มารวย ผดุงสิทธิ์
มารวย ผดุงสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นอดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นผู้ริเริ่มใช้ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์[1]
มารวย ผดุงสิทธิ์ | |
---|---|
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง | |
ดำรงตำแหน่ง 24 .ตุลาคม พ.ศ. 2540 – 8 .พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 | |
นายกรัฐมนตรี | พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 4 มีนาคม พ.ศ. 2472 อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ |
เสียชีวิต | 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564 (92 ปี) |
คู่สมรส | พิมพา ผดุงสิทธิ์ |
ประวัติ
แก้มารวย ผดุงสิทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2472 ที่ตำบลห้วยสัก อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นบุตรของนายมา กับนางถนอม ผดุงสิทธิ์ ในวัยเด็กเขาเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากนั้นจึงย้ายมาบิดาที่รับราชการในกรมรถไฟ เข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนเทเวศน์ศึกษา และย้ายตามบิดาไปอยู่ในจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือ และเข้าเรียนจนจบชั้นมัธยมปีที่ 4 จากโรงเรียนอุตรดิตถ์ และเข้าไปเรียนต่อที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่อมาได้เกิดสงครามโลกครั้งที่สองจึงหยุดเรียน และกลับไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อมาบิดาของเขาล้มป่วยและต้องลาออกจากราชการ เขาจึงต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว โดยเขาสอบเข้ารับราชการได้ที่กรมรถไฟ และย้ายไปอยู่กรมชลประทาน และกรมบัญชีกลางตามลำดับ
มารวย สอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 และเข้าเรียนต่อจนจบปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นเขาสอบชิงทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากกลับมาเขาได้รับการติดต่อให้สอบชิงทุนของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
มารวย ได้รับปริญญาพาณิชยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2532 และพัฒนบริหารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2533
มารวย ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบด้วยวัย 92 ปี เมื่อเวลา 20.00 น. ของวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564 [2]
การทำงาน
แก้มารวย ผดุงสิทธิ์ เคยรับราชการในสังกัดกรมรถไฟ ต่อมาโอนย้ายไปอยู่กรมชลประทาน และกรมบัญชีกลาง จนกระทั่งสอบชิงทุนได้ จึงย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ต่อมาเขาได้รับตำแหน่งเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2528-2535[3]
มารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ[4] ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง" ทำให้รัฐบาลต้องประกาศลดค่าเงินบาท แต่ดำรงตำแหน่งได้ไม่นานก็ต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีทั้งคณะ เนื่องจากพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2553 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[5]
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[6]
- พ.ศ. 2549 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 6 เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ท.ภ.)[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ "บุคคลสำคัญของท้องถิ่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-08-21. สืบค้นเมื่อ 2013-06-26.
- ↑ ""ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์" อดีต รมช.คลัง สมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 92 ปี"". 2021-10-13. สืบค้นเมื่อ 2021-10-14.
- ↑ การเดินทางแห่งชีวิต 30ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,2548,หน้า 183-187,ISBN 974-93040-2-0
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 100ง วันที่ 24 ตุลาคม 2540
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2022-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๙๙, ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๓๔๑, ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๓, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๙