ยูริ (แนว)
ยูริ (ญี่ปุ่น: 百合; โรมาจิ: yuri) ชาวไทยมักย่อเป็น วาย[1] และยังเป็นที่รู้จักว่า เกิลส์เลิฟ (อังกฤษ: girls' love) ย่อว่า จีแอล (GL) เป็นแนว (genre) หนึ่งของสื่อญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างตัวละครที่เป็นหญิงด้วยกัน แม้แก่นเรื่องหลักจะเป็นความสัมพันธ์แบบเลสเบียน แต่แนวยูริยังมีงานที่สื่อถึงความสัมพันธ์ทางอารมณ์หรือจิตวิญญาณระหว่างผู้หญิงซึ่งโดยสภาพแล้วไม่เกี่ยวกับเรื่องรักใคร่หรือเรื่องทางเพศเสมอไป ยูริมักปรากฏในสื่อประเภทอนิเมะและมังงะ และยังพบได้ในวีดิโอเกม ไลต์โนเวล และวรรณกรรม
แก่นเรื่องแบบยูริเกิดจากบันเทิงคดีญี่ปุ่นแนวเลสเบียนในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เรื่องที่มีชื่อเสียง คือ งานเขียนของโนบูโกะ โยชิยะ และวรรณกรรมแนวหมวดเอส (Class S) โดยมังงะที่แสดงภาพความรักใคร่ระหว่างหญิงด้วยกันเริ่มปรากฏขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1970 ผ่านงานของเหล่าศิลปินสังกัดกลุ่มปี 24 (Year 24 Group) ศิลปินที่มีชื่อเสียงในเรื่องนี้ คือ เรียวโกะ ยามางิชิ และริโยโกะ อิเกดะ สื่อแนวยูริได้รับความนิยมมากขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1990 จนใน ค.ศ. 2003 มีการก่อตั้งนิตยสาร ยูริชิไม เพื่อลงงานแนวยูริโดยเฉพาะ ตามมาด้วยการก่อตั้งนิตยสาร คอมมิกยูริฮิเมะ ใน ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นผลให้ยูริกลายเป็นแนวที่มีสื่อสิ่งพิมพ์เป็นรูปธรรม และมีแฟนดอมเป็นกิจจะลักษณะ
ยูริ ในฐานะที่เป็นแนวหนึ่งของสื่อนั้น โดยเนื้อแท้แล้วไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชากรทางเพศกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งต่างจากแนวคู่เคียง คือ ยาโออิ (แนวชายชาย) ที่มุ่งทำการตลาดไปยังกลุ่มประชากรเพศหญิง และบาระ (แนวเกย์) ที่มุ่งทำการตลาดไปยังกลุ่มเกย์โดยเฉพาะ
อ้างอิง
แก้- ↑ "นิยายวาย (Y) คืออะไร? ทำไมถึงเป็นนิยายที่น่าจับตามอง". มติชน. มติชน. 2563-07-10. สืบค้นเมื่อ 2565-01-12.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)