มโหสถชาดก
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
มโหสถชาดก เป็นชาดกเรื่องที่ 5 จากทศชาติชาดก โดยกล่าวถึงพระโคตมโพธิสัตว์ซึ่งเสวยพระชาติเพื่อบำเพ็ญปัญญาบารมีอันเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การตรัสรู้เป็นพระโคตมพุทธเจ้าในที่สุด
ในพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน อันเป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการกล่าวถึงเรื่องมโหสถและพระเจ้าจุลนีพรหมทัตไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๒๔ ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖ ตรงกับปี พ.ศ. 2450 อันเป็นคืนที่ 84 คราวเสด็จประพาสจาก เยอรมนี มายัง ฝรั่งเศส ความตอนหนึ่งว่า
กำลังเดินจากรถกินเข้ามารถที่นั่ง ผเอินเข้าถ้ำต้องเดินคลำกันเสียงอม เหมือนท้าวจุลนีในเรื่องมโหสถ
เรื่อง
แก้ในอดีตกาลมีพระราชานามว่า พระเจ้าวิเทหะราช ซึ่งปกครองกรุงมิถิลาทรงมีบัณฑิตคู่พระทัยอยู่ 4 คนคือ เสนกะ, ปุกกุสะ, กามินทะ และเทวินทะ ในคืนหนึ่งพระเจ้าวิเทหะทรงพระสุบินประหลาดจึงโปรดให้ เสนกะ หัวหน้าบัณฑิตทำนายพระสุบิน ก็ทรงทราบว่าจะมีบัณฑิตคนที่ 5 ที่มีสติปัญญาล่วงเลยบัณฑิตทั้ง 4 ถือกำเนิดในมิถิลา
ขณะเดียวกันใน หมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม พระโพธิสัตว์ได้ทรงถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางสุมนา ภรรยาของสิริวัฒกเศรษฐี เมื่อผ่านไป 10 เดือนนางสุมนาก็ให้กำเนิดบุตรชายที่ได้ถือแท่งยาออกมา ทันทีที่คลอดเสร็จสิริวัฒกเศรษฐีก็ได้นำแท่งยาไปฝนกับหินบดยาแล้วนำมาทาที่หน้าผาก ปรากฏว่าอาการปวดหัวของท่านเศรษฐีก็หายเป็นปลิดทิ้ง ท่านเศรษฐีจึงตั้งชื่อบุตรชายว่า มโหสถกุมาร แปลว่า กุมารผู้มียาอันมีอานุภาพมาก
7 ปีผ่านไปพระเจ้าวิเทหราชทรงรำลึกได้ว่าเมื่อ 7 ปีก่อนทรงพระสุบินว่าจะมีบัณฑิตคนที่ 5 มาเกิดในยุคของพระองค์จึงโปรดให้มหาอำมาตย์ออกไปสังเกตการณ์ในทิศทั้ง 4 ของมิถิลาซึ่งในที่สุดก็มีมหาอำมาตย์ท่านหนึ่งมาถึงหมู่บ้านที่มโหสถกุมารอาศัยอยู่ก็ได้ยินกิตติศัพท์และชื่อเสียงของมโหสถจึงกลับไปทูลรายงานว่าพบบัณฑิตคนที่ 5 แล้วพระเจ้าวิเทหราชดีพระทัยหมายจะเรียกมโหสถเข้ามาเป็นบัณฑิตในราชสำนัก แต่ทรงถูกเสณกะบัณฑิตยับยั้งไว้โดยอ้างว่าต้องการพิสูจน์ปัญญาของมโหสถกุมาร
ในการพิสูจน์ปัญญาของมโหสถกุมารว่าเหมาะสมจะเป็นบัณฑิตคนที่ 5 หรือไม่นั้นมีปัญหาทดสอบเชาวน์ปัญญาของมโหสถกุมารถึง 19 ข้อแต่มโหสถกุมารก็สามารถวิสัชนาปัญหาได้หมด พระเจ้าวิเทหราชจึงรับมโหสถเป็นพระราชโอรสบุญธรรม พร้อมทั้งสถาปนาให้เป็นมหาบัณฑิต ซึ่งชื่อเสียงของมโหสถบัณฑิตก็ไปเข้าพระกรรณของ พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ราชาแห่งกรุงพาราณสีที่หมายจะตีกรุงมิถิลา แต่ก็ถูกมโหสถบัณฑิตยับยั้งไว้ได้สำเร็จ จนพระเจ้าจุลนีพรหมทัตต้องขอร้องให้มโหสถมารับราชการที่ราชสำนักของพระองค์แต่มโหสถบัณฑิตได้ปฏิเสธไป แต่ได้ให้สัญญากับพระเจ้าจุลนีพรหมทัตว่าถ้าพระเจ้าวิเทหราชสวรรคตเมื่อไหร่จะไปรับใช้ทันที
หลังจากพระเจ้าวิเทหราชสวรรคตมโหสถได้ไปรับใช้พระเจ้าจุลนีพรหมทัตตามสัญญาตราบจนสิ้นอายุ
การดัดแปลง
แก้ในปี พ.ศ. 2538 บริษัท ดาราวิดีโอ ได้นำชาดกเรื่องนี้มาดัดแปลงสร้างเป็นละครโทรทัศน์ฟอร์มยักษ์โดยใช้ชื่อว่า มโหสถชาดก มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร มีความยาวทั้งสิ้น 28 ตอนนำแสดงโดย หนึ่ง มาฬิศร์ เชยโสภณ รับบทเป็น มโหสถบัณฑิต นก ศิขรินธาร พลายเถื่อน รับบทเป็น นางอมราเทวี ติ๊ก ฉัตรมงคล บำเพ็ญ รับบทเป็น พระเจ้าวิเทหราช และ เงาะ กชกร นิมากรณ์ รับบทเป็น พระนางอุทุมพรเทวี
บุคคลที่กลับมาเกิดในสมัยพุทธกาล
แก้- มโหสถบัณฑิต กลับมาเกิดเป็น พระโคตมพุทธเจ้า
- สิริวัฒกเศรษฐี กลับมาเกิดเป็น พระเจ้าสุทโธทนะ
- นางสุมนา กลับมาเกิดเป็น พระนางสิริมหามายา
- พระเจ้าจุลนีพรหมทัต กลับมาเกิดเป็น พระสารีบุตร
- เกวัฏพราหมณ์ กลับมาเกิดเป็น พระเทวทัต
- อนุเกวัฏพราหมณ์ กลับมาเกิดเป็น พระมหาโมคคัลลานะ
- ธนูเสกข์ กลับมาเกิดเป็น พระราหุล
- นางอมรา กลับมาเกิดเป็น พระนางยโสธรา