ยิบรอลตาร์
ยิบรอลตาร์ (อังกฤษ: Gibraltar) เป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ใกล้กับจุดใต้สุดของคาบสมุทรไอบีเรีย[6][7]ช่องแคบยิบรอลตาร์ มีเนื้อที่โดยรวมประมาณ 6.5 ตารางกิโลเมตร ทางทิศเหนือมีพรมแดนติดต่อกับประเทศสเปน และมีประชากรประมาณ 34,000 คน[8] สถานที่ที่มีชื่อเสียงของยิบรอลตาร์คือ โขดหินยิบรอลตาร์ (Rock of Gibraltar) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาแห่งหนึ่งของโลก
ยิบรอลตาร์ Gibraltar (อังกฤษ) | |
---|---|
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | ยิบรอลตาร์ |
ภาษาราชการ | อังกฤษ |
ภาษาพูด | |
กลุ่มชาติพันธุ์ |
|
การปกครอง | ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร |
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 | |
• ผู้สำเร็จราชการ | พลเรือโท เซอร์ เดวิด สตีล[2] |
• มุขมนตรี | ฟาเบียน พีคาร์โด |
จอห์น กงซัลวิส[3] | |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภา |
เอกราช | |
• ถูกยึดครอง | 4 สิงหาคม พ.ศ. 2247[4] |
• ถูกมอบให้สหราชอาณาจักร | 11 เมษายน พ.ศ. 2256 (สนธิสัญญายูเทรกต์)[5] |
• วันชาติ | 10 กันยายน |
พื้นที่ | |
• รวม | 6.5 ตารางกิโลเมตร (2.5 ตารางไมล์) (229) |
0 | |
ประชากร | |
• กันยายน พ.ศ. 2563 ประมาณ | 34,003 (220) |
5,230 ต่อตารางกิโลเมตร (13,545.6 ต่อตารางไมล์) (2) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | 2556 (ประมาณ) |
• รวม | 1,640 ล้านปอนด์ (200) |
• ต่อหัว | 50,941 ปอนด์ (?) |
เอชดีไอ (2561) | 0.920 สูงมาก · 15 |
สกุลเงิน | ยิบรอลตาร์ปอนด์ (GIP) |
เขตเวลา | UTC+1 (CET) |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC+2 (CEST) |
ขับรถด้าน | ขวา2 |
รหัสโทรศัพท์ | 3503 |
โดเมนบนสุด | .gi |
เดิมทียิบรอลตาร์เคยเป็นดินแดนหนึ่งของราชอาณาจักรสเปน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1704 ขณะกำลังเกิดสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ราชอาณาจักรอังกฤษ และสาธารณรัฐดัตช์ ได้ยึดครองดินแดนยิบรอลตาร์มาจากสเปน โดยได้ใช้เป็นชัยภูมิสำคัญในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อมาภายหลังจากการทำสนธิสัญญายูเทรกต์เพื่อยุติสงคราม ทำให้ยิบรอลตาร์ มีสถานะเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1713 เป็นต้นมา โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิบรอลตาร์เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของกองทัพเรือสหราชอาณาจักร ในการควบคุมการผ่านเข้า-ออกในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ปัจจุบันรายได้สำคัญของยิบรอลตาร์ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว, ธุรกิจการพนันออนไลน์, การบริการทางการเงิน และการนำเข้า-ส่งออกสินค้า[9][10]
อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนยิบรอลตาร์ ยังเป็นความขัดแย้งสำคัญของสหราชอาณาจักรและสเปน โดยสเปนยังคงเรียกร้องให้ยกเลิกข้อตกลงในสนธิสัญญายูเทรกต์ และให้สหราชอาณาจักรคืนยิบรอลตาร์ให้กับสเปนหลังจากที่ได้มอบดินแดนนี้ให้กับสหราชอาณาจักรไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1713
โดยในปี ค.ศ. 1967 ได้มีการเปิดโอกาสให้กับประชาชนชาวยิบรอลตาร์ได้ลงประชามติในเรื่องอำนาจอธิปไตยของตนเองเป็นครั้งแรก ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองสหราชอาณาจักรต่อไป หรือกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน [11] ซึ่งผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1967 ปรากฏว่าประชาชนชาวยิบรอลตาร์ ถึงร้อยละ 99.6 ยินยอมอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร และยังได้ถือเอาวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็น วันชาติยิบรอลตาร์ เพื่อระลึกถึงการลงประชามติเรื่องอธิปไตยของชาติเป็นครั้งแรก
ศัพทมูลวิทยา
แก้คำว่ายิบรอลตาร์ในภาษาอังกฤษหรือคีบรัลตาร์ในภาษาสเปนมีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับว่า ญะบัลฏอริก (อาหรับ: جبل طارق, Jabal Ṭāriq) แปลว่า "ภูเขาแห่งฏอริก" หรือ ญิบรัลฏอริก (Gibr al-Ṭāriq) แปลว่า "โขดหินแห่งฏอริก"
โดย "ฏอริก" คือชื่อของนายพลชาวเบอร์เบอร์ของรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์แห่งดามัสกัส มีชื่อเต็มว่า ฏอริก อิบน์ ซิยาด (Ṭāriq ibn Ziyād) เขาเป็นผู้นำพากองทัพของรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ บุกไปพิชิตและยึดครองราชอาณาจักรวิซิกอทและดินแดนฮิสเปเนีย (ซึ่งก็คือบริเวณคาบสมุทรไอบีเรียทั้งหมดรวมถึงยิบรอลตาร์ในปัจจุบัน) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 711-718 ในสมัยเคาะลีฟะฮ์อัลวะลีดที่ 1
บริเวณที่ฏอริก อิบน์ ซิยาด ใช้รวบรวมกองกำลังสำหรับสู้รบและใช้รวบรวมผู้คนคือภูเขาแห่งหนึ่ง ต่อมาในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อโขดหินยิบรอลตาร์ ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ดินแดนบริเวณดังกล่าวถูกกองทัพมุสลิมยึดครอง จึงได้มีการตั้งชื่อดินแดนบริเวณนั้นว่า "ญะบัลฏอริก" หรือ "ญิบรัลฏอริก" แปลว่า ภูเขาแห่งฏอริก เพื่อเป็นเกียรติแก่ฏอริก อิบน์ ซิยาด ต่อมาชาวสเปนได้เรียกเป็น คีบรัลตาร์ (Gibraltar)
ทุกวันนี้ ยิบรอลตาร์มีชื่อเรียกสั้น ๆ อย่างไม่เป็นทางการว่า "ยิบ" (Gib) หรือ "เดอะร็อก" (the Rock)[12]
ประวัติศาสตร์
แก้ยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคสมัยโบราณ
แก้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เคยมีมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทาล (Neanderthal) อาศัยอยู่ในยิบรอลตาร์เมื่อ 50,000 ปีก่อน โดยมีการค้นพบกระดูกของมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทัล ที่ถ้ำกอร์แฮมส์ ซึ่งเป็นโพรงหินชายฝั่ง ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของโขดหินยิบรอลตาร์ ทำให้ยิบรอลตาร์กลายเป็นหนึ่งในแหล่งที่ค้นพบร่องรอยของมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทาล หลังจากมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทาลสูญพันธุ์ลง ถ้ำกอร์แฮมส์ยังคงถูกใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคต่อ ๆ มา โดยมีการค้นพบซากเครื่องมือที่ทำจากหิน เตาโบราณและกระดูกสัตว์ที่มีอายุตั้งแต่ 5,000 ถึง 40,000 ปี ในถ้ำกอร์แฮมส์[13] นอกจากนี้ยังมีการค้นพบซากหม้อดินในสมัยยุคหินใหม่อยู่ภายในถ้ำ และเมื่อถึงยุคสัมฤทธิ์มนุษย์เริ่มใช้ชีวิตเป็นชุมชนอยู่นอกถ้ำมากขึ้นจึงทำให้ค้นพบหลักฐานของมนุษย์ยุคสัมฤทธิ์ภายในถ้ำได้เพียงเล็กน้อย
ในสมัยโบราณยิบรอลตาร์ได้รับการยกย่องจากชาวทะเลเมดิเตอร์เรเนียนว่าเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาและยังพบว่าชาวฟินิเชียที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนยิบรอลตาร์ ในช่วง 950 ปีก่อนคริสต์ศักราช ใช้บริเวณภายในถ้ำเป็นที่บูชาวิญญาณจีเนียส โลไซ
สมัยกลาง
แก้หลังจากนั้นชาวโรมันได้เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร จนกระทั่งจักรวรรดิโรมันล่มสลายลง ดินแดนนี้จึงถูกปกครองโดยชาวแวนดัล ก่อนจะอยู่ในปกครองของราชอาณาจักรวิซิกอท ตั้งแต่ ค.ศ. 414 จนกระทั่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์แห่งดามัสกัส ได้แผ่ขยายอำนาจและบุกพิชิตคาบสมุทรไอบีเรียได้สำเร็จ ทำให้ดินแดนของราชอาณาจักรวิซิกอทตกเป็นของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ตั้งแต่ ค.ศ. 711 โดยดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการตั้งชื่อบริเวณภูเขาที่ใช้รวบรวมทหารในการบุกพิชิตคาบสมุทรไอบีเรียเพื่อเป็นเกียรติแก่ ฏอริก อิบน์ ซิยาด แม่ทัพของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ว่า ญะบัลฏอริก หรือ ญิบรัลฏอริก ซึ่งมีความหมายว่า ภูเขาแห่งฏอริก ก่อนจะกลายมาเป็นคำว่า ยิบรอลตาร์ มาจนถึงปัจจุบัน
เดือนมกราคม ค.ศ. 750 รัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ได้พ่ายแพ้ในยุทธการที่แม่น้ำซาบต่อราชวงศ์อับบาซียะฮ์ หลังพ่ายแพ้ในยุทธการครั้งนี้ เคาะลีฟะฮ์มัรวานที่ 2 ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ได้หลบหนีไปที่เมืองอะบูซีร ริมแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ แต่ภายหลังถูกจับตัวได้และถูกสังหาร ทำให้ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ล่มสลายลง ต่อมาอัส-ซัฟฟะห์ แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ได้ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์องค์ใหม่และได้สถาปนารัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ขึ้นปกครองแทน
โดยกลุ่มผู้นำของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ที่หลงเหลืออยู่นำโดยเจ้าชายอับดุลเราะห์มานที่ 1 ได้หลบหนีมาที่คาบสมุทรไอบีเรีย และท้าทายอำนาจของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ด้วยการประกาศเป็นอิสระและประกาศตนเป็นเอมีร์แห่งกอร์โดบา ใน ค.ศ. 756 โดยดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียรวมทั้งยิบรอลตาร์ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเอมีร์แห่งกอร์โดบา
ในปี ค.ศ. 929 สมัยของเจ้าชายอับดุลเราะห์มานที่ 3 ได้เปลี่ยนฐานะเป็นรัฐเคาะลีฟะฮ์แห่งกอร์โดบา โดยยิบรอลตาร์ถือเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเซบิยา ต่อมาในปี ค.ศ.1023 จังหวัดเซบิยาได้แยกตัวจากรัฐเคาะลีฟะฮ์แห่งกอร์โดบาออกมาเป็นรัฐย่อยๆ (Taifa) และถูกปกครองโดยอาบู อัลกอซิม
ปี ค.ศ. 1091 เซบิยา ได้ถูกราชวงศ์อัลมูราบิตูน (Al-Moravids) จากโมร็อกโกยึดครอง ทำให้ยิบรอลตาร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของเซบิยา กลายเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนในปกครองของราชวงศ์อัลมูราบิตูน จากนั้นในปี ค.ศ. 1147 ราชวงศ์อัลมูราบิตูน ได้พ่ายแพ้สงครามในยุทธการที่มาร์ราคิชให้แก่ราชวงศ์อัลมูวาห์ฮิดูน (Almohads) และทำให้อัลมูวาห์ฮิดูนได้เข้ามาปกครองแทนที่
ในช่วงที่ยิบรอลตาร์อยู่ภายใต้ใต้ปกครองของ รัฐเคาะลีฟะฮ์อัลมูวาห์ฮิดูน โดยอับดุล อัลมุมิน เคาะลีฟะฮ์ผู้ปกครองดินแดนในสมัยนั้น ได้สร้างหอคอยขนาดใหญ่ขึ้นในบริเวณปราสาทมัวร์ (Moorish Castle) และให้ชื่อว่า มะดีนะฮ์ อัลฟัตฮ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นโบราณสถานสำคัญ และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของยิบรอลตาร์ในปัจจุบัน ในชื่อ เดอะทาวเวอร์ออฟฮอมิจ แห่งปราสาทมัวร์ (The Tower of Homage of Moorish Castle)
ในช่วงศตวรรษที่ 12 ยิบรอลตาร์ ถูกยึดครองหลายครั้ง ทั้งจากราชวงศ์นาสริดแห่งอาณาจักรเอมีร์แห่งกรานาดา ใน ค.ศ. 1237 และราชวงศ์มารีนิดแห่งโมร็อกโก ก่อนที่จะมาตกอยู่ในอำนาจของราชบัลลังก์กัสติยา ใน ค.ศ. 1309 จากนั้นราชวงศ์มารีนิดแห่งโมร็อกโกได้ยึดกลับคืนไปในปี ค.ศ. 1333 และกลับไปตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์นาสริดแห่งกรานาดาอีกครั้งหนึ่ง โดยราชบังลังก์กัสติยาพยายามจะตีคืนหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1462 ราชบัลลังก์กัสติยาภายใต้การบัญชาการรบของ ฮวน อลอนโซ เดอ กุสมัน, ดยุกที่ 1 แห่ง เมดีนา ซีโดเนีย ประสบความสำเร็จในการยึดยิบรอลตาร์คืนมาจากอาณาจักรกรานาดาได้สำเร็จ[14] โดยในปี ค.ศ. 1501สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยาได้พระราชทานตราตั้งอนุญาตให้ยิบรอลตาร์มีตราอาร์มเป็นของตนเอง โดยตราอาร์มดังกล่าวใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ปี ค.ศ. 1704 ช่วงระหว่างสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน กองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ - ดัตช์) ได้ยึดครองดินแดนยิบรอลตาร์เพื่อใช้เป็นท่าเรือแถบคาบสมุทรไอบีเรียในการควบคุมช่องแคบยิบรอลตาร์ สำหรับการรบกับฝรั่งเศส และสงครามจบลงที่ทั้งสองฝ่ายทำสนธิสัญญายูเทรกต์ ในปี ค.ศ. 1713 ส่งผลให้ยิบรอลตาร์อยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรนับแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นสเปนพยายามยึดยิบรอลตาร์กลับคืนเป็นระยะ เช่นการปิดล้อมยิบรอลตาร์ในสงครามระหว่างอังกฤษกับสเปน ในปี ค.ศ.1727 และการร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อยึดยิบรอลตาร์ระหว่างปี (ค.ศ. 1779-1883) ในสงครามปฏิวัติอเมริกา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
อ้างอิง
แก้- ↑ "National Symbols". Gibraltar.gov.gi. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2013.
- ↑ "New Gibraltar governor pledges to ensure sovereignty, safety and success for the Rock". MercoPress. 20 January 2016. สืบค้นเมื่อ 20 January 2016.
- ↑ "New Mayor John Gonçalves says he wants to give young people a voice". สืบค้นเมื่อ 5 April 2019.
- ↑ Gibraltar was captured on 24 July 1704 Old Style or 4 August 1704 New Style.
- ↑ The treaty was signed on 31 March 1713 Old Style or 11 April 1713 New Style (Peace and Friendship Treaty of Utrecht between France and Great Britain).
- ↑ Dictionary Reference: Gibraltar
- ↑ The Free Dictionary: Gibraltar
- ↑ https://www.gibraltar.gov.gi/statistics/key-indicators
- ↑ Foreign and Commonwealth Office. "Country Profiles: Gibraltar"., Foreign and Commonwealth Office, 6 May 2010; retrieved 16 April 2015
- ↑ Informe sobre la cuestión de Gibraltar, Spanish Foreign Ministry. เก็บถาวร 2010-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Garcia, Joseph (1994). Gibraltar - The Making of a People. Gibraltar: Medsun.
- ↑ Hills, George (1974). Rock of Contention: A history of Gibraltar. London: Robert Hale & Company. p. 13. ISBN 0-7091-4352-4.
- ↑ Finlayson, J. C.; Barton, R. N. E.; Stringer, C. B. (2001). "The Gibraltar Neanderthals and their Extinction". Les Premiers Hommes Modernes de la Peninsule Iberique. Actes du Colloque de la Commission VIII de l'UISPP. Lisbon: Instituto Português de Arqueologia. p. 48. ISBN 978-972-8662-00-4.
- ↑ "The History of Gibraltar and of Its Political Relation to Events in Europe, From the Commencement of the Moorish Dynasty in Spain to the Last Morocco War". Mocavo.