รถไฟฟ้าสายสีทอง

รถไฟฟ้าไร้คนขับสายแรกของประเทศไทย

รถไฟฟ้าสายสีทอง[1] หรือ โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง[2] เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรองบนพื้นที่ฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่สอง (M-Map Phase 2) มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบนถนนเจริญนคร และเชื่อมต่อเข้ากับศูนย์การค้าไอคอนสยาม ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานคร, บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ดำเนินการในรูปแบบระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติโดยใช้รถไฟฟ้าล้อยาง และมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีกรุงธนบุรี โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม วิ่งไปตามแนวถนนเจริญนคร ผ่านศูนย์การค้าไอคอนสยาม สำนักงานเขตคลองสาน สิ้นสุดในช่วงแรกที่บริเวณแยกวงเวียนเล็ก (สมเด็จเจ้าพระยา-ประชาธิปก) รวมระยะทาง 2.7 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าสายสีทอง
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดให้บริการ
เจ้าของสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร
ปลายทาง
จำนวนสถานี4 (ทั้งหมด)
3 (เปิดให้บริการ)
1 (โครงการ)
การดำเนินงาน
รูปแบบระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ
ระบบระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร
ผู้ดำเนินงานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
(สัญญาร่วมลงทุนโครงการ หมด พ.ศ. 2593)
ศูนย์ซ่อมบำรุงศูนย์ซ่อมบำรุงกรุงธนบุรี
ขบวนรถบอมบาร์ดิเอร์ อินโนเวีย เอพีเอ็ม 300 3 ขบวน
ประวัติ
ปีที่เริ่มพ.ศ. 2561
เปิดเมื่อ16 มกราคม พ.ศ. 2564 (3 ปีก่อน)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง1.72 กิโลเมตร (1.07 ไมล์) (est.)
จำนวนทางวิ่ง2
ลักษณะทางวิ่งยกระดับ
ระบบจ่ายไฟ750 V DC
ความเร็ว80 km/h (50 mph)
อาณัติสัญญาณบอมบาร์ดิเอร์ ซิตี้โฟล650
แผนที่เส้นทาง

สะพานพุทธ (กำลังก่อสร้าง)
ประชาธิปก
คลองสาน
(โครงการ)
เจริญนคร
กรุงธนบุรี
บางหว้าสนามกีฬาแห่งชาติ

เดิมทีเส้นทางสายนี้เป็นหนึ่งใน 8 เส้นทางศึกษาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง ของสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานครตั้งแต่ พ.ศ. 2552 เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบนถนนเจริญนคร ไปจนถึงถนนสมเด็จเจ้าพระยา แต่เนื่องจากแผนการดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้แผนโครงการเส้นทางสายรองทั้งหมดถูกยกเลิก ต่อมาใน พ.ศ. 2560 ชฎาทิพ จูตระกูล ผู้บริหารกลุ่มสยามพิวรรธน์ ได้รับคำแนะนำจาก คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกลุ่มบีทีเอส ให้เข้าพูดคุยกับกรุงเทพมหานครเพื่อขอรื้อฟื้นโครงการและสร้างเส้นทางรองเพื่อขนส่งผู้โดยสารจากโครงการไอคอนสยามเข้ารถไฟฟ้าสายหลัก 3 เส้นทางโดยรอบ ไอคอนสยามจึงเสนองบประมาณการก่อสร้างให้กรุงเทพมหานครเข้าดำเนินการ ก่อนได้รับการอนุมัติการดำเนินการจริงใน พ.ศ. 2561

โครงการทดลองเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564[3] เดิมกรุงเทพมหานครจะประเมินยอดผู้โดยสาร 6 เดือน[4]เพื่อก่อสร้างสถานีระยะที่หนึ่งเข้าสู่ถนนประชาธิปกอันเป็นที่ตั้งของสถานีสะพานพุทธของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม เพิ่มอีก 1 สถานี แต่ในปี 2565 กรุงเทพมหานครได้หยุดแผนก่อสร้างออกไปก่อนเนื่องจากปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นผลจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทั้งไอคอนสยามไม่ได้สนับสนุนงบดำเนินการก่อสร้าง[5] ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครเองยังมีแผนที่จะโอนโครงการทั้งหมดให้อยู่ภายใต้การดูแลของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เนื่องมาจากโครงการขาดทุนอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่องบประมาณรวมของกรุงเทพมหานครซึ่งจะทำให้การต่อขยายเส้นทางเป็นไปได้ลำบาก

ภาพรวม แก้

เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างแบบยกระดับ ดำเนินการโดย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในลักษณะของการจ้างเดินรถจาก บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เจ้าของโครงการที่ได้รับสัมปทานในการดำเนินโครงการจากกรุงเทพมหานครในการลงทุนและดำเนินการเชิงพาณิชย์ หรือ PPP-Net Cost ภายในกรอบระยะเวลา 30 ปี มีแนวเส้นทางที่เน้นการเชื่อมโยงการเดินทางบนถนนเจริญนครเป็นหลัก เริ่มต้นจากบริเวณสถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรีวิ่งไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวซ้ายขึ้นทางเหนือเข้าสู่ถนนเจริญนคร ผ่านด้านหน้าศูนย์การค้าไอคอนสยาม และยกระดับข้ามแนวของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะก่อสร้างขึ้นในอนาคตตามแนวถนนลาดหญ้า เพื่อเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสมเด็จเจ้าพระยาและสิ้นสุดโครงการบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลตากสิน ระยะทางรวม 2.7 กิโลเมตร เป็นแนวเส้นทางระยะสั้นเพื่อเน้นขนถ่ายผู้โดยสารจากถนนเจริญนคร และศูนย์การค้าไอคอนสยาม เข้าสู่เส้นทางหลักคือรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม โดยในแผนระยะที่สอง จะมีการก่อสร้างสถานีอีกหนึ่งสถานีบริเวณด้านหลังอนุสรณ์สถานสมโภช 100 ปี เขตคลองสาน เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ส่วนต่อขยายเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

พื้นที่ที่เส้นทางผ่าน แก้

แขวง เขต จังหวัด
สมเด็จเจ้าพระยา / คลองสาน / คลองต้นไทร คลองสาน กรุงเทพมหานคร
วัดกัลยาณ์ ธนบุรี
วัดท่าพระ บางกอกใหญ่

แผนที่เส้นทาง แก้

 


แนวเส้นทาง แก้

ช่วงที่ 1 : สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี - สำนักงานเขตคลองสาน - สะพานพุทธ แก้

เป็นเส้นทางยกระดับความสูง 14-17 เมตรจากระดับดินไปตามแนวถนน โดยแบ่งออกได้อีก 2 ระยะดังนี้

ช่วงที่ 2 : สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สะพานพุทธ - สถานีรถไฟฟ้ามหานคร อิสรภาพ แก้

เป็นเส้นทางยกระดับความสูง 14-17 เมตรจากระดับดินไปตามแนวถนน เริ่มต้นจากจุดสิ้นสุดสถานีสะพานพุทธ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนประชาธิปก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมที่สถานีสะพานพุทธ (วงเวียนเล็ก) แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนอิสรภาพ ผ่านบิ๊กซี อิสรภาพ, มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แล้วสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณสถานีอิสรภาพ ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล[6]

ช่วงที่ 3 : สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี - โรงแรมอนันตรากรุงเทพริเวอร์ไซด์ แก้

เป็นเส้นทางยกระดับความสูง 14-17 เมตรจากระดับดินไปตามแนวถนน เริ่มต้นจากสถานีกรุงธนบุรี ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม เบี่ยงเข้าถนนกรุงธนบุรีทางขวาบริเวณปลายสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเจริญนครฝั่งใต้ ผ่านวัดเศวตฉัตรวรวิหาร กระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ สมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทย และสิ้นสุดบริเวณซอยเจริญนคร 60 ใกล้กับศูนย์การค้าริเวอร์ไซด์ พลาซ่า โรงแรมอวานีริเวอร์ไซด์กรุงเทพ และโรงแรมอนันตรากรุงเทพริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา[6]

รายชื่อสถานี แก้

 
สถานีเจริญนคร
ชื่อและสีของสถานี รหัสสถานี จุดเปลี่ยนเส้นทาง วันที่เปิดให้บริการ
กรุงธนบุรี G1 สายสีลม สถานีกรุงธนบุรี 16 มกราคม พ.ศ. 2564
เจริญนคร (ไอคอนสยาม) G2  เรือด่วนเจ้าพระยา  ท่าไอคอนสยาม (ผ่านไอคอนสยาม)
คลองสาน G3 สายสีแดงเข้ม สถานีคลองสาน (โครงการ)
ประชาธิปก G4 สายสีม่วง สถานีสะพานพุทธ (กำลังก่อสร้าง) อนาคต

การเชื่อมต่อ แก้

สถานีรถไฟฟ้าสายสีทอง เชื่อมต่อกับ หมายเหตุ
G1 สถานีกรุงธนบุรี สายสีลม สถานีกรุงธนบุรี
G3 สถานีคลองสาน สายสีแดงเข้ม สถานีคลองสาน โครงการศึกษาแนวทางการเชื่อมต่อเป็นสกายวอล์กต่อเนื่องจากทางเชื่อม
อาคารผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลตากสินเข้าสู่พื้นที่บริเวณสถานี
G4 สถานีประชาธิปก สายสีม่วง สถานีสะพานพุทธ โครงการศึกษาแนวทางการเชื่อมต่อเป็นสกายวอล์กเข้าสู่พื้นที่บริเวณสถานี
ทั้งนี้โครงการยังมีแผนศึกษาการก่อสร้างสถานีอีกหนึ่งแห่งคร่อมตัวสถานีสายฉลองรัชธรรม
เนื่องจากวัดระยะทางพบว่าเกิน 250 เมตร จึงถือว่าไม่ได้เชื่อมต่อกันโดยสมบูรณ์

ทางเดินเข้าอาคาร แก้

 
ศูนย์การค้าไอคอนสยามและสถานีเจริญนคร

ในบางสถานีผู้โดยสารสามารถเดินจากสถานีไปยังอาคารต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้ ดังนี้

  • สถานีเจริญนคร : ไอคอนสยาม (อาคารพื้นที่ค้าปลีกหลักและศูนย์ความบันเทิง), ไอซีเอส และโรงแรมฮิลตัน การ์เดน อินน์ กรุงเทพ
  • สถานีคลองสาน : โรงพยาบาลตากสิน

รถบริการรับส่ง แก้

ปัจจุบันมีเอกชนร่วมให้บริการรถรับส่งจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีทองไปยังสถานที่ แต่ละฝ่ายให้บริการอยู่ โดยปัจจุบันมีดังนี้

  • กรุงธนบุรี – ไอคอนสยาม

เรือรับส่ง แก้

 
ท่าเรือไอคอนสยาม จากท่าเรือวัดม่วงแค

ที่ สถานีเจริญนคร สามารถเดินทางไปยังอาคารบางแห่งด้วยเรือรับส่งจากท่าเรือไอคอนสยาม ดังต่อไปนี้

เรือรับส่งของศูนย์การค้าไอคอนสยาม

รูปแบบของโครงการ แก้

 
ทางวิ่งของรถไฟฟ้าสายสีทองบริเวณหน้าวัดสุวรรณ
  • เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover Transit)
  • ทางวิ่ง ยกระดับที่ความสูง 14-17 เมตรตลอดทั้งโครงการ
  • มีรางจ่ายไฟบริเวณกึ่งกลางทางวิ่ง สำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้า (ไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลท์) ป้อนให้กับระบบขับเคลื่อนของตัวรถ
  • ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถที่ศูนย์ควบคุมรถหมอชิตของรถไฟฟ้าบีทีเอส ความถี่เดินรถ 4-5 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,200 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง สามารถขับเคลื่อนจากจุดจอดได้เองโดยไม่ต้องใช้คนควบคุม และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ

ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ แก้

โครงการมีสถานีซ่อมบำรุงขนาดย่อยต่อจากสถานีกรุงธนบุรีโดยใช้โครงสร้างร่วมกัน (ในลักษณะเดียวกับสถานีซ่อมบำรุงย่อยบางหว้า ถนนราชพฤกษ์) สถานีซ่อมบำรุงดังกล่าวจะไว้ใช้สำหรับงานบำรุงรักษาที่ไม่หนักจนเกินควร ในส่วนของการจอดพักขบวนรถหลังปิดให้บริการ จะใช้วิธีการจอดตามสถานีรายทางเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับให้บริการในวันถัดไป แต่สำหรับการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) จะใช้วิธีการถอดขบวนรถออกจากระบบเพื่อนำไปซ่อมที่ศูนย์ซ่อมบำรุงหมอชิต ร่วมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส โครงการมีศูนย์ควบคุมการเดินรถระยะไกลตั้งอยู่ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต (ที่ทำการใหญ่ของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) และมีศูนย์ควบคุมสำรองอยู่ภายในสถานีซ่อมบำรุงกรุงธนบุรี

สิ่งอำนวยความสะดวก แก้

มีจุดจอดแล้วจร (park and ride) ที่สถานีต้นทาง (กรุงธนบุรี)

สถานี แก้

มีทั้งหมด 3 สถานี (และสถานีเพิ่มเติมในอนาคตอีก 1 สถานี) เป็นสถานียกระดับทั้งหมด ตัวสถานีมีความยาวประมาณ 40-50 เมตร ชานชาลายาว 42-48.5 เมตร สามารถรองรับรถไฟฟ้าได้สูงสุด 3 คันต่อขบวน มีทั้งรูปแบบชานชาลาด้านข้างและชานชาลากลาง มีประตูกั้นชานชาลาแบบครึ่งความสูง (Half-height) ทุกสถานี ตัวสถานีออกแบบให้หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคใต้ดินและบนดิน และรักษาสภาพผิวจราจรบนถนนมากที่สุด และมีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางถนน และบริเวณทางเดินเท้าริมถนนในบางช่วง

ขบวนรถไฟฟ้า แก้

 
ขบวนรถไฟฟ้า
 
ภายในขบวนรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีทอง ได้เลือกใช้รถไฟฟ้ารุ่น อินโนเวีย เอพีเอ็ม 300 จากบอมบาร์ดิเอร์ เป็นรถไฟฟ้าแบบเดียวกับที่ใช้งานในโครงการรถไฟฟ้าแอลอาร์ที สาย Bukit Panjang ประเทศสิงคโปร์ ผลิตโดยซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชัน ซิสเท็ม (CRRC-PBTS) ในมณฑลอานฮุย ประเทศจีน ขนาดกว้าง 3.6 เมตร ยาว 12 เมตร สูง 3.7 เมตร จุผู้โดยสารได้สูงสุด 280 คันต่อขบวน รองรับผู้โดยสารสูงสุด 4,200 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทางไปกลับ รับไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลต์จากรางนำทางที่ติดตั้งบนโครงสร้าง ตัวยางล้อใช้ยางรุ่น เอ็กซ์ เมโทร จากมิชลิน ประเทศไทย มีทั้งหมด 3 ขบวน ขบวนละ 2 คัน จัดส่งจากประเทศจีนถึงไทย ณ ท่าเรือแหลมฉบังครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563[7] และยกขึ้นสู่สถานีกรุงธนบุรีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ระบบในการเดินรถ แก้

ในการเดินรถไฟฟ้าได้นำระบบอาณัติสัญญาณ CITYFLO 650 ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการควบคุมการเดินรถโดยอัตโนมัติ เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ, สะดวกรวดเร็ว, ปลอดภัยสูงสุด และรองรับการเดินรถไฟฟ้าแบบไม่ใช่คนควบคุมขบวนรถ โดยโครงการนี้ถือเป็นโครงการต้นแบบในการนำระบบอาณัติสัญญาณอัตโนมัติมาใช้ในการเดินรถแบบไม่ใช้คนควบคุม (Driverless Operation) ซึ่งผลที่ได้บีทีเอสซีจะนำไปปรับใช้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองต่อไป

การให้บริการ แก้

การดำเนินการ แก้

ภายหลังจากที่ กรุงเทพมหานคร ได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจาก บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด หรือศูนย์การค้าไอคอนสยาม เป็นจำนวนเงิน 2,080 ล้านบาท เพื่อขอให้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าเข้าสู่ศูนย์การค้า เพื่อไม่ให้เป็นการปฏิบัติขัดต่อ พ.ร.บ. องค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 กรุงเทพมหานครจึงเซ็นสัญญามอบสัมปทานโครงการให้กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินงาน โดยกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้างให้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธาของโครงการในราคาต่ำสุดที่ 1,070 ล้านบาท และได้ว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นผู้เสนองานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในราคาต่ำสุดที่ 13,520 ล้านบาท โดยบีทีเอสซี ได้ว่าจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้าซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด และบริษัท เอสที อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบเครื่องกล ระบบการจัดเก็บค่าโดยสาร และระบบโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนบีทีเอสซีจะรับหน้าที่เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า จัดเก็บค่าโดยสาร และซ่อมบำรุงรักษาโครงการตลอดอายุสัมปทานของกรุงเทพธนาคม หรือจนกว่าสัญญาสัมปทานของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสหมดอายุ

การพัฒนาและบริหารพื้นที่บนสถานีและป้ายโฆษณาบนสถานีและบนตัวรถ เป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงในการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโครงการ โดยไอคอนสยาม มีแผนใช้โครงการประชาสัมพันธ์ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในศูนย์การค้าไอคอนสยาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มยอดลูกค้าของศูนย์การค้าโดยตรง

การให้บริการปกติ แก้

รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีทอง เปิดให้บริการเดินรถโดยเริ่มเดินรถขบวนแรกในเวลา 06.00 น. จากสถานีกรุงธนบุรี และสถานีคลองสาน โดยความถี่การเดินรถจะขึ้นอยู่กับเวลา และความหนาแน่นของผู้โดยสาร และจะมีรถให้บริการตลอดวันจนถึงเวลา 24.00 น. ของแต่ละวัน แต่สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางเชื่อมต่อไปยัง รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท มุ่งหน้าสถานีปลายทางเคหะฯ หรือสถานีปลายทางคูคต จะต้องขึ้นรถขบวนสุดท้ายในเวลา 23.41 น. (สถานีคลองสาน) และ 23.42 น. (สถานีเจริญนคร) ตามลำดับ เพื่อให้เดินทางมายังสถานีกรุงธนบุรีได้ทันรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลมเชื่อมต่อสายสุขุมวิทเต็มระยะสองขบวนสุดท้าย

อัตราค่าโดยสาร แก้

รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีทอง มีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 16 บาทตลอดสาย โดยมีส่วนลดพิเศษให้กับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทผู้สูงอายุที่ 8 บาทตลอดสาย ทั้งนี้ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีทอง ไม่ได้รวมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายหลัก ผู้โดยสารที่จะเดินทางจากรถไฟฟ้าสายหลักไปสถานีสายสีทอง จะต้องชำระค่าโดยสารเพิ่มต่างหากที่สถานีกรุงธนบุรีเพื่อเข้าสู่ระบบของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีทองต่อไป

อ้างอิง แก้

  1. "เส้นทางและอัตราค่าโดยสาร". BTS Skytrain. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-31. สืบค้นเมื่อ 27 September 2020.
  2. "สายสีทอง". บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด. สืบค้นเมื่อ 15 October 2020.
  3. ประยุทธ์ กดปุ่มเปิด “รถไฟฟ้าสีเขียว-สีทอง” คูคต-ไอคอนสยาม ยังนั่งฟรี - ประชาชาติธุรกิจ 16 ธันวาคม 2563
  4. "ประเมิน6เดือนสร้างเฟส 2'สายสีทอง' เพิ่ม'สถานีประชาธิปก'". dailynews. 2020-10-08.
  5. ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล (2022-07-26). "ผู้โดยสารลดฮวบ กทม.พับแผนสร้าง 'รถไฟฟ้าสายสีทอง'เฟส 2". thansettakij.
  6. 6.0 6.1 สำนักการจราจรและการขนส่ง กรุงเทพมหานคร (21 November 2017). รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก). สืบค้นเมื่อ 24 November 2017.[ลิงก์เสีย]
  7. “รถไฟฟ้าสายสีทอง” ขบวนแรกถึงไทยแล้ว เตรียมทดสอบระบบเดือนนี้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้