รอยริ้วคลื่น (อังกฤษ: ripple mark) เป็นสิ่งที่เกิดเนื่องจากการกระทำของคลื่นลมหรือกระแสน้ำ พบได้ทั้งบนบกและที่พื้นท้องน้ำ รอยริ้วคลื่นนี้อาจพบได้ในหินชั้น เช่น ในหินทราย ฯลฯ เกิดเนื่องจากริ้วคลื่นได้ถูกตะกอนชนิดอื่นตกจมทับถมปิดไว้ เมื่อตะกอนทั้งหมดแข็งตัวกลายเป็นหิน ริ้วคลื่นก็ยังคงรูปเดิมปรากฏในหินนั้น เมื่อหินปิดทับแตกหลุดออกไปก็จะเห็นรอยริ้วคลื่นนั้นได้ ริ้วคลื่นอาจก่อตัวมีขนาดโตขึ้นเป็นคลื่นทราย สันทราย เนินทราย และดอนทรายใต้น้ำหรือโขดใต้น้ำเปลี่ยนที่ได้

รอยริ้วคลื่น

ประเภทของรอยริ้วคลื่น แก้

รอยริ้วคลื่นลมและรอยริ้วคลื่นน้ำ (wind ripple mark or wave ripple mark) อาจมีลักษณะที่แสดงการเปลี่ยนทิศทางลมหรือคลื่นน้ำ ทำให้รอยริ้วมีรูปแบบไม่สมมาตร การแยกระหว่างรอยริ้วที่เกิดจากคลื่นลม คลื่นน้ำ และกระแส ในกรณีรอยริ้วไม่สมมาตรจะใช้การวัดค่าของแอมพลิจูด (amplitude,A) และความยาวคลื่น (wave length,L) เพื่อหาค่าอัตราส่วนระหว่าง L/A ถ้าค่าของ L/A อยู่ระหว่าง 10-70 จะเป็นรอยริ้วคลื่นลม ถ้าค่าอยู่ระหว่าง 4-13 (ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 6-7) จะเป็นรอยริ้วคลื่นน้ำ และถ้าค่าของ L/A มากกว่า 5 ส่วนใหญ่ประมาณ 8-15 จะเป็นรอยริ้วกระแส ค่าของ L/A ค่อนข้างคาบเกี่ยวกันมาก โดยเฉพาะระหว่างรอยริ้วคลื่นน้ำและรอยริ้วกระแส ดังนั้นจะต้องหาหลักฐานอื่นๆประกอบในการที่จะแยกตัวที่ทำให้เกิดรอยริ้ว

 
ดัชนีรอยริ้ว

รอยริ้วคลื่นลมและรอยริ้วคลื่นน้ำต่างจากรอยริ้วกระแส (current ripple mark) โดยที่รอยริ้วกระแสจะแสดงทิศทางของกระแสทิศทางเดียว พบมีด้านหนึ่งมีความชันสูง (steep lee side or downstream) และอีกด้านลาดชันเล็กน้อย (gentle stoss side or up-stream) รอยริ้วกระแสที่พบทั่วไปมีอยู่ 3 ลักษณะ ได้แก่ รอยริ้วสันตรง (straight crested ripple mark) รอยริ้วรูปตัวเอส (sinuous or undulatory ripple mark) และรอยริ้วรูปลิ้น (linguoid ripple mark)

 
รอยริ้วกระแส

รอยริ้วสันตรงเกิดเมื่อกระแสมีความเร็วต่ำ เมื่อกระแสมีความเร็วเพิ่มขึ้น รอยริ้วจะเปลี่ยนเป็นรอยริ้วรูปตัวเอส และรอยริ้วรูปลิ้นตามลำดับ รอยริ้วกระแสจะไม่เกิดในตะกอนที่มีขนาดมากกว่า 0.6 มิลลิเมตร และรอยริ้วกระแสเกิดได้ในสภาพการตกตะกอนของระบบทางน้ำ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) ชายฝั่ง (shoreline) ไหล่ทวีป (offshore shelf) และทะเลน้ำลึก (deep sea)

เนินทรายที่เกิดกระแสน้ำ (current dune) พบเป็นรอยริ้วขนาดใหญ่ ดังนั้นบางทีเรียกว่า “รอยริ้วขนาดใหญ่ (megaripple mark)” เนินทรายที่เกิดกระแสน้ำ และสันทราย (sand wave or sand bar) จัดเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะคล้ายกับรอยริ้วไม่พบในหินแข็ง พบเฉพาะตะกอนปัจจุบันและพบลักษณะการวางชั้นเฉียงระดับ (cross bedding) ที่แสดงลักษณะการเคลื่อนที่ของเนินทรายหรือสันทราย ส่วนใหญ่เนินทรายจะมีขนาดความยาวตั้งแต่เมตรถึงหลายสิบเมตร รูปร่างของเนินทรายจะเป็นแบบรอยริ้วสันตรง รอยริ้วรูปตัวเอส หรือรอยริ้ววงพระจันทร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วลม หากความเร็วน้อยจะได้แบบรอยริ้วสันตรง ส่วนสันทรายมีขนาดใหญ่กว่าเนินทราย อาจจะมีขนาดความยาวและความกว้างหลายร้อยเมตร รูปร่างส่วนใหญ่พบแบบรอยริ้วรูปลิ้น โครงสร้างสันทรายพบในระบบการตกสะสมของทางน้ำและไหล่ทะเลน้ำตื้น

 
ลักษณะรอยริ้ว

รอยริ้วที่เกิดจากลม และเนินทรายที่เกิดจากลม(wind ripple mark and dune) จะเหมือนกับรอยริ้วที่เกิดจากน้ำ คือมีลักษณะไม่สมมาตร วางตัวเป็นแนวยาว แนวของสันคลื่นจะขนานกัน ค่าอัตราส่วนของความยาวคลื่นต่อค่าแอมพลิจูดมีค่าสูง อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่โครงสร้างรอยริ้วและเนินทรายที่เกิดจากลมจะไม่คงสภาพเหลือให้เห็นเมื่อเม็ดตะกอนกลายเป็นหินไปแล้ว จะเห็นได้เฉพาะจากตะกอนปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  • http://www.patchra.net/minerals/MinDesc/sediment13.php เก็บถาวร 2009-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน. 2544. 384 หน้า.
  • ฐิติมา เจริญฐิติรัตน์. เอกสารการสอนวิชาหินตะกอน. ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 65 หน้า.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้