ยูไนเต็ดเบรกส์กีตาส์
"ยูไนเต็ดเบรกส์กีตาส์" (อังกฤษ: United Breaks Guitars) เป็นชื่อชุดเพลงสามเพลงซึ่งแต่งโดยเดฟ แคร์รอลล์ (อังกฤษ: Dave Carroll) นักร้องและนักแต่งเพลงชาวแคนาดา ร่วมกับวงดนตรีของเดฟได้แก่ซันส์ออฟแม็กซ์เวลล์ (อังกฤษ: Sons of Maxwell) เนื้อหาของเพลงบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กีตาร์ของเขาเสียหายระหว่างเดินทางกับสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ใน ค.ศ. 2008 และการตอบรับจากสายการบิน เพลงนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2009 และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในยูทูบและไอทูนส์
"United Breaks Guitars" | |
---|---|
ซิงเกิลโดยเดฟ แคร์รอลล์ | |
วางจำหน่าย | 6 กรกฎาคม ค.ศ. 2009 |
แนวเพลง | คันทรี |
ความยาว | 4:36 |
ค่ายเพลง | เดฟ แคร์รอลล์ มิวสิก |
ผู้ประพันธ์เพลง | เดฟ แคร์รอลล์ |
มิวสิกวิดีโอ | |
"United Breaks Guitars (Official Video)" ที่ยูทูบ |
เหตุการณ์
แก้แคร์รอลล์เล่าว่ากีตาร์ของเขาเสียหายขณะที่ฝากให้ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ดูแลระหว่างเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติแฮลิแฟกซ์สแตนฟีลด์ ประเทศแคนาดาไปยังสนามบินเอปป์ลีย์ เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา โดยเปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติโอแฮร์ โดยระบุว่าเขาได้ยินผู้โดยสารที่เดินทางในเครื่องบินลำเดียวกันอุทานว่าพนักงานลำเลียงสัมภาระของท่าอากาศยานโอแฮร์โยนกีตาร์ขณะลำเลียงขึ้นเครื่องบิน เมื่อแคร์รอลล์เดินทางถึงโอมาฮา เขาพบว่ากีตาร์ยี่ห้อเทย์เลอร์มูลค่า 3,500 ดอลลาร์สหรัฐของเขาได้รับความเสียหายอย่างหนัก[1] ในเนื้อเพลงแคร์รอลล์ระบุว่าเขาได้แจ้งกับพนักงานของสายการบินจำนวน 3 คน แต่ทั้งหมดไม่สนใจ แคร์รอลล์ร้องเรียนไปยังยูไนเต็ดแอร์ไลน์ และได้รับคำตอบว่าเขาไม่มีสิทธิ์รับค่าชดเชยเนื่องจากเขาร้องเรียนล่าช้าเกิน 24 ชั่วโมง[2]
เพลง
แก้ในบทสัมภาษณ์กับบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงแคนาดา (ซีบีซี) แคร์รอลล์เล่าว่าเขาเจรจากับสายการบินเป็นเวลากว่าเก้าเดือนแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ[3] เขาจึงถามตัวเองว่า "ถ้าไมเคิล มอร์เป็นนักดนตรี เขาจะทำอย่างไร" แล้วจึงเขียนเนื้อเพลงและถ่ายทำมิวสิกวิดีโอบอกเล่าเรื่องราว[4] เนื้อร้องท่อนหนึ่งกล่าวว่าเขาน่าจะเลือกบินกับสายการบินอื่น หรือไม่ก็ขับรถไปเองน่าจะดีกว่า เพราะยูไนเต็ดทำกีตาร์เสียหาย[5] แคร์รอลล์ร่วมกับวงซันส์ออฟแม็กเวลล์เขียนเพลงภาคต่ออีก 2 เพลงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้[6] โดยวิดีโอภาค 2 "United Breaks Guitars: Song 2" เผยแพร่ออกทางยูทูบในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 2009[7] โดยเนื้อหาของเพลงในภาค 2 เล่าเรื่องเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างแคร์รอลล์กับ "คุณเอิร์ลวิก" พนักงานแผนกบริการลูกค้าของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ และโจมตีไปที่นโยบายของสายการบินที่บังคับให้ "คุณเอิร์ลวิก" ต้องปฏิบัติตามโดยไม่ใส่ใจกับความรู้สึกของผู้โดยสาร[6] ภาค 3 ของเพลงนี้เผยแพร่ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2010 โดยใช้ชื่อ "United Breaks Guitars: Song 3"[8] มีใจความว่าพนักงานของยูไนเต็ดไม่ได้เลวร้ายทุกคน วรรคสุดท้ายเขียนสื่อไปยังยูไนเต็ดแอร์ไลน์ระบุว่าเขาหวังว่ายูไนเต็ดจะปรับปรุงตามที่ได้ประกาศไว้ เพราะถ้าไม่ปรับปรุงแล้วใครจะเลือกใช้บริการ[8]
การตอบสนอง
แก้วิดีโอแรกถูกเผยแพร่ลงทางยูทูบเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 2009 และเพียงวันแรกวันเดียวมีผู้เข้าชมกว่า 150,000 ครั้ง เพิ่มขึ้นเป็นห้าแสนครั้งในวันที่ 9 กรกฎาคม[5] 5 ล้านครั้งเมื่อกลางเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน[2] และ 10 ล้านครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 โดยในปัจจุบัน (ตุลาคม ค.ศ. 2020) วิดีโอนี้มีผู้เข้าชมกว่า 20 ล้านครั้ง
สื่อมวลชนรายงานข่าวเกี่ยวกับความนิยมของเพลงและผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรของยูไนเต็ดแอร์ไลน์[1][4][6] ร็อบ แบรดฟอร์ด ผู้จัดการแผนกบริการปัญหาลูกค้าโทรศัพท์ไปยังแคร์รอลล์เพื่อขออภัยและแสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขออนุญาตนำวิดีโอของแคร์รอลล์ไปใช้ประกอบการฝึกพนักงาน[5] ในขณะเดียวกับ บ็อบ เทย์เลอร์ เจ้าของบริษัทกีตาร์เทย์เลอร์ได้มอบกีตาร์สองตัวให้แคร์รอลล์ และสนับสนุนอุปกรณ์ประกอบฉากสำหรับวิดีโอภาคสองด้วย[6] ยูไนเต็ดเบรกส์กีตาส์ภาคแรกได้รับความนิยมสูงสุดในไอทูนส์มิวสิกสโตร์ในสัปดาห์ถัดจากที่เผยแพร่ครั้งแรก[9] หลังจากที่วิดีโอของแคร์รอลล์ประสบความสำเร็จ เขาโพสต์วิดีโอขอบคุณสาธารณชนที่สนับสนุน และขอร้องให้ผู้ชมเข้าใจ "คุณเอิร์ลวิก" ที่ต้องเคร่งครัดตามนโยบายของสายการบินที่บังคับลงมา[10] หลังจากเหตุการณ์ แคร์รอลล์ได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับการให้บริการลูกค้าหลายครั้ง ครั้งหนึ่งที่เขาเดินทางไปแสดงปาฐกถา ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ก็ทำสัมภาระของแคร์รอลล์สูญหาย[9]
นิตยสารไทม์ได้จัดอันดับให้ "ยูไนเต็ดเบรกส์กีตาส์" อยู่ในอันดับที่ 7 ใน 10 อันดับไวรอลวิดีโอแห่งปี 2009[11]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Blitzer, Wolf (9 July 2009). "United Breaks Guitars". The Situation Room. CNN. สืบค้นเมื่อ 2 March 2013.
- ↑ 2.0 2.1 Cosh, Colby (สิงหาคม 21, 2009). "A man and his guitar". The Financial Post. Canada. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มีนาคม 5, 2012. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 31, 2009.
- ↑ Broken guitar song gets airline's attention CBC News. Online, July 8, 2009. Retrieved July 8, 2009.
- ↑ 4.0 4.1 Jamieson, Alastair (July 23, 2009). "Musician behind anti-airline hit video 'United Breaks Guitars' pledges more songs". The Daily Telegraph. London.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Singer's revenge on United: A hit song United Press International July 9, 2009.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 Tran, Mark (July 23, 2009). "Singer gets his revenge on United Airlines and soars to fame". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ May 26, 2010.
- ↑ United Breaks Guitars Song 2 ที่ยูทูบ
- ↑ 8.0 8.1 "United Breaks Guitars: Song 3 – Dave Carroll". Davecarrollmusic.com. กุมภาพันธ์ 17, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ สิงหาคม 20, 2010. สืบค้นเมื่อ เมษายน 30, 2010.
- ↑ 9.0 9.1 McLean, Jesse (October 29, 2009). "United loses luggage of 'United Breaks Guitars' guy". Toronto Star.
- ↑ Carroll, Dave. "United Breaks Guitars – A statement from Dave Carroll". Dave Carroll. สืบค้นเมื่อ January 16, 2012.
- ↑ Fletcher, Dan (December 8, 2009). "Top 10 Viral Videos – 7. United Breaks Guitars". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-26. สืบค้นเมื่อ 2020-10-04.
Fuming about mishandled baggage? Singing's the best revenge.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- "United Breaks Guitars" ที่ยูทูบ
- United Breaks Guitars เว็บบล็อกของเดฟ แคร์รอลล์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- "United Breaks Guitars" song 3 - United We Stand ที่ยูทูบ