มุมมองทางการเมืองของโนม ชอมสกี
โนม ชอมสกี เป็นผู้มีชื่อเสียงในฐานะปัญญาชน นักปฏิบัติการ (หรือนักกิจกรรม) ทางการเมือง และนักวิจารณ์ เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอื่น ๆ เขาเรียกตัวเองว่า นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยม ผู้สนับสนุนสหการนิยมแบบอนาธิปไตย (anarcho-syndicalism) และมองว่า เป็นผู้รอบรู้สำคัญคนหนึ่งในการเมืองฝ่ายซ้ายของสหรัฐ[1]
มุมมองทางการเมือง
แก้ชอมสกีมักจะรู้จักในเรื่องการเมืองอเมริกันฝ่ายซ้าย แม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยในการจัดเขาเช่นนั้น เขาเรียกตนเองว่าเป็น "ผู้ร่วมเดินทาง" ของลัทธิอนาธิปไตย และเรียกตนเองว่า นักสังคมนิยมแบบอิสรนิยม อันเป็นปรัชญาทางการเมืองที่เขาย่อว่า ท้าทายระบอบการปกครองทุกรูปแบบ และพยายามกำจัดพวกมันถ้าไร้เหตุผล โดยภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับผู้พยายามใช้อำนาจผู้เดียว เขายังสนับสนุนแนวคิดสหการนิยมแบบอนาธิปไตยในบางเรื่อง และเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน Industrial Workers of the World ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานแนวสังคมนิยมผสมอนาธิปไตย เขายังชอบใจทัศนคติของนักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมในเรื่องเศรษฐศาสตร์แบบมีส่วนร่วม[2] โดยเป็นสมาชิกของคณะกรรมการชั่วคราวของ International Organization for a Participatory Society ด้วย[3]
เขาเชื่อว่า ค่านิยมของสังคมนิยมแบบอิสรนิยม เป็นแบบอย่างการขยายแนวคิดทางมนุษยนิยมทั้งแบบเสรีและแบบสุดโต่ง ซึ่งมาจากแนวคิดดั้งเดิมที่ไม่ได้ต่อเติมแก้ไข ที่สมเหตุสมผลและเสมอต้นเสมอปลายทางจริยธรรม ในบริบทของสังคมอุตสาหกรรม[4]
ชอมสกียังจัดตัวเองว่ามีความเชื่อร่วมกับขบวนการไซออนิสต์ ถึงแม้ว่าเขาจะให้ข้อสังเกตว่า นิยามของคำว่าไซออนิสต์ของเขา ทุกวันนี้คนอื่นอาจเรียกว่า แนวคิดต่อต้านไซออนิสต์ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นผลของการเปลี่ยนความหมายของคำเริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1940
มีบุคคลบางพวกที่พิจารณาชอมสกีว่าเป็น "นักวิจารณ์ฝ่ายซ้ายเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศสหรัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่ง"[5]
เสรีภาพในการพูด
แก้ชอมสกีได้ยืนหยัดต่อต้านการเซ็นเซอร์และสนับสนุนเสรีภาพในการพูด แม้ในเรื่องที่เขาประณาม เขาได้กล่าวว่า
ในเรื่องของเสรีภาพการพูด มีจุดยืนหลัก ๆ แค่สองอย่าง คือ คุณปกป้องมันอย่างขยันขันแข็ง หรือว่าคุณปฏิเสธมันและยินดีมาตรฐานของลัทธิฟาสซิสต์หรือของสตาลิน[6]
การก่อการร้าย
แก้เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ โอบามากำลังปฏิบัติการก่อการร้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อาจจะในประวัติศาสตร์
— โนม ชอมสกี, พ.ศ. 2556[7]
เมื่อตอบสนองต่อการประกาศ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2524 และอีกครั้งในปี 2544 ชอมสกีอ้างว่า แหล่งสำคัญของกระบวนการก่อการร้ายนานาชาติมาจากประเทศมหาอำนาจ โดยมีรัฐบาลกลางสหรัฐเป็นแนวหน้า เขาใช้นิยามของ "การก่อการร้าย" จากคู่มือกองทัพบกสหรัฐ ซึ่งนิยามว่าเป็น "การใช้ความรุนแรงหรือการข่มขู่ด้วยความรุนแรงอย่างคำนวณผลได้ผลเสียเพื่อให้ถึงเป้าหมายทางการเมือง ทางศาสนา หรือทางอุดมคติ ซึ่งทำโดยการข่มขู่ การบีบบังคับ หรือการปลูกฝังความกลัว"[8]
เกี่ยวกับการรุกรานอัฟกานิสถานของสหรัฐ เขาได้กล่าวว่า
การสังหารพลเรือนผู้ไม่มีความผิดอย่างขาดความยับยั้งเป็นการก่อการร้าย ไม่ใช่เป็นสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (หนังสือ 9-11 หน้า 76)[9]
เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการก่อการร้าย
ประเด็นแรกก็คือความจริงว่า การก่อการร้ายได้ผล ไม่ใช่ไม่ได้ผล มันได้ผล ความรุนแรงปกติได้ผล นั่นแหละประวัติศาสตร์โลก ประเด็นที่สองก็คือ มันเป็นความผิดพลาดทางการวิเคราะห์อย่างฉกรรจ์ที่จะกล่าวดังที่ทำปกติโดยทั่วไปว่า การก่อการร้ายเป็นอาวุธของชนอ่อนแอ เหมือนกับวิธีการรุนแรงอื่น ๆ โดยหลักแล้ว มันเป็นอาวุธอย่างหนึ่งของชนที่มีกำลัง (และ) จริง ๆ อย่างท่วมท้น (แต่) มันจัดว่าเป็นอาวุธของชนอ่อนแอก็เพราะว่า ชนที่มีกำลังสามารถควบคุมระบบความคิด และการก่อการร้ายของพวกเขาจึงไม่จัดว่าเป็นการก่อการร้าย นี่มันเป็นเรื่องเกือบครอบจักรวาล (โดยที่) ผมไม่สามารถระลึกถึงเรื่องยกเว้นในประวัติศาสตร์ แม้แต่คนสังหารหมู่ที่ร้ายกาจที่สุดก็มองโลกเช่นนั้นเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นพวกนาซี พวกเขาไม่ได้ทำการก่อการร้ายในยุโรปที่ตนครอบครองอยู่ พวกเขาเพียงแต่ปกป้องประชาชนจากการก่อการร้ายของพวกกองโจร และเหมือนกับขบวนการต่อต้านอื่น ๆ ที่มีสิ่งที่เรียกว่า การก่อการร้าย พวกนาซีเพียงแต่ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย[10]
เกี่ยวกับการประณามการก่อการร้าย ชอมสกีเห็นว่า การก่อการร้าย (และความรุนแรงหรือการใช้อำนาจโดยทั่วไป) โดยทั่วไปไม่ดีและจะมีเหตุผลก็ในกรณีที่ชัดเจนว่า เป็นการหลีกเลี่ยงการก่อการร้าย (หรือความรุนแรงหรือการใช้อำนาจผิด ๆ) ที่ยิ่งใหญ่กว่า ในการอภิปรายเรื่องความชอบธรรมของความรุนแรงทางการเมืองในปี 2510 ชอมสกีอ้างว่า "การก่อการร้าย" ของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ (เวียดกง) ไม่สมเหตุผล แต่ว่าการก่อการร้ายก็ยังสามารถสมเหตุผลตามทฤษฎีภายใต้สถานการณ์บางอย่าง
ผมไม่ยอมรับทัศนคติว่า เราสามารถประณามการก่อการร้ายของเวียดกงอย่างไม่มีเงื่อนไขด้วยเหตุว่ามันแย่มาก ผมคิดว่า เราต้องถามคำถามเรื่องราคาโดยเปรียบเทียบ แม้ว่านั่นอาจจะฟังดูอุจาด และถ้าเราจะต้องมีจุดยืนทางจริยธรรมในเรื่องนี้ และผมคิดว่าเราควรจะมี เราต้องถามถึงทั้งผลของการใช้การก่อการร้ายและการไม่ใช้การก่อการร้าย ถ้ามันจริงว่าผลของการไม่ใช้การก่อการร้ายก็คือ พวกคนเบี้ยล่างในเวียดนามก็จะดำรงการมีชีวิตเป็นเบี้ยล่างเหมือนคนในฟิลิปปินส์ต่อไป ผมคิดว่าการใช้การก่อการร้ายก็จะสมเหตุผล แต่ดังที่ผมเคยกล่าวแล้ว ผมไม่คิดว่า การใช้การก่อการร้ายของเวียดกงนำไปสู่ผลสำเร็จ[11]
ชอมสกีเชื่อว่า ปฏิบัติการของรัฐบาลสหรัฐที่เขาพิจารณาว่าเป็นการก่อการร้าย ก็ไม่ผ่านเกณฑ์การทดสอบเช่นนี้ และดังนั้น การประณามนโยบายต่างประเทศสหรัฐจึงเป็นเรื่องหลักอย่างหนึ่งในวรรณกรรมของเขา ดังที่เขาอธิบายว่า เพราะว่าเขาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาและดังนั้น จึงมีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำของประเทศ[12]
การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐ
แก้ถ้าได้ใช้กฎหมายเนือร์นแบร์ค ประธานาธิบดีอเมริกันหลังสงครามก็จะถูกแขวนคอทุกคน
— โนม ชอมสกี (ประมาณคริสต์ทศวรรษ 1990)[13]
ชอมสกีเป็นนักวิจารณ์ที่คงเส้นคงวาอย่างเปิดเผยต่อรัฐบาลกลางสหรัฐ และการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐเป็นประเด็นส่วนมากในวรรณกรรมทางการเมืองของเขา ชอมสกีได้ให้เหตุผลที่เขาเล็งพยายามปฏิบัติต่อต้านรัฐที่เขาเป็นพลเมือง คือ เขาเชื่อว่า งานเขามีผลกระทบดีกว่าเมื่อเล็งที่รัฐบาลของตนเอง และเขาก็มีส่วนรับผิดชอบในฐานะสมาชิกของประเทศอันเป็นบ้านเกิด เพื่อหยุดประเทศนั้นไม่ให้ทำอาชญากรรม เขาแสดงไอเดียนี้บ่อย ๆ โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อ้างว่า ทุกประเทศยืดหยุ่นได้เพื่อจัดการอาชญากรรมที่ทำโดยประเทศศัตรู แต่จะไม่ยอมรับข้ออ้างนั้นถ้าเกิดกับตนเอง
ในปาฐกถาที่ประเทศนิการากัวปี 2529 มีคนถามเขาว่า "พวกเรารู้สึกว่า ตามที่คุณพูดและเขียน คุณเป็นเพื่อนของเรา แต่ในเวลาเดียวกัน คุณก็พูดถึงจักรวรรดินิยมของอเมริกาเหนือและของรัสเซียในประโยคเดียวกัน ผมขอถามคุณว่า คุณสามารถใช้เหตุผลเดียวกันได้อย่างไรในฐานะคนขวาจัด (reactionaries)" ซึ่งชอมสกีได้ตอบว่า
ผมเคยถูกกล่าวหาแทบทุกอย่าง รวมทั้งความเป็นคนขวาจัด จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว มีประเทศสองประเทศที่วรรณกรรมทางการเมืองของผมโดยทั่วไปจะไม่สามารถปรากฏ หนึ่งก็คือสหรัฐอเมริกาภายในสื่อกระแสหลักโดยมีข้อยกเว้นที่น้อยมาก ๆ อีกประเทศก็คือสหภาพโซเวียต ผมคิดว่า สิ่งที่เราควรทำก็คือพยายามเข้าใจความจริงเกี่ยวกับโลก และความจริงเกี่ยวกับโลกปกติมักจะไม่น่ายินดีเลย ความเป็นห่วงของผมโดยหลักเป็นเรื่องการก่อการร้ายและความรุนแรงที่ปฏิบัติโดยประเทศของผม โดยเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกก็คือ เพราะมันปรากฏว่าเป็นองค์ประกอบใหญ่ของความรุนแรงระดับนานาชาติ แต่ก็เพราะเหตุผลที่สำคัญกว่านั้นอีกด้วย ซึ่งก็คือ ผมสามารถทำอะไรได้ ดังนั้น แม้สมมุติว่าสหรัฐเป็นเหตุความรุนแรงในโลกเพียงแค่ 2% แทนที่จะเป็นเหตุโดยมาก ก็จะเป็นส่วน 2% ที่ผมจะรับผิดชอบโดยหลัก และนั่นเป็นดุลยพินิจทางจริยธรรมล้วน ๆ ซึ่งก็คือ คุณค่าทางจริยธรรมของการกระทำของบุคคล จะขึ้นอยู่กับผลที่คาดหวังหรือพยากรณ์ได้ของการกระทำเหล่านั้น มันง่ายที่จะประณามความโหดร้ายของคนอื่น แต่นั่นมีคุณค่าทางจริยธรรมเท่ากับการประณามความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18
จุดสำคัญก็คือปฏิบัติการทางการเมืองที่มีประโยชน์และมีความหมาย จะเป็นปฏิบัติการที่มีผลต่อมนุษย์ และนั่นอย่างขาดลอยก็คือปฏิบัติการที่คุณมีอิทธิพลหรือควบคุมได้ ซึ่งสำหรับผม นั่นก็คือการกระทำของรัฐบาลอเมริกัน แต่ผมก็ยังมีส่วนกับการประท้วงจักรวรรดินิยมโซเวียต และกับการอธิบายรากฐานของมันในสังคมโซเวียต และผมคิดว่า ใครก็ตามในโลกที่สามที่ตกอยู่ใต้ความเข้าใจผิดในเรื่องเหล่านี้ ก็จะเป็นผู้ที่กำลังผิดพลาดอย่างมหันต์[14]
เขายังยืนยันด้วยว่า สหรัฐอเมริกา ในฐานะเป็นประเทศอภิมหาอำนาจที่คงอยู่ประเทศเดียวในโลก ก็ปฏิบัติตัวแบบน่ารังเกียจเหมือนกับอภิมหาอำนาจทั้งหมด ชอมสกีอ้างว่า การกระทำกุญแจหลักของอภิมหาอำนาจอย่างหนึ่งก็คือ พยายามจัดโลกให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสถาบันของตน โดยใช้กำลังทางทหารและเศรษฐกิจ เขาเน้นบ่อย ๆ ว่า โครงสร้างทั่วไปของนโยบายต่างประเทศสหรัฐ มีเหตุจากผลประโยชน์ของธุรกิจสหรัฐที่มีอำนาจครอบงำทางการเมือง และจากการผลักดันเพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบทุนนิยมแบบแทรกแซงโดยรัฐ (state capitalism) ธุรกิจเหล่านี้เป็นผู้กำหนดประเด็นทางการเมืองและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ที่เล็งความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นหลัก[15]
เขาสรุปว่า ความคงเส้นคงวาหนึ่งของนโยบายต่างประเทศสหรัฐก็คือการตัดรากถอนโคน "ภัยจากตัวอย่างที่ดี"[16] โดย "ภัย" หมายถึงโอกาสที่ประเทศหนึ่ง ๆ จะสามารถพัฒนาขึ้นนอกระบบโลกที่สหรัฐเป็นผู้บริหาร และดังนั้น จะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศที่สหรัฐมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมาก ชอมสกีกล่าวว่า นี่ทำให้สหรัฐแทรกแซงบ่อย ๆ เพื่อยุติ "พัฒนาการที่เป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์เช่นใด" ในเขตต่าง ๆ ของโลก แม้ว่าตนแทบจะไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงเลย ในหนังสือ สิ่งที่ลุงแซมต้องการจริง ๆ (What Uncle Sam Really Wants) ชอมสกีอ้างว่า สันนิษฐานนี้สามารถอธิบายการแทรกแซงของสหรัฐใน ประเทศกัวเตมาลา ลาว นิการากัว และกรีเนดา อันไม่เป็นภัยทางทหารต่อสหรัฐ และมีทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ไม่สำคัญต่อสถาบันของสหรัฐ[17]
ชอมสกีอ้างว่า นโยบายสงครามเย็นสหรัฐไม่ได้เป็นไปตามความหวาดระแวงต่อโซเวียตเป็นหลัก แต่เพื่อพิทักษ์ความเป็นเจ้าทางอุดมการณ์และเศรษฐกิจในโลก ในหนังสือ การขัดขวางประชาธิปไตย (Deterring Democracy) เขาอ้างว่า ความเข้าใจสงครามเย็นว่าเป็นการเผชิญหน้าระหว่างอภิอำนาจสองประเทศ ความจริงเป็นเรื่องสมมุติตามอุดมการณ์[18] เขายืนยันว่า เพื่อให้เข้าใจสงครามเย็นได้จริง ๆ ก็จะต้องตรวจสอบแรงดลใจของประเทศอภิมหาอำนาจต่าง ๆ ซึ่งทำได้โดยวิเคราะห์การเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะความต้องการของอภิสิทธิชนในแต่ละประเทศ
โดยยังไม่สนใจความซับซ้อนในระดับทุติยภูมิก่อน สำหรับสหภาพโซเวียต สงครามเย็นนั้นทำกับประเทศบริวารของตนเอง และสำหรับสหรัฐ เป็นสงครามกับประเทศโลกที่สาม สำหรับทั้งสอง เป็นการฝังรากระบบอภิสิทธิ์และการบีบบังคับในแต่ละประเทศโดยเฉพาะ ๆ นโยบายที่รัฐบาลทำตามในช่วงสงครามเย็นเป็นสิ่งที่ไม่ดึงดูดใจต่อประชาชนทั่วไป เพียงแต่ยอมรับมันภายใต้การบีบบังคับ ตลอดประวัติศาสตร์ เครื่องมือแบบฉบับที่ใช้ระดมใจประชาชนที่ไม่เต็มใจ ก็คือความหวาดกลัวต่อศัตรูชั่วร้ายที่มุ่งทำลายตน ความขัดแย้งระหว่างอภิมหาอำนาจจึงได้ทำหน้าที่นี้อย่างพอดีเหมาะเจาะ เพื่อจุดประสงค์ภายใน ดังที่เราเห็นเป็นคารมเร้าใจในเอกสารแผนงานระดับสูงสุดของรัฐบาลเช่น NSC-6868 (เอกสารนโยบายลับสุดยอดปี 2493 ของรัฐบาลประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน) และในการโฆษณาชวนเชื่อที่สื่อแก่มวลชน สงครามเย็นจึงมีประโยชน์ต่ออภิมหาอำนาจ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมมันจึงคงอยู่ได้[19]
ชอมสกีกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเป็นระบบทุนนิยมที่รัฐสนับสนุน (state capitalism) และใช้เงินภาษีเพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีล้ำหน้า (เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เรดาร์ เครื่องบินไอพ่น เป็นต้น) ในรูปแบบหลัก ๆ จากงบประมาณของกระทรวงกลาโหม และเมื่อพัฒนาถึงระดับแล้ว ก็จะส่งต่อเทคโนโลยีเหล่านี้ให้กับกลุ่มธุรกิจเพื่อใช้ในการพลเรือนโดยทำเป็นประโยชน์ส่วนตัว[20]
ชอมสกีบ่อยครั้งกล่าวชมเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน ตามชอมสกี สังคมตะวันตกอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศสและแคนาดา ไม่ปกป้องเสรีภาพการพูดในเรื่องที่สร้างความขัดแย้งเท่ากับสหรัฐ แต่เขาก็ไม่ได้ให้เครดิตกับรัฐบาลเพราะเสรีภาพเยี่ยงนั้น แต่ให้กับขบวนการทางสังคมสหรัฐที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ขบวนการที่เขาให้เครดิตมากที่สุดคือ ขบวนการเลิกทาส ขบวนการสิทธิแรงงานและสหภาพแรงงาน และการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ชอมสกีมักจะวิจารณ์รัฐบาลอื่น ๆ ที่ตามขยี้เสรีภาพในการพูด เช่นในเรื่อง Faurisson affair ระหว่างปี 2521-2522 ในประเทศฝรั่งเศสที่สร้างความขัดแย้งมากที่สุด และการปราบปรามเสรีภาพในการพูดในประเทศตุรกี[21]
ที่เล็กเช่อร์เอ็ดวาร์ดดับเบิลยูเซดประจำปีเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 จัดโดยศูนย์มนุษยชาติเฮย์แมน ชอมสกีเริ่มต้นปาฐกถาของเขาในหัวข้อ "กาลแห่งอภิมหาอำนาจขั้วเดียวและวัฒนธรรมจักรวรรดินิยม (The Unipolar Moment and the Culture of Imperialism)" โดยสรรเสริญ ศ. เอ็ดวาร์ด เซด ผู้เรียกร้องให้สนใจเรื่อง "วัฒนธรรมจักรวรรดินิยม" ของอเมริกา[22]
เมื่อสหรัฐฉลองวันครบรอบ 20 ปี ของการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในเดือนพฤศจิกายน 2552 ชอมสกีกล่าวว่า การฉลองนี้มองข้ามการล่วงสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเพียงแค่อาทิตย์เดียวหลังเหตุการณ์นั้น คือในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 กองพัน Atlacatl ในประเทศเอลซัลวาดอร์ผู้ได้รับอาวุธจากสหรัฐ ได้ลอบสังหารหัวหน้าบาทหลวงเยซูอิตชาวละตินอเมริกัน 6 คน เขาเทียบ "การแสดงความยินดีกับตัวเอง" ของสหรัฐเรื่องการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน กับ "ความเงียบที่ดังกึกก้อง" อันห้อมล้อมการสังหารบาทหลวงเหล่านั้น และยืนยันว่า สหรัฐสังเวยหลักประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของตนเอง และเนื่องจากไม่วิจารณ์ตัวเองก็มักจะ "เล็งแสงเลเซอร์ไปที่อาชญากรรมของศัตรู แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือ เราจะจัดการให้แน่ใจว่า จะไม่ตรวจดูตัวเอง"[23][24]
ข้อวิจารณ์ต่อประชาธิปไตยในสหรัฐ
แก้ชอมสกียืนยันว่า ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้ก็ตราบเท่าที่นโยบายรัฐบาลสะท้อนความคิดเห็นที่รอบรู้ของประชาชน และให้ข้อสังเกตว่า แม้สหรัฐจะมีโครงสร้างต่าง ๆ ตามแบบแผนของประชาธิปไตย แต่ว่าพวกมันก็ทำหน้าที่อย่างพิการ เขาอ้างว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐได้เงินทุนจากศูนย์กลางผู้มีอำนาจและชักใยโดยอุตสาหกรรมการประชาสัมพันธ์ ที่เพ่งความสนใจไปที่คุณสมบัติและภาพพจน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นหลัก แทนที่จะสนใจประเด็นปัญหา[25]
ชอมสกีอ้างอิงงานศึกษาความเห็นประชาชนที่ทำโดยองค์กรโพล (เช่น The Gallup Organization, Zogby International) และนักวิชาการ (เช่น Program on International Policy Attitudes แห่งมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ คอลเลจพาร์ก) เช่น ที่สำรวจใกล้ ๆ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2547 ว่า ผู้ลงคะแนนเสียงน้อยมากระบุว่า ตนลงคะแนนเพราะเหตุ "กำหนดการ/ไอเดีย/นโยบาย/เป้าหมาย" ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง[25] นอกจากนั้นแล้ว งานศึกษาหลายงานยังแสดงว่า คนอเมริกันส่วนมากมีจุดยืนเรื่องปัญหาในประเทศ เช่น เรื่องประกันสุขภาพ ที่พรรคการเมืองหลัก 2 พรรคไม่เป็นตัวแทน[26] ชอมสกีเปรียบเทียบการเลือกตั้งในสหรัฐกับประเทศอื่น ๆ เช่น สเปน โบลิเวีย และบราซิล ที่เขาอ้างว่า ประชาชนรอบรู้ดีกว่าในประเด็นปัญหาสำคัญ ๆ[27]
เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับพรรคที่สาม ชอมสกีให้คำแนะนำว่า "ถ้าคุณอยู่ในรัฐที่ไม่มีใครล้ำหน้า (ให้ลงคะแนน) กันไม่ให้คนแย่ที่สุดเข้า (คือให้ลงคะแนนให้กับคนแย่น้อยที่สุด) ถ้าไม่ใช่ ให้ทำสิ่งที่คุณต้องการ"[27][28] เมื่อถามว่าเขาออกเสียงหรือไม่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2551 เขาตอบว่า
ผมลงคะแนนให้พรรค Green เพราะนี่ (รัฐแมสซาชูเซตส์) เป็นรัฐที่เลือกพรรคแน่นอน แต่ถ้าผมอยู่ในรัฐที่ไม่มีใครล้ำหน้า (swing state) ผมก็คงจะกลั้นหายใจแล้วลงคะแนนให้โอบามา เพื่อกันอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งแย่กว่า ผมไม่ได้หวังอะไรในเขาและก็ไม่ได้ผิดหวังอะไร จริง ๆ แล้ว ผมได้เขียนถึงเขาก่อนการเลือกตั้งเบื้องต้น (primaries) ผมคิดว่าเขาแย่[29]
โลกาภิวัตน์
แก้ตั้งแต่ต้น ๆ ชอมสกีได้พยายามวิเคราะห์ผลของกระบวนการโลกาภิวัตน์ ซึ่งเขาสรุปด้วยวลีว่าเป็น "ไวน์เก่า ขวดใหม่" โดยดำรงว่า แรงดลใจของกลุ่มอภิสิทธิชนก็ยังเป็นเรื่องเดิม ซึ่งก็คือ กันประชาชนทั่วไปจากกระบวนการตัดสินใจเรื่องที่สำคัญ โดยต่างเพียงแค่ว่า ศูนย์กลางอำนาจย้ายไปอยู่ที่บริษัทและธนาคารข้ามชาติ ชอมสกีอ้างว่า ในกระบวนการนี้ ผู้มีอำนาจในบริษัทข้ามชาติ "กำลังสถาปนาสถาบันปกครองของตัวเอง" เพื่อสะท้อนเอื้อมอำนาจทั่วโลกของตน[30]
ตามชอมสกี แผนการหลักของพวกเขาตามที่เป็นมาก็คือ เข้าควบคุมสถาบันเศรษฐกิจของโลกที่ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ซึ่งได้ใช้กฎ "Washington Consensus" เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นกฎบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาจำกัดการใช้จ่ายและเปลี่ยนโครงสร้าง ที่มักจะตัดงบประมาณโปรแกรมทางสวัสดิภาพและสังคม การช่วยเหลือหรือเงินกู้จาก IMF มักจะมีเงื่อนไขให้ปรับเปลี่ยนเช่นนี้
ชอมสกีอ้างว่า การสร้างสถาบันและความตกลงระดับโลกเช่น องค์การการค้าโลก ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และ Multilateral Agreement on Investment เป็นวิธีใหม่ ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของอภิสิทธิชนในขณะที่บ่อนทำลายประชาธิปไตย[31] เขาเชื่อว่า มาตรการแบบเคร่งครัดและเสรีนิยมใหม่เหล่านี้จะประกันว่า ประเทศยากจนจะมีบทบาทเพียงเป็นผู้ให้แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และโอกาสการลงทุน ในราคาถูกให้แก่ประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนั้นแล้ว บริษัทยังสามารถขู่ย้ายไปอยู่ในประเทศที่แรงงานถูกว่า และชอมสกีเห็นว่านี่เป็นอาวุธทรงอิทธิพลเพื่อควบคุมแรงงานในประเทศที่ร่ำรวยให้อยู่ใต้อำนาจ
ชอมสกีแย้งเรื่องคำที่ใช้อภิปรายโลกาภิวัตน์ เริ่มตั้งแต่คำว่า โลกาภิวัตน์ (globalization) เอง ซึ่งเขายืนยันว่า หมายถึงบูรณาการทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนโดยบริษัท ไม่ใช่หมายถึงการทำเรื่องอะไรอย่างอื่นให้เป็นสากล เขาไม่ชอบใจคำว่า ต่อต้านโลกาภิวัตน์ (anti-globalization) ที่ใช้หมายถึงขบวนการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ชอมสกีเข้าใจคำนิยมว่า การค้าเสรี ว่าหมายถึง "การผสมกันระหว่างการปล่อยเสรีและการป้องกัน ออกแบบโดยคนมีอำนาจสถาปนานโยบาย เพื่ออำนวยผลประโยชน์ของตนซึ่งอาจจะเป็นอะไรก็ได้ในยุคนั้น ๆ "[30]
ในวรรณกรรมของเขา ชอมสกีได้ดึงผู้อ่านให้สนใจขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ เขาได้กล่าวถึงเหตุผลที่กลุ่มซาปาติสตาในเม็กซิโกต่อต้าน NAFTA ในเรียงความ "การกำเริบของซาปาติสตา (The Zapatista Uprising)" เขายังได้วิพากษ์วิจารณ์ความตกลง Multilateral Agreement on Investment และได้รายงานกิจกรรมของนักปฏิบัติการที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความตกลง เสียงของชอมสกีเป็นส่วนสำคัญของนักวิพากษวิจารณ์ที่ให้หลักวิชาการต่อกลุ่มต่าง ๆ ที่รวมตัวกันประท้วงต่อต้านองค์การการค้าโลกในเดือนพฤศจิกายน 2542[32]
ลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์
แก้ชอมสกีคัดค้านอย่างรุนแรงต่อลัทธิทุนนิยมที่แทรกแซงโดยรัฐ (state capitalism) ที่เขาเชื่อว่า ดำเนินอยู่ในสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่น ๆ เขาสนับสนุนไอเดียทางอนาธิปไตย (หรือสังคมนิยมแบบอิสรนิยม) ของมีฮาอิล บาคูนินหลายอย่าง ชอมสกีเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของบาคูนินเกี่ยวกับรัฐเผด็จการว่า เป็นตัวพยากรณ์รัฐตำรวจที่เหี้ยมโหดในโซเวียต เช่นที่พบในเรียงความ สหภาพโซเวียตเทียบกับสังคมนิยม (The Soviet Union Versus Socialism) เขาได้นิยามระบบคอมมิวนิสต์แบบโซเวียตว่าเป็น สังคมนิยมจอมปลอม เพราะว่า ระบบสังคมนิยมต้องควบคุมการผลิตและทรัพยากรแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ตลอดจนการถือทรัพย์สินเป็นสาธารณะ เขากล่าวว่า ตรงข้ามกับที่คนจำนวนมากในอเมริกาอ้าง การล่มสลายของสหภาพโซเวียตควรพิจารณาว่าเป็น "ชัยชนะย่อย ๆ ของสังคมนิยม" ไม่ใช่ของทุนนิยม[33]
ก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ชอมสกีได้ประณามระบบจักวรรดินิยมของโซเวียตอย่างโต้ง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงถามตอบหลังเล็กเช่อร์ในประเทศนิการากัวปี 2529 เมื่อผู้ฟังคัดค้านว่าเขาสามารถ "กล่าวถึงจักรวรรดินิยมของอเมริกาเหนือและจักรวรรดินิยมของของรัสเซียในประโยคเดียวกันได้อย่างไร" เขาก็ตอบว่า
ความจริงอย่างหนึ่งเกี่ยวกับโลกก็คือ มีอภิมหาอำนาจสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นอำนาจมหึมาที่บังเอิญมีรองเท้าบูทขัดคอของคุณ และอีกฝ่ายหนึ่งที่เล็กว่า ที่ก็บังเอิญมีรองเท้าบูทขัดอยู่ที่คอของคนอื่น และผมคิดว่า ใครก็ตามในโลกที่สามที่ตกอยู่ใต้ความเข้าใจผิดในเรื่องเหล่านี้ ก็จะเป็นผู้ที่กำลังผิดพลาดอย่างมหันต์[14]
ชอมสกีเคยประทับใจในระบบสังคมนิยมที่ปฏิบัติในเวียดนาม ในปาฐกถาที่นครฮานอยวันที่ 13 เมษายน 2513 ซึ่งถ่ายทอดทางสถานีโฆษณาชวนเชื่อของเวียตกงในวันต่อไป ชอมสกีกล่าวถึง "ความชื่นชม (ของเขา) สำหรับประชาชนเวียดนามที่สามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีที่โหดร้าย และในขณะเดียวกัน ได้ก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อถึงสังคมแบบสังคมนิยม" ชอมสกีชมคนเวียดนามเหนือเพราะพยายามสร้างความรุ่งเรืองทางวัตถุ ความยุติธรรมทางสังคม และความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม เขายังกล่าวถึงและสนับสนุนวรรณกรรมทางการเมืองของเล สวน[34] ผู้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามถึง 26 ปีหลังจากโฮจิมินห์เสียชีวิต อีกด้วย
ในหนังสือปี 2516 ชื่อว่า เหตุผลเพื่อการมีรัฐ (For Reasons of State) ชอมสกีอ้างว่า แทนระบบทุนนิยมที่ประชาชนเป็น "ทาสค่าแรง" หรือระบบเผด็จการที่คณะกรรมการกลางเป็นผู้ตัดสินใจ สังคมสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ต้องมีค่าแรง เขาอ้างว่า ประชาชนควรมีอิสระในการเลือกงานที่ตนต้องการ คือประชาชนควรมีอิสระทำสิ่งที่ตนชอบ และงานที่เลือกควรเป็นทั้ง "รางวัลในตัวเอง" และ "มีประโยชน์ทางสังคม" สังคมจะดำเนินไปตามระบบอนาธิปไตยแบบสันติ โดยไม่มีรัฐหรือสถาบันที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ งานที่ไม่น่าชอบใจสำหรับทุกคน ถ้ามี ควรจะกระจายให้ทุก ๆ คนเท่า ๆ กัน[35]
แม้ว่า ชอมสกีจะคัดค้านวิธีการสร้างสังคมนิยมของสหภาพโซเวียต แต่เขาก็ไม่ได้คัดค้านขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียเท่า โดยอ้างถึงส่วนร่วมระดับรากหญ้าภายในระบบทั้งของจีนและเวียดนาม เช่น ในเดือนธันวาคม 2510 ในการประชุมในรัฐนิวยอร์ก ชอมสกีโต้การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติในประเทศจีนว่า "ผมไม่รู้สึกว่า พวกเขาควรจะได้การประณามอย่างไม่มีเงื่อนไขเลย มีอะไรหลายอย่างที่ควรจะคัดค้านในสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่เอาจีนตัวอย่าง จีนในปัจจุบัน เราอาจจะพบอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่าชื่นชม" โดยกล่าวต่อไปว่า "มีตัวอย่างที่ยิ่งกว่าจีนหลายตัวอย่าง แต่ผมคิดว่า จีนเป็นตัวอย่างสำคัญสำหรับสังคมแบบใหม่ที่อะไร ๆ ที่ดีและน่าสนใจมาก เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น ที่กระบวนการเกษตรหมู่ (collectivization) และ communization หลายอย่างมีฐานจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นจำนวนมาก และเกิดขึ้นหลังจากที่คนชั้นล่างได้ความเข้าใจระดับหนึ่งที่นำไปสู่ก้าวต่อไป"[11]
เขาได้กล่าวถึงเวียดนามว่า "แม้ว่าการมีส่วนร่วมแบบประชาธิบไตยในระดับหมู่บ้านและภูมิภาคก็มีปรากฏ แต่การวางแผนสำคัญก็ยังทำที่ศูนย์กลางในมือของผู้มีอำนาจของรัฐ"[36]
ในบริบทของการออกความเห็นเรื่องจุดผลิตน้ำมันสูงสุดในเดือนเมษายน 2548 ชอมสกีกล่าวว่า "ประเทศจีนน่าจะเป็นประเทศซึ่งมีมลพิษมากที่สุดในโลก (แม้ว่า) คุณจะมองไม่เห็น จีนเป็นรัฐเผด็จการชนิดหนึ่ง ดังนั้น จึงเท่ากับยัดเยียดมลพิษให้แก่ประชาชน แต่ระดับของมลพิษแย่มาก..."[37]
ลัทธิมากซ์
แก้ชอมสกีคัดค้านรูปแบบดันทุรังของลัทธิมากซ์หลายอย่าง และแม้แต่ลัทธิมากซ์เอง แต่ก็ยังชื่นชอบแนวคิดทางการเมืองที่มากซ์มอบให้[38] โดยไม่เหมือนกับนักอนาธิปไตยบางพวก ชอมสกีไม่พิจารณาลัทธิบอลเชวิกว่าเป็น "ลัทธิมากซ์ในระดับปฏิบัติการ" แต่เขายอมรับว่า มากซ์เป็นคนเข้าใจได้ยากและมีไอเดียต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกัน แม้เขาจะยอมรับถึงระบอบเผด็จการที่แฝงเร้นในแนวคิดของมากซ์ เขาก็ยังชี้ลัทธิมารซ์แนวอิสรนิยมที่พัฒนาเป็นสภาคอมมิวนิสต์ (council communism) (ของโรซา ลุกเซมบวร์ก และ Anton Pannekoek)[38] จุดยืนทางสังคมนิยมแบบอิสรนิยมของเขาทำให้เขาระบุตัวเองว่าเป็นนักอนาธิปไตยที่เอียงไปทางลัทธิมากซ์แบบสุดโด่ง[39]
อนาธิปไตย
แก้ชอมสกีมักจะเน้นความโน้มเอียงทางปรัชญาของเขา ไปทางลัทธิอนาธิปไตยที่คัดค้านการใช้อำนาจไม่ชอบธรรมทุกรูปแบบ แม้เขาจะไม่ออกความเห็นอย่างละเอียดว่า สังคมอนาธิปไตยควรเป็นเช่นไร เขาก็ได้ให้โครงร่างเกี่ยวกับค่านิยมและสถาบันของมันอย่างกว้าง ๆ คือ รูปแบบอนาธิปไตยที่เขาชอบใจก็คือ
... เป็นลัทธิสังคมนิยมแบบอาสาสมัคร ซึ่งก็คือ สังคมนิยมแบบอิสรนิยม หรือสหการนิยมแบบอนาธิปไตย หรืออนาธิปไตยแบบคอมมิวนิสต์ ตามรูปแบบของบาคูนิน, Kropotkin, และอื่น ๆ ผู้จินตนาการถึงสังคมที่จัดระเบียบอย่างดี โดยมีฐานเป็นหน่วยที่ปรับตัวเองได้ (organic) เป็นชุมชนที่ปรับตัวเองได้ และโดยทั่วไปแล้ว นี่จะหมายถึงระดับที่ทำงานหรือละแวกบ้าน และจากหน่วยพื้นฐานสองอย่างนี้ ก็จะสามารถสร้างองค์กรทางสังคมแบบบูรณาการผ่านการจัดระเบียบแบบสหพันธรัฐ ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับประเทศหรือแม้แต่ระดับระหว่างประเทศ และการตัดสินใจจะทำที่ระดับต่าง ๆ แต่จะโดยผู้แทนที่มาจากชุมชนปรับตัวได้นั้นเสมอ ผู้จะกลับไปยังชุมชนนั้น และเป็นผู้อาศัยในชุมชนนั้นจริง ๆ[35]
เกี่ยวกับการปกครองสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ ชอมสกีเน้นความสำคัญของรูปแบบประชาธิปไตยระดับรากหญ้าอย่างคงเส้นคงวา และเพราะเหตุนั้น สถาบันประชาธิปไตยมีตัวแทนแบบแองโกล-อเมริกัน "ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนักอนาธิปไตยสำนักนี้โดยสองสาเหตุ เรื่องแรกก็คือเพราะว่าอำนาจรวมศูนย์ผูกขาดอยู่ที่รัฐ และเรื่องสองอันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ก็เพราะประชาธิปไตยมีตัวแทนจะจำกัดอยู่ในเรื่องการเมือง และไม่ล่วงล้ำไปในเรื่องเศรษฐกิจอย่างสำคัญ"[35][40]
ชอมสกีเชื่อว่า อนาธิปไตยเป็นทายาทโดยตรงของเสรีนิยม โดยบูรณาการอุดมการณ์เกี่ยวกับเสรีภาพส่วนบุคคลและการปกครองแบบน้อยที่สุด และเป็นอุดมการณ์จากยุคเรืองปัญญา[41] เขามองสังคมนิยมแบบอิสรนิยมว่า เป็นจุดหมายอันสมเหตุผลของเสรีนิยม โดยขยายอุดมการณ์ประชาธิปไตยเข้าไปในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งทำอนาธิปไตยให้เป็นส่วนของปรัชญาทางสังคมนิยมเอง
อิสรเสรีนิยมแบบอเมริกัน
แก้ชอมสกีได้อธิบายคำว่า libertarianism (ปกติจะหมายถึงอิสรเสรีนิยม) ดังที่เข้าใจในสหรัฐอเมริกาว่า "เป็นการสนับสนุนระบบทรราชย์แบบสมบูรณ์อย่างสุดโต่ง" และ "เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามสุดของอุดมการณ์ที่เรียกว่า อิสรเสรีนิยม ดังที่เข้าใจในที่อื่น ๆ ของโลกตั้งแต่ยุคเรืองปัญญา"[42]
รัฐสวัสดิการ
แก้ชอมสกีคัดค้านอย่างรุนแรงมุมมองว่า อนาธิปไตยเข้ากับมาตรการของรัฐสวัสดิการไม่ได้ โดยกล่าวเป็นบางส่วนว่า
แน่นอนว่า บุคคลสามารถมีจุดยืนว่าเราไม่สนใจปัญหาที่คนต้องประเชิญในปัจจุบัน และต้องการคิดถึงอนาคตที่เป็นไปได้ โอเค แต่ว่า คุณก็ต้องเลิกเสแสร้งว่า คุณสนใจในมนุษย์และชะตาของมนุษย์ แล้วอยู่แต่ในห้องสัมมนาหรือร้านกาแฟของปัญญาชนร่วมกับอภิสิทธิชนอื่น ๆ หรือ บุคคลสามารถมีจุดยืนที่มีมนุษยธรรมดีกว่ามาก คือ ฉันต้องการที่จะทำการในปัจจุบันเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นจุดยืนของนักอนาธิปไตยแบบคลาสสิก และต่างจากสโลแกนต่าง ๆ ที่เป็นประเด็น นั่นแหละตรงเผงเลย และย่อมนำไปสู่การช่วยเหลือบุคคลที่ประสบปัญหาวันนี้โดยตรง คือการบังคับใช้กฎหมายสุขภาพและความปลอดภัย นิติบัญญัติเพื่อประกันสุขภาพระดับชาติ ระบบการช่วยเหลือสำหรับบุคคลที่จำเป็นต้องได้ความช่วยเหลือ เป็นต้น (แม้) นี่ยังไม่ใช่ข้อแม้ที่เพียงพอเพื่ออนาคตที่ต่างและดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นข้อแม้ที่จำเป็น อะไรอย่างอื่นก็จะได้รับความดูถูกรังเกียจที่ชอบธรรม จากบุคคลที่ไร้โอกาสเพื่อไม่ต้องใส่ใจสถานการณ์ในชีวิต ผู้ต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด[43]
สื่อมวลชน
แก้ประเด็นวรรณกรรมทางการเมืองของชอมสกีอีกอย่าง เป็นการวิเคราะห์สื่อมวลชนกระแสหลัก (โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเขากล่าวหาว่า จำกัดเรื่องที่พูดเพื่อโปรโหมตผลประโยชน์ของบริษัทและรัฐบาล
หนังสือ การผลิตความยินยอม - เศรษฐกิจทางการเมืองของสื่อมวลชน (Manufacturing Consent: The Political Economy of the Mass Media) ของเขาและผู้ร่วมเขียน ได้ตรวจสอบประเด็นนี้อย่างละเอียด แล้วเสนอแบบจำลองการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อ โดยมีกรณีศึกษาละเอียดหลายงานเพื่อสนับสนุนแบบจำลองนี้ ตามแบบจำลอง สังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเช่นสหรัฐจะใช้วิธีการควบคุมที่รู้ได้ยาก ไม่ประกอบด้วยความรุนแรง โดยไม่เหมือนกับระบบอำนาจนิยม ซึ่งสามารถใช้อำนาจความรุนแรงเพื่อบีบบังคับประชาชนทั่วไปได้ คำพูดที่ยกมาบ่อย ๆ ของชอมสกีก็คือ "การโฆษณาชวนเชื่อที่ใช้ในระบบประชาธิปไตย ก็เหมือนกับไม้กระบองที่ใช้ในระบอบเผด็จการ"
แบบจำลองพยายามอธิบายความเอนเอียงอย่างเป็นระบบเช่นนี้ ว่ามีเหตุจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เป็นการสมรู้ร่วมคิดของกลุ่มบุคคล โดยอ้างว่า ความเอนเอียงมาจาก "ตัวกรอง" 5 อย่างที่ข่าวที่ออกจะต้องผ่าน ซึ่งรวม ๆ กันมีผลบิดเบือนการรายงานข่าว
- ตัวกรองแรก คือ ความเป็นเจ้าของ ก็คือสื่อมวลชนโดยมากมีเจ้าของเป็นบริษัทขนาดใหญ่
- ตัวกรองที่สอง ก็คือ รายได้ คือสื่อได้รายได้ส่วนมากจากการโฆษณา ไม่ใช่จากผู้อ่าน ดังนั้น เนื่องจากสื่อเป็นธุรกิจเพื่อผลกำไรที่พยายามขายสินค้า ซึ่งก็คือผู้อ่านและผู้ฟัง ให้กับธุรกิจอื่น ๆ (คือผู้โฆษณา) แบบจำลองจึงชี้ว่า สื่อจะพิมพ์ข่าวที่สะท้อนความต้องการและค่านิยมของธุรกิจเหล่านั้น
- นอกจากนั้นแล้ว สื่อต้องอาศัยสถาบันของรัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความเอนเอียงที่ชัดเจนโดยเป็นแหล่งข่าว (ตัวกรองที่สาม)
- การถูกตำหนิ ซึ่งเป็นตัวกรองที่สี่ หมายถึงกลุ่มสนับสนุนต่าง ๆ ที่เล่นงานสื่อ โดยกล่าวหาว่ามีอคติหรืออื่น ๆ เมื่อไม่รายงานตามเส้น
- มาตรฐาน ซึ่งเป็นตัวกรองที่ห้า หมายถึงมโนคติสามัญที่มีร่วมกันในอาชีพนักข่าว[44]
ดังนั้น แบบจำลองจึงพยายามอธิบายว่าสื่อจะสร้างระบบโฆษณาชวนเชื่อที่ไร้ศูนย์กลาง ที่ไม่ใช่เป็นการสมรู้ร่วมคิด แต่ก็ยังมีอิทธิพลอย่างยิ่ง เป็นการระดมกำลังมติของอภิสิทธิชน จำกัดการอภิปรายประเด็นปัญหาในกรอบแนวคิดของอภิสิทธิชน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังปรากฏเป็นความยินยอมทางประชาธิปไตย ได้อย่างไร
ชอมสกีและผู้ร่วมเขียนได้ทดสอบแบบจำลองโดยวิเคราะห์ "ตัวอย่างที่คู่กัน" คือคู่เหตุการณ์ที่คล้ายกันจริง ๆ และต่างกันเพียงแค่ความสัมพันธ์กับผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาพยายามแสดงว่าในกรณีที่ "ศัตรูทางการ" ทำการอย่างหนึ่ง (เช่นสังหารบุคคลทางศาสนา) สื่อก็จะตรวจสอบและรายงานเรื่องนั้นอย่างละเอียด แต่ถ้ารัฐบาลของตนหรือรัฐบาลพันธมิตรทำสิ่งเดียวกัน (หรือแย่ยิ่งกว่านั้น) สื่อก็จะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนั้น พวกเขายังได้ทดสอบแบบจำลองกับกรณีที่บ่อยครั้งจัดว่าเป็นตัวอย่างเลิศที่สุดของสื่อเสรีและเป็นอิสระอย่างเด่นชัด คือการรายงานข่าวของเหตุการณ์ "การรุกตรุษญวน" ในช่วงสงครามเวียดนาม และแม้ในกรณีนี้ พวกเขาก็ยังอ้างว่า สื่อประพฤติเป็นเบี้ยเพื่อผลประโยชน์ของอภิสิทธิชน[ต้องการอ้างอิง]
ตะวันออกกลาง
แก้ชอมสกี "เติบโต... ภายในประเพณีวัฒนธรรมของคนยิวและคนไซออน" (Peck, p. 11) บิดาของเขาเป็นนักวิชาการชั้นนำทางภาษาฮีบรูและสอนอยู่ในสถาบันศึกษาทางศาสนา ชอมสกียังหลงไหลและมีบทบาทกับการเมืองไซออนนิสต์อย่างยาวนาน ดังที่เขาได้กล่าวไว้ว่า
ผมสนใจอย่างลึกซึ้งใน... เหตุการณ์และปฏิบัติการของขบวนการไซออนิสต์ หรือสิ่งที่เรียกว่า ไซออนนิสต์ในเวลานั้นนั้น แม้ว่าไอเดียและประเด็นเดียวกันปัจจุบันก็จะเรียกว่า ต่อต้านไซออนนิสต์ ผมสนใจทางเลือกแบบสังคมนิยมที่รวมคนทั้งสองเชื้อชาติในปาเลสไตน์ สนใจระบบ kibbutzim (เกษตรและโรงงานแบบชุมชน) และระบบแรงงานแบบสหกรณ์ที่พัฒนาขึ้นในชุมชนยิวในที่นั้น (Yishuv) ไอเดียลาง ๆ ของผมในเวลานั้น (พ.ศ. 2490) ก็คือจะไปยังปาเลสไตน์ อาจจะที่ชุมชนกิบบุตซ์แห่งหนึ่ง เพื่อมีส่วนในการร่วมมือกันระหว่างคนอาหรับ-คนยิวภายในโครงร่างสังคมนิยม ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดการมีรัฐชาวยิวที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสุดซึ้ง (อันเป็นจุดยืนที่ในขณะนั้นพิจารณาว่า อยู่ในกระแสหลักของขบวนการไซออนิสต์) (Peck, p. 7)
เขาติเตียนนโยบายของอิสราเอลต่อเพื่อนบ้านชาวปาเลสไตน์และอาหรับอย่างรุนแรง หนังสือของเขาเรื่อง สามเหลี่ยมพรหมลิขิต (The Fateful Triangle) พิจารณาว่าเป็นหนังสือชั้นยอดเกี่ยวกับการต่อสู้กันระหว่างชาวอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ตามบุคคลที่ต่อต้านนโยบายอิสราเอลเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์และนโยบายสนับสนุนการมีรัฐอิสราเอลของชาวอเมริกัน เขายังกล่าวหาอิสราเอลว่า "ชี้ทางการก่อการร้ายของรัฐ" เพราะได้ขายอาวุธให้แก่ประเทศแอฟริกาใต้ที่ยังมีนโยบายการถือผิว แก่ประเทศละตินอเมริกาที่เขาบ่งว่าเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐ เช่น ประเทศกัวเตมาลาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 และแก่กำลังกึ่งทหาร (หรือตามชอมสกี เป็นกลุ่มก่อการร้าย) ที่สหรัฐสนับสนุน เช่น พวกกบฏคอนทราสในประเทศนิการากัวChomsky 1992
ชอมสกีบ่งอิสราเอลว่าเป็น "รัฐทหารรับจ้าง" เป็น "สปาร์ตาชาวอิสราเอล" และเป็นเมืองขึ้นทางทหารภายในระบบความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐ เขายังตำหนิอย่างรุนแรงชาวยิวอเมริกันที่มีบทบาทให้อิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ โดยกล่าวว่า "พวกเขาควรจะเรียกให้ถูกว่า 'ผู้สนับสนุนความเสื่อมทางศีลธรรม และความพินาจของอิสราเอลในที่สุด'"[45]
เขากล่าวถึงองค์กร Anti-Defamation League (ADL) ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนนโยบายของอิสราเอลในสหรัฐว่า
ผู้คุมทางการชั้นนำของการต่อต้านยิว คือ Anti-Defamation League ของ B'nai B'rith ตีความการต่อต้านยิวว่า เป็นความไม่ยินยอมคล้อยตามข้อกำหนดขององค์กรเกี่ยวกับการสนับสนุนรัฐบาลอิสราเอล เหตุผลก็ตรงไปตรงมา คือ การต่อต้านยิวก็คือการต่อต้านผลประโยชน์ของอิสราเอล (ตามทัศนคติของ ADL) ADL โดยเนื้อแท้ได้ละทิ้งบทบาทในยุคต้น ๆ ของตนที่เป็นองค์กรสิทธิพลเมือง แล้วกลายเป็น "หนึ่งในเสาหลัก" ของการโฆษณาชวนเชื่อของอิสราเอลในสหรัฐ ดังที่สื่ออิสราเอลได้พรรณนาถึงองค์กรอย่างไม่เกรงใจว่า (มีหน้าที่) สอดส่องดูแล, ทำบัญชีดำ, รวบรวมไฟล์เอกสารเหมือนกับ FBI แล้วส่งเวียนไปให้สาวกเพื่อใส่ร้ายสบประมาท โต้ตอบอย่างเป็นสาธารณะด้วยความโกรธต่อการวิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการของอิสราเอล เป็นต้น การกระทำเยี่ยงนี้ ที่ค้ำด้วยคำพูดเชิงว่ามีการต่อต้านยิว หรือด้วยการกล่าวหาตรง ๆ (ล้วน) มีจุดประสงค์เพื่อเบนความสนใจจากหรือบ่อนทำลายการคัดค้านนโยบายของอิสราเอล รวมทั้งการปฏิเสธไม่ดำเนินการให้ถึงข้อตกลงทางการเมืองของอิสราเอลพร้อมกับการสนับสนุนจากสหรัฐ[46]
ในสัมภาษณ์ปี 2547[47][48][49] และในนิตยสารสำหรับเยาวชนชาวยิว Heeb[50] ชอมสกีได้กล่าวไว้ว่า
สรุปว่า ประมาณ 90% ของที่ดิน (ในอิสราเอล) สำรองไว้ให้คนที่มีเชื้อชาติ ศาสนา และแหล่งกำเนิดเป็นชาวยิว ถ้า 90% ของที่ดินในสหรัฐอเมริกาสำรองไว้สำหรับคนขาว มีเชื้อชาติ ศาสนา และแหล่งกำเนิดเป็นคนคริสต์ ผมก็จะต่อต้าน (โดย) ADL ก็จะต่อต้านเช่นกัน (ดังนั้น) เราควรจะยอมรับค่านิยมที่เป็นสากล (และต่อต้านนโยบายเยี่ยงนี้ของอิสราเอล)
ในเดือนพฤษภาคม 2556 ชอมสกีร่วมกับศาสตราจารย์ท่านอื่น ๆ ได้แนะนำ ศ. สตีเฟน ฮอว์คิงให้คว่ำบาตรการประชุมทางวิชาการในประเทศอิสราเอล[51]
เพราะทัศนคติของเขาเกี่ยวกับตะวันออกกลาง อิสราเอลจึงได้ห้ามไม่ให้ชอมสกีเข้าประเทศตั้งแต่ปี 2553[52]
สงครามอิรัก
แก้ชอมสกีต่อต้านสงครามอิรักเพราะผลที่เขาเห็นว่าเกิดต่อระบบระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือ สงครามช่วยดำรงระบบที่อำนาจและกำลังอยู่เหนือการทูตและกฎหมาย เป็นทัศนคติซึ่งเขากล่าวย่อ ๆ ใน หนังสือ ความเป็นเจ้าโลกหรือการอยู่รอด (Hegemony or Survival) ว่า
โดยยังไม่กล่าวถึงปัญหาเป็นตายว่า ใครจะเป็นผู้ปกครอง (อิรักหลังสงคราม) ผู้ที่สนใจโศกนาฏกรรมในอิรักมีจุดมุ่งหมายหลัก 3 อย่าง (1) ล้มล้างระบบทรราชย์ (2) ยุติการลงโทษที่เล็งประชาชน ไม่ใช่ผู้ปกครอง และ (3) รักษารูปลักษณ์ความเป็นระเบียบของโลก มันไม่สามารถมีความขัดแย้งกันในเป้าหมาย 2 อย่างแรกในระหว่างคนดี และการเข้าถึงเป้าหมายก็จะเป็นกาลแห่งความยินดี [...] เป้าหมายที่สองน่าจะถึงได้อย่างแน่นอน และเป้าหมายแรกด้วย โดยไม่บ่อนทำลายเป้าหมายที่สาม รัฐบาลของบุชประกาศอย่างเปิดเผยถึงความตั้งใจจะรื้อระเบียบโลกที่เหลือและควบคุมโลกโดยใช้กำลัง โดยมีอิรักเป็นจานเพาะเชื้อ ดังที่หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ เรียกว่า เป็นการสร้างความปกติใหม่[53]
การต่อต้านยิว
แก้ในสัมภาษณ์ปี 2547[47][48][49] และในนิตยสารสำหรับเยาวชนชาวยิว Heeb[50] ผู้สัมภาษณ์ได้ถามว่า "ขอกลับมาที่เรื่องต่อต้านชาวยิวอีกแป๊บหนึ่ง คุณได้เขียนว่า คุณไม่รู้สึกว่าการต่อต้านยิวเป็นปัญหาอีกต่อไป อย่างน้อยก็ในประเทศนี้ (สหรัฐ) เนื่องจากการประยุกต์ใช้ในระดับสถาบันและการกล่าวถึงอย่างลอย ๆ ได้หายไปหมดแล้ว คุณยังเชื่อเช่นนั้นหรือไม่" ชอมสกีได้โต้ตอบกับผู้สัมภาษณ์ว่า
ผมโตขึ้นในสถานการณ์ต่อต้านยิวในสหรัฐอเมริกา เราเป็นครอบครัวยิวเดียวในละแวกบ้านที่โดยมากเป็นคนคริสตังชาวไอริชและเยอรมัน ซึ่งต่อต้านยิวมากและสนับสนุนพวกนาซีพอสมควร สำหรับเด็กชายผู้เยาว์คนหนึ่ง คุณต้องเข้าใจว่านั่นเป็นอย่างไร เมื่อพ่อของผมสามารถซื้อรถมือสองเป็นครั้งแรกในปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 เราได้ขับรถไปยังภูเขาที่อยู่ใกล้ ๆ แล้วผ่านโรงแรมที่บ่งว่า "จำกัด" ซึ่งหมายถึง "ไม่รับยิว" นั่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อผมไปศึกษาที่ฮาร์วาร์ดในทศวรรษ 1950 การต่อต้านยิวหนาเป็นรูปธรรมแทบจะตัดได้ด้วยมีด จริง ๆ แล้ว เหตุผลอย่างหนึ่งทำไม MIT จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่ยอดในปัจจุบันก็คือบุคคลเช่น Norbert Wiener (ศาสตราจารย์สาขาคณิตศาสตร์) ไม่สามารถได้งานที่ฮาร์วาร์ด เพราะมีการต่อต้านยิวมากเกินไป ดังนั้น พวกเขาก็เลยมาที่สถาบันวิศวกรรมศาสตร์ที่อยู่ถัดไปในถนน นั่นแหละเป็นการต่อต้านยิว ปัจจุบัน นั่นเป็นปัญหาเล็กน้อยมาก ทุกวันนี้ก็ยังมีคตินิยมเชื้อชาติ แต่เป็นคตินิยมต่อต้านชาวอาหรับที่สุดโต่ง มีศาสตราจารย์ฮาร์วารด์ดีเด่นหลายท่านที่ได้เขียนว่า คนปาเลสไตน์ก็คือคนที่ออกเลือดและเพาะพันธุ์ความทุกข์ยากเพื่อขับพวกยิวลงทะเล และคำพูดเช่นนั้นจัดว่า ยอมรับได้ แต่ถ้าศาสตราจารย์ฮาร์วารด์ดีเด่นบางท่านจะเขียนว่า คนยิวก็คือคนที่ออกเลือดและเพาะพันธุ์ความทุกข์ยากเพื่อขับพวกปาเลสไตน์เข้าไปในทะเลทราย การร้อง (ประท้วง) อย่างเดือดดาลก็จะยิ่งใหญ่มาก ถ้าปัญญาชนชาวยิวที่จัดว่าเป็นผู้นำทางมนุษยนิยมกล่าวว่า อิสราเอลควรจะตั้งถิ่นฐานในเขต Galilee ที่คนน้อยไปหน่อย ซึ่งหมายถึงมีคนอาหรับมากและมีคนยิวน้อย นั่นก็จะจัดว่า ดีเยี่ยม คตินิยมต่อต้านชาวอาหรับแบบรุนแรง แพร่หลายจนกระทั่งเราไม่สังเกตเห็นมัน นั่นแหละเป็นสิ่งที่เราควรจะกังวล มันอยู่ในภาพยนตร์ อยู่ในโฆษณา อยู่ในทุกหนทุกแห่ง ในทางกลับกัน การต่อต้านยิวก็ยังมีอยู่ แต่ว่าเล็กน้อยมาก
การปิดล้อมเศรษฐกิจของคิวบา
แก้พฤติกรรมที่ทำในระหว่างประเทศคล้ายกับพวกมาเฟีย คือ เจ้าพ่อจะไม่อดทนต่อการท้าทายแม้จากเจ้าของร้านเล็ก ๆ[54]
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ชอมสกีเรียกเป้าหมายออกหน้าของสหรัฐเพื่อนำ "ประชาธิปไตยมาให้กับคนคิวบา" ว่าเป็น "การโฆษณาชวนเชื่อที่สามานย์เป็นพิเศษ" ในทัศนคติของเขา การปิดล้อมเศรษฐกิจของคิวบาโดยสหรัฐความจริงได้ถึงเป้าหมายที่ต้องการแล้ว ตามชอมสกี เป้าหมายก็คือ "ปฏิบัติการก่อการร้ายอย่างเข้มข้นโดยสหรัฐ" และ "สงครามเศรษฐกิจอย่างเหี้ยม" เพื่อสร้าง "ความยากลำบากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในบรรดาคนคิวบาที่อดอยาก" โดยหวังว่า ความสิ้นหวังจะทำให้ประชาชนล้มล้างระบอบการปกครอง[54] ตามเป้าหมายนี้ ชอมสกีเชื่อว่า นโยบายสหรัฐได้เข้าถึงเป้าจริง ๆ แล้ว คือได้สร้าง "ความทุกข์ยากที่ขมขื่นในบรรดาคนคิวบา กีดขวางพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และบั่นทอนความก้าวหน้าไปยังการมีประชาธิปไตยภายในประเทศ" ในทัศนตติของชอมสกี "ภัยคิวบา" จริง ๆ ก็คือพัฒนาการที่ทำสำเร็จอย่างเป็นอิสระ ซึ่งอาจดลใจให้ประเทศอื่น ๆ ที่มีปัญหาเดียวกันเลือกไปตามทางเดียวกัน ดังนั้น จึงเป็นเหตุทำ "ระบอบการครอบงำของสหรัฐ" ให้หลุดลุ่ย[54]
การกดขี่ชาวเคิร์ดของประเทศตุรกี
แก้ในคริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นประชาชนชาวเคิร์ดในตุรกีที่เป็นทุกข์เพราะการกดขี่แบบเหี้ยมโหดที่สุด คนเป็นหมื่นโดนสังหาร หมู่บ้านและเมืองเป็นพัน ๆ ถูกทำลาย คนเป็นล้าน ๆ ถูกขับออกจากแผ่นดินและบ้านโดยอาศัยความป่าเถื่อนและทรมานกรรมที่น่าขยะแขยง รัฐบาลของคลินตันได้ให้การสนับสนุนที่ขาดไม่ได้โดยตลอดโดยให้วิธีการทำลายและสังหารแก่ตุรกีอย่างมือเติบ ในปี 2540 เพียงปีเดียว คลินตันได้ส่งอาวุธให้กับตุรกีมากกว่าส่งให้แก่พันธมิตรสำคัญตลอดสงครามเย็นรวมกันนับจนถึงจุดเริ่มปฏิบัติการต่อต้านกบฏ ตุรกีได้กลายเป็นผู้รับอาวุธสหรัฐชั้นแนวหน้านอกเหนือไปจากอิสราเอลและอียิปต์ ซึ่งจัดอยู่ในคนละประเภทกัน คลินตันได้ให้อาวุธ 80% แก่ตุรกี ทำการสุดสามารถเพื่อให้มั่นใจว่าความรุนแรงของตุรกีจะสำเร็จผล การสื่อข่าวที่แทบไม่มีเป็นส่วนสำคัญต่อความพยายามนี้
— โนม ชอมสกี ในวันที่ 9 สิงหาคม 2551[55]
ชอมสกีตำหนินโยบายของตุรกีเกี่ยวกับประชาชนชาวเคิร์ดในตุรกีอย่างรุนแรง ในขณะที่ประณามการช่วยเหลือทางการทหารที่สหรัฐมอบให้ตุรกี ชอมสกีกล่าวว่า การช่วยเหลือดังว่าทำให้ตุรกีสามารถปฏิบัติการ "ก่อการร้ายที่สนับสนุนโดยสหรัฐ" ในตุรกีตะวันออกเฉียงใต้ได้ ซึ่งชอมสกีเชื่อว่า "จัดเป็นอาชญากรรมที่แย่ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในทศวรรษ 1990 อันเป็นช่วงสยองขวัญ (อยู่แล้ว)" โดยมี "คนเป็นหมื่น ๆ เสียชีวิต" และ "การทรมานที่ป่าเถื่อนทุกรูปแบบที่จะจินตนาการได้"[56]
กลุ่มปัญญาชน
แก้ชอมสกีบางครั้งตำหนินักวิชาการและกลุ่มปัญญาชนอย่างไม่เกรงใจ แม้ว่าทัศนคติของเขาปกติก็ขัดแย้งกับทัศนคติคนอื่นเป็นรายบุคคล ๆ อยู่แล้ว แต่เขาก็ได้ประณามปัญญาชนกลุ่มย่อย ๆ ที่เขามองว่า ล้มเหลวอย่างเป็นระบบ ชอมสกีเห็นปัญหากว้าง ๆ สองอย่างเกี่ยวกับปัญญาชนที่เป็นนักวิชาการ คือ
- ปฏิบัติการโดยมากเหมือนคนอีกชนชั้นหนึ่ง และแยกตัวเองจากคนอื่น ๆ โดยใช้ภาษาที่คนที่ไม่ใช่นักวิชาการจะเข้าใจไม่ได้ โดยมีผลกีดกันคนอื่นอย่างตั้งใจไม่มากก็น้อย ในทัศนคติของเขา มีเหตุผลน้อยมากที่จะเชื่อว่า นักวิชาการคิดลึกซึ้งกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม และการยกป้ายให้เป็น "ปัญญาชน (intellectual)" บดบังความจริงเกี่ยวกับการแบ่งแรงงานทางปัญญา "คำเหล่านี้จริง ๆ ตลกดี คือ การเป็น 'ปัญญาชน' แทบไม่เกี่ยวกับการทำงานด้วยปัญญา นี่เป็นเรื่องคนละเรื่อง เป็นไปได้ว่า คนมีฝีมือจำนวนมาก เช่น ช่างซ่อมรถเป็นต้น อาจจะทำงานทางสติปัญญาเท่ากับหรือมากกว่าบุคคลในมหาวิทยาลัย มีหลาย ๆ เรื่องในมหาวิทยาลัยที่สิ่งที่เรียกว่า งานวิชาการ เป็นเพียงแค่งานเสมียน และผมไม่คิดว่างานเสมียนจะยากกว่าการซ่อมเครื่องยนต์รถ และจริง ๆ แล้ว ผมคิดตรงกันข้าม ดังนั้น ถ้าคำว่า ปัญญาชน หมายถึงคนที่ทำงานด้วยสติปัญญา นั่นก็จะหมายบุคคลทั่วทั้งสังคม"[57]
- สิ่งที่ตามมาของบทตั้งแรกนี้ก็คือ อภิสิทธิ์ที่ปัญญาชนได้ ทำให้บุคคลเหล่านั้นสุดโต่งทางคตินิยมและเชื่อฟังง่ายกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม คือ "โดยคำว่า ปัญญาชน ถ้าคุณหมายถึงคนชนชั้นพิเศษที่มีหน้าที่กำหนดความคิด วางกรอบไอเดียเพื่อประโยชน์แก่คนมีอำนาจ บอกทุก ๆ คนว่าตนควรจะเชื่ออะไร เป็นต้น งั้นใช่ นั่นต่างกัน คนพวกนี้เรียกว่า 'ปัญญาชน' แต่เป็นเหมือนพระทางโลกมากกว่า คือมีหน้าที่เทิดทูนความจริงอันเป็นความเชื่อของสังคม และประชาชนจึง 'ควร' ต่อต้านปัญญาชนเพราะเหตุนั้น ผมคิดว่านั่นเป็นปฏิกิริยาที่มีประโยชน์"[57]
เมื่อถามว่ามีทฤษฎีอะไรไหมที่เขารู้สึกว่าสามารถเป็นมูลฐานทางปัญญาเพื่อท้าทายอภิมหาอำนาจผู้ครองโลก เขาก็ตอบว่า "ถ้ามีกลุ่มทฤษฎีที่ตรวจสอบและยืนยันดีแล้ว และสามารถประยุกต์ใช้กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เรื่องนี้ได้เก็บไว้เป็นความลับได้ดีเยี่ยม" แม้ว่าจะมี "การเสแสร้งที่เป็นวิทยาศาสตร์เทียม" ดังนั้น ความชอบใจทั่วไปของชอมสกีก็คือ การใช้ภาษาธรรมดาเมื่อคุยกับผู้ฟังที่ไม่ใช่นักวิชาการ
บริบทของปัญญาชนชาวอเมริกันเป็นจุดสนใจในเรียงความ ภาระหน้าที่ของปัญญาชน (The Responsibility of Intellectuals) ของเขา ซึ่งมีผลยกชอมสกีให้เป็นนักปรัชญาการเมืองชั้นแนวหน้าคนหนึ่งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 คำตำหนิอย่างครอบคลุมของเขาต่อปัญญาชนแบบใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองที่เกิดในสหรัฐอเมริกาเป็นประเด็นในหนังสือ อำนาจอเมริกันและพวกขุนนางใหม่ (American Power and the New Mandarins)[58] ซึ่งเขาอธิบายว่า ปัญญาชนไม่ทำหน้าที่ท้าทายความคิดเห็นที่ได้รับ แต่ทำหน้าที่เป็นขุนนางใหม่ (new Mandarin) ที่เขาเห็นว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อสงครามเวียดนาม เป็นผู้แก้ตัวให้กับระบอบจักรวรรดินิยมอเมริกัน เขาเขียนว่า คตินิยมของพวกเขาแสดง
แนวคิดแบบข้าราชการพลเรือนสมัยอาณานิคม ที่ถูกโน้มน้าวเพราะความกรุณาปรานีของประเทศแม่ และเพราะความถูกต้องทางทัศนคติของประเทศเกี่ยวกับระเบียบโลก โดยเชื่อว่า ตนเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของคนป่าเถื่อนที่ตนต้องจัดสรรสวัสดิการให้
ชอมสกีดูถูกความน่าเชื่อถือของคตินิยมแบบแนวคิดหลังยุคนวนิยมและ poststructuralism โดยเฉพาะก็คือเขาได้วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มปัญญาชนในกรุงปารีส ข้อปฏิเสธต่อไปนี้อาจจัดได้ว่าเป็นตัวบ่งชี้ คือ "ผมจะไม่พูดคำนี้ถ้าไม่ได้ถามถึงความเห็นของผมโดยตรง และถ้าขอให้ผมแสดงหลักฐาน ผมก็จะตอบว่าผมไม่คิดว่ามันสมคุณค่าเวลาที่จะตอบ" ความไร้ความสนใจของชอมสกีมาจากสิ่งที่เขาเห็นว่า เป็นการรวมภาษาที่ฟังได้ยากบวกกับเรื่องที่ไม่มีคุณค่าอะไรในโลก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนักวิชาการในปารีส "บางครั้งมันกลายเป็นเรื่องตลก เช่น ในบทความหลังยุคนวนิยม โดยเฉพาะแถว ๆ ปารีส ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องการ์ตูน คือเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ถ้าพวกเขาพยายามถอดรหัสว่าอะไรเป็นความหมายจริง ๆ ของมัน (คือ) ความหมายอะไร ๆ ที่คุณสามารถอธิบายต่อเด็กอายุ 8 ขวบ (ก็จะพบว่า) ไม่มีอะไรที่นั่น"[59] ปัญหานี้แย่ยิ่งขึ้นเพราะความสนใจของสื่อฝรั่งเศสต่อนักวิชาการ คือ "ในประเทศฝรั่งเศส ถ้าคุณเป็นส่วนของอภิสิทธิปัญญาชนและคุณไอ ก็จะมีข่าวพาดหน้าหนังสือพิมพ์เลอมงด์ ซึ่งเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่วัฒนธรรมปัญญาชนของฝรั่งเศสจึงน่าหัวเราะมาก มันเหมือนกับฮอลลีวูดเลย"[57]
ชอมสกีเคยปรากฏในรายการโทรทัศน์ดัตช์พร้อมกับปัญญาชนชาวฝรั่งเศสมีแชล ฟูโก ในปี 2514[60] และชอมสกีได้เขียนเกี่ยวกับฟูโกไว้ว่า
... ถ้าพยายามพอ บุคคลจะสามารถสกัดจากวรรณกรรมของเขา ความเข้าใจและข้อสังเกตที่น่าสนใจ โดยปลอกเอาโครงสร้างความสับสนที่จำเป็นเพื่อให้ได้ความน่านับถือในโลกอันแปลกประหลาดของปัญญาชน ซึ่งมีรูปแบบสุดโต่งในวัฒนธรรมอันพิกลของปารีสหลังสงคราม ฟูโกแปลกกว่าปัญญาชนปารีสอื่น ๆ ตรงที่ว่า ยังมีอะไรเหลือหลังจากปลอกเอานี่ออกแล้ว[61]
สงครามในศรีลังกา
แก้ชอมสกีสนับสนุนสิทธิชาวทมิฬเพื่อกำหนดการปกครองด้วยตนเองในเขตทมิฬอีแลม ซึ่งเป็นบ้านเกิดชาวทมิฬในศรีลังกาด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ในสัมภาษณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2552 เขากล่าวถึงการต่อสู้ดิ้นรนของชาวทมิฬว่า
ตัวอย่างเช่น บางส่วนของยุโรปก็กำลังดำเนินการเพื่อการปกครองแบบสหพันธรัฐมากขึ้น เช่น แคว้นกาตาลุญญาในสเปนปัจจุบันมีอิสระในการปกครองตัวเองในระดับสูงภายในรัฐสเปน แคว้นบาสก์ก็มีอิสระด้วย ส่วนในอังกฤษ เวลส์และสกอตแลนด์แห่งสหราชอาณาจักรกำลังดำเนินการไปสู่การปกครองตนเองและกำหนดการปกครองด้วยตนเอง และผมคิดว่า มีพัฒนาการเยี่ยงนี้ทั่วยุโรป แม้ว่าจะมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย แต่โดยทั่วไป ผมคิดว่าเป็นพัฒนาการที่ดี คือ คนมีความสนใจ พื้นเพทางวัฒนธรรม ความเป็นห่วงกังวลที่ต่าง ๆ กัน และควรมีการจัดการพิเศษเพื่อให้พวกเขาทำตามความสนใจและความกังวลของตนโดยอยู่อย่างสามัคคีกับผู้อื่น[62]
ในคำแถลงวิกฤติการณ์ในศรีลังกาที่ยื่นในเดือนกันยายน 2552 ชอมสกีเป็นหนึ่งในผู้ลงลายเซ็นที่ร้องขอให้
- สามารถเข้าถึงค่ายกักกันคนทมิฬได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
- เอาใจใส่กฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องเชลยศึกและเสรีภาพของสื่อ
- ประณามการเลือกปฏิบัติต่อคนทมิฬของรัฐตั้งแต่ได้อิสรภาพจากอังกฤษ
- กระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ สนับสนุนและอำนวย
- การแก้ปัญหาทางการเมืองที่จัดการความต้องการปกครองด้วยตนเองของชาวทมิฬ
- การปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนศรีลังกาทั้งหมด[63]
การโจมตีคนทมิฬครั้งใหญ่ในเขต Vanni ปี 2552 มีผลเป็นความตายของพลเรือนทมิฬอย่างน้อย 20,000 คนในเวลา 5 เดือน ภายใต้ความห่วงใยจากทั่วโลกว่า อาชญากรรมสงครามกำลังเกิดขึ้น[64] ในการอภิปรายปี 2548 ที่สหประชาชาติ (UN) ในเรื่อง "ความรับผิดชอบเพื่อป้องกัน (Responsibility to Protect, ตัวย่อ R2P)" อันเป็นหลักที่ตั้งขึ้นโดย UN ชอมสกีได้ตอบคำถามเกี่ยวกับคำพูดของหัวหน้าเก่าของหน่วยกิจการทางมนุษยธรรม (Humanitarian Affairs) ของ UN ผู้กล่าวว่า R2P เป็นความล้มเหลวในศรีลังกาว่า[65]
... สิ่งที่เกิดในศรีลังกาเป็นปฏิบัติการโหดเหี้ยมเหมือนในประเทศรวันดา โดยมีขนาดที่ต่างกัน ซึ่งประเทศตะวันตกไม่สนใจ มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าก่อนมากมาย การสู้รบเช่นนี้ได้ดำเนินเป็นไปปี ๆ เป็นทศวรรษ ๆ มีอะไรมากมายที่สามารถทำเพื่อป้องกันมันได้ แต่ก็ไม่มีความสนใจที่เพียงพอ[65]
โทษประหาร
แก้ชอมสกีเป็นผู้สนับสนุนต่อต้านโทษประหารอย่างเปิดเผย เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับโทษประหารในหนังสือ ความลับ เรื่องโกหก และประชาธิปไตย (Secrets, Lies, and Democracy) เขาได้กล่าวว่า
มันเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง ผมเห็นด้วยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในเรื่องนั้น และจริง ๆ กับประเทศเกือบทั่วโลก รัฐไม่มีสิทธิ์ในการเอาชีวิตประชาชน[66]
เขาได้ออกความเห็นในการใช้โทษประหารในรัฐเท็กซัสและอื่น ๆ ในวันที่ 26 สิงหาคม 2554 เขาก็กล่าวต่อต้านการประหารนายสตีเวน วูดส์ ในรัฐเท็กซัส ว่า
ผมคิดว่า โทษประหารเป็นอาชญากรรมไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหน และเป็นเรื่องแย่เป็นพิเศษในคดีของสตีเวน วูดส์ ผมคัดค้านการประหารนายสตีเวน วูดส์ ในวันที่ 13 กันยายน 2554 อย่างหัวชนฝา[67]
ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร
แก้ชอมสกีได้ตำหนิกฎหมายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ในสัมภาษณ์ปี 2552 เขากล่าวถึงลิขสิทธิ์ว่า
มันมีวิธีที่ดีกว่า
ยกตัวอย่างเช่น ในสังคมประชาธิปไตยที่เสรี ควรจะมีการรับผิดชอบที่ตกลงกันอย่างประชาธิปไตยเพื่อดำรงการสนับสนุนที่เพียงพอต่อศิลป์สร้างสรรค์ เหมือนกับที่มีต่อวิทยาศาสตร์
ถ้าทำเช่นนี้ นักศิลป์ก็จะไม่จำเป็นต้องได้ลิขสิทธิ์เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ได้[68]
เกี่ยวกับสิทธิบัตร เขากล่าวว่า
ถ้าระบบสิทธิบัตรมีในคริสต์ศตวรรษที่ 18, 19, และแม้แต่ตลอดถึง 20 ต้น ๆ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะไม่เป็นประเทศที่ร่ำรวย ประเทศที่พัฒนาแล้ว (เพราะ) พวกเขาได้พัฒนาอย่างสำคัญโดยวิธีที่ปัจจุบันเรียกว่า การละเมิดสิทธิ[68]
MIT และการประท้วงของนักศึกษา
แก้สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เป็นศูนย์วิจัยสำคัญสำหรับเทคโนโลยีการทหารสำหรับสหรัฐ แม้งานของชอมสกีเกี่ยวกับภาษาจะไม่สามารถใช้ในการทหารได้ แต่เขาก็กล่าวว่า "MIT เป็นมหาวิทยาลัยที่อาศัยเพนตากอน และผมก็ได้อยู่ในแล็บที่ได้เงินทุนจากทหาร"[69][70] แม้ว่าจะเก็บเงียบเรื่องทัศนคติต่อต้านทหารของเขาในช่วงต้น ๆ ของอาชีพ ชอมสกีก็ได้ออกความเห็นมากขึ้นหลังจากที่สงครามเวียดนามรุนแรงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2511 เขาได้สนับสนุนความพยายามของนักศึกษา MIT เพื่อให้ที่หลบซ่อนแก่คนหนีทหารในเขตวิทยาลัย[71][72] เขายังได้ให้เล็กเช่อร์เกี่ยวกับการเมืองแบบสุดโต่งอีกด้วย ในช่วงเวลานี้ คณะต่าง ๆ ของ MIT กำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์ สมาร์ทบอมบ์ เรดาร์ และเทคนิคต่อต้านกบฏเพื่อสงครามเวียดนาม[73][74][75]
นักวิทยาศาสตร์การทหารที่เป็นผู้ว่าจ้างชอมสกีที่ MIT คือ ศ. เจอโรม วีสเนอร์ ยังเป็นผู้รวบรวมกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จาก MIT และที่อื่น ๆ เพื่อสร้างกำแพงทุ่นระเบิดและระเบิดลูกปรายที่กั้นเวียดนามเหนือจากใต้[76][77][78] โดยเป็นผู้ปรึกษารัฐบาลระดับสูงสุดเกี่ยวกับนโยบายสงครามนิวเคลียร์ ศ. วีสเนอร์ก่อนหน้านี้ก็ได้นำงานวิจัยขีปนาวุธทอดตัวติดเรือดำน้ำ (SLBM) คือ Polaris มาให้ทำที่ MIT และดังที่ชอมสกีกล่าว คือ "เทคโนโลยีระบบนำวิถีขีปนาวุธจำนวนมากพัฒนาขึ้นที่เขตวิทยาลัย MIT เอง"[79][80][81] และได้ให้รายละเอียดว่า "MIT ได้เงินวิจัยจากเดอะเพนตากอนประมาณ 90% ในช่วงนั้น และผมเองก็ได้อยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเช่นนั้น คือ ผมอยู่ในแล็บการทหาร ซึ่งก็คือ Research Laboratory for Electronics"[82]
ทัศนคติต่อเงินทุนที่ MIT ได้ ชอมสกีได้กล่าวถึงในจดหมายที่ตีพิมพ์สองฉบับในปี 2510 ในฉบับแรก เขาเขียนว่า เขาได้ "คิดโดยไม่น้อยในเรื่อง ... การลาออกจาก MIT ซึ่งยิ่งกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ สัมพันธ์กับปฏิบัติการของกระทรวงกลาโหม (ซึ่งตามชื่ออังกฤษแปลตรง ๆ ได้ว่า กระทรวง 'การป้องกัน')" และว่า "การมีส่วนร่วมของ MIT ในปฏิบัติการเพื่อชัยชนะในสงคราม (เวียดนาม) เป็นทั้งโศกนาฏกรรมและเรื่องแก้ตัวไม่ได้" ในฉบับที่สองที่เขียนเพื่อทำฉบับแรกให้ชัดเจน ชอมสกีกล่าวว่า "MIT ในฐานะสถาบันไม่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการเพื่อชัยชนะในสงคราม แต่ก็เหมือนกับที่อื่น ๆ บุคคลต่าง ๆ ที่ MIT มีส่วนรวมโดยตรง และนั่นเป็นสิ่งที่ผมได้หมายถึง"[83][84][85]
โดยปี 2512 นักศึกษาปฏิบัติการที่ MIT ก็กำลังรณรงค์อย่างขมีขมันเพื่อ "ยุติการวิจัยทางสงคราม" ที่ MIT[86] แม้ชอมสกีจะเห็นใจนักศึกษา แต่ก็แย้งว่า การทำงานวิจัยทางการทหารในเขตวิทยาลัยก็ยังดีที่สุด โดยเสนอว่า ควรจะทำจำกัดอยู่ในสิ่งที่เขาเรียกว่า "ระบบที่มีลักษณะป้องกันตัวหรือเป็นตัวขัดขวางเพียงอย่างเดียว"[87][88][89] ประธานนักศึกษาในขณะนั้นได้กล่าวถึงจุดยืนนี้ว่า เท่ากับ "อนุรักษ์งานวิจัยทางสงครามโดยแก้ไขเล็กน้อย"[88]
ในช่วงเวลานี้ MIT มีนักศึกษา 6 คนที่ถูกตัดสินจำคุกโดยที่ชอมสกีกล่าวว่า นักศึกษาต้องทนทุกข์กับสิ่ง "ที่ไม่ควรเกิดขึ้น" แต่ว่า เขาก็ยังกล่าวถึง MIT ว่า "มีเสรีภาพและซื่อสัตย์มากที่สุดและมีความสัมพันธ์ดีที่สุดระหว่างคณะอาจารย์กับนักศึกษาในบรรดา... ที่มีประวัติดีในเรื่องเสรีภาพพลเมือง"[90][91] ความแตกต่างระหว่างชอมสกีกับนักศึกษาผู้ปฏิบัติการในช่วงเวลานี้เป็น "ความขัดแย้งพอสมควร" เขากล่าวถึงการจลาจลในเขตวิทยาลัยสหรัฐต่าง ๆ ว่า "โดยมากหลงผิด" และไม่ประทับใจกับการจลาจลของนักศึกษาในเดือนพฤษภาคม 2511 ที่กรุงปารีส โดยกล่าวว่า "ผมแทบไม่ได้สนใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกรุงปารีสดังที่คุณเห็นได้จากสิ่งที่ผมเขียน และนั่นสมควร ตามที่ผมคิด"[92] ในทางตรงกันข้าม เขาก็ยังรู้สึกขอบคุณต่อนักศึกษาในฐานะยกปัญหาของสงครามเวียดนาม
การตีความเฉพาะของชอมสกีเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการ ทำให้เขาสนับสนุนนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการทหารมากกว่า แม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2512 เมื่อเขาได้ยินว่าวอลต์ รอสทาว ผู้เป็นสถาปนิกหลักของสงครามเวียดนามคนหนึ่ง ต้องการจะกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัย ชอมสกีขู่ว่าจะ "ประท้วงอย่างเป็นสาธารณะ" ถ้ารอสทาว "ถูกปฏิเสธไม่ให้ตำแหน่งที่ MIT" ในปี 2532 ชอมสกีสนับสนุนผู้ให้คำปรึกษาแก่เพนตากอนเป็นระยะเวลานานคือ จอห์น ดิวช์ โดยเป็นผู้สมัครเป็นประธานกรรมการบริหาร MIT เมื่อดิวช์ต่อมากลายเป็นผู้อำนวยการของสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ อ้างคำของชอมสกีว่า "เขามีความซื่อสัตย์และความซื่อตรงมากกว่าทุกคนที่ผมเคยพบในชีวิตนักวิชาการ หรือในชีวิตอื่น ๆ ถ้าต้องมีใครดำเนินการ CIA ผมก็ดีใจว่ามันเป็นเขา"[93][94][95]
อิทธิพลในฐานะนักปฏิบัติการ
แก้การต่อต้านสงครามเวียดนาม
แก้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2510 ชอมสกีได้กลายเป็นผู้ต่อต้านสงครามเวียดนามที่เด่นที่สุดคนหนึ่งเมื่อพิมพ์เรียงความชื่อว่า "ภาระหน้าที่ของปัญญาชน (The Responsibility of Intellectuals)" ในนิตยสาร การวิจารณ์หนังสือของนิวยอร์ก (New York Review of Books) [96] นักเขียนผู้หนึ่งได้กล่าวไว้ว่า
โดยปี 2510 พวกหัวรุนแรง (คือผู้สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสุด ๆ) ก็หมกมุ่นอยู่กับสงครามและอัดอั้นตันใจเพราะไร้อิทธิพลเพื่อเปลี่ยนทิศทางของมัน
รัฐบาลก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเพราะเหตุการประท้วง ประชาชนก็ไม่มีข้อมูลและไม่ไยดี และเทคโนโลยีอเมริกันก็กำลังทำลายเวียดนามให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วอะไรเล่า เป็นภาระหน้าที่ของพวกเขา โนม ชอมสกีสำรวจปัญหานี้ด้วยเรียงความเดือนกุมภาพันธ์ 2510 ใน New York Review ซึ่งได้กลายเป็นวารสารที่ชื่นชอบของพวกหัวรุนแรง ชอมสกีกล่าวว่า เพราะเหตุการศึกษาและอิสรภาพทางเวลาของตน ปัญญาชนย่อมมีภาระหน้าที่มากกว่าประชาชนทั่วไปในเรื่องปฏิบัติการของรัฐ เป็นหน้าที่เฉพาะของพวกเขา "เพื่อพูดความจริงและเปิดเผยเรื่องโกหก" ชอมสกีสรุปโดยอ้างเรียงความเขียนเมื่อ 20 ปีก่อนโดย ดไวท์ แม็คโดนัลด์ ที่แสดงนัยว่า ในยามวิกฤติ การเปิดเผยความเท็จก็ยังอาจไม่เพียงพอ คือ แม็คโดนัลด์ได้เขียนไว้ว่า "เฉพาะบุคคลที่เต็มใจขัดขึนผู้มีอำนาจเอง เมื่อผู้มีอำนาจขัดกับศีลธรรมประจำตัวของตนอย่างรับไม่ได้ บุคคลเหล่านั้นเท่านั้นมีสิทธิประณามผู้อื่น" บทความของชอมสกีก็เริ่มรู้จักกันอย่างทันทีว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับปัญญาชน
พร้อมกับนักศึกษาหัวรุนแรง ปัญญาชนหัวรุนแรงก็เริ่มเปลี่ยน "จากการประท้วงเป็นการขัดขืน"[97]
การตอบรับข้อความนี้ในช่วงเวลาเดียวกันมาจากศาสตราจารย์กิตติคุณสาขาปรัชญาของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เรเซียล เอเบียวล์สัน[98]
... การประณามที่ปลุกความรู้สึกทางศีลธรรมและให้เหตุผลอย่างทรงพลังของชอมสกี ต่อการรุกรานของอเมริกันในเวียดนามตลอดจนที่อื่น ๆ ทั่วโลก เป็นเอกสารทางการเมืองที่เร้าอารมณ์มากที่สุดที่ผมเคยได้อ่านตั้งแต่การเสียชีวิตของเลออน ทรอตสกี มันสร้างกำลังใจเมื่อเห็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องเสี่ยงทั้งเกียรติยศ เสี่ยงการได้ทุนจำนวนมากจากรัฐบาล และเสี่ยงชื่อเสียงของตน เพื่อความเป็นกลางเยี่ยงเทพโอลิมปัส โดยถือจุดยืนตรงกันข้ามที่ชัดเจนไร้ข้อจำกัด ในข้อพิพาททางศีลธรรม-การเมืองที่กำลังลุกช่วงในปัจจุบัน...
ชอมสกียังมีส่วนร่วมกับปฏิบัติการ "ขัดขืน" ซึ่งเขากล่าวถึงในเรียงความและจดหมายต่อ ๆ มาที่พิมพ์ใน New York Review of Books คือ[99]
- ไม่จ่ายภาษีรายได้ครึ่งหนึ่ง
- ร่วมเดินขบวนประท้วงที่เดอะเพนตากอนในปี 2510
- ติดคุกคืนหนึ่ง[100]
ทัศนคติของชอมสกีต่างจากความเห็นต่อต้านสงครามเวียตนามทั่วไปซึ่งจัดสงครามเป็นความผิดพลาดที่น่าสลดใจ คือเขาอ้างว่า สงครามจัดเป็นผลสำเร็จจากมุมมองของสหรัฐ เพราะจุดหมายหลักของนโยบายสหรัฐก็เพื่อทำลายขบวนการชาตินิยมของคนชั้นล่างในเวียดนาม โดยเฉพาะก็คือ เขาอ้างว่า การโจมตีของสหรัฐไม่ได้เริ่มด้วยการป้องกันเวียดนามใต้จากเวียดนามเหนือ แต่เริ่มด้วยการโจมตีโดยตรงตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 (โดยมีการแทรงแซงแบบลับ ๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1950) และโดยเบื้องต้น เป็นการโจมตีเวียดนามใต้ แม้เขาจะเห็นด้วยกับนักประวัติศาสตร์ทั่วไปว่า รัฐบาลสหรัฐเป็นห่วงถึงความเป็นไปได้ของผลแบบโดมิโนในเอเชียอาคเนย์ แต่จากจุดนี้ ชอมสกีก็จะเริ่มต่างจากความเห็นทั่วไป คือเขายืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐไม่ได้กังวลเรื่องการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิอำนาจนิยม แต่เป็นห่วงเรื่องขบวนการชาตินิยมที่ไม่ยอมอ่อนข้อเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างเพียงพอ
ความสงสัยเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา
แก้พวกคอมมิวนิสต์เขมรแดงขึ้นสู่อำนาจในกัมพูชาเดือนเมษายน 2518 แล้วขับไล่ชาวตะวันตกออกจากประเทศทั้งหมด แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเทศทั้งหมดจึงมาจากผู้ลี้ภัยไม่กี่พันคนที่หนีไปยังประเทศไทยและจากแถลงการณ์ทางการของรัฐบาลเขมรแดง โดยผู้ลี้ภัยได้เล่าเรื่องการสังหารหมู่ของเขมรแดงตลอดจนความอดอยากที่แพร่หลาย แต่นักวิชาการฝ่ายซ้ายก็ชื่นชมสรรเสริญเขมรแดงและเชื่อเรื่องผู้ลี้ภัยเพียงแค่บางส่วน
ในเดือนกรกฎาคม 2521 ชอมสกีและผู้ร่วมงานก็เข้าสู่ประเด็นขัดแย้งนี้ คือพวกเขาได้ทบทวนหนังสือ 3 เล่มเกี่ยวกับกัมพูชา เป็นหนังสือสองเล่มที่เขียนโดยนักข่าวและบาทหลวงคริสตังอาศัยการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาแล้วสรุปว่า เขมรแดงได้สังหารหรือมีส่วนรับผิดชอบกับการตายของคนกัมพูชาเป็นแสน ๆ คน ส่วนหนังสือเล่มที่สามเขียนโดยนักวิชาการ ผู้กล่าวถึงเขมรแดงด้วยความชื่นชม
ชอมสกีและผู้ร่วมงานเรียกหนังสือสองเล่มแรกว่าเป็น "การโฆษณาชวนเชื่อชั้นเลว" โดยเป็นส่วนของ "การรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อที่ยิ่งใหญ่แบบไม่เคยมีมาก่อน" เพื่อต่อต้านเขมรแดง เขากล่าวว่า หนังสือเล่มที่สองนั้นน่าอ่านแต่เชื่อถือไม่ได้ ชอมสกีกล่าวว่า เรื่องความโหดร้ายของเขมรแดงจากผู้ลี้ภัยควรพิจารณาอย่างระมัดระวังเพราะว่าไม่มีการตรวจสอบที่เป็นอิสระอื่น ๆ โดยเทียบกันแล้ว ชอมสกีชอบใจหนังสือเล่มที่สามมาก ซึ่งแสดงกัมพูชาใต้การปกครองของเขมรแดงว่าเป็น "ทัศนียภาพแบบชนบท" เขาได้ให้ความเห็นว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานของหนังสือเล่มที่สามดีกว่าหนังสือเล่มที่สอง แม้ว่า หนังสือเล่มที่สามจะอ้างอิงเอกสารของเขมรแดงเกือบทั้งหมด ส่วนหนังสือเล่มที่สองอ้างอิงการคุยกับผู้ลี้ภัยกัมพูชา[101]
ชอมสกีและเพื่อนร่วมงานต่อมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับกัมพูชาชื่อว่า หลังหายนะ (After the Cataclysm) (2522) ซึ่งพิมพ์หลังจากที่เขมรแดงหมดอำนาจแล้ว นักวิชาการกัมพูชาชาวอเมริกัน-กัมพูชาที่เป็นผู้ลี้ภัยด้วยกล่าวว่า "เป็นหนังสือที่สนับสนุนการปฏิวัติของเขมรมากที่สุดเล่มหนึ่ง" ที่ผู้เขียนสองท่าน "ประพฤติเท่ากับป้องกันเขมรแดงโดยซ่อนอยู่ภายใต้การโจมตีสื่อ"[102] ในหนังสือของชอมสกี พวกเขายอมรับว่า "บันทึกความโหดร้ายในกัมพูชามีแก่นสารและบ่อยครั้งน่าสยดสยอง" แต่ตั้งข้อสงสัยในจำนวน ซึ่งเชื่อว่า อาจขยาย "เป็น 100 เท่า" เพราะนโยบายการเกษตรของเขมรแดงได้มีรายงานว่าได้ผลที่ "น่าตื่นตา"[103]
แต่ผิดจากชอมสกีและเพื่อนร่วมงาน รายงานความโหดร้ายของเขมรแดงและความอดอยากอย่างไม่น่าเชื่อในกัมพูชาพิสูจน์แล้วว่าแม่นยำโดยไม่ได้เฟ้อ แม้ว่าผู้ปฏิเสธหรือสงสัยการสังหารหมู่ในกัมพูชาต่อมาจะถอนคำพูดเดิม แต่ชอมสกีก็ยังยืนยันว่า การวิเคราะห์เรื่องกัมพูชาของเขาไม่ได้ผิดพลาดโดยอาศัยข้อมูลที่เขามีในตอนนั้น[104] ส่วนผู้ร่วมงานของเขาได้ตอบโต้กับผู้วิพากษ์วิจารณ์ในปี 2544 ว่า "ชอมสกีและผมพบว่า การถามคำถามเกี่ยวกับ...ผู้ประสบเคราะห์ในระหว่างการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านเขมรแดงระหว่างปี 2518-2522 เพียงแค่นั้น ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และถูกปฏิบัติโดยแทบไม่มีข้อยกเว้นว่าเป็น 'การแก้ตัวให้แก่พล พต'"[105]
นักวิชาการกัมพูชาผู้ลี้ภัยดังกล่าวได้ตำหนิการสนับสนุนเขมรแดงของชอมสกีว่า "ในขณะที่ครอบครัวของผมต้องทำนาและเสียชีวิตในนาข้าว ชอมสกีได้ลับคมทฤษฎีและปรับปรุงข้อโต้แย้งของเขา โดยนั่งอยู่ในเก้าอี้มีเท้าแขนในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ผมเชื่อว่าเขาน่าจะให้ผมโทษคนอเมริกันและระเบิดของพวกเขา ที่ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับเขมรแดงให้ออกนอกลู่นอกทาง... บางทีวันหนึ่ง ชอมสกีจะยอมรับ 'ความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ' ในบันทึกความจำของเขา โดยกล่าวถึงภาระหนักของนักวิชาการและการเยาะเย้ยชะตากรรมที่น่าสลดใจของประวัติศาสตร์ แต่เหยื่อของเขา คือคนชั้นล่างในอินโดจีน จะไม่ได้เขียนบันทึกความจำและจะถูกลืมไป โดยรวมเข้ากับเหยื่อชาวเกาหลีเหนือและบอสเนียของเขา เป็นทศวรรษ ๆ แล้ว ที่ชอมสกีได้ประณามผู้ตำหนิเขาโดยวิธีที่นักภาษาศาสตร์ระดับโลกเท่านั้นจะสามารถ แต่ว่า สำหรับผมและสมาชิกครอบครัวผมที่รอดชีวิตมาได้ คำถามเรื่องชีวิตใต้อำนาจของเขมรแดงไม่ใช่เป็นเพียงแค่กีฬาในร่มที่เป็นไปตามสติปัญญา"[106]
ติมอร์ตะวันออก
แก้ในปี 2518 กองทัพบกอินโดนีเซียภายใต้บังคับบัญชาของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ได้บุกเข้าไปในติมอร์ตะวันออก โดยยึดครองอยู่จนถึงปี 2542 และมีผลให้ของคนติมอร์ตะวันออกประมาณ 80,000-200,000 คนเสียชีวิต[107] (รายงานละเอียดทางสถิติที่ทำเพื่อคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองในติมอร์ตะวันออก ต่อมาอ้างจำนวนที่ต่ำกว่าคือการเสียชีวิตเกี่ยวกับสงครามในช่วงปี 2517-2542 ที่ 102,800 คน โดยมีคน 18,600 ถูกสังหาร และ 84,200 คนที่เสียชีวิตเพราะความเจ็บป่วยและอดอยาก)[107] โดยตัวเลขแรกพิจารณาว่า "เทียบสัดส่วนได้" กับการสังหารหมู่ในกัมพูชา แม้ว่าการเสียชีวิตทั้งหมดในกัมพูชาจะมากกว่าอย่างเทียบไม่ได้[108]
ชอมสกีอ้างว่า การสนับสนุนทางการทหาร ทางการเงิน และทางการทูตอันสร้างชัยชนะอย่างขาดลอยที่ได้ให้ต่อรัฐบาลซูฮาร์โต มาจากรัฐบาลสหรัฐต่อ ๆ กัน เริ่มต้นจากประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ผู้พร้อมกับเลขาธิการกระทรวงต่างประเทศเฮนรี คิสซินเจอร์ ได้เปิด "ไฟเขียว" ต่อการรุกราน โดยก่อนหน้านั้น สหรัฐได้เป็นผู้จัดส่งอาวุธให้กับกองทัพบกอินโดนีเซียถึง 90% และ "โดยปี 2520 อินโดนีเซียก็ได้พบว่าตนขาดอาวุธ อันเป็นตัวบ่งชี้ขนาดการโจมตี รัฐบาลของคาร์เตอร์ (2520-2524) จึงได้เร่งการส่งอาวุธให้ (ต่อมา) อังกฤษจึงเข้าร่วมวงเมื่อความโหดเหี้ยมถึงจุดยอดในปี 2521 ในขณะที่ฝรั่งเศสประกาศว่า ตนจะขายอาวุธให้อินโดนีเซียและป้องกันอินโดนีเซียไม่ให้ 'เรื่องน่าอาย' ปรากฏต่อสาธารณชน ประเทศอื่น ๆ ดัวย ก็ได้หาวิธีได้กำไรจากการเข่นฆ่าและการทรมานคนติมอร์"[109] โดยเหตุการณ์หายนะทางมนุษยธรรมนี้ ประชาคมโลกมองแทบไม่เห็น[110]
ชอมสกีได้พยายามเพิ่มความสำนึกต่อวิกฤติการณ์ตั้งแต่ต้น ๆ[111] ในเดือนพฤศจิกายน 2521 และตุลาคม 2522 ชอมสกีได้แถลงการณ์ต่อหน้าคณะกรรมการของ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมในติมอร์ตะวันออกและการไร้การสื่อข่าว[112]
ในปี 2542 เมื่อชัดเจนว่าคนติมอร์ส่วนใหญ่จะลงคะแนนเพื่อเอกราชในการลงประชามติที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติ กองทัพและกลุ่มกำลังกึ่งทหารของอินโดนีเซียก็โต้ตอบโดยพยายามข่มขวัญประชาชน ในช่วงนี้ ชอมสกีเลือกที่จะเตือนคนอเมริกันด้วยเหตุผล 3 อย่างที่เขารู้สึกว่า คนอเมริกันพึงห่วงใยในเรื่องติมอร์ตะวันออก
เบื้องต้น ตั้งแต่การรุกรานเดือนธันวาคม 2518 ของอินโดนีเซีย ติมอร์ตะวันออกได้เป็นที่เกิดความโหดเหี้ยมที่เลวร้ายที่สุดในยุคปัจจุบัน เป็นความโหดร้ายที่กำลังเกิดขึ้นอีก ณ บัดนี้ สอง รัฐบาลสหรัฐได้มีบทบาทเป็นตัวตัดสินในการเพิ่มความโหดเหี้ยมเหล่านี้ และสามารถทำการง่าย ๆ เพื่อบรรเทาหรือยุติมันโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งระเบิดที่กรุงจาการ์ตาหรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ตลอดเหตุการณ์นี้ ถ้าวอชิงตันเพียงถอนการสนับสนุนและบอกลูกน้องอินโดนีเซียว่าเกมโอเว่อร์แล้ว นั่นก็จะเพียงพอแล้ว ซึ่งก็ยังเป็นจริงเมื่อสถานการณ์กำลังถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ อันเป็นเหตุผลที่สาม[113]
อาทิตย์ต่อ ๆ มา หลังจากการลงคะแนนเพื่อเอกราช กองทัพอินโดนีเซียก็ได้ขับไล่ "คนเป็นแสน ๆ จากบ้าน โดยทำลายส่วนมากของประเทศและเป็นครั้งแรกที่ความโหดร้ายเผยแพร่เป็นอย่างดีในสหรัฐ"[114]
นักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลียคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า
เมื่ออินโดนีเซียเข้ารุกรานติมอร์ตะวันออกพร้อมกับการสนับสนุนของสหรัฐในปี 2518 ชอมสกีได้เข้าร่วมกับนักปฏิบัติการอื่น ๆ ในการรณรงค์อย่างไม่ย่อท้อโดยเป็นความสามัคคีระหว่างนานาประเทศ ปาฐกถาและวรรณกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ของเขา ทั้งมากมายและมีคนอ่านมาก แต่ว่าการช่วยเหลือทางการเงินของเขามีคนรู้น้อยกว่า เมื่อสื่อสหรัฐปฏิเสธไม่สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวติมอร์โดยอ้างว่าไม่สามารถเข้าถึงบุคคลเหล่านั้นได้ ชอมสกีก็ได้ออกเงินส่วนตัวจ่ายค่าเครื่องบินของผู้ลี้ภัยหลายคน นำพวกเขาจากกรุงลิสบอนมายังสหรัฐ และได้พยายามพาพวกเขาเข้าไปยังสำนักงานบรรณาธิการของเดอะนิวยอร์กไทมส์ และสำนักงานสื่ออื่น ๆ การช่วยเหลือทางการเงินของเขาเพื่อหลักการเช่นนี้ไม่มีใครเห็น เนื่องจากการไม่พูดของเขาเอง
นักปฏิบัติการกรณีติมอร์คนหนึ่งได้กล่าวว่า "พวกเราได้เรียนรู้ว่า ปัจจัยชอมสกีกับติมอร์ตะวันออกเป็นพันธมิตรที่ขลัง" และ "พิสูจน์แล้วว่า มีอำนาจเหนือกว่าบุคคลที่พยายามเอาชนะเรา"[115]
เมื่ออยู่ต่อหน้าคณะกรรมาธิการไต่สวนพิเศษอิสระเกี่ยวกับติมอร์-เลสเตแห่งสหประชาชาติ ซึ่งต่อมาพิมพ์รายงานสำคัญในปี 2549[116] นักปฏิบัติการอเมริกันผู้สำคัญอย่างขาดไม่ได้ (Arnold Kohen) ในการสร้างความสำนึกให้คนตะวันตกเกี่ยวกับเหตุการณ์หายนะเริ่มตั้งแต่ปี 2518 ได้ให้การว่า
คำของชอมสกีในเรื่องนี้มีอิทธิพลจริง ๆ บางครั้งโดยอ้อม และประวัติศาสตร์ควรบันทึกมันไว้ เพราะว่า มันเป็นเรื่องสำคัญมากในการช่วยเปลี่ยนภาวะความบอดมืดอันกว้างขวางเกี่ยวกับติมอร์ตะวันออก ที่มีทั้งในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ ในเวลานั้น[117]
เมื่อฌูแซ รามุช-ออร์ตาและหัวหน้าบาทหลวงการ์ลุช ฟีลีปึ ชีเมนึช เบลู ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2539 ชอมสกีตอบรับว่า "นั่นดีมาก นั่นเป็นเรื่องที่ดี ผมได้เจอกับฌูแซ รามุช-ออร์ตา ในเซาเปาลู (ประเทศบราซิล) ผมยังไม่เห็นปาฐกถาทางการของเขา แต่แน่นอนที่เขาจะพูดต่อหน้าสาธารณชนว่า รางวัลควรให้กับชานานา กุฌเมา ผู้เป็นผู้นำกาต่อต้านการรุกรานของอินโดนีเซีย (บัดนี้) เขาอยู่ในคุกอินโดนีเซีย แต่ว่า การยอมรับการต่อสู้ดิ้นรนนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก หรือว่าจะกลายเป็นเรื่องสำคัญถ้าเราสามารถทำมันให้เกิดประโยชน์"[118]
สำนักพิมพ์กับศาลตุรกี
แก้ในปี 2545 ตุรกีดำเนินคดีกับผู้พิมพ์หนังสือชาวตุรกี Fatih Tas เพราะเผยแพร่รวมเรียงความของชอมสกีภายใต้ชื่อว่า การแทรกแซงของอเมริกัน (American Intervention) โดยอ้างว่า หนังสือ "โปรโหมตการแบ่งแยกดินแดน" และละเมิดมาตรา 8 ของกฎหมายต่อต้านก่อการร้ายของตุรกี[119] เรียงความบทหนึ่งในหนังสือเป็นการพิมพ์ซ้ำปาฐกถาที่ชอมสกีให้ในเมืองโทเลโด รัฐโอไฮโอ ที่มีการอ้างว่า ตุรกีกดขี่ประชาชนชาวเคิร์ดอย่างเหี้ยมโหด อัยการได้อ้างคำพูดต่อไปนี้ว่า มีโทษเป็นพิเศษ
ในปี 2527 รัฐบาลตุรกีได้เริ่มปฏิบัติการสงครามใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ต่อประชาชนชาวเคิร์ด แล้วดำเนินต่อไป จริง ๆ ก็ยังดำเนินอยู่
ถ้าเราตรวจดูความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐต่อตุรกี ซึ่งปกติจะเป็นดัชนีแสดงนโยบายเป็นอย่างดี แน่นอนว่าตุรกีเป็นพันธมิตรที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ ดังนั้น จึงได้รับการช่วยเหลือทางทหารค่อนข้างมากอย่างเสมอ ๆ แต่ว่า ความช่วยเหลือได้พุ่งขึ้นในปี 2527 ในเวลาเดียวกับที่สงครามต่อต้านกองโจร/กบฏก็เริ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่า นี่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามเย็น (เพราะ) มันเป็นสงครามต่อต้านกองโจร ความช่วยเหลือก็ดำรงอยู่ในระดับสูงโดยถึงจุดยอดในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 เมื่อความโหดร้ายเพิ่มขึ้น ปีจุดยอดคือปี 2540 (และ) จริง ๆ แล้ว ในปี 2540 ปีเดียว ความช่วยเหลือทางทหารที่ให้แก่ตุรกีนั้น มากกว่าช่วง 2493-2526 ทั้งหมดซึ่งเป็นระยะที่อ้างว่า มีปัญหาสงครามเย็น ผลตอนจบน่ากลัวมาก คนเป็นหมื่นถูกสังหาร มีผู้ลี้ภัยเป็น 2-3 ล้านคน มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันยิ่งใหญ่โดยมีหมู่บ้าน 3,500 หมู่บ้านถูกทำลาย ซึ่งเป็น 7 เท่าของคอซอวอเมื่อนาโต้กำลังทิ้งระเบิด และก็ไม่มีใครมาทิ้งละเบิดในกรณีนี้ ยกเว้นกองทัพอากาศตุรกีผู้ใช้เครื่องบินที่คลินตันส่งไปให้โดยรู้อย่างแน่นอนว่า เครื่องบินจะใช้กันอย่างไร[120]
เพราะการขอร้องของนักปฏิบัติการชาวตุรกี ชอมสกีได้ร้องให้ศาลตุรกีกำหนดเขาเป็นจำเลยร่วม แล้วให้การในศาลที่กรุงอิสตันบูลในปี 2545 ศาลต่อมาจึงยกฟ้องผู้พิมพ์หนังสือ หลังจากการพิจารณาคดี บริษัท BBC รายงานคำพูดของผู้พิมพ์หนังสือว่า "ถ้าชอมสกีไม่ได้อยู่ที่นั่น เราคงจะหวังการตัดสินเช่นนี้ไม่ได้"[121]
ในขณะที่ชอมสกีอยู่ในตุรกีเพื่อการพิจารณาคดี เขาได้เดินทางไปที่เมือง Diyarbakır ทางทิศใต้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงโดยปริยายของชนชาวเคิร์ดในตุรกี ที่เขาได้ให้ปาฐกถาที่สร้างความขัดแย้ง คือกระตุ้นให้ชาวเคิร์ดก่อตั้งชุมชนที่มีอิสรภาพในการปกครองตนเอง[122] และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้อัดเสียงและคำแปลของปาฐกถาส่งให้ศาลตุรกีเพื่อการสอบสวนภายในอีกไม่กี่วันต่อมา[123]
ในเดือนมิถุนายน 2549 ผู้พิมพ์หนังสือ Tas ก็ถูกดำเนินคดีอีก พร้อมกับบรรณาธิการสองคนและผู้แปลอีกคนหนึ่ง เพราะพิมพ์หนังสือของชอมสกีแปลเป็นภาษาตุรกี คือ การผลิตความยินยอม (Manufacturing Consent) จำเลยถูกฟ้องโดยใช้มาตรา 216 และ 301 ของประมวลกฎหมายอาญาตุรกี ในฐาน "สร้างความอัปยศต่อความเป็นคนตุรกี ต่อสาธารณรัฐ และต่อรัฐสภา ต่อหน้าธารกำนัญ" และ "ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและความเป็นศัตรูในหมู่ชน"[124] ศาลไม่อนุญาตให้ผู้เขียนให้การในนามของจำเลย ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ศาลก็ได้ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ ผู้พิมพ์หนังสือก็ยังมีคดีอีกหลายเรื่องเนื่องจากการพิมพ์หนังสืออื่น ๆ
ในปี 2546 ในนิตยสาร New Humanist ชอมสกีได้เขียนเกี่ยวกับการปราบปรามเสรีภาพทางการพูดในตุรกีและ
ความกล้าหาญและการอุทิศตนของนักศิลป์ นักเขียน นักวิชาการ นักข่าว ผู้จัดพิมพ์หนังสือ และบุคคลอื่น ๆ ในแนวหน้า ผู้ดำเนินการดิ้นรนต่อสู้วันต่อวันเพื่อเสรีภาพทางการพูดและสิทธิมนุษยชน โดยไม่ใช่เพียงแค่ด้วยคำพูดแต่ด้วยปฏิบัติการขัดขืนกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมเป็นประจำ และบางคนต้องใช้ชีวิตเป็นเวลาไม่ใช่น้อยในคุกตุรกี เพราะความยืนกรานของพวกเขาที่จะบันทึกประวัติความจริงของประชาชนชาวเคิร์ดที่ถูกกดขี่อย่างทารุณ[125]
การไม่ได้ความสำคัญจากสื่อกระแสหลัก
แก้ชอมสกีปรากฏตัวน้อยมากในสื่อข่าวยอดนิยมในสหรัฐ เช่น สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น, นิตยสารไทม์, นิตยสาร Foreign Policy และอื่น ๆ แต่ว่า เล็กเช่อร์ที่อัดไว้ของเขามักจะเล่นเป็นปกติที่สถานีวิทยุสาธารณะแห่งชาติ (NPR) ในสหรัฐอเมริกา ที่รับออกอากาศเล็กเช่อร์แบบหัวก้าวหน้า ผู้ค้านชอมสกีอ้างว่า การรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักเพียงพอ (ในประเด็นนั้น ๆ) แล้ว และเป็นเรื่องไม่แปลกเมื่อพิจารณาว่า นักวิชาการโดยทั่วไปบ่อยครั้งไม่ได้รับความสำคัญจากสื่ออเมริกัน
ส่วนนักข่าวทีวีของซีเอ็นเอ็นคนหนึ่ง (เจ็ฟฟ์ กรีนฟีลด์) เมื่อถามว่าทำไมชอมสกีจึงไม่เคยออกโชว์กับเขา เขาก็อ้างว่า ชอมสกีอาจ "เป็นปัญญาชนชั้นนำคนหนึ่งที่ไม่สามารถพูดออกโทรทัศน์ […] (คือ) ถ้าคุณมีโชว์ยาวแค่ 22 นาที แต่ว่าคน ๆ นั้นต้องใช้เวลา 5 นาทีเพื่ออุ่นเครื่อง […] เราก็จะใช้เขาไม่ได้"[126] กรีนฟิลด์ได้อธิบายถึงความจำเป็นต้องสามารถกล่าวเรื่องในช่วงระหว่างการโฆษณา ซึ่งสำหรับสื่อ นี่เป็นข้อกำหนดความสั้นกระชับของเรื่อง ส่วนชอมสกีได้อธิบายรายละเอียดในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า
ความงดงามของความสั้นกระชับก็คือคุณสามารถเพียงแต่กล่าวซ้ำความคิดในกรอบ (คือ) ถ้าคุณกล่าวซ้ำความคิดในกรอบ คุณไม่ต้องมีหลักฐานอะไร เช่น การกล่าวว่าอุซามะฮ์ บิน ลาดิน เป็นคนไม่ดี ไม่ต้องใช้หลักฐานอะไร แต่ถ้าคุณกล่าวอะไรที่เป็นจริง แต่ไม่ใช่ความจริงในกรอบ เช่น สหรัฐอเมริกาได้โจมตีเวียดนามใต้ ผู้ฟังโดยชอบธรรมก็จะต้องการหลักฐาน และเป็นหลักฐานจำนวนมาก ซึ่งพวกเขาควรต้องการ รูปแบบของโชว์ไม่ยอมให้แสดงหลักฐานเช่นนี้ ซึ่งเป็นเหตุที่ความสั้นกระชับเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
เขากล่าวต่อไปว่า ถ้าสื่อจะเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อที่ดีกว่า ก็ควรเชิญคนที่มีความคิดต่างจากสื่อให้พูดบ่อยขึ้น เพราะว่า เวลาที่จำกัดจะหยุดพวกเขาไม่ให้สามารถอธิบายความเห็นสุดโต่งได้อย่างสมควร และพวกเขา "ก็จะฟังดูเหมือนมาจากดาวเนปจูน" เพราะเหตุนี้ ชอมสกีจึงปฏิเสธไม่รับออกทีวีโดยมาก โดยชอบใจสื่อการเขียนมากกว่า
ตั้งแต่หนังสือ 9-11 ของเขาได้กลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งหลังจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ชอมสกีก็ได้ความสนใจเพิ่มขึ้นจากสื่อกระแสหลักอเมริกัน ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ได้พิมพ์บทความหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2545 ถึงความนิยมของ 9-11[127] ในเดือนมกราคม 2547 นิตยสารไทม์ได้พิมพ์บทความปริทัศน์ที่ตำหนิหนังสือ ความเป็นเจ้าโลกหรือความอยู่รอด (Hegemony or Survival) ของชอมสกีอย่างรุนแรง[128] และในเดือนกุมภาพันธ์ติดต่อกัน ไทม์ก็ได้พิมพ์ความเห็นของชอมสกีเอง ซึ่งตำหนิกำแพงกั้นเวสต์แบงก์ของอิสราเอลเพราะยึดใช้พื้นที่ของปาเลสไตน์[129]
ทฤษฎีสมคบคิด 9/11
แก้ชอมสกีได้ปฏิเสธทฤษฎีสมคบคิด 9/11 โดยกล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพื่อสนับสนุนข้ออ้างว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นผู้โจมตี
ผมคิดว่า รัฐบาลของบุชจะต้องวิกลจริตโดยสิ้นเชิงถ้าได้พยายามทำสิ่งที่อ้าง เพื่อผลประโยชน์อันแคบ ๆ ของตน และผมไม่คิดว่ามีการให้หลักฐานที่หนักแน่นเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง เกี่ยวกับปฏิบัติการที่ไม่เพียงแค่แปลกประหลาดโดยตัวเองแล้ว แต่ว่ายังไม่มีอะไรเหมือนเลยในประวัติศาสตร์
อีกประการหนึ่ง ชอมสกีได้กล่าวว่า เขาจะไม่แปลกใจเลยถ้าสถาบันของรัฐบาลเป็นผู้เติมเชื้อเพลิงให้กับทฤษฎีสมคบคิด เพื่อเบนความสนใจของประชาชนไปจากเรื่องที่เร่งรัดมากกว่า
บุคคล (ผู้เชื่อทฤษฎีสมคบคิด) ถามอยู่เสมอ ๆ ว่า 'ฉันสามารถทำอะไรได้' แล้วก็จะบอกว่า นี่เป็นสิ่งที่ฉันทำได้ ฉันสามารถเป็นวิศวกรโยธาทรงคุณสมบัติภายในหนึ่ง ชม. แล้วพิสูจน์ว่าบุชได้ระเบิดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ผมเกือบจะมั่นใจเลยว่า ในกรุงวอชิงตัน พวกเขาต้องกำลังปรบมือกัน เมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมพบโดยบังเอิญเอกสารของเพนตากอนเกี่ยวกับขั้นตอนการนำข้อมูลออกจากการจัดว่าเป็นความลับ ในบรรดาเรื่องต่าง ๆ มีข้อเสนอว่าให้รัฐบาลนำข้อมูลออกจากการจัดเป็นความลับเป็นระยะ ๆ ในเรื่องการลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี ให้คนพยายามสืบรอยว่า เคนเนดีถูกสังหารโดยพวกมาเฟียหรือไม่ เพื่อให้นักปฏิบัติการค้นหาอะไรอย่างไม่มีทางสำเร็จ แทนที่จะติดตามปัญหาจริง ๆ หรือพยายามรวบรวมสมัครพรรคพวก ผมจะไม่รู้สึกช็อคเลยถ้า 30 ปีต่อไปจากนี้ เราจะพบบันทึกที่นำออกจากการจัดเป็นความลับว่า ทฤษฎีสมคบคิด 9/11 เป็นอะไรที่คอยเติมเชื้อเพลิงโดยรัฐบาล (ของบุช)[130]
ผู้สนใจทั่วโลก
แก้แม้สื่อกระแสหลักในสหรัฐจะไม่ให้ความสำคัญ ชอมสกีก็ยังเป็นคนมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในโลกในการเมืองฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะในบรรดานักวิชาการและนักศึกษามหาวิทยาลัย และบ่อยครั้งเดินทางไปทั่วสหรัฐ ยุโรป และประเทศโลกที่สาม เขามีคนติดตามสนับสนุนเป็นจำนวนมากทั่วโลก มีตารางการพูดที่แน่นขนัด และสามารถดึงผู้ฟังเป็นจำนวนมากทุกแห่งที่ไป มีการจองตัวล่วงหน้าบ่อยครั้งถึง 2 ปี
เขาเป็นผู้ให้ปาฐกถาหลักคนหนึ่งที่ประชาคมสังคมโลก (World Social Forum) ปี 2545 เขามักจะให้สัมภาษณ์เป็นช่วงยาวในสื่อทางเลือก[131] หนังสือหลายเล่มของเขามียอดขายดีที่สุด รวมทั้ง 9-11[127] ภาพยนตร์ การผลิตความยินยอม (Manufacturing Consent) ปี 2535 ได้เผยแพร่ในเขตวิทยาลัยและสถานีพีบีเอ็สต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เป็นสารคดีที่มียอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สารคดีผลิตในแคนาดา[132]
ความนิยมของเขาได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม โบโนของวงดนตรียูทูเรียกชอมสกีว่า "กบฏที่ไร้การหยุดพัก เอลวิสของนักวิชาการ" วงดนตรีเรจอะเกนสต์เดอะแมชชีนนำหนังสือของเขาออกทัวร์พร้อมกับวง วงเพิร์ลแจมกระจายเสียงจากสถานีวิทยุที่ไม่ได้รับใบอนุญาต และเปิดการพูดของชอมสกีประกอบกับดนตรีของตน วงอาร์.อี.เอ็ม.ได้ขอให้ชอมสกีออกทัวร์พร้อมกับวงโดยให้เปิดคอนเสิร์ตด้วยเล็กเช่อร์ (ซึ่งเขาปฏิเสธ) วงเรดิโอเฮดแนะนำผลงานของชอมสกีในเว็บไซต์ต่าง ๆ ของตน โดยมีนักร้องทอม ยอร์ก เป็นผู้ชื่นชอบเป็นพิเศษ[ต้องการอ้างอิง] เล็กเชอร์ของชอมสกีมักจะรวมเป็นแทร็กพิเศษของวงดนตรีต่าง ๆ รวมทั้ง Chumbawamba[133]
นักปฏิบัติการต่อต้านโลกาภิวัตน์และต่อต้านสงครามมองชอมสกีว่าเป็นแรงดลใจ[ต้องการอ้างอิง] ชอมสกีมีผู้อ่านจำนวนมากนอกสหรัฐอเมริกา หนังสือ 9-11 ได้จัดพิมพ์ในประเทศ 26 ประเทศ แปลเป็นภาษา 23 ภาษา[134] เป็นหนังสือที่มียอดขายสูงสุดในประเทศอย่างน้อย 5 ประเทศ รวมทั้งแคนาดาและญี่ปุ่น[127] ทัศนคติของชอมสกีมักจะเผยแพร่ตามเครือข่ายสื่อสาธารณะทั่วโลก เทียบได้อย่างโดดเด่นกับการไม่ค่อยเผยแพร่ในสื่อสหรัฐ ยกตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร เขาจะปรากฏตัวเป็นครั้งคราวตามสถานี BBC[135]
ประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา อูโก ชาเบซ ปรากฏเป็นผู้ชื่นชอบหนังสือของชอมสกี เขาได้ชูหนังสือ ความเป็นเจ้าโลกหรือการอยู่รอด (Hegemony or Survival) ของชอมสกี เมื่อให้ปาฐกถาต่อหน้าสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน 2549
เชิงอรรถและอ้างอิง
แก้- ↑ "Noam Chomsky - Linguistics and Philosophy, Massachusetts Institute of Technology, MIT". VideoLectures.NET. 1928-12-07. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
- ↑ "Suggested Reading from Noam Chomsky". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-10. สืบค้นเมื่อ 2012-03-31.
- ↑ "International Organization for a Participatory Society - Interim Committee". สืบค้นเมื่อ 2012-03-31.
- ↑ Chomsky, Noam (1996). Perspectives on Power. Black Rose Books, Montréal. p. 77. ISBN 978-1-55164-048-8.
- ↑ "Noam Chomsky, by Zoltán Gendler Szabó, Dictionary of Modern American Philosophers, 1860-1960". chomsky.info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-29. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ Chomsky, Noam (2005). "Chomsky on Anarchism". AK Press.
{{cite web}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - ↑ "Chomsky: Obama is 'dedicated to increasing terrorism'". Rawstory.com. 2013-06-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-23. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
- ↑ US Army Operational Concept for Terrorism Counteraction_ (TRADOC Pamphlet No. 525-37), 1984.
- ↑ Chomsky, Noam (2001). 9-11. New York: Seven Stories Press. ISBN 978-1-58322-489-2.
- ↑ Chomsky, Noam (2001-10-18). "The New War Against Terror". chomsky.info // Delivered at the Massachusetts Institute of Technology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-11. สืบค้นเมื่อ 2013-09-14.
- ↑ 11.0 11.1 "The Legitimacy of Violence as a Political Act?, Noam Chomsky debates with Hannah Arendt, Susan Sontag, et al.". chomsky.info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-13. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ Mitchell, Peter R.; Schoeffel, John (2002). Understanding Power. The New Press. p. 287.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - ↑ Chomsky, Noam. "the Nuremberg Laws were Applied... (speech delivered from 1990)". chomsky.info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-05. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ 14.0 14.1 "On Power and Ideology". google.com.
- ↑ Chomsky, Noam. "Dominance and its Dilemmas, by Noam Chomsky". Chomsky.info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-09. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
- ↑ Chomsky, Noam. "The Threat of a Good Example, by Noam Chomsky (Excerpted from What Uncle Sam Really Wants)". Chomsky.info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-24. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
- ↑ Chomsky, Noam (1992). What Uncle Sam Really Wants. Odonian Press. pp. 22–25. ISBN 1-878825-01-1.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - ↑ "ZCommunications » Deterring Democracy". Zcomm.org. 2013-02-07. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
- ↑ "Deterring Democracy: Chapter 1". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-03-28. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ Z Magazine February 1993, "The Pentagon System"
- ↑ Chomsky, Noam (2010-04-10). "Final Remarks, Istanbul Conference on Freedom of Speech". Chomsky.info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-10. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
- ↑ "5th Annual Edward Said Memorial Lecture featuring Noam Chomsky, Part 1 of 2 on Vimeo". Vimeo.com. 2009-12-07. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
- ↑ Luchette, Claire. "Chomsky speaks on U.S. imperialism - Noam Chomsky delivered the Edward W. Said Memorial Lecture to a packed crowd on Thursday". The Columbia Spectator. สืบค้นเมื่อ 2009-12-04.
- ↑ Noam Chomsky discusses religion and terrorism (ภาพยนตร์). 2010-04-23.
- ↑ 25.0 25.1 Chomsky, Noam. "The Disconnect in US Democracy". chomsky.info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-01. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "Elections Run by Same Guys Who Sell Toothpaste, by Noam Chomsky (Talk delivered at the International Relations Center)". chomsky.info.
- ↑ 27.0 27.1 "On the State of the Nation, Iraq and the Election, Noam Chomsky interviewed by Amy Goodman". chomsky.info.
- ↑ Halle, John; Chomsky, Noam (2016-08-06). "Noam Chomsky's 8-Point Rationale for Voting for the Lesser Evil Presidential Candidate". AlterNet. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-08. สืบค้นเมื่อ 2016-08-08.
- ↑ Chomsky, Noam (2011-03-09). "The Secret of Noam: A Chomsky Interview". BrightestYoungThings (Interview). สัมภาษณ์โดย Jeff Jetton. สืบค้นเมื่อ 2011-03-18.
- ↑ 30.0 30.1 "Old Wine, New Bottles". Z Magazine (Z Communications). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-09-16. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "Notes of NAFTA: The Masters of Man". Z Magazine (Z Communications). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-09-18. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ Barsamian, David (July 2000). "The Meaning of Seattle: An Interview With Noam Chomsky". Z Magazine (Z Communications). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-04-05. สืบค้นเมื่อ 2016-07-31.
What was interesting in Seattle was, first of all, the events reflected very extensive programs of education and organizing... There were constituencies brought together that have rarely interconnected in the past.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Soviet Union Versus Socialism". Z Magazine (Z Communications). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-09-18. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ -Pacific Daily Report of the U.S. government's Foreign Broadcast Information Service, April 16, 1970, pages K2-K3
- ↑ 35.0 35.1 35.2 Chomsky explains anarchism (5 parts) : 1 2 3 4 5
- ↑ "A Special Supplement: In North Vietnam by Noam Chomsky". nybooks.com.
- ↑ "Chomsky on Peak Oil". Resilience. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-09. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ 38.0 38.1 Rai, Milan (1995). Chomsky's Politics. Verso. p. 95.
- ↑ Rai, Milan (1995). Chomsky's Politics. Verso. p. 97.
- ↑ Chomsky, Noam (1976-07-25). "The Relevance of Anarcho-syndicalism". The Jay Interview (Interview). สัมภาษณ์โดย Peter Jay. chomsky.info.
- ↑ Chomsky on Anarchism, AK Press, 2005.
- ↑ Noam Chomsky speech (ภาพยนตร์). 2008-02-05.
- ↑ "'Answers by Noam Chomsky' to questions about anarchism". Z Magazine (Z Communications). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ In the original text, published in 1988, the fifth filter was "anticommunism". However, with the fall of the Soviet Union, it has been broadened to allow for shifts in public opinion.
- ↑ Chomsky, Noam (1983). Fateful Triangle. US: South End Press. pp. 4. ISBN 0-89608-601-1.
- ↑ "Necessary Illusions: Appendix V". Z Magazine (Z Communications). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2000-03-08. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ 47.0 47.1 Chomsky, Noam (2004). "Ugly Planet: Issue Two". The Ugly Planet (Interview). No. 2. สัมภาษณ์โดย Jennifer Bleyer.
- ↑ 48.0 48.1 "publish.nyc.indymedia.org | Noam Chomsky Interview". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-26. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ 49.0 49.1 "Replacement Windows Reviews". ntimc.org.
- ↑ 50.0 50.1 "Heeb: The Guilt Issue: Weapons of Mass Delusion". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-26. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ Booth, Robert; Sherwood, Harriet (2013-05-10). "Noam Chomsky helped lobby Stephen Hawking to stage Israel boycott". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2013-05-11.
{{cite news}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "Noam Chomsky Denied Entry To Israel". AP. 2010-05-17.
- ↑ Chomsky, Noam (2003). Hegemony or Survival: America's Quest for Global Dominance. Penguin. pp. 143.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - ↑ 54.0 54.1 54.2 Chomsky, Noam (2009-02-23). "Noam Chomsky on the Cuban Embargo and "Democracy Promotion"".
- ↑ Chomsky, Noam (2008-08-09). "Status of Forces Agreement".
- ↑ Chomsky, Noam (2002-12-28). "Human Rights Week 2002". Z Magazine (Z Communications).
- ↑ 57.0 57.1 57.2 Mitchell & Schoeffel 2002, pp. 96
- ↑ Chomsky, Noam (2002). American Power and the New Mandarins. Pantheon Books, New Press. ISBN 1-56584-775-X.
- ↑ Chomsky 2005, pp. 216
- ↑ Davidson, Arnold, บ.ก. (1997). Foucault and his Interlocutors. ISBN 0-226-13714-7.
- ↑ quoted in "Noam Chomsky: A Life of Dissent". MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-04. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "What Noam Chomsky says about Lankan conflict". rediff.com.
- ↑ "SLCS signed by Noam Chomsky". Australians for Tamil Justice.
- ↑ "Login". timesonline.co.uk.
- ↑ 65.0 65.1 TamilNet. "TamilNet: 24.07.09 Chomsky: Sri Lanka, a Rwanda-like major atrocity the West didn't care". tamilnet.com.
- ↑ Chomsky, N; Barasamian, D (1994). Secrets, lies, and democracy. Odonian Press. pp. 34. ISBN 187882516X.
- ↑ stylishxnihilist (2011-08-27). "Steven Woods". Immortal Technique: Unoffical Forum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-25. อ้างอิง โนม ชอมสกี "I think the death penalty is a crime no matter what the circumstances, and it is particularly awful in the Steven Woods case. I strongly oppose the execution of Steven Woods on September 13 2011." -Noam Chomsky (8/26/11)
- ↑ 68.0 68.1 "Noam Chomsky interviewed by The Imagineer". 2009-05-19. สืบค้นเมื่อ 2012-10-29.
- ↑
Chomsky, Noam (1996). Class Warfare: Interviews with David Barsamian. Pluto Press. p. 102.
about 90% Pentagon funded at that time. And I personally was right in the middle of it. I was in a military lab. If you take a look at my early publications, they all say something about Air Force, Navy, and so on, because I was in a military lab, the Research Lab for Electronics.
- ↑ White, GD (2000). Campus Inc.: Corporate power in the ivory tower. Prometheus Books. pp. 445–6.
- ↑
Albert, Michael (2006). Remembering Tomorrow: From the politics of opposition to what we are for. Seven Stories Press. pp. 41–2. ISBN 978-1-58322-742-8.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - ↑
Barsky, Robert F (1997). Noam Chomsky: A Life of Dissent. MIT Press. pp. 121. ISBN 978-0-262-52255-7.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - ↑ Albert 2006, pp. 97–99.
- ↑ Bridger, S (2015). "6". Scientists at War. Harvard University Press.
- ↑ Wallerstein, I; Starr, P (1972). The University Crisis Reader. Vol. 2. Random House. pp. 240–3.
- ↑ Chomsky, N (1976). Reflections on Language. Fontana. p. 133.
- ↑ Wiesner, J (2003). Jerry Wiesner: Scientist, statesman, humanist: memories and memoirs. MIT Press. pp. 103.
- ↑ Bridger, S (2015). "5". Scientists at War. Harvard University Press.
- ↑ Rosenberg, M (1960). Plans and Proposals for the Ballistic Missile Initial Operation Capability Progam. USAF. pp. piii–iv, 6–11, 17–22.
- ↑ Ball, D (1980). Politics and Force Levels The Strategic Missile Program of the Kennedy Administration. University of California Press. pp. 86, 110.
- ↑ Otero, CP (1988). Noam Chomsky: Language and politics. Black Rose. p. 247.
- ↑ White, GD (2000). Campus Inc.: Corporate power in the ivory tower. Prometheus Books. p. 445.
- ↑
Knight, Chris (2016). Decoding Chomsky; Science and revolutionary politics. Yale University Press. p. 37.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - ↑ "the responsibility of intellectuals, an exchange". The New York Review of Books. March 1967. สืบค้นเมื่อ 2016-10-07.
- ↑ "the responsibility of intellectuals". The New York Review of Books. April 1967. สืบค้นเมื่อ 2016-10-07.
- ↑ Stephen Shalom, 'Review of Noam Chomsky: A Life of Dissent, by Robert F. Barsky' เก็บถาวร 2016-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New Politics, NS6(3), Issue 23. Retrieved 2016-10-7.
- ↑ Barsky 1997, pp. 121–2, 140–1.
- ↑ 88.0 88.1 Albert 2006, pp. 98
- ↑ Knight 2016, p. 34.
- ↑ Albert 2006, pp. 107–8.
- ↑ Knight 2016, pp. 36–8, 249.
- ↑ Barsky 1997, pp. 121–2, 131.
- ↑ Barsky 1997, pp. 140–1.
- ↑
Chomsky, Noam (1996). Class Warfare: Interviews with David Barsamian. Pluto Press. pp. 135–6.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - ↑ Weiner, Tim (1995-12-10). "The C.I.A.'s most Important Mission: Itself". The New York Times. ISSN 0362-4331.
- ↑ "A Special Supplement: The Responsibility of Intellectuals by Noam Chomsky". nybooks.com.
- ↑ Matusow, Allen J (1984). The Vietnam War, the Liberals, and the Overthrow of LBJ (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-16. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "The Responsibility of Intellectuals by Raziel Abelson". nybooks.com.
- ↑ "What Shall the Responsible Intellectual Do?, Noam Chomsky debates with George Steiner". chomsky.info.
- ↑ "On Resistance, by Noam Chomsky". chomsky.info.
- ↑ "An Exchange on Cambodia". New York Review of Books. 1978-07-20.
- ↑ Ear, Sophal (May 1995). The Kymer Rouge Canon 1975-1979: The Standard Total Academic View on Cambodia (PDF) (Undergraduate Political Science Honor Thesis). Department of Political Science, University of California, Berkeley. p. 42, 63. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-22. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ Chomsky, Noam; Herman, Edward S (1979). After the Cataclysm. South End Press. pp. 136, 138–9, 160, 287, 158, 152.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Sharp, Bruce. "Averaging Wrong Answers: Noam Chomsky and the Cambodian Controversy". สืบค้นเมื่อ 2013-05-25.
- ↑ Herman, Edward S (September 2001). "Propaganda System Number One: From Diem and Arbenz to Milosevic". Z magazine (Z communications).
- ↑ Ear, Sophal (2014-03-09). "Cambodian Refugee Sophal Ear vs. Noam Chomsky". Arguments Worth Having. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-12. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ 107.0 107.1 Benetech Human Rights Data Analysis Group (2006-02-09). "The Profile of Human Rights Violations in Timor-Leste, 1974-1999". A Report to the Commission on Reception, Truth and Reconciliation of Timor-Leste. Human Rights Data Analysis Group (HRDAG).
- ↑ "Welcome | Genocide Studies Program" (PDF). Yale.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-21. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
- ↑ Chomsky, Noam. "An Island Lies Bleeding, by Noam Chomsky". chomsky.info.
- ↑ Jackson, Michael Gordon (2001). "International Journal of Politics and Ethics". 1.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "Karol Soltan of the University of Maryland, includes Chomsky among "the few isolated voices in the West" who provided help to the Timorese cause".
- ↑ Chomsky, Noam. Otero, CP (บ.ก.). Radical Priorities. p. 84.
- ↑ "Why Americans Should Care about East Timor, by Noam Chomsky". chomsky.info.
- ↑ Chomsky 2003, p. 54.
- ↑ "overland home page". overlandexpress.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-05. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "Report of the United Nations Independent Special Commission of Inquiry for Timor-Leste" (PDF). Geneva: United Nations. 2006-10-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-01-09.
- ↑ see page 102 of http://www.etan.org/etanpdf/2006/CAVR/07.1_Self_Determination.pdf
- ↑ "Part III of an interview with Noam Chomsky". Z Magazine (Z communications). June 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-09-13. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "Turkey: Courts Must Safeguard Free Speech - Human Rights Watch". Human Rights Watch. 2002-02-13.
- ↑ "Prospects for Peace in the Middle East, by Noam Chomsky (Talk delivered at the University of Toledo)". chomsky.info. 2001-03-04.
- ↑ "Chomsky publisher cleared in Turkey". BBC News. 2002-02-13. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
- ↑ "CHOMSKY'S DÃ?YARBAKIR SPEECH". Z Magazine (Z communications). 2002-03-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-09-13. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "Bulten". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-15. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "Chomsky's Publishers On Trial". BIA News Center. 2006-10-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-07.
- ↑ "The People in Gravest Danger, by Noam Chomsky". chomsky.info.
- ↑ "He may be one of the leading intellectuals who can't talk on television. You know, that's a standard that's very important to us. If you've got a 22 minute show, and a guy takes five minutes to warm up - now I don't know whether Chomsky does or not - he's out. One of the reasons why Nightline has the "usual suspects" is that one of the things you have to do when you book a show is know that the person can make the point within the framework of television. And if people don't like that, they should understand that it's about as sensible to book somebody who will take eight minutes to give an answer as it is to book somebody who doesn't speak English." http://www.understandingpower.com/Chapter9.htm เก็บถาวร 2006-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 127.0 127.1 127.2 "Surprise Bestseller Blames the U.S". เดอะนิวยอร์กไทมส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-07-25. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ Power, Samantha (2004-01-04). "'Hegemony or Survival': The Everything Explainer". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-25. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
- ↑ Chomsky, Noam. "A Wall as a Weapon, by Noam Chomsky". chomsky.info.
- ↑ Chomsky, Noam (2007). What We Say Goes. Allen & Unwin, New Zealand. p. 39. ISBN 978-1-74175-348-6.
- ↑ "chomsky.info : Interviews". chomsky.info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-10. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "Where Are They Now? : Mark Achbar and Peter Wintonick". Montreal Mirror. October 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-15. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "The Indy - Bloomington-Normal Independent Media Center". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-08-19. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "9-11". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-02-07. สืบค้นเมื่อ 2017-06-07.
- ↑ "Noam Chomsky". BBC News. 2004-05-20. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Noam Chomsky homepage
- Noam Chomsky เก็บถาวร 2007-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at MIT
- Noam Chomsky's page on Academia.edu เก็บถาวร 2009-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Noam Chomsky ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- Noam Chomsky at Zmag
- Talks by Noam Chomsky เก็บถาวร 2008-12-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at A-Infos Radio Project
- Chomsky media files at the Internet Archive
- Articles เก็บถาวร 2008-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน and videos เก็บถาวร 2012-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน featuring Noam Chomsky at AnarchismToday.org
- The Political Economy of the Mass Media Part 1 Part 2 (March 15, 1989) lecture
- OneBigTorrent.org (formerly "Chomsky Torrents") Lots of links to Chomsky-related media
- Chomsky on Obama's Foreign Policy, His Own History of Activism, and the Importance of Speaking Out - video by Democracy Now!