ยาหม่อง เป็นยาสามัญประจำบ้านของชาวไทย มีลักษณะเป็นขี้ผึ้งเนื้อเหลวอ่อน มีกลิ่นหอม ใช้สำหรับทา ถู นวด บรรเทาอาการแมลงสัตว์กัดต่อย หน้ามืดวิงเวียน คัดจมูกเนื่องจากหวัด หน้ามือตาลาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ฟกช้ำดำเขียว และอื่น ๆ อีกมากมาย ประกอบด้วยวัตถุดิบเป็นตัวยาสมุนไพรและน้ำมันหอมระเหยชนิดต่าง ๆ

ไทเกอร์บาล์ม บาล์มจากประเทศสิงคโปร์ เป็นยี่ห้อที่คนไทยรู้จักกันดี

ประวัติ แก้

ในอดีตประเทศพม่าถูกปกครองโดยประเทศอังกฤษ และประเทศไทยก็ได้ใช้ยาที่มาจากพม่า ซึ่งยาที่มาจากพม่าเรียกว่า ยามาจากหม่อง โดยไม่ได้มีคำจำกัดความเฉพาะว่าเป็นยาขี้ผึ้งทาถูกนวดโดยเฉพาะ แต่เป็นการเรียกยาโดยรวมที่มาจากพม่าว่ายาหม่องแก้ได้สารพัดโรค

ก่อนปี พ.ศ. 2493 ไทเกอร์บาล์ม ได้เข้ามาในประเทศไทยโดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ว่าไทเกอร์บาล์ม และมีชื่อจีนที่ชาวจีนเรียกว่า บ่วงกิมอิ๊ว (แปลเป็นไทยว่า น้ำมันแก้สารพัดโรค) โดยไม่ได้มีชื่อว่า ยาหม่องตราเสือ โดยข้อมูลจาก โฮ้ว ป่า คอร์เปอเรชั่น บันทึกว่ากิจการเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1870 หรือ พ.ศ. 2414 ที่ประเทศพม่า และย้ายไปยังประเทศสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1908 หรือ พ.ศ. 2451 และได้เริ่มขยายการขายมายังประเทศไทยหลังจากนั้น[1]

ต่อมา บริษัท บริบูรณ์โอสถ จำกัด ของคนไทย ก็ได้ผลิต บริบูรณ์บาล์ม ตั้งชื่อโดยใช้คำว่า บาล์ม ไม่ได้ใช้คำว่ายาหม่อง และได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปฉลากยา ในวันที่15/6/2493 กับกระทรวงพาณิชย์

แม้ว่า คุณลาวัณย์ โชตามระ จะเล่าไว้ในหนังสือชื่อ "หมอ ๆ ยา ๆ" ซึ่งตีพิมพ์ใน ปี พ.ศ. 2527 ระบุว่า "ต้นตำรับของยาหม่อง คือ "น้ำมันหม่องตะหยก" ลักษณะเป็นขี้ผึ้งอ่อน สีขาวขุ่น ทาแล้วร้อนซ่า ๆ แก้เคล็ดขัดยอก บรรจุในตลับสังกะสีมีฉลากปิด ตลับโตขนาดเท่าเหรียญบาทเก่าหนาสักราว ๆ ครึ่งเซนติเมตร ราคาตลับละ ๑๐ สตางค์ เมื่อน้ำมันหม่องตะหยกขายดี ก็มี "น้ำมันหม่องตะกิด" ออกขายแข่งบ้าง แต่ทำไปทำมาน้ำมันหม่องทั้งสองชนิดนี้กลับหายไปจากตลาด กิจการจะเจ๊งหรือเลิกทำไปเมื่อไรไม่รู้" แต่ก็ไม่สามารถระบุว่าน้ำมันหม่องทั้งสองชนิดนี้มีการผลิตและขายในปี พ.ศ. ใด อีกทั้งยังไม่ได้เรียกว่า "ยาหม่อง" แต่เรียกว่า น้ำมันหม่อง

ปี 2487 ร้านขายของชำ ลี้เปงเฮง ได้ผลิตยาขี้ผึ้งชนิดหนึ่งมีสีเหลืองอ่อนและตั้งชื่อว่า ยาหม่องตราถ้วยทอง โดยมีจุดมุ่งหมายว่าเป็นยาแก้สารพัดโรค และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายถ้วยทองไว้ จากนั้นในปี พ.ศ. 2493 นายโยธิน ลีลารัศมี ได้จดทะเบียน บริษัท ถ้วยทองโอสถ จำกัด กับกระทรวงพาณิชย์เพื่อทำการผลิตยา และทำการขึ้นทะเบียนยากับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 บริษัท ถ้วยทองโอสถ จำกัด ได้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพิ่มเติม เป็นรูปกล่องยาหม่องที่มีคำว่ายาหม่องตราถ้วยทอง นับเป็นหลักฐานการใช้คำว่า "ยาหม่อง" ในความหมายของยาขี้ผึ้งสารพัดประโยชน์เป็นครั้งแรกที่สามารถสืบค้นได้เป็นลายลักษณ์อักษร

ด้วยการโหมการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ของบริษัท ถ้วยทองโอสถ จำกัด ที่ใช้พันธมิตรทางธุรกิจจาก คณะละครวิทยุกันตนา โดยคุณประดิษฐ์ กัลย์จาฤก เป็นผู้ดำเนินการ ทำให้คำว่า ยาหม่อง เริ่มเป็นคำสามัญพื้นฐานของยาขี้ผึ้งชนิดนี้ และเป็นคำที่คนไทยเข้าใจคำว่า ยาหม่อง เป็นยาแก้สารพัดโรคเหมือนดั่งเช่นปัจจุบันนี้

เส้นเวลา แก้

พ.ศ. 2414 ไทเกอร์บาล์ม ถือกำเนิดที่ประเทศพม่า

พ.ศ. 2451 ไทเกอร์บาล์ม ย้ายไปที่ประเทศสิงคโปร์และขายมายังประเทศไทย

พ.ศง 2470 ปทานุกรม ไม่มีคำว่า ยาหม่อง

พ.ศ. 2475 บริบูรณ์บาล์ม ถือกำเนิด โดยใช้คำว่าบาล์มแทนยาขี้ผึ้ง

พ.ศ. 2483 คำว่า Balm บาม แปลว่า วัตถุหอมสำหรับระวังความเจ็บปวด จากพจนานุกรม อังกฤษ-ไทย ของ สอ เสถบุตร

12/2/2487 ร้านชำลี้เปงเฮง ย่านตลาดพลูมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปเครื่องหมายถ้วยทอง และทำการผลิตยาหม่องตราถ้วยทอง

พ.ศ. 2493 บริษัท ถ้วยทองโอสถ จำกัด ได้ทำการจดทะเบียนบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์

พ.ศ. 2493 พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานยังไม่มีคำว่า ยาหม่อง

15/06/2493 บริษัท บริบูรณ์โอสถ จำกัด ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปฉลากยาบริบูรณ์บาล์ม

25/08/2495 บริษัท ถ้วยทองโอสถ จำกัด จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปกล่องที่มีคำว่า ยาหม่องตราถ้วยทอง นับเป็นหลักฐานการใช้คำว่ายาหม่องเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2525 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จำกัดความว่ายาหม่องคือยาขี้ผึ้งชนิดหนึ่ง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  1. http://www.tigerbalm.com/th/pages/about