ม้าตง (เสียชีวิต 249) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หม่า จง (จีน: 馬忠; พินอิน: Mǎ Zhōng) ชื่อรอง เต๋อซิ่น (จีน: 德信; พินอิน: Déxìn) เดิมมีชื่อว่า หู ตู่ (จีน: 狐篤; พินอิน: Hú Dǔ) เป็นขุนพลของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน เล่าปี่จักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กประทับใจและยกย่องม้าตงอย่างสูง เปรียบความสามารถของม้าตงว่าเทียบได้กับอุยก๋วนซึ่งเวลานั้นเพิ่งแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ก ม้าตงได้รับความไว้วางใจและความเคารพโดยเหล่าผู้นำขุนนางราชสำนักอันได้แก่จูกัดเหลียง เจียวอ้วน และบิฮุย หลังการสวรรคตของเล่าปี่ ม้าตงรับราชการภายใต้จูกัดเหลียงในการทัพบุกลงใต้และช่วยปราบปรามกบฏ ม้าตงได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพพื้นที่ในภาคใต้หลังการเสียชีวิตของลิอิ๋น ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปในการสร้างความสงบในภูมิภาคและปกป้องราษฎรในภาคใต้ด้วยความช่วยเหลือจากเตียวหงี ม้าตงมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีจิตใจกว้างขวางและเป็นคนแปลก แต่ก็มีความเด็ดขาดในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ชนเผ่าในภาคใต้จึงยำเกรงและเคารพม้าตง หน้าที่ของม้าตงในภาคใต้อาจเปรียบได้กับอองเป๋งในภาคเหนือและเตงจี๋ในภาคตะวันออก หลังม้าตงเสียชีวิต ชนเผ่าต่าง ๆ ต่างอาลัยและสร้างศาลอุทิศให้เป็นเกียรติแก่ม้าตง

ม้าตง (หม่า จง)
馬忠
รูปปั้นของม้าตงในศาลจูกัดเหลียงในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
แม่ทัพใต้ประตู (門下督 เหมินเซี่ยตู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
เจ้าเมืองโคกุ้น (牂牁太守 จางเคอไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 225 (225) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลสงบภาคใต้
(安南將軍 อันหนานเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 242 (242)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ถัดไปจาง เปี่ยว
มหาขุนพลพิทักษ์ภาคใต้
(鎮南大將軍 เจิ้นหนานต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 242 (242) – ค.ศ. 249 (249)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครล่างจง มณฑลเสฉวน
เสียชีวิต249
บุตร
  • หม่า ซิว
  • หม่า ฮุย
  • หม่า หรง
อาชีพขุนพล
ชื่อรองเต๋อซิ่น (德信)
บรรดาศักดิ์เผิงเซียงถิงโหว
(彭鄉亭侯)
ชื่อเดิมหู ตู่ (狐篤)

ประวัติช่วงต้น แก้

ม้าตงเป็นชาวอำเภอลองจิ๋ว (閬中 ล่างจง) เมืองปาเส (巴西 ปาซี) ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน เมื่อม้าตงอยู่ในวัยเด็ก ได้รับการเลี้ยงดูอุปการะจากครอบครัวฝั่งมารดา ม้าตงจึงเดิมมีชื่อสกุลว่า "หู" (狐) และมีชื่อตัวว่า "ตู่" (篤) ภายหลังม้าตงกลับไปใช้แซ่เป็น "ม้า" (馬 หม่า) และเปลี่ยนชื่อตัวเป็น "ตง" (忠 จง) ม้าตงรับราชการเป็นเสมียนประจำเมืองในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ. 196-220) หลังม้าตงมีชื่อเสียงในกิจการพลเรือน ภายหลังจึงได้รับการเสนอชื่อเป็นเซี่ยวเหลียน (孝廉 "ผู้กตัญญูและซื่อตรง") และถูกส่งไปรับราชการเป็นนายอำเภอ (長 จ่าง) ของอำเภอฮั่นชาง (漢昌)[1]

เข้าเฝ้าเล่าปี่ แก้

เมื่อเล่าปี่นำทัพยกไปทางตะวันออกเพื่อรบกับซุนกวนในปี ค.ศ. 222 แล้วพ่ายแพ้ในยุทธการที่อิเหลง เหยียน จือ (閻芝) เจ้าเมืองปาเสส่งทหารจากทุกอำเภอ และระดมกำลังเพิ่มเติม 5,000 นายเพื่อชดเชยการสูญเสียในยุทธการ จากนั้นจึงมอบหมายให้ม้าตงคุมกองกำลังนำไปส่ง เวลานั้นเล่าปี่ถอยกลับมาที่อำเภอยฺหวีฟู่ (魚復縣 ยฺหวีฟู่เซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง) ซึ่งพระองค์เปลี่ยนชื่อเป็น "เตงอั๋น" (永安 หย่งอาน; แปลว่า "สันตินิรันดร์") ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่นั่น ม้าตงได้เข้าเฝ้าเล่าปี่ด้วยการทูลแนะนำโดยเล่าป๋าหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ เล่าปี่ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับม้าตงเป็นการส่วนพระองค์ในเรื่องราชการแผ่นดิน เล่าปี่ทรงประทับใจม้าตงมากจึงพูดกับเล่าป๋าว่า:

“แม้ว่าข้าจะเสียอุยก๋วนไป[a] แต่ข้าก็ได้หู ตู่ (ม้าตง) มาแทน บ่งบอกว่าแผ่นดินนี้ไม่ขาดผู้มีความสามารถ”[2]

รับราชการภายใต้จูกัดเหลียง แก้

เมื่อเล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223 พระองค์ตั้งให้จูกัดเหลียงและลิเงียมเป็นผู้สำเร็จราชการช่วยเหลือเล่าเสี้ยน อัครมหาเสนาบดีจูกัดเหลียงเปิดสำนักของตนเองและได้ยินเรื่องที่เล่าปี่เคยชื่นชมความสามารถของม้าตง จึงแต่งตั้งให้ม้าตงเป็นแม่ทัพใต้ประตู (門下督 เหมินเซี่ยตู) จูกัดเหลียงรู้สึกประทับใจมากขึ้นต่อการปฏิบัติที่ดีของม้าตง[3]

ในปี ค.ศ. 225 จูกัดเหลียงยกทัพบุกลงใต้เพื่อปราบกบฏยงคี จูกัดเหลียงแต่งตั้งให้ม้าตงเป็นเจ้าเมืองโคกุ้น (牂牁太守 จางเคอไท่โชฺ่ว) ซึ่งเมืองโคกุ้นนั้นเข้าร่วมในการก่อกบฏตั้งแต่จูโพเจ้าเมืองโคกุ้นเดิมแปรพักตร์ในปี ค.ศ. 223 สองปีหลังจากนั้นเมืองโคกุ้นยังคงเป็นกบฏ แต่ม้าตงก็ยกมาปราบกบฏลงได้อย่างรวดเร็วและทำให้อาณาบริเวณโดยรอบกลับมาสงบ[4] ม้าตงในฐานะเจ้าเมืองโคกุ้นยังคงอยู่ประจำเมืองและช่วยฟื้นฟูอาณาบริเวณนั้น ม้าตงแสดงออกซึ่งความสามารถในการบรรเทาทุกข์ให้ชาวเมืองโคกุ้นและการประสานราชการของเมือง ม้าตงเป็นที่เคารพยำเกรงของผู้คนในแถบนั้นเป็นอย่างสูง[5]

ม้าตงอยู่ที่เมืองโคกุ้นและช่วยฟื้นฟูความสงบและความเจริญรุ่งเรืองให้เมืองโคกุ้นเป็นเวลา 5 ปี แต่ในปี ค.ศ. 230 จูกัดเหลียงเรียกตัวม้าตงมาเป็นที่ปรึกษาทัพในการบุกขึ้นเหนือและช่วยเหลือหัวหน้าเลขานุการเจียวอ้วนในงานราชการระหว่างการป้องกันจ๊กก๊ก จากผลงานในราชการม้าตงจึงได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาในสำนักปกครองกลาง[6]

ปีถัดมา ค.ศ. 231 จูกัดเหลียงนำทัพรบกับชนเผ่าที่เขากิสาน ม้าตงเดินทางมาพบจูกัดเหลียงและช่วยเหลือในกิจการการทหาร จากนั้นจึงนำกองกำลังพร้อมด้วยขุนพลเตียวหงีและคนอื่น ๆ ในการปราบกบฏชนเผ่าเกี๋ยงในเมืองเวิ่นชาน (汶山郡 เวิ่นชานจฺวิ้น)[7] ชนเผ่าเกี่๋ยงสร้างประตูศิลาระหว่างภูเขาและรวบรวมกองศิลาบนประตูเพื่อใช้ต้านการโจมตีของทัพจ๊กก๊ก ม้าตงจึงส่งขุนพลเตียวหงีคุมทัพหน้าเข้าโจมตี จากนั้นเตียวหงีก็็ใช้ทูตไปข่มขู่ชนเผ่าเกี๋ยงให้ยอมจำนน ชนเผ่าเกี๋ยงบางส่วนยอมจำนนส่วนที่เหลือหนีเข้าไปในหุบเขา ม้าตงและเตียวหงีตามล่าผู้หลบหนีและได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด[8]

ปราบปรามชนเผ่าทางใต้ แก้

ในปี ค.ศ. 233 ชนเผ่าทางใต้ชื่อหลิว โจฺ้ว (劉胄) รวบรวมพรรคพวกจากหลายชนเผ่าและก่อบฏขึ้น การกบฏก่อการขึ่้นในหลายเมือง เตียวเอ๊กแม่ทัพภูมิภาคหนานจง (庲降都督 หลายเสียงตูตู) ไม่สามารถปราบปรามกบฏลงได้และถูกเรียกตัวกลับ แต่ก่อนที่เตียวเอ๊กจะกลับได้รวบรวมเสบียงเพื่อช่วยม้าตงและจัดเตรียมกองกำลังไว้เป็นอย่างดี ม้าตงถูกส่งมาทำหน้าที่แทนเตียวเอ๊ก ม้าตงจึงนำกองกำลังปราบกองกำลังฝ่ายกบฏได้สำเร็จ ในที่สุดก็สามารถตัดศีรษะหลิว โจฺ้วได้ จากชัยชนะครั้งนี้ม้าตงจึงทำให้ดินแดนทางใต้สงบลง ม้าตงได้รับตำแหน่งเพิ่มเติมเป็นผู้กำกับกองทหาร (監軍 เจี้ยนจฺวิน) และขุนพลสำแดงเดช (奮威將軍 เฟิ่นเวย์เจียงจฺวิน) และได้บรรดาศักดิ์เป็นปั๋วหยางถิงโหว (彭鄉亭侯)[9]

ก่อนที่ม้าตงจะมาประจำการทางใต้และในระหว่างกบฏยงคี ในเมืองเกียมเหลง (建寧郡 เจี้ยนหนิงจฺวิ้น) กลุ่มกบฏได้สังหารเจิ้ง อ๋าง (正昂) เจ้าเมืองเกียมเหลง และล้อมจับตัวเตียวอี้ (張裔 จาง อี้) ที่เป็นเจ้าเมืองเกียมเหลงคนใหม่ได้ แต่กลุ่มกบฏไม่กล้าสังหารเตียวอี้จึงส่งไปเป็นตัวประกันของง่อก๊กแทน ด้วยเหตุนี้แม่ทัพผู้บัญชาการกองทหารจึงมักตั้งกองกำลังรักษาการณ์ห่างออกไปจากอำเภอผิงอี๋ (平夷縣 ผิงอี๋เซี่ยน) ด้วยความกลัวกลุ่มกบฏ แต่เมื่อม้าตงมาเป็นแม่ทัพที่นี่ก็ไม่ต้องการทำอย่างเดียวกัน จึงย้ายที่ว่าการไปยังอำเภอเว่ย์ (魏縣 เว่ย์เซี่ยน) เมืองหานตาน (邯鄲) ซึ่งอยู่ท่ามกลางถิ่นอาศัยของชาวฮั่นและชนเผ่าต่าง ๆ ในเวลานั้นจ๊กก๊กได้เสียเมืองอวดจุ้น (越巂郡 เยฺว่ซีจฺวิ้น) ให้กับชนเผ่าไปนานแล้ว ม้าตงทำศึกเพื่อชิงเมืองอวดจุ้นคืนโดยนำกองกำลังพร้อมด้วยเตียวหงีขุนพลทัพหน้ายกไปรบชนเผ่าต่าง ๆ ได้รับชัยชนะ และสามารถชิงเมืองอวดจุ้นคืนมาได้ จากผลงานนี้ม้าตงจึงได้เลื่อนขั้นเป็นขุนพลสงบภาคใต้ (安南將軍 อันหนานเจียงจฺวิน) และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเผิงเซียงถิงโหว (彭鄉亭侯)[10]

ชีวิตช่วงปลาย แก้

ในปี ค.ศ. 242 ภูมิภาคหนานจงกลับมาสงบอีกครั้ง ม้าตงถูกเรียกตัวกลับไปยังราชสำนักที่นครเซงโต๋ เวลานั้นเจียวอ้วนต้องการเปลี่ยนเส้นทางในการโจมตีวุยก๊ก แต่ขุนนางส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้เพราะเกรงว่าหากทัพที่ยกไปเกิดปัญหาขึ้นจะล่าถอยไม่ได้ ม้าตงจึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ถือพระราชโองการเดินทางไปยังเมืองฮันต๋งเพื่อพบเจียวอ้วนและช่วยเหลือเจียวอ้วนในการดูแลป้องกันจากการบุกของวุยก๊ก เจียวอ้วนยังได้เลื่อนขั้นม้าตงให้เป็นมหาขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ (鎮南大將軍 เจิ้นหนานต้าเจียงจฺวิน)[11]

สองปีต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 244 ทัพใหญ่ของวุยก๊กใต้การบัญชาการของโจซองเข้าโจมตีเมืองฮันต๋งในยุทธการที่ซิงชื่อ อองเป๋งบัญชาการกองกำลังป้องกันในเบื้องต้น ส่วนมหาขุนพลบิฮุยต้องการนำทัพเสริมไปทางเหนือ เวลานั้นม้าตงได้รับมอบหมายให้ดูแลราชการในนครเซงโต๋ ม้าตงปฏิบัติหน้าที่แทนบิฮุยระหว่างที่ไม่อยู่ได้เป็นอย่างดี เมื่อบิฮุยกลับมาได้ส่งม้าตงกลับไปป้องกันทางใต้จากการจู่โจมของชนเผ่าพื้นเมือง[12]

ม้าตงอยู่ประจำที่ภาคใต้และรักษาดินแดนให้สงบต่อไปอีก 5 ปี ม้าตงเสียชีวิตในปี ค.ศ. 249 ทุกผู้คนในภูมิภาคหนานจงทั้งชาวฮั่นและชนเผ่าต่าง ๆ ต่างโศกเศร้าต่อการเสียชีวิตของม้าตงอย่างมาก[13]

ครอบครัว แก้

ม้าตงมีบุตรชาย 3 คน ได้แก่ หม่า ซิว (馬脩), หม่า ฮุย (馬恢) และหม่า หรง (馬融) หม่า ซิวสืบทอดตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ของม้าตง ส่วนหม่า ฮุยมีบุตรชายชื่อหม่า อี้ (馬義) ซึ่งรับราชการเป็นเจ้าเมืองเกียมเหลง (建寧 เจี้ยนหนิง) ในยุคราชวงศ์จิ้น[14]

คำวิจารณ์ แก้

ตันซิ่วผู้เขียนชีวประวัติม้าตงในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) วิจารณ์ม้าตงไว้ว่า "ม้าตงเป็นผู้อ่อนโยนแต่ก็เด็ดเดี่ยว[15]... ร่วมกับอุยก๋วน ลิอิ๋น ลิคี อองเป๋ง เตียวหงี ด้วยความสามารถของพวกเขาเหล่านี้จึงมีชื่อเสียงไปทั่วแผ่นดินและได้โอกาสให้เหลือสิ่งตกทอดไว้"[16]

ม้าตงเป็นผู้ใจกว้างและมีเมตตาต่อผู้คน แต่ก็เป็นคนแปลกและชอบแกล้งคนอื่นเล่นแล้วหัวเราะชอบใจ แต่เมื่อโกรธก็ไม่ยอมแสดงออกให้เห็น เมื่อม้าตงจัดการงานราชการทั้งด้านการพลเรือนและการทหารก็มีความเด็ดขาดและจะใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ดังนั้นชนเผ่าต่าง ๆ จึงยำเกรงและเคารพรักม้าตง เมื่อม้าตงเสียชีวิต ทุกผู้คนมาร่วมงานศพและร้องไห้ให้ม้าตงอย่างสุดซึ้ง พวกเขาสร้างศาลเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับม้าตง[17]

ฉาง ฉฺวีระบุในหฺวาหยางกั๋วจื้อว่าเมื่อม้าตงมาปกครองภาคใต้ ได้แสดงความเมตตาต่อผู้ห่างไกลและความกรุณาต่อผู้ชิดใกล้ แสดงความห่วงใยและเอื้อเฟื้ออย่างสูงต่อทุกผู้คน ด้วยความดีนี้ม้าตงจึงได้ตำแหน่งสูงสุดเป็นมหาขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ ตำแหน่งที่ไม่เคยมีผู้ปกครองดินแดนทางใต้คนใดเคยได้รับมาก่อน หลังจากม้าตงเสียชีวิต ผู้คนในภาคใต้ต่างสร้างศาลเพื่อเป็นเกียรติแก่ม้าตงและสักการะบวงสรวงแก่ม้าตงในยามที่เกิดความยากลำบากขึ้น[18]

จาง เปี่ยว (張表) เป็นบัณฑิตผู้มีชื่อเสียงจากความละเอียดลออยิ่งกว่าม้าตง ม้าตงนั้นเป็นแม่ทัพภูมิภาคที่มีชื่อเสียงที่สุดในดินแดนภาคใต้ของจ๊กก๊ก แม้ว่าอาจจะเป็นรองลิอิ๋นและฮั่ว อี้ (霍弋) เงียมอู (閻宇 เหยียน ยฺหวี่) ชื่อรอง เหวินผิง (文平) แสดงออกซึ่งความสามารถในการทำผลงาน มีความพิถีพิถันและขยันหมั่นเพียรในงานราชการ จาง เปี่ยวและเงียมอูรับผิดชอบในการปกครองบริหารภาคใต้หลังการเสียชีวิตของม้าตง แต่อิทธิพลและความดีความชอบของทั้งคู่ไม่อาจเทียบได้กับม้าตง[19]

จาง เปี่ยวเป็นชาวเมืองจ๊ก (蜀郡 สู่จฺวิ้น) และได้รับเลือกให้ปกครองบริหารภาคใต้ถัดจากม้าตง จาง เปี่ยวสืิบทอดตำแหน่งของม้าตงในฐานะขุนพลสงบภาคใต้ หยาง ซี (楊羲) ชาวเมืองเฉียนเว่ย์ (犍為郡) มาร่วมช่วยจาง เปี่ยวในการบริหารราชการ และได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งรองจากจาง เปี่ยว[20]

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ในระหว่างยุทธการที่อิเหลง กองกำลังของอุยก๋วนซึ่งอยู่ป้องกันฝั่งเหนือของแม่น้ำแยงซีถูกตัดขาดจากทัพหลักของจ๊กก๊กจากการจู่โจมของทัพง่อก๊ก ทำให้อุยก๋วนไม่สามารถกลับไปยังจ๊กก๊กได้ อุยก๋วนหมดหนทางจึงนำกองกำลังเข้าสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก

อ้างอิง แก้

  1. (馬忠字德信,巴西閬中人也。少養外家,姓狐,名篤,後乃復姓,改名忠。為郡吏,建安末舉孝廉,除漢昌長。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  2. (先主東征,敗績猇亭,巴西太守閻芝發諸縣兵五千人以補遺闕,遣忠送往。先主已還永安,見忠與語,謂尚書令劉巴曰:「雖亡黃權,復得狐篤,此為世不乏賢也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  3. (建興元年,丞相亮開府,以忠為門下督。三年,亮入南,拜忠牂牁太守。郡丞朱褒反。 ) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  4. (先主薨,高定恣睢於越嶲,雍闓跋扈於建寧,朱襃反叛於䍧牱。...與亮聲勢相連。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  5. (叛亂之後,忠撫育卹理,甚有威惠。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  6. (八年,召為丞相參軍,副長史蔣琬署留府事。又領州治中從事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  7. (明年,亮出祁山,忠詣亮所,經營戎事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  8. (益部耆舊傳曰:嶷受兵馬三百人,隨馬忠討叛羌。嶷別督數營在先,至他里。邑所在高峻,嶷隨山立上四五里。羌於要厄作石門,於門上施床,積石於其上,過者下石槌擊之,無不糜爛。嶷度不可得攻,...耆帥得命,即出詣嶷,給糧過軍。軍前討餘種,餘種聞他里已下,悉恐怖失所,或迎軍出降,或奔竄山谷,放兵攻擊,軍以克捷。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ้วนในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  9. (軍還,督將軍張嶷等討汶山郡叛羌。十一年,南夷豪帥劉冑反,擾亂諸郡。徵庲降都督張翼還,以忠代翼。忠遂斬冑,平南土。加忠監軍奮威將軍,封博陽亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  10. (初,建寧郡殺太守正昂,縛太守張裔於吳,故都督常駐平夷縣。至忠,乃移治味縣,處民夷之間。又越嶲郡亦久失土地,忠率將太守張嶷開復舊郡,由此就加安南將軍,進封彭鄉亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  11. (延熙五年還朝,因至漢中,見大司馬蔣琬,宣傳詔旨,加拜鎮南大將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  12. (七年春,大將軍費禕北禦魏敵,留忠成都,平尚書事。禕還,忠乃歸南。禕還,忠乃歸南。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  13. (十二年卒,子脩嗣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  14. (脩弟恢。恢子義,晉建寧太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  15. (尚書曰:擾而毅。鄭玄注曰:擾,馴也。致果曰毅) อรรถาธิบายจากช่างชูจู้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  16. (評曰:...馬忠擾而能毅,...咸以所長,顯名發跡,遇其時也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  17. (忠為人寬濟有度量,但詼啁大笑,忿怒不形於色。然處事能斷,威恩並立,是以蠻夷畏而愛之。及卒,莫不自致喪庭,流涕盡哀,為之立廟祀,迄今猶在。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  18. (忠在南,柔遠能邇,甚垂惠愛,官至鎮南大將軍。卒後,南人為之立祠,水旱禱之。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 4.
  19. (張表,時名士,清望踰忠。閻宇,宿有功幹,於事精勤。繼踵在忠後,其威風稱績,皆不及忠。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  20. (蜀郡張表為代,加安南將軍。又以犍為楊羲為參軍,副貳之。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 4.

บรรณานุกรม แก้