ตลาดพลู

ย่านและตลาดในเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
(เปลี่ยนทางจาก ย่านตลาดพลู)

ตลาดพลู เป็นชื่อย่านและตลาดตั้งอยู่บริเวณถนนเทอดไท แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี ติดกับคลองบางกอกใหญ่ ขอบเขตตลาดพลูด้านกายภาพ อาจแบ่งเป็นย่านกับส่วนตลาด ย่านตลาดพลูกินพื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวงฝั่งซ้าย นับแต่วัดเวฬุราชิณเรื่อยไปจนจรดวัดขุนจันทร์ ริมคลองด่านหรือคลองสนามชัย ส่วนตลาดเริ่มตั้งแต่สะพานช้างตรงคลองวัดราชคฤห์วรวิหาร ถึงบริเวณสะพานรัชดาภิเษก ซึ่งมีถนนตอนในเรียกว่า ถนนตลาดพลู ไม่เรียกตลาดวัดกลางว่าตลาดพลู แต่ตลาดวัดกลางจัดอยู่ในย่านตลาดพลู

ตลาดพลู ปี 2562

ประวัติ แก้

ชุมชนโบราณ แก้

 
คลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ ช่วงที่ไหลผ่านตลาดพลู ในอดีตมีการทำสวนพลู มีตลาดท้องน้ำ

พื้นที่ย่านตลาดพลูเป็นที่ราบลุ่มติดคลองบางหลวงซึ่งในอดีตเคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม เมื่อมีการขุดคลองลัดบางกอกในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077–2089) ทำให้ร่องน้ำเปลี่ยนสภาพคับแคบลง

ชุมชนโบราณย่านตลาดพลูมีหลักฐานการอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนของกลุ่มชนต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งชาวมอญ มุสลิม และจีน จากหลักฐานใน พงศาวดารกรุงธนบุรี ได้กล่าวถึงพื้นที่บริเวณตลาดพลูว่ายังมีสภาพป่ารก ต่อมาเมื่อมีผู้อพยพมามากขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ย่านตลาดพลูจึงกลายเป็นพื้นที่สวน[1]

ตลาดซื้อขายพลู แก้

ครั้นชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เมื่อย้ายราชธานีไปยังฝั่งพระนคร ชาวจีนที่ตลาดพลูบางส่วนจึงได้ย้ายไปสำเพ็ง และมีชาวมุสลิมจากภาคใต้ย้ายเข้ามาแทนที่[2] ได้ริเริ่มการทำสวนพลูที่นี่ ทั้งชาวมุสลิมและชาวจีนต่างทำสวนพลูจนเป็นอาชีพที่แพร่หลาย เกิดเป็นตลาดซื้อขายพลูที่เรียกว่า "ตลาดพลู" จนบัดนี้[3] สันนิษฐานว่าชื่อ "ตลาดพลู" มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างน้อย[4] หลักฐานจากหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2408 (รัชกาลที่ 4) ปรากฏเนื้อหาเรื่อง "รายชื่อผู้ที่ซื้อจดหมายเหตุนี้... เจ้าแบน บ้านอยู่ริมตลาดพลูข้างใน....."

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถือว่าเป็นแหล่งปลูกพลูสำคัญในย่านบางไส้ไก่และย่านบางยี่เรือ ตลาดท้องน้ำในย่านนี้กินพื้นที่กว้างตั้งแต่ปากคลองด่านไปจนถึงหน้าวัดเวฬุราชิณ แต่หนาแน่นในแถบหน้าวัดอินทารามวรวิหาร วัดจันทารามวรวิหาร และวัดราชคฤห์วรวิหาร ซึ่งชาวบ้านเรียกออกเป็นสองตลาดใหญ่ ๆ คือ ตลาดวัดกลาง กับ ตลาดพลู โดยขอบเขตพื้นที่ของตลาดวัดกลางและตลาดพลูปรากฏชัดเจนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ระบุว่า ตลาดพลูกินพื้นที่บริเวณตั้งแต่ปากคลองบางน้ำชนไปถึงปากคลองบางสะแก ส่วนตลาดวัดกลางนั้นเริ่มตั้งแต่วัดอินทารามเรื่อยมาถึงวัดราชคฤห์[5] หลักฐานจากหนังสือของกรมไปรษณีย์ สารบาญชีส่วนที่ 2 คือ ราษฎรในจังหวัด ถนน และตรอก จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2426 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 2) ปรากฏคำว่า ถนนตลาดพลู[6]

รถไฟสายท่าจีนจากคลองสาน แก้

 
สถานีตลาดพลู เริ่มมีตั้งแต่ พ.ศ. 2445
 
มีการตัดถนนรัชดา-ท่าพระข้ามถนนเทอดไท ในช่วง พ.ศ. 2526
 
สุณี ข้าวหมูแดง

พ.ศ. 2445 ได้มีการสร้างทางรถไฟสายท่าจีนจากคลองสาน จังหวัดธนบุรี ถึงมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้สะดวกต่อการขนส่งอาหารทะเลขึ้นมาขาย ตลาดพลูเป็นที่ตั้งของสถานีตลาดพลู ย่านตลาดพลูได้กลายเป็นชุมทางของการสัญจรที่คนในท้องที่สวนด้านในจากหนองแขม บางแค บางแวก บางขุนเทียน มีการสัญจรโดยเส้นทางเรือ เพื่อต่อเรือเมล์หรือรถไฟเข้าไปในพระนครหรือเมืองแม่กลองและหัวเมืองทางใต้ อีกทั้งตลาดพลูมีโรงบ่อนเบี้ยหลวง บ่อนการพนันที่ถูกกฎหมายของรัฐ และมีโรงหนัง โรงงิ้ว โรงยาฝิ่น ชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในย่านตลาดพลู ทำให้การค้าในพื้นที่นี้เติบโตกลายเป็นตลาดใหญ่สุดในย่านฝั่งธนบุรี ค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งผลิตในประเทศและจากเมืองจีน ได้แก่ เครื่องโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เตียง ถ้วยชาม เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว น้ำปลา ลูกพลับ ลูกไหน ลิ้นจี่ดอง ใบชา เหล้าจีน เครื่องอัฐบริขาร เครื่องจันอับ ตลอดจนขนมและข้าวของเซ่นไหว้นานาชนิดของคนจีน[5]

ตัดถนนเทอดไท แก้

กระทั่งช่วง พ.ศ. 2480 มีการตัดถนนเทอดไทผ่านเข้ามาในย่านตลาดพลู ตลาดพลูปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรอย่างเดียวมาทำการค้าโชห่วย เปิดร้านอาหาร และธุรกิจอย่างอื่น เช่น โรงงานยาหม่องตราถ้วยทอง ยาหอมตรา 5 เจดีย์ โรงทำเต้าเจี้ยว โรงนึ่งปลาทู โรงน้ำปลา เป็นต้น นับเป็นช่วงที่มีความเจริญสูงสุดของตลาดพลู รวมทั้งการค้าพลูก็ยังคงมีความคึกคักเช่นเดิม เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ผู้คนฝั่งพระนครพากันอพยพหลบหนีเข้ามาอยู่ในสวน และยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2485 ส่งผลให้สวนล่ม และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายให้ยกเลิกการกินหมากพลู ส่งผลให้การค้าพลูหยุดลง

จนราว พ.ศ. 2500 รัฐบาลมีแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยขยายเมืองและสร้างสาธารณูปโภค มีการถมคลอง สร้างบ้านเช่าห้างร้านมากขึ้น ทำให้พื้นที่สวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ ผู้คนจำนวนมากต่างเลิกทำสวน พื้นที่การเกษตรถูกปรับเปลี่ยนเป็นย่านที่อยู่อาศัย อีกทั้งพื้นที่การค้าหลักของย่านถูกถนนตัดคร่อม จากท่าพระถึงแยกถนนจรัญสนิทวงศ์และเส้นทางรถไฟสายแม่กลองมาสิ้นสุดที่วงเวียนใหญ่ ย่านวงเวียนใหญ่จึงพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าขึ้นมาแทนที่ ทำให้ตลาดพลูซบเซาลง[5]

ตลาดพลูเคยมีโรงภาพยนตร์ 2 โรง[7] คือ โรงหนังศรีนครธน (พ.ศ. 2510) และโรงหนังศรีตลาดพลู (พ.ศ. 2504)[8] ซึ่งถูกเวนคืนที่ดินราว พ.ศ. 2524 ในช่วง พ.ศ. 2526 มีการตัดถนนรัชดา-ท่าพระ ทำให้เกิดผลทางด้านลบทางเศรษฐกิจเนื่องจากร้านค้าถูกเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนน[1]

ปัจจุบัน แก้

ในปัจจุบัน ตลาดพลูขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องการเป็นแหล่งขายอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารจีนที่เป็นอาหารริมทาง เช่น ข้าวหมูแดง, ไอศกรีมกะทิไข่แข็ง, ก๋วยเตี๋ยวและเกาเหลาเนื้อ, ขนมไทย, เย็นตาโฟ, หมี่กรอบ, ขนมเบื้องทั้งของไทยและญวน[7] รวมถึงขนมบดิน ขนมเค้กแบบดั้งเดิมของชาวมุสลิมด้านมัสยิดสวนพลู[9] และที่มีชื่ออย่างมากคือ ขนมกุยช่าย ซึ่งเป็นอาหารกินเล่นหรือขนมของชาวแต้จิ๋ว[2] อาหารเก่าแก่ของย่านนี้ คือ หมี่กรอบจีนหลี (เต็กเฮง) สืบทอดกันมาร่วม 100 ปี ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เขียนไว้ว่า "กระทะที่ผัดนั้นใหญ่เหลือเกินข้าพเจ้าเป็นเด็กโอบปากไม่รอบ เวลาเขาผัดนั้นเส้นหมี่กับเครื่องลงไปอยู่ก้นกระทะนิดเดียว แทบไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะกระทะลึกมากเสร็จแล้วเขาช้อนมาใส่กระทงใบตองขนาดกลาง ดูก็มากเหมือนกัน หมี่ตลาดพลูนี้ผัดไม่หยุดมือ เพราะรสดีมีคนติดกันทั่วไป"[10] ปัจจุบันยังมีขายอยู่ใต้สะพานรัชดาภิเษก[11]

ตลาดวัดกลางเป็นตลาดใหญ่ที่ยังคงขายอาหารสดและอาหารแห้ง รวมถึงของอุปโภคบริโภค แนวทางเดินริมเขื่อนที่เป็นถนนในมีร้านขายยา ร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องจักสาน ไปจนถึงหลังวัดราชคฤห์ บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟตลาดพลูเป็นร้านค้าสองฝั่งถนนเทอดไท และยังมีคลินิก บริเวณริมคลองวัดจันทารามเป็นแผงขายของสด ส่วนบริเวณแนวซอยถนนเทอดไท 12 เป็นร้านขายของชำของคนจีน ของอุปโภคบริโภค[5]

สภาพทางกายภาพและกลุ่มคน แก้

 
คลองบางหลวงตรงวัดราชคฤห์

ย่านตลาดพลู ตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางหลวง หรือ คลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม ที่ต่อมาจะมีการขุดแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ. 2085 ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช[12] มีคลองมาเชื่อมคลองบางหลวงอยู่หลายสายในลักษณะก้างปลา ได้แก่ คลองสำเหร่ เป็นคลองที่ออกแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า "คลองวัดอิน" อีกคลองหนึ่งที่ออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้ คือ คลองบางน้ำชน ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า "คลองวัดราชคฤห์"[13]

ละแวกที่ตั้งอยู่บนถนนเทอดไท แออัดไปด้วยตึกแถว มีอพาร์ตเมนต์ตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ตั้งแต่ 50–400 ตารางวา ซ่อนอยู่หลังตึกแถว มีบ้านไม้ชั้นเดียวบ้าง สองชั้นบ้าง ส่วนใหญ่ค่อนข้างเก่า บ้านไม้เหล่านี้ปลูกบนที่ดินวัดบ้าง ที่กระทรวงการคลังบ้าง หรือที่ดินเอกชน มีบ้านเช่าทั้งริมถนนเทอดไทและสองฝั่งทางรถไฟ มีสภาพแออัดยัดเยียด[14] ด้านชาติพันธุ์ในย่านตลาดพลูมี 3 กลุ่มใหญ่ คือ ไทย จีน มุสลิม และมอญ

กลุ่มคนไทยในปัจจุบัน เป็นกลุ่มขุนนางเก่าและราษฎรทั่วไปและโดยมากจะเป็นคนกลุ่มดั้งเดิม ตั้งบ้านเรือนตามริมคลองต่าง ๆ แต่ตามคลองหลักอย่างคลองบางหลวง จะเป็นบ้านขุนนางเป็นหลัก เช่น บ้านคุณพระเสริม บ้านหลวงประจักษ์สรรพากร ฯลฯ ส่วนบ้านราษฎรจะกระจายตั้งแต่วัดเวฬูราชิณไปจนถึงปากคลองด่าน[15] กลุ่มคนจีนเป็นทั้งคหบดีรวมถึงที่มาค้าขายทั่วไป เช่น สายตระกูลแซ่เฮ้า แซ่ลิ้ม แซ่แต้ ฯลฯ คนรุ่นหลังในย่านตลาดพลูเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมากและถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในย่านตลาดพลู[16]

กลุ่มมุสลิมตั้งถิ่นฐานช่วงคลองเวฬุราชิณต่อกับคลองสำเหร่ กลุ่มนี้เรียกตนเองว่า "มุสลิมบ้านสวน" ถูกกวาดต้อนมาจากปัตตานีตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมามีมุสลิมภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เช่น แขกปาทาน และมีมุสลิมจากพระนครศรีอยุธยามาตั้งถิ่นฐาน กลุ่มนี้มักทำอาชีพค้าขายเนื้อวัว ส่วนกลุ่มคนมอญในยุคนี้มีค่อนข้างน้อย มอญเริ่มหายไปตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา[17]

ตลาดพลูเริ่มมีการแบ่งเขตนับแต่การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล พ.ศ. 2449 ย่านตลาดพลูเป็นส่วนหนึ่งของตำบลและแขวงตามตารางด้านล่าง[18]

ขอบเขตตลาดพลูด้านการปกครอง
พ.ศ. ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต มณฑล/จังหวัด
2449 ตำบลตลาดพลู อำเภอบางกอกใหญ่ มณฑลกรุงเทพ
2458 ตำบลตลาดพลู อำเภอราชคฤห์ ธนบุรี
2459 ตำบลตลาดพลู อำเภอบางยี่เรือ ธนบุรี
2482 ตำบลตลาดพลู อำเภอธนบุรี ธนบุรี
2514 ตำบลตลาดพลู อำเภอธนบุรี นครหลวงกรุงเทพธนบุรี
2515 แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

สถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียง แก้

วัด แก้

ย่านตลาดพลูมีวัดเก่าแก่อยู่หลายวัด วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือนอก วัดบางยี่เรือใต้ หรือวัดใต้) วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา วัดแห่งนี้มีความสำคัญสูงสุดในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ใหม่ทั้งหมด พระองค์ยังทรงเสด็จมาประกอบพระราชกุศล และปฏิบัติกรรมฐานอยู่เสมอ ๆ โดยยังมีพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับทรงศีลอยู่ภายในวัด วัดราชคฤห์วรวิหาร (วัดบางยี่เรือใน วัดบางยี่เรือมอญ หรือวัดเหนือ) มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี โดยพระยาสีหราชเดโชหรือพระยาพิชัยดาบหัก วัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมารามเป็นวัดฝ่ายมหานิกายที่มีการผูกพัทธสีมาสองชั้น คือพัทธสีมาและมหาพัทธสีมา[3] วัดวรามาตยภัณฑสาราราม (วัดขุนจันทร์) สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2380 โดยพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม อมาตยกุล) วัดจันทารามวรวิหารสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้บูรณะในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 วัดเวฬุราชิณสร้างขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวกัน 2 แผ่นดิน คือ รัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4[19] และวัดกันตทาราราม (วัดใหม่จีนกัน) สร้างบนที่ดินซึ่งแต่เดิมเป็นสวนพลูเมื่อ พ.ศ. 2434

ศาสนสถานอื่น แก้

ย่านตลาดพลูมีศาสนสถานของชาวมุสลิม คือ มัสยิดสวนพลู ไม่ทราบประวัติการสร้าง แต่น่าจะสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ศาสนสถานคริสต์ศาสนา คือ คริสตจักรตลาดพลูแป๊บติส และมีศาสนสถานของชาวจีนมีมากมายทั้งเล็กทั้งใหญ่ มีอายุตั้งแต่ร้อยปีจนถึงเพิ่งตั้ง เช่น ศาลเจ้าแม่อาเนี้ยวหรือเจ้าแม่กวนอิม อยู่ใกล้วัดกันตทาราราม ศาลเจ้าพ่อพระเพลิง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 ศาลเจ้าแม่ไทร และศาลเจ้าพ่อเขาตก เป็นต้น ยังมีโรงเจอีก 2 แห่ง คือ โรงเจเซี่ยนโกและโรงเจเซี่ยงเข่งตั๊ว[20]

สถานที่ราชการ สถานศึกษา แก้

โรงเรียนในตลาดพลูส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณวัดแทบทุกโรงเรียน เช่น โรงเรียนวัดเวฬุราชิณ โรงเรียนวัดอินทาราม โรงเรียนวัดราชคฤห์ และโรงเรียนวัดขุนจันทร์ เป็นต้น โรงเรียนเอกชนมี โรงเรียนสหนิยม โรงเรียนกงลี้จงซัน เป็นต้น มีสถานที่ราชการ เช่น ศูนย์เยาวชนเวฬุราชิณ ที่ทำการไปรษณีย์ สถานีรถไฟตลาดพลู สถานีตำรวจตลาดพลู[21]

การคมนาคม แก้

อดีต แก้

 
รถซูบารุ

คลองบางหลวงและคลองแยกต่าง ๆ ในอดีตใช้เรือเป็นพาหนะเป็นหลัก บิดาของขุนวิจิตรมาตราซึ่งเป็นผู้พิพากษา มีบ้านอยู่เยื้องวัดเวฬุราชิณ เดินทางข้ามฝั่งมากรุงเทพ ใช้เรือจ้างส่วนตัวที่มีทาสแจว ใช้เวลาเพียง 20 นาที สำหรับราษฎรทั่วไป มีเรือรับจ้างวิ่งระหว่างตลาดพลูกับท่าเตียนและปากคลองตลาด รวมถึงไปคลองด่าน คลองภาษีเจริญ โดยเมื่อ พ.ศ. 2431 มีเรือกลไฟแล่นในคลองบางหลวง โดยเริ่มจากท่าเตียนไปยังตลาดพลู และต่อขยายไปยังวัดท่าข้าม นอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ. 2453 มีบริษัทบางหลวง หรือคนสมัยนั้นเรียกว่า "เรือเมล์ขาว" วิ่งระหว่างตลาดพลูกับท่าน้ำราชวงศ์ ดำเนินงาน 10 ปี ก็ได้เลิกไป ปัจจุบันยังคงเห็นหลักฐานในการวิ่งเรือ คือ ศาลาท่าน้ำภิรมย์ภักดี อยู่หน้าวัดอินทาราม[22]

ย่านตลาดพลูมีถนนสายเล็ก ๆ สายหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า "ถนนตลาดพลู" กว้าง 3 ศอก ยาว 4 เส้น 4 วา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2453 ได้มีการเรี่ยไรเงินจากราษฎรขยายออกไปเป็น 6 ศอก มีร่องน้ำสองข้าง ปูพื้นด้วยกระเบื้องซีเมนต์ขนาดใหญ่ พร้อมสร้างสะพานข้ามคูริมโรงบ่อนตลาดพลูและข้ามคลองสะพานบางน้ำชน พระยายมราชได้ทำพิธีเปิดถนนนี้ ได้ให้ชื่อว่า "ถนนสามัคคี"[23] สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สันนิษฐานว่า ถนนสามัคคีนับตั้งแต่เชิงสะพานข้ามคลองบางน้ำชนตรงมาตามแนวถนนในซอยเทอดไท 16 จรดสะพานตลาดพลู[24] ในอดีตมีรถลากหรือรถเจ๊ก ดำเนินงานโดยอาศัยอยู่โรงขัดแตะย่านตลาดพลู 3 คน น่าจะราว พ.ศ. 2426[25]

ปัจจุบัน แก้

ปัจจุบันผู้คนย่านนี้เดินทางทั้งทางบกและทางน้ำ ทางบกมีถนนสายหลักคือ ถนนเทอดไท หัวถนนต่อเนื่องกับถนนอินทรพิทักษ์ มีชุมนุมรถเมล์หลายสาย คือ สาย 4 (ท่าน้ำภาษีเจริญ-ท่าเรือคลองเตย) สาย 9 (ถนนกัลปพฤกษ์-สถานีรถไฟสามเสน) สาย 43 (โรงเรียนศึกษานารีวิทยา-เทเวศร์) สาย 111 วงกลมเจริญนคร และสาย 205 (กรมศุลกากร-เดอะมอลล์ท่าพระ) บริเวณที่กลับรถใต้สะพานฝั่งถนนรัชดาภิเษก รวมถึงยังมีรถซูบารุวิ่งระหว่างวัดสิงห์-ตลาดพลู วัดขุนจันทร์-กรุงธนบุรี-คลองสาน และตลาดพลู-โรงพยาบาลศิริราช ส่วนทางรถไฟวิ่งระหว่างวงเวียนใหญ่-มหาชัย[26] การคมนาคมทางน้ำในคลองบางหลวง บริเวณประตูน้ำภาษีเจริญ มีเรือหางยาว ตั้งต้นที่ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ไปตามคลอง และมีเรือโดยสารคลองภาษีเจริญ วิ่งจากท่าเทียบเรือประตูน้ำภาษีเจริญไปจนถึงเพชรเกษม 69 รวมทั้งหมดจำนวน 15 ท่า ระยะทางประมาณ 11.50 กิโลเมตร[27]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "การศึกษาเรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนย่านตลาดพลู" (PDF).
  2. 2.0 2.1 "ตลาดพลู อู่อาหาร คลังการค้านานาชาติ แห่งราชธานี". พินิจนคร. 2009-12-07.
  3. 3.0 3.1 ชมวัดงาม เที่ยวย่านถิ่นเก่าที่ "ตลาดพลู" เก็บถาวร 2007-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนโดย ผู้จัดการออนไลน์ 17 เมษายน 2550 15:15 น.
  4. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 41.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ปิลันธน์ ไทยสรวง. ""ตลาดพลู" ไชน่าทาวน์ฝั่งธนฯ ในวันไร้พลู". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-26. สืบค้นเมื่อ 2021-05-26.
  6. "ตลาดพลู". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  7. 7.0 7.1 thepureway (2017-09-27). "Line กนก รากเหง้าหรืออำนาจเงิน ของดีย่านธนบุรี". เอ็มไทยดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-03. สืบค้นเมื่อ 2018-02-21.
  8. ""โรงภาพยนตร์" สงครามที่กำลังร้อนระอุ". นิตยสารผู้จัดการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-26. สืบค้นเมื่อ 2021-05-26.
  9. "ขนมบดินสูตรโบราณ". โอทอปทูเดย์ดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-02. สืบค้นเมื่อ 2018-02-21.
  10. ขุนวิจิตรมาตรา. "ชีวิตความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-24.
  11. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 102.
  12. "ประวัติการชลประทานในประเทศไทย". สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-24.
  13. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 21.
  14. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 23.
  15. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 142.
  16. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 144.
  17. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 145.
  18. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 41.
  19. "วัดเวฬุราชิน (๔ มิถุนายน ๒๕๕๓)". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 4 มิถุนายน 2553.
  20. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 35.
  21. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 37.
  22. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 140.
  23. ม. ร.5 ยธ/23 หนังสือกราบบังคมทูลของพระยายมราช วันที่ 14 มิถุนายน ร.ศ. 128.
  24. "ถนนแรกมีชื่อในฝั่งธนฯ : ตอนที่ 2 ถนนสามัคคีอยู่ที่ไหน?". สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.
  25. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 114.
  26. พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 39.
  27. "โครงการเดินเรือในคลองภาษีเจริญ". กรุงเทพธนาคม.

บรรณานุกรม แก้

  • พวงร้อย กล่อมเอี้ยง. (2550). โครงการวิจัย เรื่อง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นวิถีวัฒนธรรมริมน้ำย่านตลาดพลูจากคลองบางหลวงถึงคลองด่าน. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°42′59″N 100°28′26″E / 13.716490°N 100.473862°E / 13.716490; 100.473862