สงครามบางแก้ว

(เปลี่ยนทางจาก ยุทธการที่บางแก้ว)

สงครามบางแก้ว หรือ ยุทธการที่บางแก้ว หรือ การรบที่บางแก้ว หรือ นางแก้ว เป็นความขัดแย้งทางการทหารระหว่างพม่าภายใต้ราชวงศ์โก้นบองกับสยามภายใต้อาณาจักรธนบุรีภายใต้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในเดือนกุมภาพันธ์–เมษายน 2318 ซึ่งอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพของพม่าได้ส่งกองทัพเดินทางเข้ามารุกรานตะวันตกของสยามทางด่านพระเจดีย์สามองค์ กองทัพพม่ายกเข้ามาตั้งมั่นที่บางแก้วในจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชโองการให้กองทัพสยามล้อมกองทัพพม่าที่บางแก้วไว้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้พม่าอดอยากและยอมจำนนต่อสยามในที่สุด[3]

สงครามที่บางแก้ว
ส่วนหนึ่งของ สงครามสยาม-พม่า

สงครามที่บางแก้ว
วันที่กุมภาพันธ์ - มีนาคม พ.ศ. 2318
สถานที่
บางแก้ว เมืองราชบุรี และกาญจนบุรี
ผล สยามได้รับชัยชนะ
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) กรุงธนบุรี (สยาม)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้ามังระ
อะแซหวุ่นกี้
ตะแคงมระหน่อง
ฉับกุงโบ หรือ งุยอคงหวุ่น
อุตตมสิงหจอจัว
เนเมียวแมงละนรธา
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจุ้ย
พระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์
เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)
เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)
เจ้าพระยานครสวรรค์
พระยายมราช (หมัด)
พระยานครราชสีมา (ขุนชนะ)
พระยารามัญวงศ์ (มะโดด)
พระยาธิเบศร์บดี
กำลัง
5,000 คน[1] 20,000 คน[2]

เหตุการณ์นำ แก้

 
พระยาเจ่ง เป็นผู้นำการก่อกบฏต่อพม่าในปี พ.ศ. 2317 และพำนักอยู่ในสยาม ต่อมาเป็นเจ้าพระยามหาโยธาแม่ทัพมอญในรัชกาลที่ 1

กบฎมอญต่อพม่า พ.ศ. 2317 แก้

ในปี 2315 พระเจ้าศิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศราชของพม่า[2] ได้กราบทูลพระเจ้ามังระว่าแม้กรุงศรีอยุธยาจะแตกในปี 2310 แต่สยามก็ฟื้นคืนมาได้ภายใต้การนำของพระยาตากหรือพระเจ้าตาก พระเจ้ามังระมีพระราชดำริว่า หากปล่อยให้สยามและสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงฟื้นฟูสยามขึ้นเป็นปึกแผ่นขึ้นมาอีกจะเป็นภัยอันตรายในอนาคต สมควรที่จะจัดทัพพม่าเข้าไปปราบปรามสยามให้ราบคาบอีกครั้ง พระเจ้ามังระจึงแต่งตั้งเจ้าเมืองพุกาม หรือปะกันหวุ่น ชื่อว่าแมงยีกามะนีจันทา (Mingyi Kamani Sanda)[2] เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะคนใหม่ และมอบหมายให้จัดแจงเตรียมเสบียงอาหารสำหรับการรุกรานตะวันตกของสยาม

พระราชพงศาวดารของไทยระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2317 พระเจ้ามังระส่งทหารพม่าเพิ่มเติมอีก 5,000 นาย[4] ไปยังเมาะตะมะ และทรงมีพระราชโองการให้ปะกันหวุ่นยกทัพมารุกรานสยาม ปะกันหวุ่นสั่งให้กองกำลังมอญ 2,000 นายเป็นทัพหน้า ผู้นำชาวมอญได้แก่พระยาเจ่งและตะละเกล็บได้นำทัพหน้ามอญไปทางตะวันตกของสยาม อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ผู้นำชาวมอญเดินทัพออกจากเมาะตะมะไปยังสยาม ปะกันหวุ่นได้ขู่กรรโชกเงินจากครอบครัวชาวมอญในเมาะตะมะเพื่อสมทบทุนในการรบ[2] ผู้นำชาวมอญเมื่อรู้ว่าพม่าปฏิบัติต่อครอบครัวของพวกเขาอย่างทารุณ จึงตัดสินใจกบฏต่อพม่า พระยาเจ่งกับตะละเกล็บได้เมาะตะมะคืนมาจากพวกพม่า ปะกันหวุ่นหนีไปย่างกุ้ง พระยาเจ่งและกองทัพมอญของเขาติดตามพวกปะกันหวุ่นไปยังย่างกุ้ง ซึ่งพวกเขายึดเมืองได้ครึ่งหนึ่ง แต่ถูกกองกำลังของพม่าขับไล่ พระยาเจ่ง ตะละเกล็บและผู้นำชาวมอญคนอื่น ๆ พร้อมครอบครัวได้ลี้ภัยมาอยู่ในสยาม[4] เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้ชาวมอญจำนวนมากอพยพจากเมาะตะมะเข้าสู่สยามผ่านด่านแม่ละเมาและด่านพระเจดีย์สามองค์เพื่อหลบหนีจากการประหัตประหารของพม่า[3]

พระเจ้ามังระและเหล่าข้าราชบริพารเดินทางจากเมืองอังวะลงมาย่างกุ้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2317 เพื่อยกฉัตรพระเจดีย์ชเวดากองให้สูงขึ้น[5] พระเจ้ามังระเสด็จไปถามพญาทะละอดีตกษัตริย์หงสาวดีซึ่งถูกคุมขังทางการเมืองในย่างกุ้งตั้งแต่ปี 2300 ว่ามีส่วนรู้เห็นในการกบฏมอญครั้งนี้หรือไม่ พญาทะละนอกจากยอมรับข้อกล่าวหาแล้วยังกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นพระเจ้ามังระ พระเจ้ามังระจึงมีพระราชโองการให้ลงพระอาญาประหารชีวิตพญาทะละ พร้อมทั้งอนุชาคือพระอุปราช พระโอรสชื่องะตา (Nga Ta)[2] ในเดือนพฤศจิกายนปี 2317 พระเจ้ามังระมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มหาสีหสุระ หรืออะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพผู้มีชื่อเสียงจากสงครามจีน–พม่า ยกทัพมารุกรานสยามครั้งใหม่[2]

สงครามเชียงใหม่ พ.ศ. 2317 แก้

ในเดือนธันวาคมปี 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนำทัพสยามไปยึดเมืองเชียงใหม่ที่พม่ายึดครองไว้ สมเด็จพระเจ้าตากสินและไพร่พลของพระองค์ลงไปถึงเมืองตาก ซึ่งใบบอกเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวมอญที่เข้ามาในสยามและกองทัพพม่าที่ติดตามได้นำขึ้นกราบทูลต่อพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพบกับผู้นำชาวมอญผู้ลี้ภัย ก่อนเสด็จกลับขึ้นไปทางเหนือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระบัญชาให้กองทหารสยามจำนวน 2,000 นาย[6] คอยป้องกันชายแดนไม่ให้ถูกพม่ารุกรานจากทางด่านแม่ละเมา ต่อมาฝ่ายกองกำลังพม่าได้ติดตามชาวมอญเข้ามาจนถึงบ้านนาเกาะดอกเหล็กและด่านสตอง พระราชฤทธานนท์จึงนำความขึ้นไปทูลที่ลำพูนว่าทัพพม่าเข้ามาแล้วทางบ้านนายังไม่มีทัพคอยรับ จึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์ ตั้งทัพป้องกันพม่าด่านทางเมืองตาก และให้พระยากำแหงวิชิตรักษาด่านบ้านนาเกาะดอกเหล็ก

หลังจากที่ทรงมีชัยชนะได้เมืองเชียงใหม่แล้ว ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2318 พระเชียงทองกราบทูลขึ้นไปว่าทัพพม่ามาถึงด่านแม่ละเมาแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงรีบเสด็จยกทัพจากเชียงใหม่ลงมาถึงเมืองตากในเดือนกุมภาพันธ์ มีพระราชโองการให้หลวงมหาเทพและจมื่นไวยวรนาถ[1]ยกทัพหน้าจำนวน 2,000 คน เข้าตีทัพพม่าที่แม่ละเมาแตกพ่ายไปในการรบที่ด่านแม่ละเมา และมีพระราชโองการให้พระกำแหงวิชิตที่บ้านระแหงยกติดตามไปโจมตีทัพพม่าที่ถอยไป จากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จจากบ้านระแหงกลับคืนกรุงธนบุรีในเดือนกุมภาพันธ์นั้น มีชาวมอญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทางด่านแม่ละเมาเมืองตาก จำนวน 4,335 คน[1] พระราชทานข้าวปลาอาหาร และจัดเรือส่งชาวมอญลงมายังกรุงธนบุรี

การเตรียมทัพของฝ่ายพม่า แก้

พระเจ้ามังระมีพระราชโองการให้แมงเยชัยจอ (Minye Zeyakyaw) ขุนนางพม่าซึ่งเคยมีหน้าที่ควบคุมดูแลพญาทะละ บัดนี้พญาทะละถูกประหารชีวิตไปแล้วให้กองของแมงเยชัยจอไปสมทบรวมกันกับทัพของอะแซหวุ่นกี้ที่เมาะตะมะเพื่อเข้าโจมตีสยาม เมื่ออะแซหวุ่นกี้ทราบว่าทัพสยามตั้งอยู่ที่เมืองตาก จึงมีคำสั่งให้ส่งกองกำลังของแมงเยชัยจอยกทัพพม่าข้ามผ่านด่านเจดีย์สามองค์เพื่อเข้าโจมตีสยามทางกาญจนบุรีอีกด้านหนึ่ง แต่แมงเยชัยจอแย้งว่า ส่งกองกำลังไปขนาดเล็กอาจถูกทัพสยามดักซุ่มโจมตีได้ ควรจะส่งทัพหลวงใหญ่ไปเลยทีเดียว อะแซหวุ่นกี้ยังยืนยันคำสั่งเดิม ให้เหตุผลว่าทางช่องด่านเจดีย์สามองค์นั้นเสบียงน้อยไม่สามารถรองรับทัพขนาดใหญ่ได้ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอะแซหวุ่นกี้และแมงเยชัยจอ[7] แมงเยชัยจอไม่พอใจจึงขัดคำสั่งของอะแซหวุ่นกี้ ถอนทัพของตนออกจากสงครามตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะไม่ไปที่ใด

อะแซหวุ่นกี้จึงให้ฉับกุงโบ หรือฉัพพะกุงโบ (Satpagyon Bo)[7] หรือในพงศาวดารไทยเรียกว่า งุยอคุงหวุ่น เป็นแม่ทัพ นำกองกำลังพม่า 5,000 คน เข้ารุกรานสยามทางด่านเจดีย์สามองค์ ฉับกุงโบเป็นแม่ทัพพม่าซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการรบกับไทย[7] เข้าร่วมในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

สงครามบางแก้ว แก้

พม่าบุกสยามทางตะวันตก แก้

 
แผนที่เส้นทางเดินทัพระหว่างพม่ากับสยาม
เขียว หมายถึง เส้นทางเดินทัพพม่า
แดง หมายถึง เส้นทางเดินทัพสยาม

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2317 ฉับกุงโบและอุตตมสิงหจอจัว แม่ทัพพม่า ยกทัพหน้าพม่าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ และให้แมงเยรานนอง (Minye Yannaung)[7] หรือ ตะแคงมระหน่อง ยกทัพอีก 3,000 คน เข้ามาสมทบ พระยายมราช (หมัด) มีหน้าที่ป้องกันการรุกรานของพม่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ฉับกุงโบเอาชนะพระยายมราช (หมัด) ที่ท่าดินแดง พระยายมราชถอยทัพกลับกรุงธนบุรีและกราบทูลสมเด็จพระเจ้าตากสินเกี่ยวกับการรุกรานของพม่าที่กำลังจะมาถึง[1]

พระองค์มีพระราชโองการให้เจ้าฟ้าจุ้ย พระราชโอรส และเจ้ารามลักษ์ พระราชนัดดานำทัพหน้าจำนวน 3,000 นายไปสู้รบกับพม่าทางทิศตะวันตก สมเด็จพระเจ้าตากสินยังได้มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ซึ่งอยู่ที่เชียงใหม่ลงมาทางใต้เพื่อป้องกันพระนครจากการถูกพม่าโจมตี และให้นำกองทัพฝ่ายเหนือลงมาเพื่อตั้งรับทางทิศตะวันตก สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระบรมราชโองการให้กองทัพจากทางเหนือที่กลับมาทั้งหมดอย่าแวะเข้าบ้าน เพื่อเร่งระดมกำลังไปราชบุรี ขุนนางชั้นผู้น้อยคนหนึ่งชื่อพระเทพโยธาบังเอิญแวะเยี่ยมบ้าน สมเด็จพระเจ้าตากสินพิโรธมากจึงนำพระเทพโยธามาประหารด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองบนแพ[8][1]

เนื่องจากสยามได้รวบรวมผู้ลี้ภัยชาวมอญไว้เป็นจำนวนมาก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดให้จัดตั้งกองมอญหรือกองทหารอาสาชาวมอญขึ้นเพื่อรับสมัครผู้ลี้ภัยชาวมอญเพื่อต่อสู้กับพม่า[9] ทรงแต่งตั้งขุนนางชาวมอญชื่อ มะโดด ซึ่งเคยเป็นขุนนางในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาที่ หลวงบำเรอภักดิ์[10] เป็น พระยารามัญวงศ์ ผู้บัญชาการกองมอญหรือกองทหารอาสามอญ สมเด็จพระเจ้าตากสินยังได้ทรงแต่งตั้งผู้นำมอญคือ พระยาเจ่ง เป็นพระยาเกียรติและตะละเกล็บเป็นพระยาราม ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาในกองทหารอาสามอญ

ฉับกุงโบเข้ายึดเมืองกาญจนบุรีอย่างรวดเร็ว กองทัพพม่าเข้าสู่สยามทางตะวันตกมาจนถึงนครปฐมซึ่งห่างจากกรุงธนบุรีไปทางทิศตะวันตกเพียง 50 กิโลเมตรเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง) เสนาบดีชาวจีนของพระองค์ซึ่งขณะนั้นเป็นว่าที่โกษาธิบดีนำทัพ 1,000 นายไปขับไล่พม่าที่นครปฐมและนครชัยศรี[8][1]

การล้อมพม่าที่บางแก้ว แก้

ตะแคงมระหน่อง แม่ทัพใหญ่ในการรบครั้งนี้ พร้อมด้วยทหารพม่าจำนวน 5,000 นาย พักทัพที่ปากแพรก (ปัจจุบันคือที่ตั้งของอำเภอเมืองกาญจนบุรี) ตะแคงมระหน่อง สั่งให้ฉับกุงโบ หรือ งุยอคงหวุ่น นำทัพหน้า 2,000 นายล่องไปตามแม่น้ำแม่กลองไปยังราชบุรี งุยอคงหวุ่นและอุตตมสิงหจัวจอตั้งค่ายกองทัพพม่าที่บ้านบางแก้ว (ปัจจุบันคือบางแก้ว อำเภอโพธาราม) ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไปทางเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร[8][1] เจ้าฟ้าจุ้ยมีพระบัญชาให้กองทัพสยามมาตั้งค่ายดังนี้

  • เจ้ารามลักษณ์นำกำลังพล 1,000 นายมาล้อมพม่าที่บางแก้วทางด้านตะวันออก
  • หลวงมหาเทพนำกำลังพล 1,000 นาย ล้อมพม่าที่บางแก้วทางด้านตะวันตก
  • พระยายมราช (หมัด) ตั้งมั่นอยู่ที่บ้านหนองขาว (ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง ในปัจจุบัน) ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อสกัดทัพของตะแคงมระหน่อง

เจ้าฟ้าจุ้ยได้ตั้งค่ายใหญ่ขึ้นที่โคกกระต่ายทางใต้ของบางแก้ว การล้อมพม่าที่บางแก้วเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2318

ก่อนเสด็จออกทำสงคราม สมเด็จพระเจ้าตากสินได้มอบหมายให้เจ้าบุญจันทร์ พระราชนัดดา และขุนนางผู้ใหญ่ชื่อเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (คือพระยาธิเบศรบดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา) เป็นผู้สำเร็จราชการที่กรุงธนบุรีในช่วงที่พระองค์ไม่อยู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จออกจากกรุงธนบุรีเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2318 โดยมีกองเรือหลวงประกอบด้วยทหาร 8,663 นาย และปืนใหญ่ขนาดเล็ก 277 กระบอก[8][1] กองเรือหลวงพักอยู่ที่เมืองสมุทรสาครก่อนมุ่งหน้าสู่ราชบุรี งุยอคงหวุ่นมั่นใจมากเกินไปในประสบการณ์ในการทำสงครามกับสยามและยอมให้สยามมาล้อมค่ายของเขา[7][8] ตั้งค่ายอยู่นิ่งเฉยปล่อยให้ฝ่ายไทยตั้งค่ายล้อมไว้ที่บางแก้ว คิดว่าจะสามารถตีฝ่าวงล้อมของฝ่ายออกมาอย่างง่ายดาย ฝ่ายพม่าร้องออกมาเป็นภาษาไทยว่า "ตั้งค่ายมั่นแล้วฤๅยัง" ฝ่ายไทยตอบกลับว่า "ยังไม่ได้มั่น แต่บัดนี้ตั้งค่ายล้อมพม่าไว้รอบแล้ว"[8] ฝ่ายไทยตั้งค่ายล้อมพม่าที่บางแก้วไว้ถึงสามชั้น พระยาวิจิตรนาวีกลับจากบางแก้วมากราบทูล ว่าทัพฝ่ายไทยได้เข้าล้อมค่ายพม่าที่บางแก้วไว้มิดชิดหมดสิ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จจากราชบุรี ไปบางแก้วทอดพระเนตรค่ายล้อมบางแก้ว มีพระราชโองการให้พระยารามัญวงษ์ (มะโดด) หลวงบำเรอภักดิ์ และหลวงราชเสนา ไปตั้งค่ายที่เขาชะงุ้มอีกค่ายหนึ่ง ทางตะวันตกของบางแก้ว และให้เจ้าพระยาอินทรอภัยไปตั้งที่สระน้ำเขาชั่วพราน (เขาช่องพราน) อีกสามค่าย จำนวน 300 คน

ขุนปลัดเมืองราชบุรีมากราบทูลว่า พม่าจากเมืองทวายยกมาทางด่านเจ้าขว้าวประมาณ 2,000 คน จับชาวด่านไปได้สองคน จะยกมาทางด่านเจ้าขว้าวอีกหรือไม่ไม่ทราบชัด[8][1] จึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย และพระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง หรือ เฉินเหลี่ยน) ยกทัพลงไปรักษาค่ายเมืองราชบุรี ให้รื้อค่ายไปทั้งที่ริมแม่น้ำทั้งหมดปักขวากหนามรายรอบ

เนเมียวแมงละนรธา แม่ทัพพม่าจากปากแพรก ยกทัพ 1,000 คน[1] มารบกับเจ้าพระยาอินทรอภัยที่เขาชั่วพรานถึงสามครั้งในคืนเดียว สมเด็จพระเจ้าตากสินจะเสด็จยกไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัย แต่พระยาเทพวรชุนและหลวงดำเกิงรณภพห้ามไว้และทูลอาสายกไปเอง[8] จึงทรงให้เกณฑ์ทหารกองในกองนอกและกองอาจารย์ ได้ 745 คน ให้พระยาเทพวรชุนและหลวงดำเกิงฯยกเป็นกองโจรไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัยที่เขาชั่วพราน

ในเดือนมีนาคม เจ้ารามลักษณ์ฯส่งเณรจวงวัดบางนางแก้ว ซึ่งถูกพม่าจับไปหนีกลับมาได้ มากราบทูลข้อราชการ ให้การว่า พม่าอยู๋ในค่ายบางแก้วประมาณ 1,000 คนเศษ เสบียงอาหารลดน้อยถอยลงกินได้อีกสิบวัน ส่วนน้ำไว้ดื่มได้อีกครึ่งเดือน ฝ่ายไทยยิงปืนเข้าไปในค่ายถูกพม่าเสียชีวิตไปจำนวนมาก ต้องขุดหลุมฝังศพกลบไว้ก่อน สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสถามเณรจวงว่า หนีมาเองหรือพม่าใช้ให้มา เถรจวงตอบว่าหนีมาเอง ถ้าพม่าจับได้อาจถูกสังหารไปแล้ว[1] ทรงให้อองวาจาล่ามพม่า สอบถามเชลยพม่าที่เจ้าพระยาอินทรอภัยจับมาได้ ให้การว่า แม่ทัพพม่าที่ยกมาตีค่ายสระน้ำเขาชั่วพราน ชื่อว่า เนเมียวแมงละนรธา มีกำลัง 1,000 คน แม่ทัพที่ค่ายบางแก้ว ชื่อยุยองโป (ฉับกุงโบ) มีกำลัง 1,000 คน ที่ปากแพรกกาญจนบุรี ชื่อว่า สะแคงมระนอง (ตะแคงมระหน่อง) เป็นน้าของพระเจ้าอังวะ คุมทัพใหญ่ 3,000 คน และแม่ทัพไม่ทราบชื่อ คุมกำลัง 1,000 จากทวายมาทางด่านเจ้าขว้าวราชบุรี[1]

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เข้าล้อมทัพพม่าของงุยอคงหวุ่นที่บางแก้วไว้ จนกว่าจะขาดเสบียงและหิวโหย ถ้าหากพม่าที่บางแก้วยกทัพฝ่าวงล้อมออกมา ให้สกัดกั้นไว้แต่ห้ามยกเข้าชิงค่าย ถ้าหากฝ่ายพม่าสามารถฝ่าวงล้อมออกไปได้ จะลงพระราชอาญาถึงแก่ชีวิต[8] มีพระราชโองการให้เฆี่ยนขุนอากาศสรเพลิง 60 ที โทษข้อหายิงปืนเกนหาม ยิงทีละนัดไม่ได้ยิงพร้อมกันตามรับสั่งฯ ทำให้ข้าศึกรู้ตัวหนีไป[8][1] มีพระราชดำรัสว่า "ข้าราชการทั้งปวง ใช้ให้ไปทำศึกบ้านเมืองใด พ่อมิได้สะกดหลังไปด้วย ก็ไม่สำเร็จราชการ ฯลฯ"[8][1] มีพระราชโองการให้ให้ตักน้ำจากโคกกระต่ายไปเลี้ยงทัพหน้าไม่ให้ขาดแคลนน้ำดื่ม

เสียค่ายเขาชะงุ้ม แก้

ฝ่ายพม่าที่บางแก้วพยายามฝ่าวงล้อมออกมาทางค่ายของหลวงมหาเทพ หลวงมหาเทพระดมยิงปืนจนฝ่ายพม่าถอยกลับเข้าไป ตะแคงมระหน่องนายทัพพม่าที่ปากแพรกส่งกองกำลังมาโจมตีล้อมค่ายเขาชะงุ้มของพระยารามัญวงษ์เพื่อช่วยเหลืองุยอคงหวุ่นที่บางแก้ว จึงมีพระราชโองการให้พระยาธิเบศร์บดี พร้อมทั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นทัพหน้า พระยาธิเบศร์บดีเป็นทัพหลวง ยกทัพไปช่วยเหลือพระยารามัญวงษ์ออกจากที่ล้อม นำไปสู่การรบที่เขาชะงุ้ม ได้รบกันอย่างรุนแรง ทั้งฝ่ายพม่าและฝ่ายไทยสูญเสียนายกองไปจำนวนมาก พระยาธิเบศร์บดีตั้งค่ายไม่สำเร็จ ต้องถอยลงมา มีพระราชโองการให้ช่วยพระยารามัญวงศ์และกองมอญออกมาให้ได้ จนพระยารามัญวงศ์ และหลวงงบำเรอภักดิ์ จึงสามารถฝ่าวงล้อมพม่าออกมาหาพระยาธิเบศร์บดีได้สำเร็จ แต่ฝ่ายพม่าสามารถเข้ายึดเขาชะงุ้มได้ ฝ่ายไทยจึงเสียค่ายเขาชะงุ้มให้แก่พม่า พม่าสามารถตั้งมั่นที่เขาชะงุ้มทางตะวันตกของบางแก้วได้สำเร็จ

ทัพหัวเมืองมาสมทบ แก้

ในเวลานั้นเอง กองทัพของเจ้าพระยานครสวรรค์ยกทัพเดินทางมาถึงราชบุรี จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยานครสวรรค์ถืออาญาสิทธิ์ พร้อมพระราชทานกองเกนหัดถือปืน 40 คน กองนอกถือปืน 150 คน ยกไปช่วยพระยาธิเบศร์บดีตีทัพพม่าที่เขาชะงุ้ม ทรงถอดพระธำมะรงค์เพชรองค์หนึ่งให้แก่เจ้าพระยานครสวรรค์ พระราชทานพรว่า "ชยตุ ภวังค์ สัพพสัตรู วินาสสันติ"[8][1] แต่ฝ่ายพม่าสามารถปักหลักอยู่ที่เขาชะงุ้มได้อย่างมั่นคง จึงมีพระราชโองการให้พระยาธิเบศร์บดีและเจ้าพระยานครสวรรค์ถอยมมาตั้งรับพม่าที่บางแก้ว ห่างจากค่ายพม่าที่บางแก้วประมาณห้าเส้น และส่งตัวพระยารามัญวงษ์ (มะโดด) หลวงบำเรอภักดิ์ และหลวงราชเสนา มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินที่พลับพลาโคกกระต่าย ในเดือนมีนาคม ตะแคงมระหน่องแม่ทัพพม่าที่ปากแพรก ส่งทัพเข้าโจมตีค่ายของพระยายมราช (หมัด) ที่หนองขาว พระยายมราชบอกลงมากราบทูลว่าพม่าถูกปืนตายจำนวนมากแต่กระสุนดินดำของฝ่ายไทยจวนจะหมดแล้วขอพระราชทานไปเพิ่ม สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชดำรัสตอบไปว่าให้รอกระสุนดินดำจากเจ้าพระยาจักรีที่กำลังจะยกทัพมาถึง

กรมการเมืองคลองวาฬ (ตำบลคลองวาฬ) บอกส่งมาว่าทัพพม่าจากเมืองมะริดยกทัพเข้ามาทางด่านสิงขรโจมตีบ้านทัพสะแก ขอพระราชทานกองทัพไปช่วย ทรงมีตราตอบออกไปว่าราชการศึกทางราชบุรียังติดพันอยู่ ขอให้ทางกรมการเมืองคลองวาฬรองรับสู้พม่าคอยท่าไปก่อน ทันใดนั้นหลวงมหาแพทย์เดินทางจากธนบุรีมาถึงราชบุรีเข้าเฝ้ากราบทูลว่า สมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ พระราชมารดา ได้ประชวรสิ้นพระชนม์[8] ได้เชลยพม่าสองคนจากค่ายบางแก้ว ให้การว่าฝ่ายพม่าที่ถูกล้อมอยู่ที่บางแก้วนั้น ขาดเสบียงอาหารและขาดน้ำอย่างมาก น้ำไม่เพียงพอฝ่ายพม่าต้องขุดบ่อหาน้ำแต่ไม่สำเร็จ ปืนใหญ่น้อยที่ฝ่ายไทยยิงเข้าไปนั้นถูกพม่าล้มตายไปจำนวนมาก จึงมีพระราชโองการให้พระยารามัญวงษ์ยกทัพกองรามัญใหม่ 400 คน ไปเป็นกองโจรโจมตีทัพพม่าที่เขาชะงุ้ม

เจ้าพระยาจักรียกทัพจากเชียงใหม่ลงมาจนถึงราชบุรีในเดือนมีนาคม เจ้าพระยาจักรีนำขุนนางเมืองน่านมาเข้าเฝ้าที่โคกกระต่าย กราบทูลว่าได้เกลี้ยกล่อมเมืองน่านเข้าสวามิภักดิ์ต่อธนบุรีได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระโสมนัส พระราชทานแสงดาบฝักทองด้ามทอง กับพระธำมะรงค์ให้แก่เจ้าพระยาจักรี และมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ ถือพระอาญาสิทธิ์ยกไปตั้งทัพที่วัดมหาธาตุเขาพระ และตั้งค่ายเป็นแนวรายป้องกันมาจนถึงบางแก้ว อย่าให้พม่าวกออกหลังได้ และดำรัสให้หลวงบำเรอภักดิ์นำกอง 400 คน ไปคอยสังเกตการณ์พม่าซึ่งมาตักน้ำที่หนองน้ำเขาชะงุ้มนั้น[8]

พม่าที่บางแก้วยกทัพพยายามฝ่าวงล้อมออกมาทางค่ายของพระยาพิพัฒโกษาและพระยาเพชรบุรี ถูกฝ่ายไทยยิงปืนระดับถอยกลับเข้าไปอีกครั้ง และในคืนเดียวกันนั้นพม่ายกออกมาจาหลวงราชนิกูลไม่สามารถ่าวงล้อมออกไปได้อีกเช่นกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จทรงม้าไปประทัพที่หลังค่ายของหลวงมหาเทพ ทรงให้ชายมอญชื่อจักกายเทวะตะโกนเข้าไปในค่ายบางแก้วเป็นภาษาพม่าว่า ให้พม่าทั้งปวงยอมแพ้ออกมาหาแต่โดยดี ทรงพระกรุณาไว้ชีวิตทั้งสิ้น งุยอคงหวุ่นแม่ทัพพม่าในค่ายบางแก้วร้องตอบออกมาว่า "ท่านล้อมไว้ครั้งนี้ ซึ่งจะหนีไปให้รอดด้วยความตายหามิได้แล้ว แต่เอ็นดูไพร่พลทั้งปวงมากนักจะพลอยตายเสียด้วย ถึงตัวเราผู้เป็นนายทัพจะตายก็ตามกรรมเถิด แต่จะขอพบตละเกล็บสักหน่อยหนึ่ง"[8] จึงมีพระราชโองการให้พระยาพระราม (ตละเกล็บ) ขี่ม้าพร้อมกั้นร่มระย้าออกไปเจรจาความกับงุยอคงหวุ่นแม่ทัพพม่า ฝ่ายพม่าบางแก้วเขียนข้อความเป็นภาษาพม่าใส่ใบตาลขดส่งออกมาจากในค่าย

เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เดินทางยกทัพมาถึงราชบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานร่มแพรแดงมีระย้าให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ และให้ยกทัพไปเข้าร่วมการล้อมค่ายพม่าบางแก้ว ต่อมาเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพหัวเมืองเหนือไปล้อมพม่าที่เขาชะงุ้ม

พระยาเพชรบุรี คิดย่อท้อไม่เป็นใจในราชการ วางแผนว่าถ้าพม่ายกออกมารบกับค่ายของตนเอง แล้วต้านทานทัพพม่าไม่ได้ จะหนีกลับไปยังเมืองเพชรบุรี บ่าวของพระยาเพชรบุรีมากราบทูลฟ้องนายของตน สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการจับกุมตัวพระยาเพชรบุรีมาสอบสวน พระยาเพชรบุรีให้การยอมรับ จึงให้ลงพระราชอาญามัดมือไพล่หลัง นำตัวไปตระเวนประจานรอบกองทัพ แล้วประหารชีวิตตัดศีรษะ[8]

ฝ่ายพระยารามัญวงษ์ และพระยาพระราม (ตละเกล็บ) เจรจากับงุยอคงหวุ่ง แม่ทัพพม่าที่บ้างแก้ว งุยอคงหวุ่นว่าตละเกล็บเป็นแม่ทัพมอญมาเข้ากับฝ่ายไทยงุยอคงหวุ่นไม่ไว้ใจ ต้องการพบกับแม่ทัพผู้ใหญ่ตำแหน่งระดับสูง งุยอคงหวุ่นส่งนายทัพพม่าคนหนึ่งออกมาหาตละเกล็บ จึงมีพระราชโองการให้ตละเกล็บพานายทัพพม่าคนนั้นไปพบกับพระเจ้าหลานเธอเจ้ารามลักษณ์ และเจ้าพระยาจักรี ตละเกล็บบอกถ้อยความแก่นายทัพพม่า ให้กลับไปบอกแก่งุยอคงหวุ่นว่า "ถ้านายมึงออกมาถวายบังคม กูจะช่วยให้รอดจากความตาย ถ้ามิออกมาจะฆ่าเสียทั้งสิ้น"[8] ฝ่ายนายทัพพม่าแจ้งว่าขอให้เวลาฝ่ายพม่าปรึกษาตัดสินใจกันก่อน ตละเกล็บจึงให้ปล่อยนายทัพพม่ากลับเข้าไป

พระกุยบุรีและพระคลองวาฬ บอกเข้ามากราบทูลว่า พม่าประมาณ 400 คน ยกเข้ามาโจมตีเมืองบางสะพาน ได้รบกันเป็นสามารถ พม่าเผาเมืองบางสะพานเสียแล้วฝ่าวงล้อมออกไป พม่ายกทัพไปทางเมืองปะทิว จึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าหลานเธอเจ้าบุญจันทร์และเจ้าพระยาศรีธรรมธิราชซึ่งเป็นผู้รักษากรุงธนบุรีในขณะนั้น มีหนังสือตอบพระกุยบุรีไปว่า ให้วางยาเบื่อในหนองน้ำบ่อน้ำที่ทางพม่ายกมานั้นให้หมดสิ้น อย่าให้ทัพพม่ามีน้ำกินได้ และให้นำตัวเชลยพม่าห้าคนมาลงพระอาญาตัดมือตัดเท้าเสีย แล้วเขียนป้ายแขวนคอไปว่า บอกแก่เจ้านายมันให้เร่งยกมาอีกเถิด[8]

เกลี้ยกล่อมแม่ทัพพม่า แก้

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จทอดพระเนตรค่ายของเจ้าพระยาอินทรอภัยและพระโหราธิบดีที่เขาช่องพราน พระยารามัญวงษ์ (มะโดด) พบเส้นทางลำเลียงของพม่าและจับชาวพม่ามาได้สองคนถวาย ให้การว่าลำเลียงเสบียงมาจากปากแพรกมาส่งที่เขาชะงุ้ม จึงมีพระราชโองการให้หลวงภักดีสงคราม จากกองของพระเทพวรชุน ให้คุมกำลัง 500 คน ไปถมห้วยน้ำหนองบงในเส้นทางที่พม่าจะยกมาให้หมดสิ้น หากถามไม่ได้ให้นำไม้เบื่อไม้เมาและสิ่งปฏิกูลทิ้งลงในน้ำ อย่าให้พม่ามีน้ำกิน และเป็นกองโจรคอยตีสกัดเส้นทางลำเลียงของพม่า

เจ้าพระยาสุรสีห์และเจ้าพระยานครสวรรค์เข้าล้อมค่ายพม่าที่เขาชะงุ้มไว้ ฝ่ายพม่าเขาชะงุ้มยกออกมาตีฝ่าวงล้อมแต่ไม่สำเร็จ ถูกปืนฝ่ายไทยน้อยใหญ่ถอยกลับเข้าไป สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพจากโคกกระต่ายขึ้นไปช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ที่เขาชะงุ้ม แล้วเสด็จกลับมาประทับที่โคกกระต่าย

ฝ่ายงุยอคงหวุ่นส่งแม่ทัพพม่าเจ็ดคนออกมาเจรจาด้วยพระเจ้าหลานเธอเจ้ารามลักษณ์ และเจ้าพระยาจักรี ว่าถ้าท่านแม่ทัพช่วยกรุณาทูลขอไว้ชีวิต จะยินยอมออกมาสวามิภักดิ์ถวายบังคมกันทั้งสิ้น ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอ และเจ้าพระยาจักรี สั่งให้ล่ามพม่าบอกกลับไปว่า จะทูลขอให้ไว้ชีวิตจงออกมากันเถอด ให้คุมตัวแม่ทัพพม่าไว้สองคนเป็นตัวประกัน แล้วปล่อยแม่ทัพพม่าที่เหลืออีกห้าคนกลับเข้าไปบอกความ เพราะครั้งก่อนแม่ทัพพม่าบอกว่าจะออกมาสวามิภักดิ์แต่ไม่ออกมาเป็นเท็จไปครั้งหนึ่งแล้ว หากครั้งนี้เป็นเท็จอีกจะช่วยไม่ได้

พระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) ยกทัพเมืองนครราชสีมา 900 คนมาถึงราชบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินพิโรธพระยานครราชสีมาว่ายกทัพมาถึงช้ากว่าหัวเมืองทั้งปวง พระยานครราชสีมาทูลแก้ว่าที่เกณฑ์ทัพมาล่าช้าเนื่องจากเลกไพร่ในสังกัดครั้งตั้งแต่ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ หนีตาทัพกลับบ้าน จึงเที่ยวจับกุมตัวไพร่ที่หนีทัพเหล่านั้นมาพร้อมทั้งบุตรภรรยา เป็นชายหญิงรวมกันเก้าสิบหกคน จึงตรัสว่าเลกไพร่หนีตาทัพจะไว้ชีวิตไว้มิได้ ลงพระราชอาญาให้ตัดศีรษะประหารชีวิตทั้งสิ้นทั้งบุตรภรรยา ที่ริมนอกค่ายโตกกระต่าย[8] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้พระยานครราชสีมาเข้าช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพเข้าล้อมพม่าที่เขาชะงุ้ม ปลูกนั่งร้านเอาปืนใหญ่ขึ้นยิงใส่ค่ายพม่า

งุยอคงหวุ่งให้อุตตมสิงหจอจัวปลัดทัพ กับแม่ทัพนายกองพม่าสิบสามคน นำอาวุธต่างๆมัดออกมาถวายเจ้ารามลักษณ์ พระเจ้าหลานเธอเจ้ารามลักษณ์ จึงให้พระยาพิพัฒโกษาและหลวงมหาเทพ จับกุมมัดตัวอุตตมสิงหจอจัวและแม่ทัพพม่าอีกสิบสามคน นำมาถวายที่โคกกระต่าย แม่ทัพพม่าทั้งสิบสี่คนกราบทูลว่า นำเครื่องศาสตราวุธออกมาถวายบังคม ถ้าหากทรงพระกรุณาไว้ชีวิตจะถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นข้าทูลละอองฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าแม่ทัพใหญ่งุยอคงหวุ่นยังไม่ออกมา ถึงทรงให้จำอุตตมสิงหจอจัวและแม่ทัพพม่าทั้งหลายไว้ก่อน จนกว่าแม่ทัพพม่านายใหญ่จะออกมา ทรงให้อุตตมสิงหจอจัวไปป่าวตะโกนแก่งุยอคงหวุ่นให้ออกมา แล้วให้นำอุตตมสิงหจอจัวและนายทัพพม่าไปจำไว้ในตะราง

ทรงให้อุตตมสิงหจอจัวไปร้องเรียกงุยอคงหวุ่นอีกครั้ง งุยอคงหวุ่นตอบว่าส่งแม่ทัพพม่าออกมาหลายคน เป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่ทราบความ มีแต่คนมาร้องเรียกอยู่อย่างเดียวไว้ใจไม่ได้ อุตตมสิงหจอจัวตอบกลับว่าปล่อยนายทัพพม่ากลับเข้าไปมิได้จะพิโรธฆ่าเสีย งุยอคงหวุ่นเรียกร้องว่าให้ส่งแม่ทัพพม่ากลับเข้ามา แล้วใช้อาวุธทั้งหลายที่ล้อมค่ายอยู่นี้สังหารเถอด อุตตมสิงหจอจัวจึงปล่อยตัวแม่ทัพพม่าเข้าไปในค่ายพม่าสองคน ไปบอกแก่งุยอคงหวุ่นว่าพระเจ้าตากสินทรงพระเมตตาไม่ได้ฆ่า งุยอคงหวุ่นเถียงว่า นายทัพชั้นผู้น้อยคงไม่ตาย ไม่แม่ทัพใหญ่อย่างเราคงตายแน่แท้ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นเหลือพระกำลังที่จะเกลี้ยกล่อมให้งุยอคงหวุ่นยอมออกมา บรรดาข้าหลวงกราบทูลให้ยิงปืนถล่มค่ายอีก ฝ่ายพม่าจะตกใจกลัวหนีออกมาหมด มีพระดำรัสว่าอันจะฆ่าให้ตายนั้นง่าย แต่จะเป็นบาปกรรมไม่มีประโยชน์อันใด[8] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้เบิกตัวอุตตมสิงหจอจัวมาสอบสวน ให้การว่าอะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพใหญ่ ตั้งรี้พลพม่าอยู่ที่เมะตะมะจำนวนมาก รอคอยฟังข่ายจากตะแคงมระหน่องที่ปากแพรก จะยกทัพยงมาช่วยหนุนอีก

สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสเรียกประชุมขุนนาง เรื่องอะแซหวุ่นกี้จะยกทัพมา ทรงให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ จันทบุรี ไชยา นครศรีธรรมราช และพัทลุง มาช่วยรับศึกอะแซหวุ่นกี้ เจ้าพระยาจักรีทูลว่าทัพหัวเมืองเหล่านั้นอยู่ห่างไกลเห็นจะยกมาไม่ทัน ทัพในกรุงธนบุรีและทัพหัวเมืองเหนือ ยังเพียงพอที่จะต้านทานทัพอะแซหวุ่นกี้ได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นชอบด้วย มีพระราชโองการว่าหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งสี่เมืองนั้นยังไม่ได้ทำสงครามกับพม่า มีท้องตราออกไปให้เมืองเหล่านั้นส่งข้าวสารมาเป็นเสบียง เมืองนครศรีธรรมราชส่ง 600 เกวียน เมืองจันทบุรี เมืองไชยา และเมืองพัทลุง ส่งเมืองละ 400 เกวียน[8] ถ้าไม่มีข้าวให้ส่งเงินเข้ามาแทน และมีพระราชโองการห้ามมิให้แม่ทัพนายกองยกติดตามพม่าไป เกรงว่าพม่าจะซ่อนกำลังไว้โจมตีตามทาง ให้ยกไปโจมตีปากแพรกแห่งเดียวเท่านั้น

แม่ทัพพม่ายอมจำนน แก้

อุตตมสิงหจอจัวไปเจรจากับงุยอคงหวุ่นที่บางแก้วเป็นครั้งที่สาม งุยอคงหวุ่นตอบว่าจะเข้ามาฆ่าก้เข้ามาเถอดไม่ออกไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงให้อุตตมสิงหจอจัวแต่งหนังสือเป็นภาษาพม่า เข้าไปแก่งุยอคงหวุ่นว่าให้จงรีบออกมาสวามิภักดิ์ ถ้าไม่ออกมาจะยกเข้าไปสังหารพม่าเสียให้หมด ฝ่ายงุยอคงหวุ่นให้นำอาวุธพม่าออกมาถวายทั้งหมด แล้วผลัดว่าจะออกมาถวายบังคมวันรุ่งขึ้น ถึงวันรุ่งขึ้นงุยอคงหวุ่นส่งเมี้ยวหวุ่นกับปะกันเลชูออกมาก่อน เมี้ยวหวุ่นและปะกันเลชูกราบทูลว่า พวกตนทำสงครามพ่ายแพ้ถึงที่ตายทั้งสิ้น ขาดจากการเป็นข้าของพระเจ้าอังวะแล้ว จะขออาสาทำราชการกับสยามจนสิ้นชีวิต และอาสาไปเกลี้ยกล่อมงุยอคงหวุ่นให้ออกมา เมี้ยวหวุ่นและปะกันเลชูกลับเข้าไปเกลี้ยกล่อมงุยอคงหวุ่น จนงุยอคงหวุ่นยอมออกมาถวายบังคมในที่สุด พร้อมทั้งแม่ทัพพม่าที่เหลือและไพร่พม่าอีก 328 คน เป็นการสิ้นสุดสงครามการล้อมค่ายพม่าบางแก้ว ตั้งแต่วันเดือนสามขึ้นสิบสามค่ำ (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2318) จนถึงวันเดือนสี่แรมสิบห้าค่ำ[8] (31 มีนาคม พ.ศ. 2318) เป็นเวลาทั้งสิ้น 47 วัน ทรงมีพระราชโองการให้พระยารามัญวงษ์นำกำลังมอญเข้าไปอยู่ในค่ายพม่าบางแก้ว แกล้งพูดจากันเป็นภาษาพม่า อย่าให้ตะแคงมระหน่องที่ปากแพรกรู้ว่าฝ่ายไทยได้ค่ายบางแก้วแล้ว

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2318 มีพระราชโองการให้แต่งทัพไปโจมตีพม่าที่ปากแพรก ให้พระอนุชิตราชายกทัพ 1,000 คน ยกทัพเลียบแม่น้ำฝั่งตะวันตก ให้หลวงมหาเทพยกทัพอีก 1,000 คน ยกทัพเลียบแม่น้ำฝั่งตะวันออก เข้าโจมตีปากแพรกทั้งสองทัพ มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตีพม่าที่เขาชะงุ้มให้ได้ ฝ่ายพม่าที่เขาชะงุ้ม ยกทัพออกมาตีค่ายของพระมหาสงครามแตกไป เจ้าพระยาจักรียกทัพเข้าตอบโต้พม่าที่เขาชะงุ้มแตกไปได้ ทัพพม่าเขาชะงุ้มแตกถอยกลับไปทางปากแพรก พบกับทัพของพระอนุชิตราชาและหลวงมหาเทพถูกฆ่าฟันล้มตายอีก ตะแคงมระหน่องลงโทษประหารตัดศีรษะแม่ทัพพม่าที่แตกมาจากเขาชะงุ้มหลายคน จากนั้นตะแคงมระหน่องจึงถอยทัพจากปากแพรกกลับไปหาอะแซหวุ่นกี้ที่เมาะตะมะ

เมื่อได้ชัยชนะเหนือพม่าแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินประทับที่โคกกระต่าย มีพระราชโองการให้พระยายมราชคุมเชลยพม่าจำใส่คุกไว้ ได้เชลยพม่าจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2,000 คน แล้วเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคกลับธนบุรี

ผลลัพธ์และเหตุการณ์สืบเนื่อง แก้

 
ผู้อพยพชาวมอญในจังหวัดราชบุรีได้ก่อตั้งชุมชน (มอญ: ဘာဒေါဝ်) หรือ "วัดพีโต้" ในอำเภอโพธารามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมาได้ชื่อว่า วัดคงคาราม[11]

ในชั้นแรกอะแซหวุ่นกี้ส่งทัพพม่าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ฝ่ายไทยประสบปัญหากองทัพส่วนใหญ่อยู่ที่ล้านนาทางเหนือ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงให้เร่งทัพจากทางเหนือลงมาตั้งรับพม่าที่ราชบุรี ทรงให้พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าหลานเธอยกทัพส่วนหนึ่งมาตั้งรับพม่าก่อนที่บางแก้ว จากนั้นทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือจึงค่อยทยอยเข้ามาสมทบที่ราชบุรี จนกระทั่งกองกำลังฝ่ายไทยมีจำนวนมากถึง 20,000 คน[7] ตามพงศาวดารพม่า ฝ่ายพม่ามีกำลังน้อยกว่าจึงพ่ายแพ้ไป

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปูนบำเหน็จให้แก่พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าหลานเธอที่มีความชอบในสงครามบางแก้ว ตั้งขึ้นทรงกรมดังนี้;[8]

ตะแคงมระหน่องถอยทัพไปรายงานแก่อะแซหวุ่นกี้ที่เมืองเมาะตะมะว่า ทัพพม่าของฉับกุงโบพ่ายแพ้ต่อไทยในการรบที่บางแก้ว อะแซหวุ่นกี้จึงโทษแมงเยชัยจอ แม่ทัพพม่าที่ขัดคำสั่งของอะแซหวุ่นกี้ ว่าเป็นต้นเหตุให้ฝ่ายพม่าได้รับความปราชัย อะแซหวุ่นกี้ถวายรายงานแก่พระเจ้ามังระว่า แมงเยชัยจอเป็นกบฏอ้างว่าพระเจ้ามังระสวรรคตแล้วเจ้าชายอาเมียงสะแคง (Prince of Amyin) พระอนุชาของพระเจ้ามังระได้ราชสมบัติ พระเจ้ามังระจึงทรงมีตราให้แมงเยชัยจอยกทัพจากเมืองเมาะตะมะกลับเมืองอังวะ แล้วส่งกองกำลังมาจับแมงเยชัยจอและแม่ทัพนายกองในสังกัดที่กลางทาง แมงเยชัยจอทูลพระเจ้ามังระว่า ถูกอะแซหวุ่นกี้กดขี่ข่มเหงให้ยกทัพจำนวนน้อยไปเสี่ยงตายในสยาม พระเจ้ามังระตรัสว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงแมงเยชัยจอควรจะต้องถวายฎีกามาโต้แย้งกับอะแซหวุ่นกี้ ไม่ควรขัดคำสั่งนายทัพของตนเอง พระเจ้ามังระจึงทรงปลดแมงเยชัยจอออกจากตำแหน่ง ลงพระราชอาญาประหารชีวิตแม่ทัพนายกองในสังกัดของแมงเยชัยจอ และส่งตัวแมงเยชัยจอให้แก่อะแซหวุ่นกี้ที่เมืองเมาะตะมะ มีพระราชโองการให้อะแซหวุ่นกี้ลงโทษแมงเยชัยจอตามสมควร อะแซหวุ่นกี้ไว้ชีวิตแมงเยชัยจอ และให้แมงเยชัยจอเข้าร่วมกองทัพของอะแซหวุ่นกี้[7]

หลังจากสิ้นสุดสงครามบางแก้ว ฝ่ายสยามได้มีเวลาพักศึก 5 เดือน[9] หลังจากความพ่ายแพ้ที่บางแก้ว อะแซหวุ่นกี้ยกทัพขนาดใหญ่จำนวน 35,000 คน เข้ารุกรานหัวเมืองเหนือของสยาม ทางด่านแม่ละเมา นำไปสู่สงครามอะแซหวุ่นกี้ในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2318 ปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงถามแม่ทัพพม่างุยอคงหวุ่น และอุตตมสิงหจอจัว ว่าจะให้เข้าร่วมทัพสยามไปรบกับพม่าทำได้หรือไม่ งุยอคงหวุ่นและอุตตมสิงหจอจัวทูลว่า จะให้ไปรบกับชาติอื่นยินดีถวายชีวิต แต่ให้ไปรบกับพม่าด้วยกันเองมีความอับอายไม่กล้าสู้หน้า สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงตระหนักว่าแม่ทัพพม่าที่จับมาได้จากสงครามบางแก้ว ไม่มีความภักดีที่แท้จริง หากยกทัพจากธนบุรีปล่อยให้เชลยพม่าอยู่ในธนบุรีอาจก่อกบฏขึ้นได้ จึงลงพระราชอาญาประหารชีวิตงุยอคงหวุ่น อุตตมสิงหจอจัว รวมทั้งแม่ทัพพม่าทั้งหลายจากสงครามบางแก้วไปในเดือนมกราคม พ.ศ. 2319[8]

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang (1919). Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok.
  3. 3.0 3.1 Damrong Rajanubhab, Prince (1918). พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ. Bangkok.
  4. 4.0 4.1 Bradley, Dan Beach (1863). Phraratcha phongsawadan krung thonburi phaendin somdet phraborommaratcha thi 4 (somdet phrajao taksin maharat) chabap mo bratle (Royal chronicles of Thonburi, King Taksin the Great, Dr Bradley ed.).
  5. Harvey, G.E. (4 June 2019). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824 The Beginning of the English Conquest. Routledge.
  6. Prachum phongsawadan phak thi 65 Phra ratchaphongsawadan Krung Thonburi chabap Phanchanthanumat (Choem).
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok; July 25, 1919.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 8.15 8.16 8.17 8.18 8.19 8.20 8.21 8.22 8.23 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
  9. 9.0 9.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
  10. Van Roy, Edward (2010). "Prominent Mon Lineages from Late Ayutthaya to Early Bangkok". Journal of the Siam Society.
  11. Whiting, Lawrence (11 Feb 2016). Buddhism in Thailand - a guide for expats and visitors. Booksmango.