ระบบเกมของวิดีโอเกมเล่นตามบทบาทชุดโปเกมอนเกี่ยวพันกับการจับและฝึกฝนสิ่งมีชีวิตหลากหลายชีวิตที่เรียกว่า "โปเกมอน" และใช้ต่อสู้กับเทรนเนอร์คนอื่น ๆ เกมโปเกมอนแต่ละเจเนอเรชันหรือรุ่น สร้างขึ้นด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการเปิดเผยโปเกมอนชนิดใหม่ ไอเทม และแนวคิดระบบเกมแบบใหม่ บางแนวคิดเคยมีนำเสนอที่อื่นมาก่อนที่จะนำเสนอในเกม เช่น การต่อสู้แบบสองต่อสองเคยปรากฏในอนิเมะมานานก่อนปรากฏในเกม และความสามารถพิเศษของโปเกมอนคล้ายกับค่าเพาเวอร์ในโปเกมอนเทรดดิงการ์ดเกม ซึ่งนำเสนอโปเกมอนสีแปลกด้วยรค

โครงสร้างเกม แก้

เกมแต่ละเกมบนเครื่องเกมมือถือตั้งแต่เกมแรกในปี พ.ศ. 2539 ถึงเกมล่าสุดในปี พ.ศ. 2559 เกิดขึ้นในโลกโปเกมอนสมมุติ และเริ่มต้นโดยให้ผู้เล่นรับโปเกมอนเริ่มต้นจากศาสตราจารย์ประจำท้องถิ่น ตลอดการเดินทางทั่วโลก ผู้เล่นเพิ่มจำนวนโปเกมอนและความแข็งแกร่งได้โดยจับโปเกมอนและวิวัฒนาการโปเกมอนและต่อสู้กับเทรนเนอร์ เนื้อเรื่องย่อยในเกมคือต่อสู้องค์กรอาชญากรรมที่พยายามยึดครองโลกโดยใช้โปเกมอนในทางผิด ๆ องค์กรเหล่านี้ได้แก่ ทีมร็อกเก็ต ทีมแม็กมา ทีมอะควา ทีมกาแลกติก ทีมพลาสมา และทีมแฟลร์

ในโลกโปเกมอนมีสิ่งก่อสร้างหลากหลายชนิด เช่น โปเกมอนเซนเตอร์ โปเกมาร์ต และยิม โปเกมอนเซนเตอร์ช่วยรักษาพลังชีวิตโปเกมอนให้ฟรี เป็นแหล่งฝากและถอนโปเกมอนของผู้เล่นออกจากคอมพิวเตอร์ได้ และสำหรับประเมินโปเกเดกซ์ของผู้เล่น ผู้เล่นยังสามารถเชื่อมต่อกับเกมตลับอื่น เพื่อต่อสู้และแลกเปลี่ยนโปเกมอน (ผู้หญิงที่ผู้เล่นสามารถคุย พบได้ในชั้นเดียวกับพยาบาล แต่ตั้งแต่เกมภาคโกลด์และซิลเวอร์ โปเกมอนเซนเตอร์มีชั้นที่สองเพิ่มเพื่อให้ทำสิ่งนี้ได้ แต่ชั้นนี้ถูกถอดออกในภาคเอกซ์และวายเนื่องจากมี "ระบบค้นหาผู้เล่น" เพิ่มเข้ามา) โปเกมาร์ตเป็นร้านค้าที่ผู้เล่นสามารถซื้อไอเทมจากเงินที่ได้จากการต่อสู้ บางเมืองอาจมีร้านค้าเฉพาะแบบ เช่น มีร้านขายยา หรือห้างสรรพสินค้า เมื่อเวลาผ่านไป เมืองเมืองหนึ่งจะมียิมโปเกมอน ที่มีเทรนเนอร์ฝีมือดีที่เรียกว่า ยิมลีดเดอร์ เมื่อผู้เล่นต่อสู้ชนะจะได้รับเข็มกลัดยิม และได้ดำเนินเนื้อเรื่องต่อไป หลังจากสะสมเข็มกลัดยิมครบ 8 อัน ผู้เล่นสามารถท้าชิงกับสี่จตุรเทพและแชมเปียนของแต่ละท้องถิ่น หากชนะแชมเปียนแล้วจะเป็นการจบเนื้อเรื่องหลัก

เมื่อเล่นเนื้อเรื่องหลักจบบริบูรณ์แล้วจะมีคุณสมบัติอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยหลักแล้วจะเปิดทางให้เข้าสถานที่ที่เคยถูกปิดไว้ได้ หลังจากนั้น เกมจะเป็นปลายเปิด โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การจับโปเกมอนแต่ละสายพันธุ์อย่างน้อยหนึ่งตัวและเติมเต็มโปเกเดกซ์ หากไม่นับเจเนอเรชันที่หนึ่งและสอง เมื่อจับโปเกมอนทุกตัวในภูมิภาค ผู้เล่นจะได้อัปเดตโปเกเดกซ์เป็นเนชันเนิลโปเกเดกซ์ และภารกิจใหม่คือจับโปเกมอนทุกตัวจากภาคเก่า (ตั้งแต่ฟุชิงิดาเนะถึงโปเกมอนตัวสุดท้ายในโปเกเดกซ์ประจำภูมิภาคของเจเนอเรชันนั้น ๆ ยกเว้นโปเกมอนเฉพาะที่จะได้รับในกิจกรรมพิเศษเท่านั้น เช่น จิราชี และฮูปา) จำนวนโปเกมอนจะเพิ่มขึ้นในทุกเจเนอเรชัน เริ่มจาก 151 ตัว เป็น 721 ตัวในภาคล่าสุด

โปเกมอนเริ่มต้น แก้

โปเกมอนเริ่มต้น
เรด/กรีน/บลู/ไฟร์เรด/ลีฟกรีน ฟุชิงิดาเนะ ฮิโตคาเงะ เซนิกาเมะ
เยลโลว์/เล็ตส์โกพิคาชู!/เล็ตส์โกอีวุย! พิคาชู อีวุย
โกลด์/ซิลเวอร์/คริสตัล/ฮาร์ตโกลด์/โซลซิลเวอร์ จิโคริตา ฮิโนอาราชิ วานิโนโกะ
รูบี/แซฟไฟร์/เอเมอรัลด์/โอเมการูบี้/แอลฟาแซฟไฟร์ คิโมริ อาชาโม มิซึโกโร
ไดมอนด์/เพิร์ล/แพลทินัม/บริลเลียนท์ไดมอนด์/ไชนิงเพิร์ล นาเอเติล ฮิโกซารุ โพจจามะ
แบล็ก/ไวต์/แบล็ก 2/ไวต์ 2 ซึทาจะ โพคาบู มิจูมารุ
เอกซ์/วาย ฮาริมารอน ฟ็อกโกะ เคโรมะสึ
ซัน/มูน/อัลตราซัน/อัลตรามูน โมะคุโร่ เนียบี้ อะชิมาริ
ซอร์ด/ชิลด์ ซารุโนริ ฮิบานี เมซซอน
เลเจนด์ อาร์เซอุส โมะคุโร่ ฮิโนอาราชิ มิจูมารุ

หนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกรุ่นของเกมโปเกมอนสวมบทบาทคือให้ผู้เล่นเลือกโปเกมอนหนึ่งในสามตัวเพิ่มเริ่มเดินทาง โปเกมอนเริ่มต้น เรียงตามลำดับเวลา ได้แก่ ฟุชิงิดาเนะ ฮิโตคาเงะ เซนิกาเมะ ชิโกริตา ฮิโนอาราชิ วานิโนโกะ คิโมริ อาจาโม มิซุโงโร นาเอโทรุ ฮิโกซารุ โพชามะ สึทาร์จา โพกาบู มิจูมารุ ฮาริมารอน ฟ็อกโกะ เคโรมะสึ โปเกมอนสามตัวดังกล่าวได้ชื่อว่าเป็น โปเกมอนเริ่มต้น ผู้เล่นสามารถเลือกหนึ่งในสามโปเกมอนที่มีประเภทต่างกัน ได้แก่ หญ้า ไฟ และน้ำ (ฟุชิงิดาเนะ มีประเภทหญ้าและพิษ และโปเกมอนเริ่มต้นหลายตัวพัฒนาไปเป็นโปเกมอนที่มีสองประเภท)[1] โปเกมอนทุกตัวเป็นโปเกมอนประจำแต่ละท้องถิ่น ยกเว้นหากแลกเปลี่ยนกับเกมภาคอื่น (ทำให้กลายเป็นโปเกมอนหายาก) หลังจากนั้น คู่แข่งของผู้เล่นจะเลือกโปเกมอนที่มีประเภท "ได้เปรียบ" โปเกมอนเริ่มต้นของผู้เล่นอยู่เสมอ ในภาคแบล็ก ไวต์ เอกซ์ และวาย ผู้เล่นมีคู่แข่งหลายคน ทำให้โปเกมอนที่เหลือถูกคู่แข็งเลือกไปจนหมด

มีข้อยกเว้นในโปเกมอนภาคเยลโลว์ โดยผู้เล่นจะได้รับพิกะจู โปเกมอนหนูประเภทไฟฟ้าที่มีชื่อเสียงเป็นตุ๊กตาสัญลักษณ์ของแฟรนไชส์โปเกมอน คอยเดินตามหลังผู้เล่น[2] คู่แข่งจะได้รับอีวุย โปเกมอนประเภทปกติ อีวุยจะพัฒนาร่างเป็นหนึ่งในสามร่างที่เป็นไปได้ (ในขณะนั้น) ขึ้นกับเงื่อนไขว่าผู้เล่นต่อสู้ชนะหรือแพ้คู่แข่งอย่างไรในตอนเริ่มเกม

โปเกมอนยิม แก้

ยิมโปเกมอน เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ทั่วโลกโปเกมอน ซึ่งโปเกมอนเทรนเนอร์สามารถฝึกฝนหรือทำให้มีคุณสมบัติเข้าแข่งขันโปเกมอนลีกได้ แม้ว่าองค์ประกอบภายในยิมโปเกมอนจะหลากหลาย แต่ทุกยิมจะเน้นเฉพาะโปเกมอนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และทั้งหมดดูแลโดยหัวหน้ายิม โปเกมอนเทรนเนอร์ที่เป็นดั่งหัวหน้าเกม ยิมโปเกมอนสามารถพบได้ในเมืองส่วนใหญ่ในโลกโปเกมอน

เมื่อต่อสู้ชนะหัวหน้ายิม ผู้เล่นจะได้รับเข็มกลัดซึ่งเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของเทรนเนอร์ และเป็นส่วนสำคัญในการเดินเนื้อเรื่อง หัวหน้ายิมในเกมแรก (เรด บลู และเยลโลว์) คือ ทาเคชิ คาสึมิ เมทิส เอริกะ เคียว นาสึเมะ คาสึระ และซาคากิ เมื่อต่อสู้ชนะยังทำให้ผู้เล่นได้รับอุปกรณ์สอนเทคนิคที่ให้ผู้เล่นสอนท่าให้โปเกมอน และทำให้สามารถใช้โปเกมอนที่ถูกแลกเปลี่ยนมาในระดับเลเวลสูง ๆ ตามที่กำหนดได้ (ถ้าเลเวลเกินกำหนด โปเกมอนที่แลกเปลี่ยนมาจะไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้เล่น) และยังทำให้ผู้เล่นใช้งานวัตถุต่าง ๆ ในเกมผ่านอุปกรณ์สอนท่าลับ เช่น สามารถข้ามน้ำด้วยท่าโต้คลื่น (Surf) หรือสามารถตัดต้นไม้ที่ขวางทางด้วยท่าตัด (Cut) คุณสมบัติที่ทำให้สามารถเข้าแข่งขันโปเกมอนลีกได้คือ เทรนเนอร์ต้องสะสมเข็มกลัดครบ 8 อัน ในวิดีโอเกมหลายภาค ในภูมิภาคหนึ่ง ๆ จะมียิม 8 ยิม แม้ว่าในอนิเมะมีการยืนยันว่ามีแห่งอื่นด้วย (เช่น ชิเงรุได้รับเข็มกลัด 10 อัน แต่ไม่ได้ได้รับจากหัวหน้ายิมเมืองยะมะบุกิ และโทกิวะ) กล่าวกันว่าโปเกมอนมีแนวโน้มจะเชื่อฟังเทรนเนอร์ที่มีเข็มกลัดมากกว่า เข็มกลัดบางอันจะทำให้ผู้เล่นสามารถใช้โปเกมอนเลเวลสูงที่ถูกแลกเปลี่ยนมาได้ ตัวอย่างนั้น ถ้าผู้เล่นต่อสู้ชนะหัวหน้ายิมแรก โปเกมอนที่แลกเปลี่ยนมาที่มีเลเวลมากกว่า 20 จะเชื่อฟังเทรนเนอร์ และก่อนหน้านั้น พวกเขาอาจไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้เล่นในการต่อสู้

หลังจากผู้เล่นชนะหัวหน้ายิมแปดคนแล้ว เขาหรือเธอสามารถเดินทางไปสถานที่ที่มีโปเกมอนลีก เพื่อต่อสู้กับสี่จตุรเทพ (Elite Four) และแชมเปียนโปเกมอนลีก และชนะเกมในที่สุด

ระบบการต่อสู้โปเกมอน แก้

 
ฉากการต่อสู้ในโปเกมอน ไฟร์เรด โปเกมอนด้านบนขวาของจอเป็นโปเกมอนของคู่ต่อสู้ โปเกมอนด้านล่างซ้ายเป็นโปเกมอนของผู้เล่น ตัวเลือกของผู้เล่นแสดงอยู่ด้านขวาล่าง

การต่อสู้ระหว่างโปเกมอนเป็นกลไกสำคัญของเกมชุดโปเกมอน กลไกใช้ฝึกฝนโปเกมอนให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อเป็นการแข่งขันและเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ภายในเกม การต่อสู้กับผู้เล่นกันเองสามารถทำได้ผ่านสายลิงก์เคเบิล เทคโนโลยีไร้สาย หรืออินเทอร์เน็ต

โปเกมอนใช้ระบบการต่อสู้แบบผลัดกัน (turn-based) เมื่อผู้เล่นท้าทายเทรนเนอร์หรือเผชิญหน้ากับโปเกมอนป่า หน้าจอเกมจะเปลี่ยนเข้าฉากต่อสู้กับโปเกมอนฝั่งตรงข้าาม เมื่อเริ่มผลัดแรก ทั้งสองฝ่ายสามารถเลือกท่าโจมตี ใช้ไอเทม สับเปลี่ยนโปเกมอน หรือพยายามหนีจากการต่อสู้ (ไม่สามารถทำได้หากต่อสู้กับเทรนเนอร์คนอื่นหรือในบางสถานการณ์) ถ้าทั้งสองฝ่ายโจมตี ผู้ใดจะได้โจมตีก่อนนั้น พิจารณาจากค่าความเร็ว (Speed) แม้ว่าบางท่า ไอเทม และผลกระทบสามารถลบล้างกลไกนี้ ถ้าฝั่งใดฝั่งหนึ่งเลือกทำอย่างอื่น การกระทำนั้นจะได้กระทำก่อนการโจมตี

โปเกมอนแต่ละตัวจะใช้ท่าโจมตีเพื่อลดค่าฮิตพอยต์ (HP) ของคู่ต่อสู้ให้เหลือศูนย์ ซึ่งทำให้โปเกมอนหมดสติ ถ้าโปเกมอนของผู้เล่นชนะ มันจะได้รับค่าประสบการณ์ เมื่อโปเกมอนได้รับค่าประสบการณ์มากพอ เลเวลของโปเกมอนจะเพิ่มขึ้น ถ้าโปเกมอนของผู้เล่นหมดสติ เขาหรือเธออาจใช้โปเกมอนตัวอื่นแทนหรือหนีไป (การหนีสามารถทำได้กับการต่อสู้โปเกมอนป่าเท่านั้น) ถ้าผู้เล่นไม่เหลือโปเกมอนที่ต่อสู้ได้อีก (หมดสติทั้งหมด) เขาหรือเธอจะแพ้การต่อสู้ เสียเงินครึ่งหนึ่ง และกลับไปที่โปเกมอนเซนเตอร์ที่แวะครั้งล่าสุด[3]

ดับเบิ้ลแบทเทิลและทริปเปิลและการต่อสู้แบบหมุนวน แก้

ดับเบิ้ลแบทเทิล แก้

โปเกมอน รูบีและแซฟไฟร์ นำเสนอการต่อสู้แบบดับเบิล หรือสองต่อสอง (Double Battles) ซึ่งในทีมจะต่อสู้ด้วยโปเกมอนสองตัวในครั้งเดียวกัน แม้ว่ากลไกหลักของเกมจะยังเหมือนเดิม ท่าโจมตีอาจมีเป้าหมายที่โปเกมอนหลายตัว กล่าวคือ บางท่าจะกระทบกับโปเกมอนฝั่งเดียวกันและฝั่งคู่ต่อสู้ด้วย ที่เพิ่มเติมคือ ความสามารถพิเศษบางอย่างจะทำงานเฉพาะในการต่อสู้แบบหลายคน การต่อสู้แบบมัลติมีเช่นกัน โดยผู้เล่นสองคนต่อสู้กับคนสองคน เกมในเจเนอเรชันที่สามจะมีเพียงการต่อสู้แบบสองต่อสองกับเทรนเนอร์คนอื่นเท่านั้น แต่ในภาคไดมอนด์และเพิร์ลจะมีการต่อสู้แบบสองต่อสองกับโปเกมอนป่าถ้าผู้เล่นเดินทางร่วมกับตัวละครที่ไม่ใช่ผู้เล่น (NPC) ภาคแบล็กและไวต์ได้กำจัดข้อจำกัดนี้ไปและได้เพิ่มหญ้าสูงชนิดพิเศษที่โปเกมอนป่าจะปรากฏพร้อมกันสองตัวได้

ทริปเปิลและการต่อสู้แบบหมุนวน แก้

ภาคแบล็กและไวต์ยังนำเสนอการต่อสู้แบบสามต่อสาม (Triple Battle)[4] และการต่อสู้แบบหมุนวน (Rotation Battle)[5] ในการต่อสู้แบบสามต่อสาม ทีมทั้งสองทีมจะส่งโปเกมอนออกมาพร้อมกันสามตัว โปเกมอนด้านซ้ายจะโจมตีโปเกมอนได้ทุกตัวยกเว้นโปเกมอนด้านขวาสุด (ยกเว้นท่าโจมตีที่มีพิกัดกว้างบางท่า) และกลับกัน ในการต่อสู้แบบหมุนวน ทั้งสองฝ่ายจะส่งโปเกมอนพร้อมกันสามตัว แต่จะใช้ได้ครั้งละหนึ่งตัว โปเกมอนที่ต่อสู้อยู่สามารถสับเปลี่ยนกับโปเกมอนอีกสองตัวได้ โดยที่ไม่เสียตา

การต่อสู้บนฟ้าและต่อสู้แบบผกผันและการเผชิญหน้าเป็นฝูง แก้

โปเกมอนภาคเอกซ์และวายนำเสนอกลไกการต่อสู้แบบใหม่คือ การต่อสู้บนฟ้า (Sky Battle) จะเกิดขึ้นได้เฉพาะกับสกายเทรนเนอร์ (Sky Trainer) และสามารถใช้โปเกมอนประเภทบิน หรือโปเกมอนที่มีความสามารถพิเศษแบบลอยได้ (Levitate) เท่านั้น กล่าวกันว่าเป็นการต่อสู้ที่ยาก การเผชิญหน้าเป็นฝูง (Horde Encounter) คือการพบกับโปเกมอนป่าพร้อมกันถึงห้าตัว จำเป็นต้องใช้ท่าที่โจมตีพร้อมกันหลายเป้าหมายได้เพื่อให้โจมตีง่ายขึ้น[6][7][8] อีกรูปแบบการต่อสู้หนึ่งคือการต่อสู้แบบผกผัน (Inverse Battle) การต่อสู้แบบผกผันจะเหมือนกับการต่อสู้แบบปกติ แต่ตารางความได้เปรียบเสียเปรียบของประเภทการโจมตีจะถูกเปลี่ยน หมายความว่าท่าที่ปกติจะโจมตีได้ผลดี จะเป็นท่าที่โจมตีไม่ได้ผลดีนัก และกลับกัน ปกติแล้ว ท่าโจมตีจะมีความแข็งแกร่งและความอ่อนแอ เช่น ไฟจะโจมตีได้ผลดีต่อหญ้า

ประเภทของโปเกมอน แก้

 
ตารางนี้แสดงประเภทของโปเกมอนทั้งหมด 18 ประเภท (นับถึงโปเกมอน โอเมการูบี และอัลฟาแซฟไฟร์) และความแข็งแกร่ง ความอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่อประเภทอื่น ๆ

ประเภทของโปเกมอน เป็นคุณสมบัติที่กำหนดความแข็งแกร่งและความอ่อนแอของโปเกมอนแต่ละตัว และท่าโจมตีแต่ละท่า จะมีการหักล้างกันในความสัมพันธ์แบบเป่ายิ้งฉุบ ตัวอย่างหลัก ๆ ของความสัมพันธ์นี้คือระหว่างประเภทหญ้า ไฟ และน้ำ หญ้าอ่อนแอต่อไฟ ไฟอ่อนแอต่อน้ำ และน้ำอ่อนแอต่อหญ้า แต่ละประเภทจะทนทานต่อประเภทอื่น ๆ ความสัมพันธ์ของประเภทที่เป็นภูมิคุ้มกัน เช่น ผีมีภูมิคุ้มกันต่อประเภทปกติ และประเภทต่อสู้ ความอ่อนแอ การต่อต้านอาจรวมกันได้หากโปเกมอนมีสองประเภท เช่น โปเกมอนประเภทพื้นดินและบินได้ จะมีภูมิคุ้มกันต่อท่าประเภทไฟฟ้า เนื่องจากความอ่อนแอต่อประเภทบินได้ ถูกหักล้างโดยประเภทพื้นดิน อย่างไรก็ตาม โปเกมอนตัวนั้นจะอ่อนแอต่อประเภทน้ำแข็งถึงสองเท่า เนื่องจากประเภทพื้นดินและบินได้ต่างก็อ่อนแอต่อประเภทน้ำแข็ง ความสามารถพิเศษบางอย่างของโปเกมอนสามารถเปลี่ยนปฏิกิริยาเหล่านี้ได้ เช่น โปเกมอนที่ลอยได้ (Levitate) จะมีภูมิคุ้มกันต่อท่าประเภทพื้นดิน

ในเกมโปเกมอนภาคเรด กรีน บลู และเยลโลว์ มีประเภทของโปเกมอนทั้งหมด 15 ประเภท รวมถึงประเภทที่ยกตัวอย่างไว้ด้านบน และมีประเภทพิษ พลังจิต แมลง หิน และมังกร ในภาคโกลด์และซิลเวอร์ ได้เพิ่มประเภทอีกสองประเภท ได้แก่ ความมืดและเหล็ก ทำให้มีประเภททั้งหมด 17 ประเภทมาเป็นเวลา 14 ปี เกมยังมีประเภทที่ไม่รู้จัก (ประเภท "???") ซึ่งเคยเป็นประเภทของท่า Curse จนกระทั่งท่านั้นถูกเปลี่ยนเป็นประเภทผีในภาคแบล็กและไวต์ เกมคอนโซลภาคโคลอสเซียมและเอกซ์ดี ยังมีประเภทของท่าที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ประเภทเงา แต่ประเภทนี้ไม่ได้ถูกใช้นอกเกมคอนโซล โปเกมอนเงาอาจถือว่าเป็นประเภทเงาได้ แต่มันก็ยังเป็นประเภทเดิมอยู่ ในเกมโปเกมอน เอกซ์ดี ท่าประเภทเงาจะได้เปรียบต่อโปเกมอนที่ไม่ใช่เงา และจะเสียเปรียบกับโปเกมอนเงาด้วยกัน ภาคเอกซ์และวายนำเสนอประเภทที่ 18 ได้แก่ นางฟ้า (Fairy) ประเภทนี้ได้เปรียบกับประเภทต่อสู้ มังกร และความมืด เสียเปรียบต่อประเภทไฟ พิษ และเหล็ก ประเภทนางฟ้าทนทานต่อประเภทต่อสู้ แมลง และความมืด อ่อนแอต่อประเภทพิษและเหล็ก และมีภูมิคุ้มกันต่อประเภทมังกร นอกจากนี้ ในโปเกมอนภาคเอกซ์และวาย ประเภทความมืดและผีเป็นกลางต่อประเภทเหล็กด้วย

อ้างอิง แก้

  1. Pokémon Ruby review (page 1) เก็บถาวร 2013-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Gamespy.com. URL Accessed May 30, 2006.
  2. Pokémon Yellow Critical Review เก็บถาวร 2006-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Ign.com. Retrieved March 27, 2006.
  3. Pokémon Diamond Version instruction booklet. p. 15.
  4. "バトル | 『ポケットモンスターブラック・ホワイト』公式サイト". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-22. สืบค้นเมื่อ 2010-10-16.
  5. "ローテーションバトル | 『ポケットモンスターブラック・ホワイト』公式サイト". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-22. สืบค้นเมื่อ 2010-10-16.
  6. "New Ways to Battle!". Pokemonxy.com. สืบค้นเมื่อ 2013-06-12.
  7. "「スカイバトル」と「群れバトル」|『ポケットモンスター X』『ポケットモンスター Y』公式サイト". Pokemon.co.jp. สืบค้นเมื่อ 2013-06-12.
  8. "Pokemon X and Y's Horde Battles and Sky Battles revealed". Polygon. 2013-06-11. สืบค้นเมื่อ 2013-09-04.