มหาวิทยาลัยรามคำแหง
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้อาศัยการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมากเกินไป |
มหาวิทยาลัยรามคำแหง (อังกฤษ: Ramkhamhaeng University; อักษรย่อ: มร. – RU)[1] เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาล[7] ดำเนินการเรียนการสอนแบบ "ตลาดวิชา"[8] อันเป็นระบบเดียวกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอดีต) ซึ่งรับบุคคลเข้าศึกษาโดยไม่มีการสอบคัดเลือกและไม่จำกัดจำนวน[9]
ตราพระรูปพ่อขุนรามคำแหง สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง | |
ชื่อย่อ | มร. / RU[1] |
---|---|
คติพจน์ | "เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง"[1] "รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ" |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ[2] |
สถาปนา | พ.ศ. 2514 (52 ปี 295 วัน)[1] |
นายกสภาฯ | ดร.วีระพล ตั้งสุวรรณ[3] |
อธิการบดี | ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ (รักษาการ) |
อาจารย์ | 1,113 คน (มิถุนายน 2565)[4] |
บุคลากรทั้งหมด | 3,748 คน (มิถุนายน 2565)[5] |
ผู้ศึกษา | 137,452 คน (มิถุนายน 2565)[6] |
ที่ตั้ง | มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ส่วนกลาง) เลขที่ 2086 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10240 |
วิทยาเขต | มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตปัจฉิมสวัสดิ์ - สุวรรณภาศรี ซอยรามคําแหง 2 แขวงดอกไม้ เขต ประเวศ กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10250 |
เพลง | มาร์ชรามคำแหง มหาวิทยาลัยของประชาชน (ไม่เป็นทางการ) |
ต้นไม้ | สุพรรณิการ์ |
สี | น้ำเงิน ทอง |
ฉายา | "ลูกพ่อขุน" |
เครือข่าย | ASAIHL |
เว็บไซต์ | มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
ด้วยความเป็น "มหาวิทยาลัยตลาดวิชา" ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเลือกวิธีเรียนที่เหมาะสมกับความต้องการและความจำเป็นของแต่ละบุคคล จึงจัดให้มีการบรรยายในชั้นเรียนที่มหาวิทยาลัย สำหรับผู้ที่จะเข้าฟังบรรยายในชั้นเรียน และจัดให้มีสื่อการสอนทางไกลเพื่อการศึกษาด้วยตนเอง เช่น ตำราเรียน การบรรยายผ่านวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนอินเทอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักศึกษาที่มีภาระการงาน หรืออยู่ในท้องถิ่นห่างไกลไม่สามารถเดินทางมาเรียนอย่างสม่ำเสมอได้
อย่างไรก็ตาม ในบางสาขาวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติหรือจำเป็นต้องศึกษาจากผู้สอนอย่างใกล้ชิด มหาวิทยาลัยหรือภาควิชาอาจกำหนดให้นักศึกษาต้องเข้าชั้นเรียน โดยเฉพาะคณะวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงคณะอื่น ๆ ในบางรายวิชา
ประวัติ
แก้มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2514 บนบริเวณที่ดินประมาณ 300 ไร่เศษ บนถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร[10]
เดิมมหาวิทยาลัยในประเทศไทยช่วงก่อน พ.ศ. 2490 เป็นมหาวิทยาลัยในรูปแบบปิด ต้องสอบคัดเลือก มีเพียงมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่เป็นมหาวิทยาลัยในรูปแบบตลาดวิชา ไม่มีการสอบคัดเลือกและเปิดรับทุกคนที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ภายหลังจากเหตุการณ์ รัฐประหาร พ.ศ. 2490 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และภายหลังจึงถูกแปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยปิด เมื่อ พ.ศ. 2495[9] ทำให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยทั้งหมดต้องสอบคัดเลือก และเกิดการตกค้างของผู้ที่ต้องการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาแต่ไม่สามารถสอบติดมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก จนเกิดการขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา แม้จะมีการเปิดมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอื่น ๆ เพิ่มเติม ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษาได้ ภายหลังจึงมีผู้เสนอให้มีการนำรูปแบบ "ตลาดวิชา" ของอดีตมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กลับมาเปิดเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ ที่เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักศึกษา โดยไม่จำกัดจำนวน และไม่มีการสอบคัดเลือกนับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2514 ทั้งนี้เพื่อแก้ไขการขาดแคลนสถานที่เรียนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในขณะนั้น[11]
การตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512 คือ ประมวล กุลมาตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชุมพร สังกัดพรรคสหประชาไทย โดยในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่ได้ระบุชื่อมหาวิทยาลัย และสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2512 โดยตั้งคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมี พลเอก ประภาส จารุเสถียร เป็นประธานกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยละเอียด คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งกำหนดชื่อมหาวิทยาลัยในร่างพระราชบัญญัตินั้นว่า "ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ..." โดย แคล้ว นรปติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เลขาธิการพรรคแนวร่วม-เศรษฐกร (ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแนวร่วมสังคมนิยม) เป็นผู้เสนอให้ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง นับเป็นกฎหมายฉบับแรกและฉบับเดียวที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2465 เป็นต้นมา[12]
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เนื่องจากประเทศไทยมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้นักเรียน นักศึกษา ไม่มีที่เล่าเรียน ดังปรากฏปัญหาเป็นประจำมาทุก ๆ ปี เพราะมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีนักศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่ที่เล่าเรียนคับแคบ ไม่อาจรับนักศึกษาเพิ่มจำนวนขึ้นได้ และเพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นตลาดวิชา รับนักศึกษาได้ทั่วไป โดยมาฟังคำสอนที่มหาวิทยาลัยก็ได้ หรือ จะรับซื้อคำสอนจากมหาวิทยาลัยไปเรียนด้วยตนเองแล้วมาสมัครสอบก็ได้ เป็นการให้การศึกษาแก่ชนทุกชั้น เพื่อสร้างคุณภาพความรู้ความสามารถของประชาชนคนไทยให้สูงขึ้นทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นการสกัดกั้นมิให้นักศึกษาไปหาที่เล่าเรียนในต่างประเทศ อันเป็นการสูญเสียเงินตราต่างประเทศปีหนึ่ง ๆ มิใช่น้อย และเป็นการแก้ปัญหาข้อกล่าวว่า นักศึกษาไม่มีที่เล่าเรียนจะได้หมดสิ้นไป[13]
ระยะแรก คณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่แสดงสินค้านานาชาติ ที่ ตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร เป็นที่ตั้งชั่วคราว จนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2515 จึงได้อนุญาตให้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งถาวร และได้มีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ สถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นแรก ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ซึ่งถือว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้วันที่ 26 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง
เนื่องจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาไม่นานนัก กระแสตื่นตัวทางการเมืองของนักศึกษาจึงมีค่อนข้างสูงในยุคแรก ซึ่งเหตุการณ์ 14 ตุลานั้นนับว่ามีพัฒนาการส่วนหนึ่งมาจากจุดเริ่มต้นที่มีการตั้งกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและมหาวิทยาลัยของนักศึกษารามฯ เช่น "ชมรมคนรุ่นใหม่" ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเผยแพร่เอกสารวิพากษ์วิจารณ์กรณีอื้อฉาวของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จากกรณีที่มีการนำเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการไปลักลอบล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร และการต่ออายุราชการออกไปของจอมพลถนอม จนทำให้ในที่สุดได้มีการสั่งลบชื่อนักศึกษารามคำแหงไป 9 คน
กรณีลบชื่อดังกล่าว ทำให้มีการชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้คืนสภาพนักศึกษารามฯ ทั้ง 9 คนโดยนิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งการเรียกร้องดังกล่าวนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การริเริ่มก่อตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" จนกระทั่งกลายมาเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 ในเวลาต่อมา
“..ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน..”
บทกวีวรรคทองของวิสา คัญทัพ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งใน 13 ขบถผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ นับว่าเป็นบทกวีอมตะที่ถูกกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการเมืองไทยมาทุกยุคทุกสมัย วิสาเขียนขึ้นภายหลังได้รับอิสรภาพจากการจับกุมคุมขังหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ด้วยความประทับใจในพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนบนถนนราชดำเนิน[14]
นอกจากนี้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังเป็น "ที่มั่นสุดท้าย" ของมวลชนจำนวนมากที่ถูกปราบปรามบนถนนราชดำเนินจนล่าถอยมาทางถนนรามคำแหงก่อนจะรวมตัวปักหลักชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ภายในบริเวณพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เครือข่ายรามฯ ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มักมีการทำบุญอุทิศแด่วีรชนพฤษภา35 เป็นประจำทุกปี[15]
ในอดีต ผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และในปัจจุบัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงจนถึงปัจจุบัน นับเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยรามคำแหง อย่างหาที่สุดมิได้
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างกว้างขวางแบบตลาดวิชา โดยมีการให้การศึกษาในชั้นเรียนและตำราสำหรับการศึกษาด้วยตนเอง รวมไปถึงการจัดการศึกษาแบบชั้นเรียนที่เน้นการวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาทั้งปริญญาโท ปริญญาเอก และยังนับว่าเป็นผู้นำในการจัดการศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ อีกทั้งยังได้มีการพัฒนาการศึกษาและสร้างสรรค์งานวิจัยหลากหลายสาขาวิชาเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและงานบริการทางวิชาการแก่สังคมในรูปแบบต่าง ๆ
ที่ตั้ง
แก้มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ส่วนกลาง)
แก้แรกเริ่มที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่แสดงสินค้านานาชาติที่ ตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิ (ขณะนั้น) จำนวน 300 ไร่เศษ เป็นสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัย ระยะแรกที่ทำการเปิดสอนได้ใช้อาคารแสดงสินค้าที่มีอยู่เดิมเป็นที่ทำการและห้องเรียนของมหาวิทยาลัย ต่อมาได้มีการก่อสร้างอาคารที่ทำการคณะ/สำนัก/สถาบัน รวมทั้งอาคารเรียน ฯลฯ เพิ่มขึ้นแทนอาคารแสดงสินค้าเดิมเหล่านั้น จะเห็นว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงไปมาก บริเวณของมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยอาคารหลากหลายที่ทันสมัย บรรยากาศเป็นมหาวิทยาลัยวิชาการ อีกทั้งภูมิทัศน์สวยงาม สะอาด และสะดวกสบาย
มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก เป็นสถานที่ตั้งที่ทำการของทุกคณะ/สำนัก/สถาบันต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางการบริหารและการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตปัจฉิมสวัสดิ์ – สุวรรณนภาศรี (รามคำแหง 2 – บางนา)
แก้เนื่องจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีผู้สนใจเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก จนสถานที่เรียนที่หัวหมากเริ่มแออัด มหาวิทยาลัยจึงได้เปิดวิทยาเขตรามคำแหง 2 หรือวิทยาเขตปัจฉิมสวัสดิ์ – สุวรรณนภาศรี (วิทยาเขตบางนา) ในปี พ.ศ. 2522 (และเริ่มเปิดทำการสอนปี พ.ศ. 2527) บนที่ดินที่ได้รับการบริจาคจากนายวิวัฒน์ สุวรรณนภาศรี และพลตำรวจโท กริช ปัจฉิมสวัสดิ์ จำนวน 155 ไร่เศษ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลดอกไม้ (บางแก้ว) เขตพระโขนง บริเวณกิโลเมตรที่ 8 ถนนบางนา-ตราด เพื่อรองรับการขยายตัวของจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วิทยาเขตบางนาจึงใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนกระบวนวิชาชั้นปีที่ 1 ของระดับปริญญาตรีทุกสาขา ต่อมาได้ใช้เป็นสถานที่สอนระดับปริญญาโทในบางโครงการด้วย
มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตสุโขทัย
แก้เมื่อปี พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย ขึ้น เพื่อการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งได้มีการจัดการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งหลักสูตรโครงการพิเศษต่าง ๆ จังหวัดสุโขทัยนั้นในอดีตคือกรุงสุโขทัยในยุคสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ได้มีมติเห็นชอบโครงการยกฐานะ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย เป็นมหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตสุโขทัย ในการนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับงบประมาณแผ่นดินเตรียมการก่อสร้างอาคารเรียน ฯลฯ เปิดสอนคณะธุรกิจการบริการ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ รวมไปถึงปริญญาตรีส่วนภูมิภาค เปิดที่สาขาวิทยบริการแห่งนี้ด้วย
นอกจากวิทยาเขตสุโขทัยนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังมี "ส่วนภูมิภาค" ซึ่งเป็นหน่วยจัดการเรียนการสอนและพื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย คือ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ต่างจังหวัด 23 แห่ง จัดการเรียนการสอนปริญญาตรี, โท (บางคณะ)
สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ
แก้มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เริ่มขยายการเรียนการสอนสู่ต่างประเทศ ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 2/2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ปวงชนชาวไทยในต่างประเทศทั่วโลก เพื่อนำการอุดมศึกษาไทยสู่สากลอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาการอุดมศึกษาไทยแข่งขันในเวทีการศึกษาโลก พัฒนาศักยภาพการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งสร้างชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยรามคำแหงและประเทศชาติให้กว้างไกลทั่วสากล หลักสูตรที่เปิดสอนในต่างประเทศ เปิดสอนระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และกำลังจะเปิดสอนระดับปริญญาเอก ปัจจุบัน ขยายสู่ 29 ประเทศทั่วโลก มีศูนย์สอบ 38 แห่งในประเทศต่าง ๆ และกำลังขยายเพิ่มขึ้น การจัดสอบได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกระทรวงการต่างประเทศ ในการให้ความอนุเคราะห์สถานที่สอบ และการดำเนินการจัดสอบ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย และสถานกงสุลใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ที่มีผู้สมัครเรียน ประเทศที่มีศูนย์สอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง 29 ประเทศ
สถาปัตยกรรมที่สำคัญในมหาวิทยาลัย
แก้- พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นจุดเด่นของพระราชวังบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็มีพระที่นั่งจำลององค์นี้ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวรามคำแหงภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
- เรือสุพรรณหงส์จำลอง อยู่กลางสระน้ำภายในเรือประดิษฐานพระพุทธรูปจำลอง ซึ่งมีความสวยงามโดดเด่น
- พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านไว้กลางมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า "ลานพ่อขุน" ที่นี่ จึงเป็นจุดรวมใจของชาวรามคำแหงทั้งมวล
- ศาลาไทยประยุกต์ อยู่หน้าอาคารสุโขทัย เป็นศาลาประยุกต์ กลางน้ำ จัดเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานร่วมสมัย
- หอนาฬิกา จัดเป็นหอนาฬิกาขนาดใหญ่ มีความสูงเท่ากับตึก 4 ชั้น หน้าปัด เป็นสถาปัตยกรรมศิลาจารึก เป็นกระจกสีฟ้า เดินเวลาแบบดิจิทัล
การบริหารงาน
แก้นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง
แก้อธิการบดี
แก้นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีผู้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดี ดังรายนามต่อไปนี้
มหาวิทยาลัยรามคำแหง | |||
รายนามอธิการบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | อ้างอิง | |
---|---|---|---|
1. ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ |
13 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 – 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 (วาระที่ 1) |
[3] [4] [5] | |
2. ศาสตราจารย์กำธร พันธุลาภ |
2 กันยายน พ.ศ. 2517 – 1 กันยายน พ.ศ. 2519 (วาระที่ 1) |
||
3. รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรมย์ ณ นคร |
3 ตุลาคม พ.ศ. 2523 – 2 ตุลาคม พ.ศ. 2525 |
||
4. รองศาสตราจารย์สุขุม นวลสกุล |
15 มกราคม พ.ศ. 2526 – 14 มกราคม พ.ศ. 2528 (วาระที่ 1) |
[9] [10] | |
5. ศาสตราจารย์ ดร.ธรรมนูญ โสภารัตน์ |
13 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 – 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 |
||
6. รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล |
6 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 – 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 (วาระที่ 1) |
||
7. รองศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข |
13 มกราคม พ.ศ. 2537 – 12 มกราคม พ.ศ. 2539 (วาระที่ 1) |
||
8. รองศาสตราจารย์คิม ไชยแสนสุข |
18 มิถุนายน พ.ศ. 2550 – 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 |
||
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ |
21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558 (วาระที่ 1) |
||
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ |
12 กันยายน พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน |
การศึกษา
แก้มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2514 ซึ่งในครั้งแรกเปิดสอนใน 4 คณะ คือ คณะนิติศาสตร์, คณะบริหารธุรกิจ, คณะมนุษยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ โดยมีผู้สนใจสมัครเป็นนักศึกษาในครั้งแรกจำนวน 37,198 คน ต่อมาใน พ.ศ. 2517 ได้เปิดเพิ่มอีกสามคณะ คือ คณะวิทยาศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ กระทั่งในปี พ.ศ. 2540 ได้เปิดสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีกระบวนวิชาที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีประมาณ 2,600 กระบวนวิชา ระดับปริญญาโท 130 กระบวนวิชาจัดการศึกษาครอบคลุมทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทุกระดับจำนวนทั้งสิ้น 256 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาตรี 111 หลักสูตร, ประกาศนียบัตรบัณฑิต 8 หลักสูตร, ปริญญา จัดการสอนในหลักสูตรระดับอนุปริญญา 23 สาขาวิชา, ระดับปริญญาตรี 60 สาขาวิชา, ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต 1 สาขาวิชาระดับ, ปริญญาโท 30 สาขาวิชา โดยมีคณะวิชาที่รับผิดชอบ 8 คณะ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะรับผิดชอบการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาอีก 1 หน่วยงาน รวมทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรปริญญาเอก, หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ และเปิดคณะศิลปกรรมศาสตร์, คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, คณะธุรกิจการบริการ และคณะสาธารณสุขศาสตร์
กลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
แก้กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แก้กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ
แก้นอกจากนี้ ยังมีหลายหน่วยงานที่เป็นส่วนสนับสนุนของการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนและบริการสำหรับนักศึกษา เช่น สถาบันภาษา, กองกิจการนักศึกษา
กลุ่มบัณฑิตศึกษา
แก้บุคคลสำคัญ
แก้ดูเพิ่มที่ หมวดหมู่:บุคคลจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยฯ". www.oasc.ru.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-29. สืบค้นเมื่อ 2020-04-29.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20211023002716/http://www.mua.go.th/university-2.html เก็บถาวร 2021-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (2023) เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง [นายวีระพล ตั้งสุวรรณ] สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566.จาก https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17228932.pdf
- ↑ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2023) ข้อมูลจำนวนบุคลากรสายวิชาการ สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566.จาก http://www.oasc.ru.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=264&Itemid=165 เก็บถาวร 2020-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2023) ข้อมูลจำนวนบุคลากรทั้งหมด สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566.จาก http://www.oasc.ru.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=264&Itemid=165 เก็บถาวร 2020-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2023) ข้อมูลจำนวนนักศึกษาที่มีสถานภาพปัจจุบัน สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566.จาก http://www.oasc.ru.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=264&Itemid=165 เก็บถาวร 2020-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา". www.mua.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-23. สืบค้นเมื่อ 2021-10-27.
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 หมวดที่ 1 มาตรา 5 [1]
- ↑ 9.0 9.1 "ประวัติมหาวิทยาลัย". www4.tu.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-11. สืบค้นเมื่อ 2021-10-27.
- ↑ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. "มหาวิทยาลัยรามคำแหง". มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514
- ↑ ศิลา โคมฉาย (2546) เล่าความจริงขบวนการนักศึกษารามคำแหงยุคต้น 2514-2519 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สายธาร)
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 หน้าที่ 24 หมายเหตุ [2]
- ↑ ศิลา โคมฉาย (2546) เล่าความจริงขบวนการนักศึกษารามคำแหงยุคต้น 2514-2519 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สายธาร)
- ↑ 'เครือข่ายรามฯ ทำบุญอุทิศวีรชนพฤษภา 35 จัดเวทีรำลึก-เสวนา ย้อนความจำ 30 ปี หวังไม่ต้องมี ‘ผู้กล้า’ สละชีพซ้ำรอย...' มติชนออนไลน์ อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ :https://www.matichon.co.th/politics/news_3347220#google_vignette
ดูเพิ่ม
แก้- มหาวิทยาลัยตลาดวิชา
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเปิดแห่งเดียวของประเทศไทย
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์