หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

ศาสตราจารย์ ดร.หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร (25 สิงหาคม พ.ศ. 2473 – 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556) เป็นจิตรกรชาวไทยซึ่งทรงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงศิลปะ เนื่องจากผลงานของพระองค์สะท้อนถึงความหลากหลายของตัวงานและเอกภาพทางจิตวิญญาณ [1] [2] [3] [4]

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
ประสูติ25 สิงหาคม พ.ศ. 2473
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
สิ้นชีพตักษัย8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 (82 ปี)
แอนู ประเทศฝรั่งเศส
สวามีจาคส์ บัวร์สคเวต
ราชสกุลบริพัตร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต
พระมารดาหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร
ลายพระอภิไธย

พระประวัติ แก้

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์เป็นพระธิดาองค์เดียวในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต กับหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (ราชสกุลเดิม เทวกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2473[5]วังบางขุนพรหม (ปัจจุบันเป็นที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และเป็นพระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การศึกษา แก้

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ซึ่งเพิ่งประสูติได้ไม่นาน มีชันษา 1 ปี [6] ได้ตามเสด็จพระประยูรญาติไปประทับที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซียและต่อไปยังประเทศอังกฤษ ได้มีโอกาสเข้าศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ก่อนเสด็จนิวัติประเทศไทยและเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ชั้นประถมปีที่ 4 ในพ.ศ. 2483 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยต้องย้ายสถานศึกษาไปที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์และครอบครัวจึงอพยพไปประทับยังพระตำหนักส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ที่บ้านบ่อจืด ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน และทรงขับจักรยานไปโรงเรียนซึ่งอยู่บริเวณวังไกลกังวลทุกวัน จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงจึงเสด็จกลับพระนคร และทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศสเปน ทรงได้รับปริญญา Docteur 's Lettres สาขาวรรณคดี จากมหาวิทยาลัยปารีส ในพ.ศ. 2497 และปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัยอิสระแห่งมาดริด ประเทศสเปน ในพ.ศ. 2502 ขณะชันษา 28 ปี [7] นับเป็นเจ้านายฝ่ายใน(เจ้านายสตรี)องค์แรกในราชวงศ์จักรีที่ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

ชีวิตส่วนองค์ แก้

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์เสกสมรสกับศาสตราจารย์จาคส์ บัวร์สคเวต (Jacques Bousquet) ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเคยไปทำงานประจำ ณ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กรุงมาดริด ประเทศสเปน อยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่มีโอรส-ธิดาด้วยกัน และเมื่อได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะในฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง จึงทรงย้ายไปประทับ ณ กรุงปารีส ต่อมาได้เสด็จไปทรงแสดงภาพตาม พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่าง ๆ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส และได้พบเมืองเล็ก ๆ ชื่อ Annot ซึ่งอยู่ในภูเขาบริเวณ Alpes de Haute Provence ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองนิส ก็ทรงตกหลุมรักในเสน่ห์ของเมือง Annot และทรงตัดสินใจซื้อที่ดินบนเนินเขานั้นสร้างสตูดิโอและประทับอยู่ถาวรตั้งแต่พ.ศ. 2513 [8]

การทรงงาน แก้

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ทรงสอนวิชาศิลปะโลกตะวันออกไกลในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสระแห่งมาดริด และเมื่อเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย ได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปกรรมตะวันตกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ระยะหนึ่ง [9]

แม้หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์จะทรง 'มีแวว' ในด้านศิลปะมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่ก็มิได้เข้าสู่วงการศิลปะอย่างจริงจัง จนกระทั่งชันษาราว 30 ปี จึงทรงเริ่มศึกษาด้วยองค์เองจากงานศิลปะของบรรดาศิลปินต่าง ๆ เช่น ทรงรับคำแนะนำในหลักการวาดภาพจิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และเทคนิคการใช้สีจากเพื่อนศิลปิน Andr Poujet และอีกหลายท่าน กระทั่งทรงสร้างสรรค์งานศิลปะขององค์เองและเข้าร่วมกลุ่มศิลปินในประเทศฝรั่งเศสจัดแสดงภาพในนิทรรศการ 'Salon Comparaisons' ณ 'Muse de l’ Art Moderne' ในกรุงปารีสหลายครั้ง ตั้งแต่พ.ศ. 2507 - พ.ศ. 2515 และร่วมกับศิลปินกลุ่ม 'l’ Art Fantastique' ในนิทรรศการ 'Figuratif de l’ Imaginaire Surreal' ซึ่งเป็นงานศิลปะที่แสดงอารมณ์ ความนึกคิด และจินตนาการในลักษณะที่ท่านโปรด ในประเทศไทยได้จัดแสดงที่หอศิลป์พีระศรีขณะสร้างเสร็จใหม่ ๆ ในกรุงเทพมหานคร

ผลงานด้านจิตรกรรม แก้

ผลงานจิตรกรรมฝีหัตถ์ของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ สะท้อนถึงความหลากหลายของตัวงานและเอกภาพทางจิตวิญญาณ ผลงานฝีหัตถ์ของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์มีความหลากหลายตามช่วงเวลา [10] จิตรกรรมชิ้นแรก ๆ ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ทรงใช้สีเอกรงค์ขาว-ดำเป็นหลักและมุ่งเน้นที่ตัววัตถุคล้ายกับภาพเขียนหมึกจีน ได้แก่ ภาพทดลองวาดลักษณะผิว ลักษณะรูปทรงโขดหิน ผลึกหินชนิดต่างๆ จากนั้นจึงจัดวางฉากประกอบโขดหินพร้อมทั้งจัดแสง เช่นเดียวกับหินในฉากหลังของภาพวาดของเลโอนาร์โด ดา วินชี

ครั้นต่อมาช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 จึงถึงคราวที่โขดหินที่จัดแสงเงาไว้นี้ต้องกลายเป็นฉากประกอบเพื่อให้รับกับบุคคลที่เป็นแบบ ขณะเดียวกันก็เหมือนว่าฝีหัตถ์ในการวาดภาพดอกไม้ได้พัฒนายิ่งขึ้นและเน้นการเล่นสีหลากหลายแทบเป็นหลัก จนเหมือนไม่สนทัยกับความตื้นลึก องค์ประกอบภาพและเงาไปชั่วคราว จากนั้นผลงานของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์จึงเริ่มเบ่งบาน ทั้งขนาดภาพและองค์ประกอบภาพที่ใหญ่และซับซ้อนยิ่งขึ้น ใช้สีหลากหลายกว่าเดิม การมุ่งจับเนื้อหาอันจำกัด ไม่หลากหลายแต่นำมาแปรผันไปต่าง ๆ กอปรกับตัวละครและคุณลักษณะเชิงสัญลักษณ์ ได้เปิดทางให้หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ทรงค้นพบกฎเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดองค์ประกอบภาพขนาดใหญ่

ต่อมาในค.ศ. 1980 - ค.ศ. 2003 เป็นช่วงผลงานสำคัญที่เปี่ยมด้วยความหลากหลาย ทั้งขนาดภาพ เนื้อหาและองค์ประกอบภาพ ภาพฝีหัตถ์ขนาดเล็กมีเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์หรือดอกไม้ เช่น ช้าง แมว ลูกสุนัข ดอกไม้และช่อดอกไม้ ในขณะที่ภาพขนาดกลางมีเนื้อหาผสม เช่น นกแก้วที่ประกอบด้วยดอกไม้ (มีอย่างน้อยห้าภาพ) มนุษย์ซึ่งอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางดอกไม้ การประจันหน้าระหว่างมนุษย์กับสัตว์ (ซึ่งมักจะเป็นม้ายูนิคอร์น) และแมวหลายคู่ท่ามกลางอาคารสถานที่หรือธรรมชาติ ส่วนภาพขนาดใหญ่ (ผลงานชิ้นเอก) นั้น ทรงจัดวางสัตว์กลุ่มย่อย ๆ ดอกไม้ ต้นไม้ อาคารและมนุษย์ ให้อยู่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมอันวิจิตรและมีน้ำหนักสมดุลอย่างยิ่ง เอกภาพเป็นแนวคิดหลักในผลงานของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ ด้านหนึ่งคือเอกภาพในการใช้เทคนิค เช่น เทคนิคการวาดภาพด้วยสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ อันเป็นการแสดงออกที่ซับซ้อนและทรงพลังยิ่งขึ้นกว่าเดิม อีกด้านหนึ่งคือเอกภาพของเนื้อหา เช่น สัตว์ต่าง ๆ ดอกไม้และมนุษย์ ที่มักจะโดดออกมาจากทิวทัศน์อันซับซ้อนมากน้อยตามความสำคัญและขนาดของภาพ [11]

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ตั้งแต่หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ประชวรลงในพ.ศ. 2547 ทำให้ท่านไม่สามารถวาดภาพได้เหมือนเดิม โดยก่อนประชวรได้ปรารภว่ามีประสงค์จะรวบรวมผลงานทั้งหมดของท่านไว้ด้วยกัน โดยจะสร้างเป็นแกลเลอรีที่เชิงเขาบริเวณตำหนักของท่านที่ Annot เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มาเยี่ยมชม และเป็นแหล่งส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะต่อไป เมื่อประชวรจึงมีประสงค์ให้หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ภราดรผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านทางพระบิดา ที่ได้ถวายการดูแลท่านอยู่ จัดตั้งมูลนิธิหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร[12] เพื่อดำเนินการต่อไปตามที่ท่านประสงค์ โดยเริ่มจัดแสดงนิทรรศการครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 [13] ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการดังกล่าว[14] ซึ่งทางมูลนิธิยังคงจัดแสดงต่อมาจนถึงปัจจุบันเป็นครั้งคราวในโอกาสที่เหมาะสม [15] [16] [17] [18]

ภายหลังสิ้นชีพิตักษัย ในปี พ.ศ. 2559 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูพระเกียรติ หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็น "บูรพศิลปิน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาขาทัศนศิลป์" โดยมีการเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับ ซึ่งมีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ควรค่าแก่การเคารพยกย่องซึ่งอนุชนรุ่นต่อมาได้พัฒนาและสืบทอดให้เจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน ซึ่งในโอกาสดังกล่าวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสำหรับศิลปินผู้ล่วงลับว่า “บูรพศิลปิน”

ปลายชนม์ชีพ แก้

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์เริ่มประชวรด้วยพระโรคอัมพาตครึ่งซีกราวปี พ.ศ. 2547[19] ก่อนจะถึงชีพิตักษัยด้วยพระอาการสงบ ในตำหนัก Vellara เมือง Annot ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 สิริชันษา 82 ปี[20] ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดให้ผู้แทนพระองค์เชิญช่อดอกไม้ส่วนพระองค์มาพระราชทานยังพิธีศพที่พระประยูรญาติได้จัดขึ้น จากนั้นได้ถวายเพลิงศพอย่างเรียบง่าย ณ สุสาน Crématorium de Nice-Côte d’Azur แห่งเมือง Colomars ใกล้กับเมืองนิส ประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 11 กรกฎาคมของปีเดียวกัน [21] ก่อนจะอัญเชิญอัฐิและอังคารนิวัติสู่ประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอัฐิและอังคารส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์สุขุมาลย์นฤมิตร ในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร [22] และอีกส่วนหนึ่งพระประยูรญาติได้อัญเชิญไปลอย ณ ทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ [23] อันเป็นจังหวัดซึ่งบ้านบ่อจืด พระตำหนักส่วนพระองค์ในอดีตของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ตั้งอยู่ [24] ซึ่งท่านหญิงเคยประทับและทรงใช้ชีวิตที่นั่นเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงผูกพันและถือว่าสถานที่ดังกล่าวเปรียบเหมือนบ้านหลังสุดท้ายของท่านในประเทศไทยก่อนจะทรงย้ายไปประทับยังประเทศฝรั่งเศสถาวรตลอดชนม์ชีพ

ทั้งนี้ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์นับเป็นหม่อมเจ้าเพียงองค์เดียวของราชสกุลบริพัตร เนื่องจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต พระบิดาของท่านหญิงเป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ซึ่งในพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยยศดังกล่าว ได้ระบุไว้ว่า หากมีพระบุตรให้พระบุตรเป็นหม่อมเจ้า [25]

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. https://www.timeout.com/bangkok/th/news/เรียนรู้สุนทรียศาสตร์ของความงดงามและความอัปลักษณ์-จากปลายพู่กันของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์-บริพัตร-110218
  2. https://www.naewna.com/lady/369467
  3. http://exhibition.contestwar.com/node/2184
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-17. สืบค้นเมื่อ 2019-10-17.
  5. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. ffffff : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  6. https://www.academia.edu/13227966/สิ_งที_ข_าพเจ_าพบเห_น_โดย_หม_อมเจ_าพูนพิศมัย_ดิศกุล
  7. https://www.allthaievent.com/event/21393/
  8. http://www.hiclasssociety.com/?p=76484
  9. https://www.marsifoundation.org/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4/
  10. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/819369
  11. https://th.readme.me/p/21672
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ เรื่องจดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร", ตอนที่ 69, เล่ม 126, วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552, หน้า 69-70
  13. https://www.posttoday.com/life/11037
  14. https://mgronline.com/celebonline/detail/9530000032816
  15. https://adaymagazine.com/marsi-exhibition-1/
  16. https://www.thaipost.net/main/detail/21882
  17. https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_1230749
  18. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-18. สืบค้นเมื่อ 2019-10-18.
  19. {{https://www.thairath.co.th/content/65208}}
  20. {{https://tastythailand.com/thailands-princess-marsi-dies-in-france-talented-artist-was-82-years-old/}}
  21. {{https://m.facebook.com/media/set/?set=a.579017302162653.1073741829.230843956979991&type=3 }}
  22. {{http://oknation.nationtv.tv/blog/SW19/2013/07/16/entry-1}}
  23. {{https://www.facebook.com/348308848270/posts/10156510662153271?sfns=mo}}
  24. {{http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/02/K8897323/K8897323.html}}
  25. ราชกิจจานุเบกษา,พระบรมราชโองการ ประกาศ ยกพระวรวงษ์เธอ เป็นพระเจ้าวรวงษ์เธอ, เล่ม ๒๗, ตอน ก, ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๙๙