มิเชล โหย่ว

นักแสดงชาวมาเลเซีย (เกิด พ.ศ. 2505)
(เปลี่ยนทางจาก มิเชลล์ โหย่ว)

มิเชล โหย่ว ชูเค็ง (อักษรโรมัน: Michelle Yeoh Choo-Kheng; เกิด 6 สิงหาคม ค.ศ. 1962) มีชื่อจริงว่า โหย่ว ชูเค็ง (จีนตัวย่อ: 杨紫琼; จีนตัวเต็ม: 楊紫瓊; พินอิน: yáng zǐ qióng) หรือ หยาง จื่อฉยง ในภาษาจีนกลาง มีชื่อในการแสดงว่า มิเชล โหย่ว (อักษรโรมัน: Michelle Yeoh) เป็นนักแสดงหญิงชาวมาเลเซีย กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เข้าสู่วงการบันเทิงจากการเป็นผู้ชนะเลิศการประกวดมิสมาเลเซียเวิลด์ และเป็นตัวแทนของประเทศมาเลเซียในการเข้าประกวดมิสเวิลด์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1983 จากนั้นเธอได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ฮ่องกงจนมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติโดยเฉพาะจากการแสดงบทโลดโผนและภาพยนตร์กำลังภายในที่ประสบความสำเร็จหลายเรื่องในยุคคริสต์ทศวรรษ 1990 เช่น โอ้โฮ!...ซือเจ๊ (1985), โคตรอันตราย...คู่คู่ (1986), ดุดุดุ (1987), แผนโหดเจ๊ดุ (1987), วิ่งสู้ฟัด 3 (1992), สวยประหาร (1993), วิ่งสู้ฟัด ตอน ซือเจ้ฟัดเอง (1993), หย่งชุน หมัดสั้นสะท้านบู๊ลิ้ม (1994) และ 3 พี่น้องตระกูลซ่ง (1997)

มิเชลล์ โหย่ว
楊紫瓊
โหย่วใน ค.ศ. 2023
เกิดโหย่ว ชูเค็ง[1]
(1962-08-06) 6 สิงหาคม ค.ศ. 1962 (62 ปี)
อีโปะฮ์ รัฐเประ สหพันธรัฐมาลายา (ปัจจุบันคือประเทศมาเลเซีย)
ชื่ออื่นมิเชลล์ ข่าน
การศึกษาRoyal Academy of Dance (ศศ.บ.)
อาชีพนักแสดง
ปีปฏิบัติงานค.ศ. 1983–ปัจจุบัน
คู่สมรส
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม楊紫瓊
อักษรจีนตัวย่อ杨紫琼
ฮั่นยฺหวี่พินอินYáng Zǐqióng
[jáŋ tsɹ̩̀.tɕʰjʊ́ŋ]
ยฺหวิดเพ็งJoeng4 Zi2-king4
[jœ̏ːŋ tsǐː.kʰȅŋ]
ไถหลัวIônn Tsú-khîng
[ĩũ tsu kʰiŋ]

หลังจากมีชื่อเสียงในทวีปเอเชีย เธอก็ได้รับโอกาสในการแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยได้แสดงใน ภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ ภาค 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย (1997) และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจากเรื่อง พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก (2002) ที่ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแบฟตาและรางวัลม้าทองคำ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รวมทั้งมีผลงานในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องอื่นๆ เช่น นางโลม โลกจารึก (2005), ยุทธการสยบพระอาทิตย์ (2007), เดอะมัมมี่ 3 คืนชีพจักรพรรดิมังกร (2008), มอร์แกน ยีนส์มรณะ (2016), เหลี่ยมโบตั๋น (2018), ชาง-ชี กับตำนานลับเท็นริงส์ (2021), โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว (2022) และประสบความสำเร็จอย่างมากกับบทบาทการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส (2022) ที่ทำให้เธอได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 95 โดยเธอได้รับการบันทึกว่าเป็นนักแสดงชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขานี้และเป็นชาวมาเลเซียคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์[2][3][4][5][6] นอกจากนี้จากบทบาทดังกล่าวยังทำให้เธอได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ, รางวัลแซกอวอร์ดส์และอินดิเพนเดนต์สปิริตอะวอดส์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รวมถึงได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลแบฟตา

ชื่อเธอ Yeoh Choo-Kheng นั้นมาจากการถอดชื่อจีน 杨紫琼 ตามเสียงภาษาจีนฮกเกี้ยน อ่านตามภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า "เอีย จู๊ขิง" (เป่อ่วยยี: Iôⁿ Chú-khêng, IPA: /iɔ̃³³ t͡su⁴⁴ kʰiɪŋ²⁴/)

ประวัติ

แก้

มิเชล โหย่ว เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1962 ในเมืองอีโปะฮ์ รัฐเประ สหพันธรัฐมาลายา (ปัจจุบันคือประเทศมาเลเซีย) มีชื่อจริงว่า โหย่ว ชูเค็ง หรือ หยาง จื่อฉยง ตามสำเนียงจีนกลาง เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน โดยครอบครัวเป็นชาวฮกเกี้ยนและชาวกวางตุ้ง[7][8] บิดาชื่อ โหย่ว เคียนเต๊ก หรือ หยาง เจี้ยนเต๋อ (สำเนียงจีนกลาง) และมารดาชื่อ เจเนต โหย่ว หรือ ถัน ฮุ้ยเจิน บิดาเป็นนักกฏหมายและเป็นนักการเมืองของพรรคสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน (Malaysian Chinese Association หรือ MCA) ซึ่งเธอเป็นบุตรคนสุดท้องในพี่น้องทั้งหมด 3 คน เติบโตขึ้นมาด้วยการพูดภาษามลายูและภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยเธอเริ่มมาเรียนรู้ภาษาจีนกวางตุ้งและภาษาจีนกลางเมื่อเริ่มเป็นนักแสดงแล้ว

เธอชื่นชอบการเต้นมาตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มเรียนบัลเลต์ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และเข้ารับการศึกษาในชั้นประถมที่โรงเรียนเมนคอนแวนต์ อีโปะฮ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วน ก่อนที่จะย้ายตามครอบครัวไปใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษเมื่ออายุได้ 15 ปี และเข้าเรียนในโรงเรียนประจำหญิงล้วน จากนั้นเธอได้เข้าเรียนที่ราชบัณฑิตยสถานนาฏศิลป์ กรุงลอนดอน เอกวิชาบัลเลต์ อย่างไรก็ตามเธอต้องหยุดการเป็นนักบัลเลต์มืออาชีพไว้เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เธอจึงเปลี่ยนไปให้ความสนใจกับการออกแบบท่าเต้นและศิลปะด้านอื่น เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขานฤมิตศิลป์ จากวิทยาลัยครูว์แอนด์อัลเซเจอร์ ที่มณฑลเชชเชอร์[9](ต่อมาวิทยาลัยดังกล่าวถูกรวมเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยนครแมนเชสเตอร์)

อาชีพ

แก้

หลังเรียนจบจากอังกฤษ เธอกลับมายังประเทศมาเลเซีย เพื่อเข้าประกวดมิสมาเลเซียเวิลด์ และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้ในปี ค.ศ. 1983 ขณะอายุได้เพียง 20 ปี ก่อนจะได้เป็นนางงามตัวแทนของประเทศมาเลเซียไปประกวดมิสเวิลด์ ที่กรุงลอนดอน

จากการได้ตำแหน่งนางงามของประเทศมาเลเซียและได้เป็นตัวแทนไปประกวดมิสเวิลด์ ที่ลอนดอน ทำให้เธอได้รับความสนใจและมีผลงานทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในปี 1984 ด้วยการได้แสดงโฆษณานาฬิกายี่ห้อ กี ลาร็อช ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ โดยเป็นการร่วมถ่ายโฆษณาร่วมกับเฉินหลงและโจว เหวินฟะ จากนั้นเธอได้เซ็นสัญญาแสดงภาพยนตร์กับค่าย ดีแอนด์บี ฟีลม์ ของฮ่องกง โดยมีชื่อในการแสดงช่วงแรกว่า "มิเชล ข่าน" และมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกในฐานะนักแสดงสมทบคือ คู่ซ่าส์จอมแสบ (1984) ที่แสดงนำแสดงโดย หลิน จื่อเสียง และหง จินเป่า [10]

ราชินีนักบู๊

แก้

หลังจากได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก เธอก็ได้ปรากฏตัวในฐานะนักแสดงรับเชิญในเรื่องภาพยนตร์เรื่อง ขอน่า อย่าซ่าส์ (1985) ที่นำแสดงโดยเฉินหลง, หง จินเป่า และ หยวน เปียว ต่อมาเธอได้รับบทนักแสดงนำเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์แอคชันเรื่อง โอ้โฮ!...ซือเจ๊ (1985) ซึ่งเธอรับบทเป็น "สารวัตรอู๋" ตำรวจสายสืบหญิง โดยแสดงร่วมกับ ซินเธีย ร็อทร็อก และ ฉีเคอะ ซึ่งบทดังกล่าวถือเป็นบทบาทที่สร้างชื่อให้เธอเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์ฮ่องกง โดยตัวภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทำรายได้มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ส่งผลให้เธอได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ฮ่องกง สาขานักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม

ในปี 1986 เธอยังคงได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง โคตรอันตราย..คู่คู่ โดยรับบทเป็น "สารวัตรมิเชลล์" ตำรวจหญิงที่เชี่ยวชาญด้านกังฟู แสดงร่วมกับ ฮิโรยูกิ ซานาดะ และ ไมเคิล หว่อง, Magnificent Warriors ดุ ดุ ดุ หรือ โอ้โห..ซือเจ๊ 2 รับบทนักผจญภัยต่อกรกับกองทัพญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 1930s จากบทบาทการแสดงบทบู๊ที่โดดเด่น มิเชล โหย่ว ได้ฉายาว่า ราชินีนักบู๊[11] และซือเจ๊[12]

หลังจากแต่งงานโหย่วได้งดการแสดง ก่อนจะกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2535 และประสบความสำเร็จสูงในภาพยนตร์ตำรวจชุดอย่าง วิ่งสู้ฟัด 3 รับบทตำรวจสาวจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาร่วมภารกิจกับตำรวจจากฮ่องกง ที่รับบทโดย เฉินหลง ซึ่งได้มาถ่ายทำที่ประเทศมาเลเซียบ้านเกิดของเธอด้วย ทำให้ชื่อเสียงของเธอดังไปทั่วโลก เป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงที่พูดภาษาจีนที่มีรายได้สูงสุดของโลก เป็นหนึ่งในดารานำหญิงเพียงคนเดียวที่เฉินหลงยินยอมให้แสดงบทเสี่ยงภัย โดยเฉพาะฉากเสี่ยงตายบนรถไฟเป็นฉากที่คนดูจดจำ[10] ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้มีโอกาสไปฉายที่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2539 ในชื่อ Supercop[13]

จากนั้นมิเชล โหย่ว ได้มีงานแสดงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่แล้วเป็นแนวแอกชันและแนวกำลังภายใน เรื่องที่โดดเด่นได้แก่ The Heroic Trio สวยประหาร และ Executioners : สวยประหาร 2 ภาพยนตร์ที่รวมนางเอกฮ่องกงแห่งยุค ร่วมกับ เหมย ยั่นฟาง และ จางม่านอวี้ [14], Butterfly and Sword กระบี่ผีเสื้อบารมีสะท้านภพ ภาพยนตร์กำลังภายใน ร่วมกับ เหลียงเฉาเหว่ย เจินจื่อตัน หลินจื้ออิ่ง และหวังจู่เสียน, Tai Chi Master : มังกรไท้เก็ก คนไม่ยอมคน ภาพยนตร์กังฟูร่วมกับ หลี่ เหลียนเจี๋ย, ภาคแยกของวิ่งสู้ฟัด 3 คือ Supercop 2 วิ่งสู้ฟัด ตอน ซือเจ้ฟัดเอง โดยมีตัวละครของเธอเป็นตัวละครหลัก[15], ภาพยนตร์แอกชันกังฟู Wing Chun หย่งชุน หมัดสั้นสะท้านบู๊ลิ้ม รับบท เหยียน หย่งชุน ผู้ให้กำเนิดมวยหย่งชุน และแสดงร่วมกับ เจินจื่อตัน[16]

นอกจากนั้นยังมีภาพยนตร์ดราม่าได้แก่ The Soong Sisters รับบท ซ่ง อ้ายหลิง ซึ่งทำให้มิเชล โหย่ว ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมเวทีฮ่องกง ฟิล์ม อะวอร์ด (Hong Kong Film Award)

สู่ระดับนานาชาติ

แก้

พ.ศ. 2540 มิเชล โหย่ว มีผลงานแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดครั้งแรกในเจมส์ บอนด์ ตอนที่ 18 ที่มีชื่อว่า Tomorrow Never Dies ผลงานกำกับของ โรเจอร์ สปอตติสวู้ด โดยร่วมแสดงกับ เพียร์ซ บรอสแนน, เทรี่ แฮทเชอร์ และ โจนาธาน ไพรซ์ กับบท ไหว่หลิน เป็นที่รู้จักกับการเป็นสาวบอนด์ที่บู๊ได้ และเป็นนักแสดงเอเชียเพียงไม่กี่คนที่เป็นนางเอกในแฟรนไชส์นี้[12]

ตามด้วยการประสบความสำเร็จอย่างสูงกับหนังแอ็คชั่น-กำลังภายในเรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก ของอั้งลี่ ในบทจอมยุทธ์หยูซูเหลียน ร่วมแสดงกับ โจวเหวินฟะ, จาง จื่ออี๋, จางเจิ้น และ เจิ้งเพ่ยเพ่ย โดยสามารถทำเงินผ่านหลักร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ และคว้า 4 รางวัลออสการ์ รวมถึงภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม สำหรับเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมจากเวที BAFTA Film Award, Saturn Award, TFCA Award, Golden Horse Award, Hong Kong Film Award และ VFCC Award [10]

นอกจากผลงานการแสดง มิเชล โหย่ว ได้เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ฮ่องกงร่วมกับแสดงนำ ในภาพยนตร์แอกชันเรื่อง The Touch ฟัดสัมผัสพิสดาร และ Sliver Hawk เหยี่ยวเหิร ฟัดมหากาฬ

 
มิเชล โหย่ว ในปี 2009

ปี พ.ศ. 2548 มิเชล โหย่ว ได้แสดงในภาพยนตร์ฮอลลิวูด Memoirs of a Geisha นางโลมโลกจารึก ผลงานของ ร๊อบ มาร์แชลล์ โดยร่วมแสดงกับ จาง จื่ออี๋, กงลี่ และ เคน วาตานาเบ้ [17]จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์ตะวันตกอีกหลายเรื่อง ได้แก่ Sunshine : ยุทธการสยบพระอาทิตย์ ร่วมกับ คิลเลียน เมอร์ฟี และ คริส อีแวนส์, The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor เป็นการกลับมาร่วมงานกับนักแสดงแอกชัน หลี่ เหลียนเจี๋ย และเบรนแดน เฟรเซอร์ [18]รวมถึงยังมีภาพยนตร์ทางฝั่งตะวันออก ได้แก่ Reign of Assassins นักฆ่าดาบเทวดา ซึ่งได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวที Asian Film Award for Best Actress ในปี พ.ศ. 2554 ได้รับบท ออง ซาน ซูจี สตรีผู้นำการต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่อง The Lady : อองซานซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ และเธอได้ถูกทางการพม่าขึ้นบัญชีดำในช่วงเวลาหนึ่ง[19]

ในปี พ.ศ. 2558 มิเชล โหย่ว ได้แสดงในซีรีส์ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ในซีรีส์อเมริกันเรื่อง Strike Back สองพยัคฆ์สายลับข้ามโลก ซีซัน 5 Legacy ในปี พ.ศ. 2559 โหย่วได้กลับมารับบทจอมยุทธ์หยูซูเหลียน ใน Crouching Tiger, Hidden Dragon II - The Green Destiny : พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก 2 ชะตาเขียว และกลับมาร่วมแสดงอีกครั้งกับ เจินจื่อตัน[20] จากนั้นได้เข้าสู่จักรวาลมาร์เวลในภาพยนตร์ Guardians of the Galaxy Vol. 2 : รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล 2 รับเชิญในบทหนึ่งในผู้นำราเวนเจอร์ Aleta Ogord[21]

 
มิเชล โหย่ว ในเทศกาลภาพยนตร์กาน ปี 2017

ในปี พ.ศ. 2560-2563 มิเชล โหย่ว ได้แสดงซีรีส์ไซไฟในแฟรนไชส์ Star Trek คือ Star Trek: Discovery สตาร์ เทรค: ดิสคัฟเวอรี่ ในบท ฟิลลิปา จอร์จู[22] จากทั้งสองมิติจักรวาล ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงรับเชิญยอดเยี่ยมจากเวที Saturn Award ในปี พ.ศ. 2561 มิเชล โหย่ว ได้ร่วมนำแสดงในภาพยนตร์ Crazy Rich Asians เหลี่ยมโบตั๋น ในบท เอลินอร์ ยัง[23] ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งรายได้ ในฐานะภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ที่ทำรายได้สูงสุดในทศวรรษนี้ และเข้าชิงรางวัลจากภาพยนตร์คอเมดีจาก รางวัลลูกโลกทองคำ, Critics' Choice Awards, Satellite Awards[24] รวมถึงกลับมาแสดงบทแอกชันกังฟูในภาพยนตร์ในจักรวาลยิปมัน Master Z: Ip Man Legacy ยิปมัน ตำนานมาสเตอร์ Z ในบทเจ้าแม่หัวหน้าแก๊งมาเฟีย

ปัจจุบัน

แก้

มิเชล โหย่ว ได้รับอีกบทบาทหนึ่งในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล ในบทผู้นำดินแดนถาโหล ใน ชาง-ชี กับตำนานลับเท็นริงส์ [21]นอกจากนี้มีการประกาศว่ามิเชล โหย่ว จะร่วมแสดงในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ภาคต่อทั้งสองภาคของ อวตาร ในบทนักวิทยาศาสตร์ ดร. แคริน่า โมค[25]

ใน ปี พ.ศ. 2565 มิเชล โหย่ว ได้แสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All at Once ซือเจ๊..ทะลุมัลติเวิร์ส ซึ่งประสบความสำเร็จทางรายได้และคำวิจารณ์ ส่งให้มิเชล โหย่ว ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รางวัลลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 80[26], Critics' Choice Awards, Satellite Awards ได้เข้าชิงและได้รับรางวัลอีกหลายเวที และได้รับ รางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2566 ไป ทำให้เธอเป็นนักแสดงหญิงชาวเอเชียนและมาเลเซียคนแรก และคนผิวสีอันดับสองที่ได้รับรางวัลนี้ในรอบศตวรรษ

มิเชล โหย่ว ได้รับเลือกให้เป็นไอคอนแห่งปี 2022 (2022 ICON OF THE YEAR) จากนิตยสารไทม์ ในฐานะดาราดังระดับเมเจอร์สตาร์แห่งเอเชีย มีผลงานมากมาย มีชื่อเสียงมานานหลายทศวรรษ[9]

ชีวิตส่วนตัว

แก้

ในปี พ.ศ. 2531 หยางได้สมรสกับ ดิกสัน พูน ประธานบริษัทภาพยนตร์ D&B Films จากนั้นอีก 2 ปี ทั้งคู่ก็ได้หย่าขาดกัน[27]

เกียรติยศที่ได้รับ

แก้
  • ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หยางได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Darjah Datuk Paduka Mahkota Perak (DPMP) จากสุลต่านแห่งรัฐเประในฐานะที่เป็นชาวเประที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้หยางมีคำนำหน้าว่า ดาโต๊ะ[28][29]
  • ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2550 ฌัก ชีรัก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ชั้นเบญจมาภรณ์ให้หยาง[30][31]
  • ในปี พ.ศ. 2555 หยางได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Darjah Seri Paduka Mahkota Perak (SPMP) ทำให้หยางมีคำนำหน้าว่า ดาโตะก์ เซอรี[32]
  • ในปี พ.ศ. 2556 หยางได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Darjah Yang Mulia Setia Mahkota Malaysia (PSM) ทำให้หยางมีคำนำหน้าว่า ตันซรี[33][34]

ผลงานแสดงภาพยนตร์

แก้
ปี ภาพยนตร์ รับบทเป็น
2527 The Owl and Dumbo : คู่ซ่าส์จอมแสบ หรือ หมัดน้องต้องมีดอกเบี้ย Miss Yeung
2528 Twinkle, Twinkle Lucky Stars : 7 เพชฌฆาตสัญชาติฮ้อ ภาค2 ขอน่า อย่าซ่าส์ อาจารย์สอนยูโด (รับเชิญ)
Yes, Madam : โอ้โห ซือเจ๊ Inspector Ng
2529 Royal Warriors : โคตรอันตราย..คู่คู่ สารวัตรมิเชล ยิป
2530 Magnificent Warriors : ดุ ดุ ดุ ฮั่ว หมิงหมิง
Easy Money : แผนโหด เจ๊ดุ Michelle Yeung Ling
2535 Police Story 3 : Supercop : วิ่งสู้ฟัด 3 ผู้กำกับหยาง เจี้ยนหัว/ เจสซิก้า หยาง
2536 The Heroic Trio : สวยประหาร ซาน / สาวล่องหน/ จิงจิง
Butterfly and Sword : กระบี่ผีเสื้อบารมีสะท้านภพ เกา เหล่าต้า
Executioners : สวยประหาร 2 ซาน / จิงจิง
Holy Weapon Ching Sze / To Col Ching
Project S (หรือ Once a Cop และ Supercop 2) : วิ่งสู้ฟัด ภาคพิเศษ : ตอน ซือเจ๊ฟัดเอง ผู้กำกับหยาง เจี้ยนหัว/ เจสซิก้า หยาง
Tai Chi Master : มังกรไท้เก็ก คนไม่ยอมคน สิ่วหลิน
2537 Shaolin Popey 2 - Messy Temple : กิ๋วก๋ากิ้ว จิ๋วแต่ตัว อาคิง (รับเชิญ)
Wonder Seven : เซียนมอเตอร์ไซค์ Fong Ying
Wing Chun : หย่งชุน หมัดสั้นสะท้านบู๊ลิ้ม หรือ พยัคฆ์สาวหมัดหย่งชุน เหยียน หย่งชุน
2539 The Stunt Woman (หรือ Ah Kam) : พยัคฆ์สาวตายไม่เป็น อาคัม
2540 The Soong Sisters : สามพี่น้องตระกูลซ่ง ผู้ยิ่งใหญ่ ซ่ง อ้ายหลิง
Tomorrow Never Dies : 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย ผู้พันไหว่หลิน
2542 Moonlight Express : เทพบุตรหัวใจทรนง มิเชล (รับเชิญ)
2543 Crouching Tiger, Hidden Dragon : พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก หยู ชูเหลียน
2545 The Touch : ฟัดสัมผัสพิสดาร ปัก หยินเฟย
2547 Silver Hawk : เหยี่ยวเหิร ฟัดมหากาฬ ลูลู่ หว่อง / เหยี่ยวเหิร
2548 Memoirs of a Geisha : นางโลมโลกจารึก มาเมฮา
2549 Fearless : จอมคนผงาดโลก (ฉบับ Directors Cut) คุณนายหยาง (รับเชิญ)
2550 Sunshine : ยุทธการสยบพระอาทิตย์ โคราซ่อน
Far North ไซวา
2551 The Children of Huang Shi : ฝ่าสมรภูมิเดือด หุบเขาฮวงชี คุณนายหวัง
Babylon A.D. : ภารกิจดุกุมชะตาโลก ซิสเตอร์ รีเบกก้า
The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor : เดอะ มัมมี่ 3 คืนชีพจักรพรรดิมังกร ซื่อหยวน
2553 True Legend : ยาจกซู ตำนานหมัดเมา หมอหยู
Reign of Assassins : นักฆ่าดาบเทวดา เจิงจิง / พิรุณ
2554 The Lady : อองซานซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ ออง ซาน ซูจี
Kung Fu Panda 2 : กังฟูแพนด้า 2 นางพยากรณ์ (ให้เสียง)
2556 Final Recipe จูเลีย ลี
2559 Crouching Tiger, Hidden Dragon II-The Green Destiny:พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก 2 ชะตาเขียว หยู ชูเหลียน
Mechanic: Resurrection : โคตรเพชฌฆาต แค้นข้ามโลก เหมย
Morgan : มอร์แกน ยีนส์มรณะ Dr. Lui Cheng
2560 Guardians of the Galaxy Vol. 2 : รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล 2 แอลเลตา โอกอร์ด (รับเชิญ)
2561 Crazy Rich Asians เหลี่ยมโบตั๋น เอลินอร์ ยัง
Master Z: Ip Man Legacy ยิปมัน ตำนานมาสเตอร์ Z โช หนานควาน
2562 Last Christmas ลาสต์ คริสต์มาส ซานต้า (หวงชิงชิน)
2564 Boss Level : บอสมหากาฬ ฝ่าด่านนรก ได เฟิง
Gunpowder Milkshake : นรกเรียกแม่ ฟลอเรนซ์
Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings ชาง-ชี กับตำนานลับเท็นริงส์ อิง หนาน
2565 Everything Everywhere All at Once ซือเจ๊..ทะลุมัลติเวิร์ส เอเวอลีน ควาน หวัง
Minions: The Rise of Gru : มินเนี่ยน 2 มาสเตอร์ เชา (ให้เสียง)
Paws of Fury: The Legend of Hank : อุ้งเท้าพิโรธ: ตำนานของแฮงค์ ยูกิ (ให้เสียง)
The School for Good and Evil : โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว ศาสตราจารย์ เอ็มม่า แอนนีโมนี
2566 ทรานส์ฟอร์เมอร์ส: กำเนิดจักรกลอสูร[35] Airazor (ให้เสียง)
ฆาตกรรมหลอนแห่งนครเวนิส[36] จอยซ์ เรย์โนล์ด
2567 วิคเค็ด[37] มาดามมอร์ริเบิ้ล
2568 สตาร์ เทรค เซกชัน 31 กัปตันฟิลิปปา จอร์จู
วิคเค็ด 2 มาดามมอร์ริเบิ้ล
2569 อวตาร 4 ดร. แคริน่า โมค
2571 อวตาร 5 ดร. แคริน่า โมค
TBA Nezha Lady Yin Rong

ผลงานแสดงซีรีส์

แก้
ปี ซีรีส์โทรทัศน์ รับบทเป็น
2558 Strike Back Legacy : สองพยัคฆ์สายลับข้ามโลก (Season 5) เม ฟอสเตอร์ / ฮัน ลี นา
2559 Marco Polo (Season 2) โลตัส
2560 Star Trek: Discovery สตาร์ เทรค: ดิสคัฟเวอรี่ (Season 1) กัปตันฟิลิปปา จอร์จู / จักรพรรดิฟิลิปปา จอร์จู
2561 Star Trek: Short Trek (Episode: "The Brightest Star") ผู้การฟิลิปปา จอร์จู
2562 Star Trek: Discovery สตาร์ เทรค: ดิสคัฟเวอรี่ (Season 2) กัปตันฟิลิปปา จอร์จู
2563 Star Trek: Discovery สตาร์ เทรค: ดิสคัฟเวอรี่ (Season 3) กัปตันฟิลิปปา จอร์จู
2565 The Witcher: Blood Origin[38] สเกียน
Ark: The Animated Series Mei-Yin Li (ให้เสียง)
2566 American Born Chinese เจ้าแม่กวนอิม
2567 The Brother Sun Eileen

อ้างอิง

แก้
  1. NBR Gala 2023 — NBR Best Actress Winner Michelle Yeoh (plus Awkwafina introduction) เก็บถาวร 22 มกราคม 2023 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Youtube clip of the NBR Gala on 8 January 2023 at 4:00 mins
  2. "Golden Globes 2023: Nominations List". Variety. 12 December 2022. สืบค้นเมื่อ 12 December 2022.
  3. Ordoña, Michael; Phillips, Jevon (24 January 2023). "Here are the 2023 Oscar nominees: live updates". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 24 January 2023.
  4. Pulver, Andrew (2023-03-13). "Michelle Yeoh wins best actress Oscar for Everything Everywhere All at Once". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-03-13.
  5. Cava, Marco della. "Michelle Yeoh wins best actress, making Oscars history: 'A beacon of hope and possibilities'". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2023-03-13.
  6. Groom, Nichola (2023-03-13). "Michelle Yeoh wins best actress Oscar for 'Everything Everywhere All at Once'". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-03-13.
  7. "The Greatest Show on Earth". Chinatown Community Development Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-08. สืบค้นเมื่อ 2023-03-18.
  8. "Michelle Yeoh | Biography, Movies, Oscar, & Facts | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 February 2023.
  9. 9.0 9.1 "ไทม์ ยกย่อง มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) เป็นไอคอนแห่งปี 2022". www.thairath.co.th. 2022-12-07.
  10. 10.0 10.1 10.2 MICHELLE YEOH
  11. 'มิเชล โหย่ว' ทวงบัลลังก์ 'ราชินีนักบู๊' ใน 'ยิปมัน ตำนานมาสเตอร์ซี
  12. 12.0 12.1 หนังเล่าเรื่อง 50 Year of Bond 007: Tomorrow Never Dies
  13. 5 เส้นทางหนังดังสไตล์ "สแตนลีย์ ถง + เฉินหลง"
  14. เอเชียรามา : “สวยประหาร” จอมยุทธ์สาวกับหนุ่ม ๆ ขี้แพ้
  15. วิ่งสู้ฟัด ตอน ซือเจ๊ฟัดเอง (1993) Supercop 2
  16. 11 ปี "ยิปมัน" ยุคสมัยแห่ง "หย่งชุน"
  17. 'มิเชล โหยว' สาวบอนด์คืนชีพใน 'เกอิชา'
  18. เดอะ มัมมี่ 3 ดารานำพร้อมลุยแอ็คชั่นเพียบ
  19. พม่าแบล็กลิสต์ “มิเชล โหยว” ห้ามเข้าประเทศ
  20. ["มิเชล โหย่ว แท็คทีม ดอนนี่ เยน ซัด ในตย.ใหม่จาก Crouching Tiger, Hidden Dragon 2". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-27. สืบค้นเมื่อ 2020-04-16. มิเชล โหย่ว แท็คทีม ดอนนี่ เยน ซัด ในตย.ใหม่จาก Crouching Tiger, Hidden Dragon 2]
  21. 21.0 21.1 "มิเชล โหย่ว จะกลับเข้าร่วม MCU แต่ไม่ใช่บทสุดเซอร์ไพรส์ใน Guardians 2". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-23. สืบค้นเมื่อ 2020-04-16.
  22. “มิเชล โหย่ว ” เตรียมเป็นกัปตันยานอวกาศใน Star Trek
  23. Crazy Rich Asians หนังฮอลลีวู้ดที่ใช้ผู้กำกับ-นักแสดง "เอเชีย" ทั้งเรื่องในรอบ 25 ปี
  24. 1 ปีผ่านไป กับ Crazy Rich Asians ภาพยนตร์รอมคอมเรื่องดังที่สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลก
  25. มิเชลล์ โหยว ถูกเลือกให้มารับบทเป็น ดร. แคริน่า โมค ในภาคต่อของ Avatar
  26. "ซือเจ๊ฯ ผงาด ชิง 6 ลูกโลกทองคำ ปังทุกมัลติเวิร์ส เตรียมฉายอีกครั้ง". คมชัดลึกออนไลน์. 2022-12-16.
  27. Swain, Jon. "No business like Yeoh business". The Times. London.
  28. "SEMAKAN PENERIMA DARJAH KEBESARAN, BINTANG DAN PINGAT". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-06-16.
  29. "Michelle Yeoh set to receive honour". Desmond Yap.
  30. "Actress Michelle Yeoh gets top French award". Reuters.
  31. "Michelle Yeoh now a Commander of the Legion of Honour". The Star.
  32. "SEMAKAN PENERIMA DARJAH KEBESARAN, BINTANG DAN PINGAT". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-06-16.
  33. "SEMAKAN PENERIMA DARJAH KEBESARAN, BINTANG DAN PINGAT". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-06-16.
  34. "She's Tan Sri Michelle Yeoh now". Joseph Sipalan and Lee Yen Mun. The Star.
  35. JEDIYUTH (2022-11-04). "มิเชล โหยว และ พีท เดวิดสัน สมทบ "Transformers: Rises of the Beasts"". JEDIYUTH.
  36. "ไปต่อกับนักสืบแอร์กูล ปัวโร หนังใหม่ "A Haunting in Venice" เปิดโผดารานำ". https://entertainment.trueid.net. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  37. https://cinematicarchitect.com/wicked-michelle/[ลิงก์เสีย]
  38. "Netflix ประกาศ มิเชล โหย่ว จะมารับบทใน The Witcher: Blood Origin ซีรีส์สั้นขยายเรื่องราวจาก The Witcher". THE STANDARD. 2021-07-07.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้