ยิดัม คือเทพผู้พิทักษ์ที่เห็นพระพุทธรูปอุ้มสตรีในทิเบต หรือในภูฏาน ยิดัมนี้อาจจะเป็นธยานิโพธิสัตว์อวตารมาเพื่อปราบปีศาจร้ายก็ได้ หรือเป็นปีศาจร้ายที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนาแล้วเลื่อนมาเป็นยิดัม ลามะชั้นสูงบางรูปอาจจะมียิดัมคอยอารักษ์ ลามะอาจเชิญมาพิทักษ์เอง หรือยิดัมปรากฏให้เห็นขณะทำภาวนาอยู่ก็ได้ ส่วนฆราวาสที่อยากมียิดัมคอยพิทักษ์ ต้องให้ลามะเชิญเท่านั้น อีกนัยหนึ่ง ยิดัม คือพระโพธิสัตว์อุ้มตำรา หรือแม้แต่พระพุทธรูปอุ้มศักติ

ในคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบต ยิดัมทั้งสี่ จะปรากฏกายในวันที่หกของบาร์โด คือทิศตะวันออก มีเทพวิชัย ทิศใต้คือยมานตกะ ศัตรูของพระยม ทิศตะวันตกคือ หยครีวะ หรือ หยครีพ ทิศเหนือ คือ อมฤตากุณฑสินี [1]

รูปแบบของยิดัมแก้ไข

ยิดัม เท่าที่มีปรากฏมี 4 แบบ คือ

  1. เหวัชระ มี 8 เศียร เรียงตามยาวข้าละ 3 เศียรกลางใหญ่สุด มีเศียรซ้อนเศียรกลางอีกหนึ่ง มีมือถือกะโหลกทั้ง 16 มือ มือข้างขวาถือรูปสัตว์ต่าง ๆ และมนุษย์ มือซ้ายถือเทพเจ้าประจำธาตุทั้ง 4 มี 4 เท้า เท้าทั้ง 2 เหยียบคน เท้าอีก 2 อยู่ในท่าร่ายรำ มีร่างกายสีน้ำเงิน
  2. คุหยสมาช มี 3 เศียร แต่ละเศียรมี 3 ตา มี 6 กร อยู่ในท่ากอดรัดกับศักติ โดย 2 กรหน้าจะทำท่าวัชรหุมการ กรอื่น ๆ ถือจินดามณี จักร ดาบ รัตนะ หรือดอกบัว
  3. มหามายา มี 4 เศียร 4 กร อยู่ในท่ากอดรัดกับศักติ 2 กรหน้าทำท่าวัชรหุมการ ถือถ้วยกะโหลก คันศรและลูกศร
  4. สังวร มี 4 เศียร 12 กร สวมพวงมาลัยกะโหลก นุ่งหนังเสือและหนังช้าง กอดรัดกับศักติ มือถือระฆัง กระดิ่ง วัชระ เศียรพระพรหม และสัญลักษณ์ทางตันตระอื่น ๆ ถ้าอยู่ในรูปสัตสังวร มีเศียรเดียว 2 กร ประทับนั่งกอดรัดศักติ

รูปแบบอื่น ๆ ของยิดัม เช่น ยมานตกะ เหรุกะ มหากาฬ ชัมภละ จุณฑาฑากิณี มารีจี และ ปัญจรักษา ในเนปาล เป็นต้น

อ้างอิงแก้ไข

  • ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กทม. โรงพิมพ์อักษรสมัย. 2543 หน้า 89-91
  1. เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช. คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต แปลโดย อนุสรณ์ ตปิยานนท์. พิมพ์ครั้งที่ 2.กทม. มูลนิธิโกมลคีมทอง. 2536