มาร์กาเร็ต ลิน เซเวียร์
มาร์กาเร็ต ลิน เซเวียร์ (Margaret Lin Xavier; 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2475) หรือ คุณหญิงลิน ฮุนตระกูล เป็นแพทย์ชาวไทย ถือเป็นแพทย์หญิงชาวไทยคนแรกที่ได้ปริญญาแพทยศาสตร์[1][2]
มาร์กาเร็ต ลิน เซเวียร์ | |
---|---|
เกิด | 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 |
เสียชีวิต | 6 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (34 ปี) |
คู่สมรส | พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) |
บุตร | 3 คน |
บิดามารดา | พระยาพิพัฒน์โกษา (เศเลสติโน ซาเวียร์) กิมกี |
ประวัติ
แก้มาร์กาเร็ต ลิน เซเวียร์ เกิดที่บ้านเชิงสะพานพิทยเสถียร ทางฝั่งตะวันออกของคลองผดุงกรุงเกษม ตำบลมหาพฤฒาราม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เป็นบุตรีของพระยาพิพัฒนโกษา (เศเลสติโน ซาเวียร์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศอิตาลี ส่วนมารดาชื่อ กิมกี[3] ศึกษาที่โรงเรียน Convent of the Sacred Heart ที่ปีนัง จากนั้นย้ายตามบิดาที่ต้องไปรับราชการในยุโรป ศึกษาที่ Clark’s Commercial College ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และศึกษาต่อในหลักสูตรสำหรับเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย จนสอบติดที่ London School of Medicine for Women และที่โรงพยาบาล Royal Free ตามลำดับ จนได้รับปริญญา M.B., B.S., M.R.C.S. และ L.R.C.P. เธอกลับสยามเมื่อปี พ.ศ. 2467 ทำงานที่แผนกความผาสุกของเด็กและทารก ในกองกลางหน่วยที่ 1 สภากาชาดไทย รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ประจำสุขศาลาบางรัก หมอลินในวัย 26 ปี ได้รับอนุญาตจากสภากาชาดไทยให้ประกอบโรคศิลป์โดยกิจการส่วนตัวได้ จึงเป็นแพทย์หญิงคนแรกที่เปิดคลินิกได้ โดยมีคลินิกที่ชื่อ อุณากรรณ ตั้งอยู่บนถนนสี่พระยา ที่เป็นที่นิยมในหมู่สตรี[4]
เธอสมรสกับพันเอกพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) มีบุตรธิดา 3 คน ได้แก่ นายกิตติรัต ศรีวิสารวาจา, ท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล และท่านผู้หญิงสาวิตรี ศรีวิสารวาจา[4]
หมอลินรักษาคนไข้ในทุกชนชั้น ไม่ใช่เพียงเฉพาะชนชั้นสูง คนไข้จำนวนมากของเธอเป็นโสเภณีที่ยากจนที่เธอให้การรักษาโดยไม่คิดค่าตอบแทน[3] แม้หมอลินจะอยู่ในช่วงให้นมบุตร ก็ยังคงทำงาน เธอให้นมบุตรด้วยตนเอง ซึ่งในยุคนั้นมารดามักไม่ได้ให้นมบุตรด้วยตัวเอง โดยจะจ้างแม่นมให้นมแทน[3]
คุณหมอลินป่วยหนักด้วยโรคมันสมองอักเสบรวมถึงไข้หวัดใหญ่เข้าแทรก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ด้วยวัย 34 ปี[5]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2472 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายใน)[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ Srisuwan, Artyasit (15 November 2018). "คุณหมอมาร์กาเร็ต ลิน เซเวียร์ แพทย์หญิงคนแรกของเมืองไทย" [Dr. Margaret Lin Xavier - Thailand's first female doctor]. The Matter. สืบค้นเมื่อ 8 March 2019.
- ↑ Chiumkanokchai, Chariya (2019-04-08). "Tackling online gender bias". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-10-07.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 นารีผู้มีคุณ. The National Identity Office, Secretariat of the Cabinet of Thailand. 1992.
- ↑ 4.0 4.1 สมโชติ อ๋องสกุล. "พันเอกพระยาศรีวิสารวาจา". ร่มพยอม. p. 8. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ ข่าวตาย (หน้า ๓๒๘๒)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เก็บถาวร 2022-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๓๑, ๑ ธันวาคม ๒๔๗๒