แมลคัม เอ็กซ์
แมลคัม เอ็กซ์ (อังกฤษ: Malcolm X ออกเสียง /ˈmælkəm ˈɛks/) (19 พฤษภาคม ค.ศ. 1925 - 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965) หรือ เอล-ฮัจญ์ มาลิก เอล-ชาบาซ (อาหรับ: الحاجّ مالك الشباز, อังกฤษ: El-Hajj Malik El-Shabazz) เป็นนักพูด นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมและชาวอเมริกันผิวดำ
แมลคัม เอ็กซ์ | |
---|---|
![]() แมลคัม ในปี 1964 | |
เกิด | แมลคัม ลิทเทิล, เอล-ฮัจญ์ มาลิก เอล-ชาบาซ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1925 โอมาฮา เนแบรสกา |
เสียชีวิต | 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965 (39 ปี) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา |
ศาสนา | อิสลาม นิกายซุนนี |
คู่สมรส | เบตตี แซนเดอร์ส |
แมลคัม เอ็กซ์ เกิดที่โอมาฮา เนแบรสกา เดิมชื่อ "แมลคัม ลิทเทิล" บิดาของเขาถูกฆาตกรรม และมารดาถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการทางประสาท มัลแคมจึงต้องใช้ชีวิตวัยเด็กในบ้านเลี้ยงดูเด็กกำพร้า ทำให้ขาดการเลี้ยงดู และก่ออาชญากรรมในบอสตันและนิวยอร์ก และต้องรับโทษในเรือนจำ ในปี 1945
ระหว่างถูกจองจำ แมลคัมได้ร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการชาติอิสลาม และเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม หลังจากเขาได้รับทัณฑ์บนในปี ค.ศ. 1952 แมลคัมได้ร่วมงานกับขบวนการชาติอิสลามอย่างจริงจัง ได้รับตำแหน่งโฆษกและเป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งขององค์การ ต่อมาเขาเกิดความขัดแย้งกับอีไลจาห์ มูฮัมมัด ผู้นำขบวนการชาติอิสลาม จึงลาออกในปี ค.ศ. 1964
หลังจากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม แมลคัมเปลี่ยนนามสกุลจาก "ลิทเทิล" เป็น "เอ็กซ์" (X) โดยให้เหตุผลว่า เป็นชื่อที่สื่อแสดงถึงความเป็นนามสกุลของชาวแอฟริกันที่แท้จริง (คือ ไม่ทราบที่มา) แทนที่นามสกุล 'ลิทเทิล' ของเดิมที่สื่อถึงชาวผิวขาว ตาสีฟ้า[1] หลังจากเขาลาออกจากขบวนการชาติอิสลาม แมลคัมได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เปลี่ยนไปนับถือนิกายซุนนี และเปลี่ยนไปใช้ชื่อในภาษาอาหรับว่า เอล-ฮัจญ์ มาลิก เอล-ชาบาซ
หลังจากลาออกจากขบวนการชาติอิสลาม แมลคัมได้ตั้งองค์กรชื่อ "Muslim Mosque, Inc." และ "Organization of Afro-American Unity" ทำให้เกิดความขัดแย้งกับองค์กรเดิม เขาถูกสังหารเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965 ขณะกำลังปราศรัยในหอประชุมแห่งหนึ่งในแมนฮัตตัน[2] โดยชายฉกรรจ์สามคน ที่เป็นสมาชิกของขบวนการชาติอิสลาม แต่องค์กรดังกล่าวได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการลอบสังหาร
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ "The Muslim's 'X' symbolized the true African family name that he never could know. For me, my 'X' replaced the white slavemaster name of 'Little' which some blue-eyed devil named Little had imposed upon my paternal forebears.", Malcolm X, Autobiography, p. 229.
- ↑ Kihss, Peter (February 22, 1965). "Malcolm X Shot to Death at Rally Here". The New York Times. สืบค้นเมื่อ August 1, 2008.