เซอร์รอเบิร์ต พีล (อังกฤษ: Robert Peel) เป็นนักการเมืองชาวบริติชในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรถึงสองสมัย ในปี พ.ศ. 2377-8 และ พ.ศ. 2384-9 มีชื่อเสียงจากผลงานหลายด้าน เช่น การก่อตั้งหน่วยตำรวจนครบาลในลอนดอน การวางรากฐานพรรคอนุรักษนิยมในอังกฤษ และการยกเลิกกฎหมายอากรข้าวโพดซึ่งเป็นการวางรากฐานสำคัญในระบบการค้าเสรีในปัจจุบัน

รอเบิร์ต พีล
นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
ดำรงตำแหน่ง
10 ธันวาคม 1834 – 8 เมษายน 1835
กษัตริย์พระเจ้าวิลเลียมที่ 4
ก่อนหน้าดยุกแห่งเวลลิงตัน
ถัดไปไวเคานต์เมลเบิร์น
ดำรงตำแหน่ง
30 สิงหาคม 1841 – 29 มิถุนายน 1846
กษัตริย์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
ก่อนหน้าไวเคานต์เมลเบิร์น
ถัดไปจอห์น รัสเซลล์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1788(1788-02-05)
แลงคาเชอร์ อังกฤษ
เสียชีวิต2 กรกฎาคม ค.ศ. 1850(1850-07-02) (62 ปี)
เวสต์มินสเตอร์ อังกฤษ
ศาสนาคริสตจักรแห่งอังกฤษ
พรรคการเมืองพรรคทอรี
พรรคอนุรักษนิยม
คู่สมรสจูเลีย พีล
ลายมือชื่อ

ชีวิตในวัยหนุ่ม แก้

พีล เกิดที่เมืองบิวรีในอังกฤษเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2331 ในตระกูลชนชั้นกลาง เขาได้รับการศึกษาจากโรงเรียนแฮร์โรว์และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Christ Church, University of Oxford) โดยจบปริญญาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งวิชาคลาสสิกและคณิตศาสตร์ก่อนที่จะเดินตามรอยบิดาเข้าสู่สนามการเมือง

พีลได้รับเลือกเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคทอรีในเขต Cashel, Tipperary ในไอร์แลนด์ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2352 เนื่องจากเขตเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นฐานที่มั่นของพรรคทอรีอยู่แล้ว และพีลได้รับการสนับสนุนจากอาร์เธอร์ เวลสลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งเวลลิงตัน รัฐมนตรีไอร์แลนด์ในขณะนั้นด้วย จึงชนะการเลือกตั้งอย่างไม่มีผู้ใดแข่งด้วย

พีลได้รับการยอมรับในวงการการเมืองอย่างรวดเร็ว เขาได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีไอร์แลนด์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในช่วงสิบปีถัดมา ในปี พ.ศ. 2360 เขาได้รับการเลือกเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในสภาฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้มาไม่ง่ายนัก

รัฐมนตรีมหาดไทย แก้

พีลได้รับการเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในคณะรัฐมนตรีซึ่งนำโดยรอเบิร์ต เจ็นคินสัน เอิร์ลที่ 2 แห่งลิเวอร์พูล ในปี พ.ศ. 2365 ในระหว่างนี้มีการรณรงค์ในไอร์แลนด์ให้เปิดโอกาสให้ชาวคาทอลิกมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ (Catholic Emancipation) แต่พีลต่อต้านการรณรงค์ครั้งนี้อย่างรุนแรงจนได้รับฉายาว่าพีลสีส้ม (Orange Peel) เมื่อลิเวอร์พูลลาออกนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือจอร์จ แคนนิ่งซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการรณรงค์ครั้งนี้ พีลจึงได้ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนี้ต่อ

 
ดยุกแห่งเวลลิงตัน

พีลกลับเข้ารับตำแหน่งเดิมอีกครั้งในปี 2371 ในรัฐบาลซึ่งนำโดยดยุกแห่งเวลลิงตัน ในปีเดียวกันแดเนีล โอคอนเนล ซึ่งเป็นชาวคาทอลิก ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนจากไอร์แลนด์ จึงเป็นการกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างหนัก เวลลิงตันจึงยอมเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวโดยการช่วยเหลือในสภาฯโดยพีล พีลรู้สึกอึดอัดใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวจึงลาออกจากการเป็นผู้แทนที่ม.ออกซฟอร์ด ย้ายไปเป็นผู้แทนที่เวสต์เบอรี่แทน (ซึ่งหลังจากนั้นสองปี พีลย้ายไปที่แทมเวิร์ธ และเป็นผู้แทนเขตนั้นไปจนเขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 2393)

ในปี 2372 พีลในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ริเริ่มจัดตั้งสำนักงานตำรวจนครบาลในกรุงลอนดอน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สก๊อตแลนด์ยาร์ด การจัดตั้งครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการลดอาชญากรรมในกรุงลอนดอน และระบบนี้ก็ได้กลายเป็นตัวอย่างสำหรับนำไปใช้กับระบบตำรวจในเมืองอื่นๆในอังกฤษด้วย ปัจจุบันชาวลอนดอนอาจเรียกตำรวจด้วยคำสแลงว่า บ๊อบบี้ หรือ พีลเลอร์ ซึ่งก็หมายถึงชื่อของพีลนั่นเอง

พระเจ้าจอร์จที่ 4 เสด็จสวรรคตในปี 2373 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ในระหว่างนั้นมีการรณรงค์อย่างหนักให้มีการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งที่ค่อนข้างล้าสมัยเนื่องจากในสมัยนั้นชนชั้นกลางและชั้นกรรมกรยังไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง พีลและพรรคทอรีซึ่งเสียชื่อไปมากจากการยกเลิกข้อห้ามชาวคาทอลิกไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ต้องการเสียชื่อไปมากกว่านี้จึงต่อต้ามการรณรงค์ครั้งนี้อย่างเต็มที่ เป็นผลให้พรรควิกมีชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น เปิดโอกาสให้เอิร์ลเกรย์เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 และทำการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งครั้งใหญ๋ในปี 2375 (The Great Reform Act) หลังจากประสบความสำเร็จครั้งใหญ๋แล้วเอิร์ลเกรย์จึงลาออกจากตำแหน่งปูทางให้วิลเลียม แลมบ์ ไวเคานต์เมลเบิร์นที่ 2 ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

นายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยและหัวหน้าฝ่ายค้าน แก้

พระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ไม่ค่อยพอใจผลงานของเมลเบิร์นจึงปลดเขาออกจากตำแหน่งและให้พรรคทอรีจัดตั้งรัฐบาล เวลลิงตันปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งจึงรักษาการเพียงชั่วคราวรอให้พีลกลับมาจากอิตาลีเพื่อจัดตั้งรัฐบาล พีลจึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2377 แม้พรรคทอรีของเขาจะไม่มีเสียงข้างมากในสภาฯ ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลมีดังนี้

  • นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง - รอเบิร์ต พีล
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ - ดยุกแห่งเวลลิงตัน
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย - เฮนรี โกลเบิร์น

เนื่องจากพีลมีเสียงข้างน้อยในสภา จึงทำให้ทำงานได้ลำบาก เขาจึงประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมกราคม 2378 ในการเลือกตั้งนี้พีลได้ออกจดหมายเปิดผนึกสำคัญถึงผู้มีสิทธิในเขตของเขา โดยรายละเอียดของจดหมาย Tamworth Manifesto นี้ได้กล่าวถึงการปรับปรุงการหลักการของพรรคทอรีใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการเลือกตั้ง โดยพีลได้นำแนวคิดหลักจากเอ็ดมุนด์ เบิร์กว่าการอนุรักษ์ที่ถูกต้องนั้นต้องยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเพื่อเป็นพัฒนาการไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้เกิดการต่อต้านอันรุนแรงจนเราไม่สามารถอนุรักษ์สิ่งนั้นไว้ได้อีกต่อไป การปรับปรุงครั้งทำให้พรรคทอรีซึ่งมีแนวคิดค่อนข้างออกแนวค้านหัวชนฝาอ่อนลงอย่างมาก โดยนักประวัติศาสตร์จึงถือจุดนี้เป็นจุดกำเนิดของพรรคอนุรักษนิยมในอังกฤษ

 
พระนางเจ้าวิคตอเรีย

แม้ว่าการเลือกตั้งจะทำให้พรรคอนุรักษนิยมได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่พอที่จะได้เสียงข้างมากในสภาฯ แต่การแบ่งกลุ่มกันในฝ่ายค้านทำให้พีลยังคงทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ต่อไป อย่างไรก็ดีได้มีการทำข้อตกลงกันในกลุ่มฝ่ายค้านที่บ้านลิชฟิลด์ (Lichfield House Compact) ทำให้พีลไม่สามารถทำงานได้อีกตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เขาจึงลาออกในวันที่ 8 เมษายนปี 2378 กลุ่มฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีเมลเบิร์นเป็นนายกรัฐมนตรี

เมลเบิร์นลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2482 พีลได้รับการเสนอให้จัดตั้งรัฐบาล เขาตระหนักดีว่านี่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยอีกครั้งเขาจึงเสนอให้พระนางเจ้าวิคตอเรียปลดนางสนองพระโอษฐ์ของพระองค์ซึ่งเป็นคนของกลุ่มวิค พระนางปฏิเสธ พีลจึงไม่ยอมรับตำแหน่งโดยเกรงว่ารัฐบาลจะไร้เสถียรภาพ ก่อให้เกิดช่วงว่างของรัฐบาล (Bedchamber Crisis) วิคตอเรียจึงต้องให้เมลเบิร์นกลับมาตั้งรัฐบาลเหมือนเดิม

นายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง แก้

เมลเบิร์นยุบสภาในปี 2384 ผลจากการเปลี่ยนแปลงภายในของพรรคในชวงหกปีก่อนหน้าทำให้พรรคอนุรักษนิยมได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น พีลจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง โดยมีตำแหน่งสำคัญดังต่อไปนี้

  • นายกรัฐมนตรี - เซอร์ รอเบิร์ต พีล
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ - เอิร์ลแห่งแอเบอร์ดีน
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง - เฮนรี โกลเบิร์น
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย - เซอร์ เจมส์ เกรแฮม

สมานฉันท์ในไอร์แลนด์ แก้

 
แดเนีล โอคอนเนล

การกลับมาของพีลทำให้ ผู้แทนคนสำคัญของไอร์แลนด์อย่าง แดเนียล โอคอนเนลล์ ต้องกลับไปอยู่ในฝ่ายค้านอีกครั้ง หลังจากที่เขาสามารถทำให้ชาวคาทอลิกสามารถเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองได้แล้ว ครั้งนี้เขารณรงค์เพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติรวมชาติ เพื่อให้ไอร์แลนด์ไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร เขาได้วางแผนที่จะมีการชุมนุมใหญ่ที่เมืองคลอนทาฟ (Monster Meeting) ในเดือนตุลาคม 2386 หลังจากเกิดการชุมนุมนับแสนคนที่เมืองทารา พีลเกิดความกังวลว่าการชุมนุมที่คลอนทาฟนี้อาจจะก่อให้เกิดการนองเลือด จึงสั่งแบนการชุมนุมดังกล่าว โอคอนเนลล์ยังฝ่าฝืนจึงถูกจับในข้อหากบฏ ทำให้เหตุการณ์ในไอร์แลนด์สงบลงไปชั่วคราว เพื่อป้องกันปัญหาต่อๆมา พีลจึงได้ดูแลนโยบายเกี่ยวกับไอร์แลนด์เป็นพิเศษซึ่งรวมไปถึงการปรับปรุงการใช้พื้นที่ในไอร์แลนด์เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมให้ดียิ่งขึ้น การเพิ่มค่าบำรุงให้กับโรงเรียนสอนศาสนาคาทอลิกเมย์นูธ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยในไอร์แลนด์ถึงสามแห่งที่เบลฟาสต์ กอลเวย์ และคอร์ก

นโยบายการคลัง แก้

หนึ่งเหตุผลที่ทำให้กลุ่มวิกพ่ายแพ้การเลือกตั้งนั้นเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ พีลแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณด้วยการเปลี่ยนระบบภาษีครั้งใหญ่ ด้วยความที่เขาเป็นคนที่เชื่อในหลักการค้าเสรีอยู่แล้ว เขาจึงให้ลดภาษีอากรการนำเข้าสินค้าเกือบทั้งหมด รวมไปถึงการลดอากรสินค้าต่างๆภายในประเทศซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นภาษีสำหรับคนจนอีกด้วยเพื่อให้ราคาของสินค้าถูกลง ทั้งนี้เขาได้ให้มีการริเริ่มใช้ระบบภาษีเงินได้ในช่วงปลอดสงครามเป็นครั้งแรกในอังกฤษในปี 2385 (Income Tax Act, 1842) โดยอัตราภาษีมีอัตราเดียวที่ เจ็ดเพนซ์ต่อปอนด์สำหรับรายได้ที่มากกว่า 150 ปอนด์ หรือประมาณ 2.9% การเปลี่ยนระบบครั้งนี้ทำให้รัฐบาลสามารถกลับมาอยู่ในสภาวะเกินดุลงบประมาณได้อีกครั้ง และทำให้พีลสามารถลดภาษีนำเข้าได้เพิ่มขึ้นอีกในปีถัดๆไป ทำให้อังกฤษเริ่มมุ่งเข้าสู่ระบบการค้าเสรีได้ตามที่เขาหวังไว้ นอกจากนี้รัฐบาลของพีลยังได้ผ่านพระราชบัญญัติควบคุมธนาคาร (Bank Charter Act, 1843) ในปี 2387 ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบบ gold standard ในคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าอีกด้วย

พระราชบัญญัติควบคุมโรงงาน แก้

พีลได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติควบคุมโรงงาน (Factory Act, 1844) ซึ่งจำกัดการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่าสิบสามปีให้ไม่สามารถทำงานได้เกินวันละหกชั่วโมง กฎหมายฉบับนี้ยังได้ให้มีการควบคุมความปลอดภัยและความสะอาดของโรงงานมากขึ้นอีกด้วย โดยบังคับให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตของพนักงานทุกคนเป็นครั้งแรก นอกจากกฎหมายฉบับนี้แล้ว รัฐบาลของพีลยังได้มีการออกกฎหมายควบคุมเหมืองถ่านหิน (Coal Mines Act, 1842) เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้นของคนงานในเหมืองอีกด้วย

วิกฤติการณ์ขาดอาหารในไอร์แลนด์และการยกเลิกกฎหมายอากรข้าวโพด แก้

ในฤดูใบไม้ร่วง 2388 เกิดเหตุโรคระบาดในมันฝรั่งในไอร์แลนด์ ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวมันฝรั่งซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวไอริชได้กว่า 60% ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างหนักในไอร์แลนด์ซึ่งสุดท้ายแล้วทำให้มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากอดอาหารและโรคอหิวาต์ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการพยายามเอาชีวิตรอดด้วยการรับประทานทุกอย่างที่สามารถหาได้กว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณหนึ่งในแปดของประชากรทั้งหมดในไอร์แลนด์ในขณะนั้น รัฐบาลของพีลจึงตอบสนองด้วยการสั่งซื้อข้าวโพดมูลค่าหนึ่งแสนปอนด์มาจากอเมริกาเพื่อใช้เป็นอาหารทดแทนแต่ในขณะนั้น รัฐบาลของสหราชอาณาจักรมีกฎหมายเก็บอากรข้าวโพดที่นำเข้า จึงทำให้รัฐบาลต้องซื้อข้าวโพดในราคาที่แพงขึ้น พีลเองเห็นว่าไม่เป็นการดีที่จะต้องให้การช่วยเหลือส่วนนี้ตกเป็นภาระของประชาชนจึงมีความคิดที่จะยกเลิกอากรข้าวโพดเสีย

 
ริชาร์ด ค็อบเดน

ในเมืองมกราคม 2389 พีลจึงเสนอให้มีการยกเลิกอากรข้าวโพด โดยค่อยๆลดอัตราอากรไปเรื่อยๆเป็นเวลาสามปีจนหมดในปี 2392 การประกาศครั้งนี้ก่อให้เกิดการแตกแยกครั้งใหญ่ในพรรคอนุรักษนิยม โดยกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวไร่นั่นไม่ต้องการให้มีการยกเลิกเนื่องจากต้องการปกป้องอาชีพของชาวไร่ซึ่งจะต้องพบกับปัญหาถ้าหากต้องแข่งราคากับข้าวโพดที่มีราคาถูกกว่าจากทางอเมริกา กลุ่มนี้นำโดย ลอร์ดจอร์จ เบนทิงค์ ดยุกแห่งบัคกิ้งแฮมเชียร์ และ ลอร์ดสแตนลีย์ กับ เบนจามิน ดิสราเอลี ซึงภายหลังจากได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ส่วนอีกฝ่ายของพรรคซึ่งนำโดย เซอร์เจมส์ เกรแฮม เอ็ดเวิร์ด คาร์ดเวล และ เอิร์ลแห่งแอเบอร์ดีน กับ วิลเลียม แกลดสตัน ซึ่งในอนาคตจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

แม้ว่าครึ่งหนึ่งของรัฐบาลจะต่อต้านการยกเลิก พีลก็สามารถนำร่างพระราชบัญญัติผ่านสภาผู้แทนฯไปได้ด้วยการสนันสนุนจากฝ่ายค้าน ทั้งกลุ่มวิกซึ่งนำโดย ลอร์ด จอห์น รัสเซล กับ ไวเคานต์พาลเมอร์สตัน สองอนาคตนายกรัฐมนตรี และกลุ่มแมนเชสเตอร์สกูลซึ่งนำโดย ริชาร์ด ค็อบเดน กับ จอห์น ไบรท์ ผู้มีชื่อเสียงจากการรณรงค์สนับสนุนระบบการค้าเสรีและเป็นผู้นำของสันนิบาตต่อต้านอากรข้าวโพด (Anti-Corn Law League) มาพักหนึ่งแล้ว ดังนั้นร่างฯจึงผ่านสภาสามัญชนไปได้ด้วยคะแนนเสียง 327 ต่อ 229 ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2389 และยังสามารถผ่านสภาขุนนางไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้านายเก่าของพีลอย่างเวลลิงตันในวันที่ 25 มิถุนายน 2389

อย่างไรก็ดี การยกเลิกครั้งนี้ นักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าไม่น่าเป็นเพราะวิกฤติในไอร์แลนด์โดยตรงเนื่องจากพีลใช้เวลายกเลิกอากรถึงสามปี และหากเขาต้องการทำไปเพื่อช่วยไอร์แลนด์จริงๆเขาน่าจะยกเลิดชั่วคราวมากกว่าถาวร ฉะนั้นจึงน่าจะเกิดจากเหตุผลประการอื่นมากกว่า เหตุผลที่น่าจะสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการที่พีลเป็นคนที่เชื่อในระบบการค้าเสรีอยู่แล้วโดยเห็นได้ชัดจากการที่เขาได้ลดภาษีนำเข้าเป็นจำนวนมากและยังเปลี่ยนระบบภาษีเพื่อให้กระทบต่อราคาสินค้าน้อยที่สุด ทั้งนี้เขายังได้รับความกดดันจากสันนิบาต และนิตยสารอีโคโนมิสต์ซึ่งก่อตั้งเพื่อกดดันด้านนี้ ดังนั้นการยกเลิกน่าจะเกิดจากการที่พีลเชื่อว่าระบบการค้าเสรีจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ โดยมีวิกฤติในไอร์แลนด์เป็นตัวเร่งมากกว่า

การยกเลิกในครั้งนี้ทำให้ราคาของข้าวโพดในอังกฤษลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตซึ่งต้องพัฒนาระบบการเพาะปลูกให้ดียิ่งขึ้นเพื่อแข่งขันในตลาดโลก ทั้งนี้ระบบการค้าเสรียังได้กลายเป็นระบบหลักที่ใช้ในอังกฤษตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าและยังเป็นหลักการสำคัญในระบบการพาณิชย์ในปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกอีกด้วย การยกเลิกอากรข้าวโพดของพีลในครั้งนี้จึงถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียวก็ว่าได้

ลาออกจากตำแหน่ง แก้

แม้ว่าพรรคอนุรักษนิยมของพีลจะแตกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ พีลก็สามารถยกเลิกอากรข้าวโพดได้สำเร็จด้วยคะแนนจากฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตามพีลไม่โชคดีนักในการลงคะแนนเสียงผ่านร่างกฎหมายความปลอดภัยในไอร์แลนด์ (Irish Protection of Life Bill) ในช่วงค่ำวันเดียวกันนั้นเอง โดยร่างได้รับคะแนนเสียง 219 ต่อ 292 โดยที่กลุ่มฝ่ายค้ายกลับไปลงคะแนนต่อต้านอีกครั้ง ในขณะที่ครึ่งหนึ่งของรัฐบาลก็ลงเสียงไม่เห็นด้วยเช่นกัน พีลถือเหตุการณ์นี้เป็นคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเขาจึงรอจนกฎหมายยกเลิกอากรข้าวโพดสามารถผ่ายสภาขุนนางไปก่อน และลาออกในวันที่ 29 มิถุนายน 2389 ลอร์ด จอห์น รัสเซลนำกลุ่มวิกตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

บั้นปลายชีวิต แก้

 
วิลเลียม แกลดสตัน

หลังจากพีลลงจากนายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษนิยมยังคงแตกเป็นสองส่วนต่อไป ส.ส.กลุ่มพีไลท์ เช่น เกรแฮม แอเบอร์ดีน และแกลดสตัน ยังคงติดตามพีลอย่างใกล้ชิดและยึดมั่นนโยบายอนุรักษนิยมแต่สนับสนุนระบบการค้าเสรี อีกกลุ่มหนึ่ง เช่น เบนทิงค์ และดิสราเอลี นั้นคงนโยบายอนุรักษ์หัวชนฝาต่อและยังมีความบาดหมางเป็นส่วนตัวกับพีลอีกด้วย ในระยะการเป็นฝ่ายค้านพีลทำหน้าที่ ส.ส. อย่างต่อเนื่องและยังได้นำกลุ่มพีไลท์ลงคะแนนเสียงช่วยฝ่ายรัฐบาลอีกในหลายๆกรณี อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัสเซลจะเสนอให้เขาเข้าร่วมรัฐบาลกับกลุ่มวิก ในปี 2392 พีลปฏิเสธและทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านต่อไป

วันที่ 29 มิถุนายน 2393 พีลได้รับอุบัติเหตุตกจากหลังม้าในระหว่างการขี่ขึ้นคอนสติติวชั่นฮิลล์ในลอนดอน พีลได้รับบาดเจ็บหนักเนื่องจากถูกม้าซึ่งตกใจเหยียบทับบนร่างของเขา พีลถึงแก่อสัญกรรมในอีกสามวันถัดมาในขณะที่เขามีอายุ 62 ปี

หลังจากการถึงแก่อสัญกรรม กลุ่มพีไลท์ยังคงเป็นอิสระต่อพรรคอนุรักษนิยมต่อไปโดยการนำของ เซอร์ เจมส์ เกรแฮม และในปี 2395 กลุ่มพีไลท์ยังได้จัดตั้งรัฐบาลโดยการนำของเอิร์ลแห่งแอเบอร์ดีน ในระหว่างนี้สมาชิกหลายคนกลับเข้าสู่พรรคอนุรักษนิยมอีกครั้ง แต่กลุ่มพีไลท์อยู่ไปจนถึงปี 2401 เมื่อแกนนำของกลุ่มอย่างแอเบอร์ดีนและแกลดสตันไปร่วมกับกลุ่มวิกและแนวร่วมหัวรุนแรงตั้งพรรคเสรีนิยมโดยมีหัวหน้าพรรคคือไวเคานต์พาลเมอร์สตันซึ่งก้าวขึ้นจัดตั้งรัฐบาลในปีถัดมา

จูเลีย พีล ภรรยาของเขาถึงแก่กรรมในปี 2402 ลูกชายของเขาสี่คนได้ก้าวเข้าสู่สนามการเมือง โดยลูกชายคนที่ห้าของเขายังได้รับการแต่งตั้งเป็นไวเคานต์พีลในปี 2438 ส่วนอีกสามคนยังได้รับการแต่งตั้งเป็นท่านเซอร์อีกด้วย

อ้างอิง แก้

  • Blake, Robert (1985). The Conservative Party from Peel to Thatcher. Fontana Press. (อังกฤษ)
  • Evans, Evans (1991). Sir Robert Peel: Statesmanship, Power and Party. Routledge. (อังกฤษ)
  • Gash, Norman (1961). Mr. Secretary Peel: The Life of Sir Robert Peel to 1830. New York: Longmans. (อังกฤษ)
  • Gash, Norman (1972). Sir Robert Peel: The Life of Sir Robert Peel after 1830. Totowa, New Jersey: Rowman and Littlefield. (อังกฤษ)