อย่างเป็นทางการและประกาศจัดตั้งสหรัฐไทยเดิมและอำเภอเมืองพานเมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2486[19][20] ภายหลังประเทศไทยถอนตัวออกจากรัฐเชียงตุงและเมืองปั่นเมื่อ พ.ศ. 2488 และยกเลิกการอ้างสิทธิใน พ.ศ. 2489 เพื่อเข้าร่วมกับองค์การสหประชาชาติและยกเลิกการคว่ำบาตรจากการเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ[21]

หลังการสละราชอำนาจของเจ้าจายหลวง มังราย เมื่อ พ.ศ. 2502 รัฐเชียงตุงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชานโดยสมบูรณ์ แม้จะพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชหลายครั้ง แต่ก็ตกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่าไปโดยปริยาย และหลังการรัฐประหารของนายพลเนวี่นเมื่อ พ.ศ. 2505 สิทธิพิเศษของเจ้าฟ้าไทใหญ่ต่าง ๆ ถูกยกเลิกลงทั้งหมด[22]

การปกครอง แก้

รัฐเชียงตุงปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีเจ้าฟ้าเป็นผู้ปกครอง ใช้พระนามว่า เขมาธิปติราชา[3][23] เช่น รัตนภูมินทะนรินทาเขมาธิปติราชา[24] หรือ พญาศรีสุธรรมกิตติ สิริเมฆนรินทร์ เขมาธิปติราชา[1] ในยุคเริ่มต้น เชียงตุงมีฐานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรล้านนา มีเจ้าผู้ครองปกครองตนเองด้วยจารีตท้องถิ่น และได้รับเกียรติเรียกเจ้าผู้ครองเชียงตุงว่า "พระหัวเจ้า" เชียงตุงต้องแสดงความจงรักภักดีต่อราชธานีที่ยิ่งใหญ่กว่าด้วยการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา[25]

ล้านนามักส่งลูกหลานกษัตริย์หรือขุนนางที่ใกล้ชิดจากเชียงใหม่ปกครองเชียงตุง แต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา เชียงตุงยอมรับอำนาจของพม่า ส่วนเชียงใหม่ยอมรับอิทธิพลของสยาม ความขัดแย้งระหว่างสยามและพม่าส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และเชียงตุง จนก่อให้เกิดสงครามเชียงตุงช่วงต้นรัตนโกสินทร์[25]

เจ้าผู้ครองรัฐเป็นผู้บริหารและใช้อำนาจเต็ม ปกครองประชากรด้วยความผาสุก กอปรด้วยความอารีอย่างบิดากับบุตร หากมีผู้ใดกระทำผิดก็จะใช้อำนาจเด็ดขาดในการปราบปราม เช่น หากมีผู้ใดโกรธชักดาบออกจากฝักเพียงฝ่ามือเดียวจะถูกปรับไหมเป็นเงินหลายรูปี เป็นต้น[26] ทั้งนี้รัฐเชียงตุงยังมีนครรัฐน้อย ๆ เป็นบริวารในอำนาจตนเองจำนวนหนึ่งเช่น รัฐเมืองเลน รัฐเมืองสาต และรัฐเมืองปุ[16][27]

เศรษฐกิจ แก้

แม้รัฐเชียงตุงจะเป็นรัฐบนภูเขาสูงสลับซับซ้อน แต่มีราชธานีตั้งอยู่บนแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่ชุมนุมทางการค้าขนาดใหญ่ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้เชียงตุงจึงเป็นรัฐเกษตรกรรมผสมผสานกับการค้า ขณะที่เมืองยองซึ่งอยู่ตะวันออกสุด ที่ราบขนาดขนาดกว้าง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ถือเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของรัฐเชียงตุง[28] เชียงตุงเป็นศูนย์กลางทางการค้าทางเกวียนจากเมืองต้าหลี่ และสิบสองพันนา ก่อนส่งต่อไปยังย่างกุ้งและมะละแหม่ง[3] ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทุกปีจะมีคาราวานขนถ่ายสินค้าจากจีน ผ่านเชียงตุงไปเชียงใหม่ ด้วยล่อจำนวน 8,000 ตัว[11]

สินค้าจากเชียงตุงส่วนใหญ่คือใบชา ฝิ่น ส้มจุก และหนังสัตว์[3]

ประชากรศาสตร์ แก้

ชาติพันธุ์ แก้

 
เจ้านางทิพย์ธิดาพร้อมข้าราชบริพารกับเครื่องแต่งกายพื้นเมือง

รัฐเชียงตุงมีประชากรหลายเชื้อชาติ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ แต่ในราชธานีและพื้นที่ตอนกลางของประเทศมีประชากรหลักเป็นชาวไทเขิน[29] บ้างก็ว่าชาวไทเขินคือชาวไทยวนที่อพยพขึ้นมาจากอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยพญามังราย ตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 13[30] ตามหัวเมืองก็มีประชากรชาติอื่น ๆ เข้าไปอาศัย เช่น ฮ่อ พม่า กะเหรี่ยง กุรข่า ไทลื้อ ม้ง ปะหล่อง และกะชีน[31] นอกนั้นยังมีชาวไทเหนือซึ่งอพยพมาจากยูนนาน และชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ เช่น ไตหลอย มูเซอ ละว้า และอ่าข่า[32] ส่วนอดีตรัฐเมืองยองทางตะวันออกสุด ซึ่งถูกรวมเข้ากับรัฐเชียงตุงนั้น มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อลูกผสมกับชาวไทใหญ่และเขิน[33]

ชาวไทเขินที่เป็นประชากรหลักของราชธานีมักสวมเครื่องแต่งกายสีฉูดฉาด ประกอบด้วยผ้าโพกศีรษะ เสื้อปั๊ด ผ้าคาดเอว แต่ละชิ้นมักไม่ซ้ำสีกัน ในอดีตผู้ชายมักสักด้วยอักขระอาคมต่าง ๆ[34] ในยุคที่ตกอยู่ในอารักขาของสหราชอาณาจักร ชาวเขินมักถูกรวมเข้ากับชาวไทใหญ่[33]

ภาษา แก้

ภาษาไทเขิน มีความคล้ายและใกล้เคียงกับภาษายองและไทลื้อมาก ทั้งยังคล้ายกับภาษาไทยวน ต่างเพียงแค่สำเนียง และการลงท้ายคำ[35] ซึ่งชาวเขินแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มเขินก่อ-เขินแด้, กลุ่มเขินอู และกลุ่มเขินหวา[36] ส่วนอักษรไทเขินได้รับอิทธิพลอักษรจากล้านนาจากการเผยแผ่ศาสนา โดยรับอักษรธรรมล้านนาและอักษรฝักขามไปพร้อม ๆ กับศาสนา จึงมีลักษณะคล้ายกับอักษรธรรมล้านนา รวมทั้งยังรับวรรณกรรมล้านนาที่แพร่หลายสู่เชียงตุงด้วย[37]

นอกจากนี้ชาวเชียงตุงบางส่วนที่เคยได้รับการเรียนภาษาไทยช่วงที่ไทยเข้าปกครอง สามารถพูดและอ่านภาษาไทยได้ดี[38]

ศาสนา แก้

เดิมประชากรนับถือศาสนาผี ปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธ มีวัดอยู่ทุกหมู่บ้าน มีวัฒนธรรมสูง และไม่ชอบการลักขโมย[26] สืบเนื่องคณะสงฆ์จากอาณาจักรล้านนาเดินทางเข้าไปเผยแผ่ศาสนา ดังจะพบว่ามีการสถาปนาวัดนิกายสวนดอก (นิกายรามัญ หรือยางกวง) และนิกายป่าแดง (หรือนิกายสีหล) สู่เชียงตุงตั้งแต่รัชสมัยพญากือนาและพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเผยแผ่ศาสนาในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองเสียอีก[39] โดยพญากือนาทรงสนับสนุนให้พระสงฆ์จากเชียงแสนและเชียงตุงศึกษาศาสนาพุทธจากวัดสวนดอกในเชียงใหม่ ต่อมาในรัชกาลพญาสามฝั่งแกนมีการรับคัมภีร์ศาสนาจากลังกาเรียกว่านิกายป่าแดงตามชื่อวัดป่าแดง ก่อนแพร่หลายไปทั่วล้านนาและเชียงตุง ซึ่งพระยาสิริธัมมจุฬา เจ้าเมืองเชียงตุงสร้างวัดป่าแดงเป็นอรัญวาสีประจำเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1989[40] สองนิกายนี้เคยเกิดสังฆเภทเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนพระเมืองแก้วทรงไกล่เกลี่ยให้สองนิกายนี้กลับมาปรองดองกัน[41]

ในช่วงหลังนิกายป่าแดงได้รับความนิยมมากกว่านิกายยางกวง ในด้านพระธรรมวินัยและการสวดแบบบาลีที่ถูกต้องแบบเดียวกับการสวดของพระสงฆ์ไทย แต่นิกายยางกวงยังปรากฏอิทธิพลอยู่บ้างตามชุมชนห่างไกล ด้านการสวดมนต์ พระสงฆ์ไทใหญ่และพม่าจะสวดบาลีสำเนียงพม่า ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์เขินจึงไม่สังฆกรรมกับพระสงฆ์ไทใหญ่และพม่า แม้ปัจจุบันพระสงฆ์เขินแสดงเจตจำนงรวมเข้ากับนิกายสุธัมมาของพม่า[41] กระนั้นคณะสงฆ์เขินยังคงจารีตและระบบสมณศักดิ์เดิมตามอย่างล้านนา และอิงการศึกษาศาสนาอย่างคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน[42]

คณะสงฆ์เขินมี สมเด็จอาชญาธรรม เป็นประมุขสงฆ์แห่งเมืองเชียงตุงและหัวเมืองทางฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เปรียบตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งเชียงตุง แต่หลังคณะสงฆ์เขินรวมเข้ากับนิกายสุธัมมาของพม่าแล้ว ตำแหน่งสมเด็จอาชญาธรรมถูกลดฐานะลงเทียบเจ้าคณะอำเภอเชียงตุงเท่านั้น[43]

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 395
  2. เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน, หน้า 103
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 98-99
  4. Society, Royal Geographical (1857). The Journal of the Royal Geographical Society: JRGS (ภาษาอังกฤษ). Murray.
  5. ประเสริฐ ณ นคร, ศาสตราจารย์ ดร. (2547). ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ. p. 165.
  6. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 71
  7. เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน, หน้า 106
  8. 8.0 8.1 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 370
  9. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 372
  10. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 373
  11. 11.0 11.1 Donald M. Seekins, Historical Dictionary of Burma (Myanmar), p. 251
  12. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 76-77
  13. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 82
  14. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 228
  15. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 371
  16. 16.0 16.1 Imperial Gazetteer of India, v. 15, p. 200.
  17. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 383
  18. "The Tai Of The Shan State". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-27. สืบค้นเมื่อ 2014-09-08.
  19. "ประกาส รวมกลันตัน ตรังกานู ไซบุรี ปะลิส เชียงตุง และเมืองพาน เข้าไนราชอาณาจักรไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกสา. 60 (55ก): 1532–1533. 18 ตุลาคม พ.ศ. 2486. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  20. Shan and Karenni States of Burma
  21. David Porter Chandler & David Joel Steinberg eds. In Search of Southeast Asia: A Modern History. p. 388
  22. "WHKMLA : History of the Shan States". 18 May 2010. สืบค้นเมื่อ 21 December 2010.
  23. Ben Cahoon (2000). "World Statesmen.org: Shan and Karenni States of Burma". สืบค้นเมื่อ 7 July 2014.
  24. เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน, หน้า 104
  25. 25.0 25.1 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 229
  26. 26.0 26.1 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 101
  27. Sir Charles Crosthwaite "The pacification of Burma"
  28. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 231
  29. 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 93
  30. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 82-83
  31. 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 106
  32. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 71
  33. 33.0 33.1 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 97
  34. 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 94
  35. เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน, หน้า 107
  36. "ไทเขินบ้านต้นแหนนน้อย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. 31 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  37. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 230
  38. บรรจบ พันธุเมธา. ไปสอบคำไทย. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทย กระทรวงศึกษาธิการ, 2522, หน้า 174
  39. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 162
  40. สมโชติ อ๋องสกุล (22 กุมภาพันธ์ 2560). "เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ สายใยรักสองราชสำนัก เชียงใหม่-เชียงตุง". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  41. 41.0 41.1 รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 132
  42. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 130
  43. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 131
บรรณานุกรม
  • จิตร ภูมิศักดิ์ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2556. 440 หน้า. ISBN 978-974-9747-21-6
  • บ. บุญค้ำ. เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2555. 392 หน้า. ISBN 978-974-315-802-5
  • บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. 30 ชาติในเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2557. 592 หน้า. ISBN 978-974-315-871-1
  • สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553. 660 หน้า. ISBN 978-974-8132-15-0
  • เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552. 222 หน้า. ISBN 9789746605694

แหล่งข้อมูลอื่น แก้