รัฐธรรมนูญตองงา

รัฐธรรมนูญตองงา เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 ทรงตราขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1875 โดยระบุส่วนประกอบของรัฐบาลตองงาและการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ วันคล้ายวันสถาปนารัฐธรรมนูญจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นการทั่วไปในประเทศตองงา[1]

พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 ผู้ตรารัฐธรรมนูญตองงา

รัฐธรรมนูญแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกกล่าวถึงการประกาศสิทธิมนุษยชนให้กับชาวตองงา ส่วนที่สองกล่าวถึงแบบรูปของรัฐบาลและส่วนที่สามกล่าวถึงกฎหมายเกี่ยวกับการถือครอง การสืบทอดและการขายที่ดิน

คำประกาศสิทธิมนุษยชนกำหนดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานให้กับชาวตองงา โดยกำหนดให้ตองงาเป็นประเทศเสรี ห้ามมิให้มีระบบทาส ยกเว้นเป็นไปเพื่อการลงโทษผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง นอกจากนี้ยังจัดตั้งให้ตองงาเป็นที่พักพิงสำหรับผู้หลบหนีจากความเป็นทาสจากประเทศอื่น รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ประชาชนตองงาทุกคนเท่าเทียมกัน แม้จะมีความต่างทางชนชั้นหรือชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพทางสื่อ เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการร้องเรียนและชุมนุมกันด้วย ในวันอาทิตย์ที่เป็นวันสะบาโต รัฐธรรมนูญกำหนดให้ห้ามผู้ใดทำการค้าขายหรือประกอบอาชีพหรือประกอบการพาณิชย์[2] มีการกำหนดให้ใช้หลัก Habeas Corpus เพื่อให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ผู้ถูกกล่าวหาและปกป้องจากการถูกฟ้องร้องซ้ำ ประชาชนจะต้องจ่ายภาษีเพื่อแลกกับการคุ้มครองชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สิน มีข้อกำหนดคุณสมบัติการเป็นลูกขุน และกำหนดอายุสำหรับการสืบทอดตำแหน่งและที่ดิน ท้ายที่สุดนี้ยังกำหนดให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในตองงาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถขอเปลี่ยนสัญชาติได้ ซึ่งจะได้รับสิทธิและอภิสิทธิ์เหมือนชาวตองงาโดยกำเนิด ยกเว้นสิทธิส่วนแบ่งภาษีมรดก

ตองงาเป็นประเทศปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งกษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจทางบริหารผ่านทางรัฐบาลตองงา ทางนิติบัญญัติผ่านรัฐสภาตองงา กษัตริย์ยังทรงสามารถใช้พระราชอำนาจด้านนิติบัญญัติผ่านทางคณะองคมนตรีได้ เมื่อไม่ใช่สมัยประชุมสภา แต่พระราชกฤษฎีกาฉบับนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงจะเป็นกฎหมายได้

รัฐสภาสามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยต้องไม่มีผลกระทบต่อกฎหมายด้านเสรีภาพ การสืบราชสมบัติและตำแหน่งหรือที่ดินของชนชั้นขุนนาง การแก้รัฐธรรมนูญต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา 3 ครั้ง และได้รับมติเป็นเอกฉันท์จากคณะองคมนตรี

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Tonga". FAO. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "No bread selling on Sunday". Parliament of Tonga. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้