ระบบพ่อปกครองลูก
ระบบปกครองแบบพ่อปกครองลูก (อังกฤษ: Paternalism) เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกลักษณะการปกครองแบบโบราณที่ผู้ปกครองเป็นเสมือน “พ่อ” และประชาชนเปรียบเสมือน “ลูก” ในทางคำศัพท์จะใช้เรียกแทนพฤติกรรมของบุคคล องค์กร หรือการปกครองที่จำกัดสิทธิเสรีภาพและความอิสระของประชาชนในบางความหมายจะใช้แทนการเรียกระบบสังคมที่จำกัดสิทธิของคนบางกลุ่มและให้คนบางกลุ่มที่เป็นส่วนน้อยของสังคมมีสิทธิพิเศษที่เหนือกว่าคนส่วนใหญ่ หรือใช้เรียกกฎหมายที่เข้ามาจำกัดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป เช่น กฎหมายห้ามขายสุราและของมึนเมาในวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น ทั้งนี้การแปลคำว่า Paternalism เป็น “ระบบพ่อปกครองลูก” เนื่องจาก Paternalism มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินคำว่า Pater หมายถึง พ่อ ซึ่งเมื่อรวมกับคำว่า –ism หมายถึง ลัทธิ แต่ต้องไม่สับสนกับคำว่า Patriarchy คือ “ปิตาธิปไตย” ที่หมายถึงระบบสังคมที่ลักษณะบางอย่างแสดงออกถึงการให้คุณค่าความเป็นชายมากกว่าและทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ (Kurian, 2011: 1196)[1]
อรรถาธิบาย
แก้แนวคิดระบบพ่อปกครองลูกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษก็คือ การนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยเซอร์ โรเบิร์ต ฟิลเมอร์ (Sir Robert Filmer) ซึ่งได้อธิบายว่าพระมหากษัตริย์นั้นมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจไม่ใช่เพราะความศักดิ์สิทธิ์ตามแนวคิดเทวสิทธิ์ หากแต่เป็นเพราะพระองค์ได้สืบทอดสิทธิอำนาจดังกล่าวมาจากอดัมที่เป็นมนุษย์ชายคนแรกที่ทำหน้าที่ปกครองภรรยาของเขา คือ อีฟ และบุตรของเขา ดังนั้นฐานที่มาของอำนาจของพระมหากษัตริย์จึงมาจากสถาบันทางสังคมพื้นฐานนั่นก็คือสถาบันครอบครัวที่มีอดัมเป็นต้นแบบ และในกรณีของราชอาณาจักรก็คือครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่เป็นบิดาของเหล่าอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงนั่นเอง (Filmer, 1991 :1-11)[2]
ในทางรัฐศาสตร์สมัยใหม่ ระบบพ่อปกครองลูก หมายถึง อำนาจเผด็จการอำนาจนิยมที่ทำการควบคุมและชี้นำประชาชน ในเชิงการปกครอง รัฐระบบพ่อปกครองลูกจะจัดหาการบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานให้กับประชาชนอย่างใกล้ชิด เช่น การจัดบริการน้ำประปา ไฟฟ้า ถนน การสาธารณสุข เป็นต้น แต่ก็จะทำการปกครองและควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยกฎระเบียบที่ชัดเจน และเน้นส่งเสริมการพัฒนาประเทศจากทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง การอธิบายการเมืองระบบพ่อปกครองลูกในยุคหนึ่งจะใช้เพื่อทำความเข้าใจประเทศในกลุ่มสังคมนิยม หรือ Soviet bloc ที่รัฐบาลแทรกแซงการทำงานของกลไกตลาดและควบคุมสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล (Melich, 2011: 1196)[3] นอกจากนี้ ระบบพ่อปกครองลูก ยังอาจหมายรวมไปถึงการกำหนดนโยบายแบบ ‘คุณพ่อรู้ดี’ คือ การที่รัฐ หรือ ผู้ปกครองนั้นเชื่อว่าประชาชนอาจไม่เข้าใจว่าผลประโยชน์ที่แท้จริงของตนเองคืออะไร ด้วยฐานคิดเช่นนี้ ทำให้เชื่อว่า ผู้มีอำนาจ หรือ ผู้ปกครองต่างหากที่สมควรเป็นผู้กำหนดนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ที่แท้จริงให้แก่ประชาชน
สำหรับสังคมไทย คำว่าระบบพ่อปกครองลูกจะถูกใช้แทนการปกครองของรัฐบาลที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำในสมัยสุโขทัยนั้น ทำให้เข้าใจได้ว่า มีข้าราชการเกิดขึ้นแล้วเรียกว่า "ลูกขุน" โดยมีพระมหากษัตริย์เป็น "พ่อขุน" และมีประชาชนเป็น "ท่วย" หรือ "ไพร่ฟ้า" เพราะฉะนั้น กษัตริย์ในฐานะพ่อจึงสามารถใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครองลูกได้ เพื่อให้ลูกเชื่อฟัง แต่พ่อก็มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองลูกอย่างใกล้ชิดเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน การที่พระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพ่อหรือข้าราชการบริพาร และประชาชนเปรียบเสมือนลูก ทำให้การปกครองมีลักษณะใกล้ชิดกัน และเมื่อเกิดปัญหาสังคมขึ้น พระมหากษัตริย์จะลงมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวเอง “พ่อปกครองลูก” เป็นคำที่ใช้เรียกระบอบการปกครองสมัยสุโขทัย ก่อนที่จะมีการสถาปนาความคิดแบบธรรมราชาและเทวราชา
ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย
แก้ในงานศึกษาของ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (2552) งานศึกษาชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการเมืองไทยช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคคณะราษฎร์ไปสู่กลุ่มอำนาจเก่า นำโดยจอมพลสฤษดิ์ที่สถาปนาระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (despotic paternalism) ซึ่งแปลคำว่า Paternalism เป็น “พ่อขุน” หมายถึง รูปแบบการปกครองที่ผู้นำมีอำนาจบารมี และมีความใกล้ชิดกับประชาชนในแบบของพ่อปกครองลูกของตัวเอง ซึ่งการแปลว่า “พ่อขุน” เป็นความพยายามเล่นคำเพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองสมัยสุโขทัยแบบ “พ่อปกครองลูก” เพื่อกล่าวว่าการเมืองไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ได้นำหลักการดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้ง การแสดงความเป็นพ่อสามารถทำได้จากการส่งข้าราชการไปเป็นหูเป็นตา หรือลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน “ลูก ๆ” ในต่างจังหวัด เพื่อคอยดูแลวิถีชีวิตไม่ว่าจะเรื่องใหญ่ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาการศึกษา เป็นต้น หรือเรื่องเล็ก ๆ เช่น การช่วยแนะนำการดับเพลิง การดูแลถนนให้สะอาดเรียบร้อย และจัดการนักเลงอันธพาล เป็นต้น[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ Kurian, George Thomas (2011). The encyclopedia of political science. Washington: CQ Press.
- ↑ Filmer, Robert (1991). Patriarcha and Other Writings. Cambridge: Cambridge University Press.
- ↑ Melich, Jiri S. (2011). “Paternalism”. In Kurian, George Thomas et al. The Encyclopedia of Political Science. Washington, D.C.: CQ Press.
- ↑ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (2552). ใน พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (ผู้แปล). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.