สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย

สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย (อังกฤษ: Thailand Baptist Convention) เป็นองค์การทางศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อประสานงานด้านศาสนาและดูแลสมาชิกของมูลนิธิคริสตจักรคณะแบ๊บติสต์[1] โดยมีศาสนาจารย์บุญครอง ปิฏกานนท์ เป็นประธานคนแรก

สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย
ชื่อย่อสคบ. (TBC)
คําขวัญBetter Brighter Bigger
ก่อตั้งพ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949)
ประเภทองค์การทางศาสนาคริสต์
สํานักงานใหญ่90 ถนนสุขุมวิท ซอย 2
แขวงคลองเตย เขตคลองเตย
กรุงเทพมหานคร 10110
ประธาน
ศาสนาจารย์ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

ประวัติ

แก้

มิชชันนารีคณะแบปทิสต์จากสหรัฐเข้ามาทำการประกาศข่าวดีในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2376 (ค.ศ. 1833) และตั้งคริสตจักรไมตรีจิตขึ้นในปี ค.ศ. 2380 นับเป็นคริสตจักรแบปทิสต์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อคณะแบปทิสต์ในสหรัฐแตกออกเป็นสองคณะ กิจการของคณะแบปทิสต์เดิมย้ายไปสังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทยซึ่งเป็นของคณะเพรสไบทีเรียน ในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) คณะแบ๊บติสต์ภาคใต้ (Southern Baptist Convention) จึงส่งมิชชันนารีมา 13 ครอบครัว เพื่อริเริ่มพันธกิจแบ๊บติสต์ในประเทศไทยอีกครั้ง ใน 5 ปีแรก สามารถตั้งคริสตจักรได้ถึง 7 แห่ง[2]

พันธกิจของคณะแบปทิสต์ได้ขยายอย่างรวดเร็ว เกิดคริสตจักรและหน่วยงานเป็นจำนวนมากในภูมิภาคต่าง ๆ จึงได้ตั้ง “มูลนิธิคริสตจักรคณะแบ๊บติสต์” ขึ้นและได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2504[3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) มีการปฏิรูประบบการทำงานโดยให้แบ๊บติสต์ชาวไทยได้บริหารงานร่วมกับมิชชันนารีต่างชาติ[4] แล้วจัดตั้งสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) มูลนิธิคริสตจักรแบ๊บติสต์ได้รับรองจากกรมการศาสนา และในปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) มูลนิธิคริสตจักรคณะแบ๊บติสต์ได้มอบหมายให้สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย เป็นผู้แทนในการดำเนินการประสานงานด้านศาสนาในนามของมูลนิธิคริสตจักรคณะแบ๊บติสต์ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภารกิจที่มีมากขึ้นตามลำดับ จนถึงปัจจุบัน[1]

คำขวัญ

แก้
  • Better ดีขึ้น มุ่งมั่นรับใช้สังคม พี่น้องมีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม
  • Brighter สดใสและสร้างสรรค์ ร่วมกันหาวิธีสร้างสรรค์ในการทำดี
  • Bigger รากฐานที่ใหญ่ขึ้น เพื่อขยายฐานในการทำดีให้กับสังคมไทย

หลักข้อเชื่อ

แก้

สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย ยึดถือหลักข้อเชื่อ 8 ข้อ ดังนี้[5]

  1. พระคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระเจ้าที่ได้รับการดลใจให้เขียนไว้อย่างไม่ผิดพลาด และทรงสิทธิอำนาจอย่างสมบูรณ์ เป็นหลักแห่งความเชื่อและการปฏิบัติของผู้เชื่อทั้งปวง
  2. พระเจ้าเที่ยงแท้เป็นพระเจ้าองค์เดียว ทรงไว้ซึ่งอำนาจและสง่าราศี ทรงสร้างสรรพสิ่งและทรงพระชนม์อยู่นิรันดร์ใน 3 พระภาค คือ พระบิดา พระบุตร พระวิญญาณบริสุทธิ์
  3. พระเยซูคริสต์ได้บังเกิดจากมารีย์ หญิงสาวพรหมจารีย์ โดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทรงสภาพพระเจ้าและมนุษย์อย่างบริบูรณ์ พระองค์ทรงบริสุทธิ์และปราศจากบาป ทรงทนทุกข์ทรมาน สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ถูกฝังไว้และฟื้นคืนพระชนม์ในวันที่สาม พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ ทรงประทับเบื้องขวาของพระบิดาและทูลขอเผื่อผู้เชื่อ
  4. พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำงานในจิตใจของมนุษย์ให้สำนึกบาป และทรงสำแดงความจริงของพระเยซูคริสต์แก่มนุษย์ พระองค์ทรงสถิตอยู่ในใจของผู้เชื่อทุกคน ทรงเป็นผู้นำพา ปรับปรุงแก้ไขชีวิตและเล้าโลมผู้เชื่อ
  5. พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์ มนุษย์ไม่เชื่อฟังพระเจ้า จึงเป็นคนบาปและตกอยู่ภายใต้อำนาจของความบาป ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงต้องการความรอดและการคืนดีกับพระเจ้า
  6. มนุษย์ได้รับความรอดเนื่องด้วยพระคุณของพระเจ้า โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ พระคุณของพระเจ้าทรงสำแดงโดยการที่พระเยซูคริสต์ทรงตายแทนคนบาปบนไม้กางเขน ส่วนความเชื่อเป็นการแสดงออกของมนุษย์ ด้วยความสมัครใจ โดยการกลับใจใหม่และวางใจในพระเยซูคริสต์
  7. พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาทั้งคริสตจักรสากลและคริสตจักรท้องถิ่น คริสตจักรท้องถิ่นประกอบด้วยผู้เชื่อที่รับบัพติศมาแล้วรวมตัวกันเพื่อนมัสการ สามัคคีธรรม และประกอบพระราชกิจตามที่พระเยซูได้มอบให้คริสต์จักร ในคริสตจักรมีการประกาศความเชื่อผ่านทางพิธีบัพติศมาด้วยการจุ่มนํ้า และการระลึกถึงพระเยซูคริสต์ผ่านทางพิธีมหาสนิท
  8. พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมาอีกด้วยฤทธานุภาพและสง่าราศีเพื่อจะทรงพิพากษา และผู้ที่เชื่อจะดำรงอยู่กับพระองค์เป็นนิตย์

องค์กรในสังกัด

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "ประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนาและองค์การศาสนาต่างๆในประเทศไทย" (PDF). กรมการศาสนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help), หน้า 166-167
  2. "เหลียวหลังแลหน้า 60 ปี แบ๊บติสต์ไทย". โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้อำนาจจัดตั้งมูลนิธิ " คริสตจักรคณะแบ๊บติสต์" เป็นนิติบุคคล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 78 (12 ง): 311–312. 7 กุมภาพันธ์ 2504. สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2559. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2552. 734 หน้า. หน้า 88-89. ISBN 978-616-7073-03-3
  5. "หลักข้อเชื่อ". สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย. 12 กันยายน 2010. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)