แม่ หรือ มารดา เป็นคำที่เรียกผู้ให้กำเนิด และโดยทั่วไป คือ แม่ที่เป็นบุคคลสำคัญของครอบครัวแบบ พ่อ-แม่-ลูก ในเชิงจริยธรรมยึดถือให้แม่เป็นผู้มีพระคุณต่อลูกเพราะเป็นผู้ให้กำเนิด

ภาพถ่ายของอุไรวรรณ ศิวะกุล (ซ้าย) มารดาของอธิปพร ศิวะกุล (ขวา)

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ได้ระบุถึงคำว่า แม่ ในวัฒนธรรมไทยไว้ว่า แม่ เป็นคำร่วมที่พบในวัฒนธรรมร่วมของสุวรรณภูมิซึ่งรวมถึงวัฒนธรรมไทย (ในที่นี้หมายถึงวัฒนธรรมร่วมบนคาบสมุทรอินโดจีน) ออกเสียงต่างกันบ้าง ใกล้เคียงกันบ้าง เช่น ในภาษาเขมรใช้คำว่า เม เป็นต้น แต่มีความหมายรวมเหมือนกันหมด คือ ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, ประธาน ฯลฯ นอกจากนี้ภาษาตระกูลไทย-ลาว ยกย่องลำน้ำใหญ่เป็น "แม่" เช่น ภาคกลางและภาคใต้เรียก แม่น้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่ภาคเหนือและภาคอีสานเรียก น้ำแม่ เช่น น้ำแม่ปิง น้ำแม่ลาว น้ำแม่กก น้ำแม่อิง สังเกตได้จากมีข้อสันนิษฐานหนึ่งว่าชื่อแม่กลองจะเรียกตามประเพณีลาวว่าน้ำแม่กลองมาก่อน แล้วปรับเปลี่ยนเรียกสมัยหลังว่า แม่น้ำแม่กลอง[1]

ในขณะเดียวกัน ในภาษาไทย คำว่าแม่ยังใช้เป็นคำนำหน้าในความหมายอื่นที่เกี่ยวกับ เพศหญิง และ ความเป็นใหญ่ เช่น

  • ใช้เรียกผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนม เช่น นางพลอย จะเรียกว่า แม่พลอย
  • ใช้นำหน้านามเพศหญิงผู้เป็นหัวหน้าหรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น แม่ค้า, แม่ครัว, แม่ยก
  • ใช้เรียกคนผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จำกัดเพศ เช่น แม่ทัพ แม่กอง
  • ใช้นำหน้าเพื่อเป็นคำยกย่องเทวดาผู้หญิงบางองค์ เช่น แม่คงคา แม่ธรณี แม่โพสพ, บางทีก็ใช้ว่า เจ้าแม่ เช่น เจ้าแม่กาลี หรือ พระแม่เช่น พระแม่มารีย์
  • เรียกสิ่งที่เป็นประธานหรือเป็นหลักใหญ่สำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในพวกเดียวกัน เช่น แม่กระได แม่แคร่ แม่แบบ แม่สี แม่แรง
  • เรียกสิ่งที่เป็นชิ้นใหญ่กว่าในของที่เป็นคู่ เช่น แม่กุญแจ - ลูกกุญแจ

ในเชิงวัฒนธรรม แม่มักจะมาคู่กับการยกย่องโดยเฉพาะความรักของแม่ที่มีต่อลูกที่มักพบในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น มีบทประพันธ์แปลเกี่ยวกับความรักของแม่ของพระราชธรรมนิเทศ ไว้ดังนี้[2]

ในโลกอันหนาวทรวงลวงหลอกนี้

ช่างไม่มีธารรักอันศักดิ์สิทธิ์

ที่ซึมซาบดื่มด่ำอมฤต

เหมือนในจิตของแม่รักแท้จริง

อ้างอิง

แก้
  1. ฉิบหายแล้ว สวนผลไม้เก่าแก่และดีที่สุด ที่แม่กลอง เมืองสมุทรสงคราม โดย สุจิตต์ วงศ์เทศ จาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5833
  2. "อานุภาพรัก 'แม่' กว้างกว่าฟ้าใหญ่กว่าทะเล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-13. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้