มัตสึกาเซะ

(เปลี่ยนทางจาก มัตสึคะเสะ)

มัตสึกาเซะ (ญี่ปุ่น: 松風โรมาจิMatsukaze; สายลมแผ่วผิวทิวสน) เป็นบทที่ 18 ของตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุระซะกิ ชิคิบุ จากทั้งหมด 54 บท

ภาพประกอบตำนานเก็นจิ บท มัตสึคะเสะ โดย มะซะยุกิ มิยะตะ

ที่มาของชื่อบท แก้

มัตสึคะเซะ คือ เสียงลมที่พัดผ่านทิวสน ชื่อ มัตสึคะเสะ ของบทนี้ เกี่ยวข้องกับบท อะคะชิ ซึ่งคฤหาสน์ของอะคะชิโนะคิมิ ตั้งอยู่บนเนินที่แวดล้อมไปด้วยทิวสน ยามนางบรรเลงสังคีตก็ผสานเสียงลมแผ่วผิวทิวสน ต่อมาเก็นจิย้ายนางไปพำนักที่คฤหาสน์ริมแม่น้ำโออิ ใกล้กับเมืองหลวง ซึ่งเขาสร้างจำลองให้เหมือนคฤหาสน์บนเนินเขาที่อะคะชิของนาง คือแวดล้อมไปด้วยทิวสน ด้วยเหตุว่ามีภารกิจมากมาย เก็นจิจึงปลีกตัวไปพบนางได้ยาก ยามอะคะชิโนะคิมิเศร้าใจ ก็หยิบคินโนะโกะโตะ (โกะโตะจีนมี 7 สาย) ที่เก็นจิทิ้งไว้ ออกมาบรรเลงเพลงผสานเสียงลมแผ่วผิวทิวสน มารดาของนางซึ่งขณะนี้บวชเป็นชี จึงรำพึงออกมากเป็นกลอนว่า


「身を変へて一人 帰れる山里に   聞きしに似たる松風ぞ吹く」[1]


"Mi wo kae te hitori kaere ru yama-zato ni  Kiki shi ni ni taru matsu-kaze zo fuku"

มิ โวะ คะเอะเตะ ฮิโตะริ คะเอะรุ ยะมะซะโตะ นิ คิคิ ชิ นิ นิตะรุ มัตสึคะเสะ โซะ ฟุขุ


หวนคืนกลับถิ่นฐานบ้านบนเขา เพียงตัวเราภิกษุณานิจจาเอ๋ย จำนรรเสียงลมแผ่วผิวทิวสนรำเพย วันวารเคยสดับเพราะเสนาะกรรณ


ตัวละครสำคัญในบท แก้

  • เก็นจิ  : ตำแหน่งไนไดจิน อายุ 31
  • ฮะนะจิรุซะโตะ  : ท่านหญิงดอกส้ม
  • อะคะชิโนะคิมิ  : แม่หญิงแห่งอะคะชิ อายุ 22
  • นักบวชแห่งอะคะชิ  : บิดาของแม่หญิงแห่งอะคะชิ อายุราว 64
  • ผู้ดูแลคฤหาสน์ริมแม่น้ำ โออิ
  • โคะเระมิตสึ  : คนสนิทและพี่น้องร่วมแม่นมเดียวกับเก็นจิ
  • แม่ชีแห่งอะคะชิ  : มารดาของแม่หญิงแห่งอะคะชิ อายุ 55 หรือ 56
  • ท่านหญิงน้อยอะคะชิ  : บุตรีของของเก็นจิกับแม่หญิงอะคะชิ อายุ 3 ปี
  • พี่เลี้ยงของท่านหญิงน้อยแห่งอะคะชิ
  • จักรพรรดิเรเซ  : พระชนมายุ 13 ชันษา
  • มุระซะกิ  : ภรรยารักของเก็นจิ อายุ 23


เรื่องย่อ แก้

เรือนตะวันออกของคฤหาสน์นิโจต่อเติมเสร็จสมบรูณ์แล้ว เก็นจินำฮะนะจิรุซะโตะมาอาศัยอยู่ใกล้ๆปีกตะวันออก มอบหมายให้นางอบรมดูแลยูงิริบุตรชาย ส่วนเรือนตะวันออกนั้น เก็นจิตั้งใจจะให้เป็นที่พำนักของแม่หญิงแห่งอะคะชิ

ฤดูใบไม้เปลี่ยนสี แม่หญิงแห่งอะคะชิพร้อมทั้งมารดาและบุตรีน้อยๆลงเรือล่องมาที่เกียวโตโดยมีคนของเก็นจิคอยดูแลคุ้มกัน พวกนางพากันโศกเศร้าที่ต้องทิ้งนักบวชชราให้อยู่ลำพัง นักบวชชรานักเชื่อมั่นในบุพเพสันนิวาตระหว่างบุตรีกับเก็นจิ เขาเชื่อว่าหลานสาวตัวน้อยๆจะนำความผาสุกมาสู่ผู้คนในแผ่นดิน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะอยู่บำเพ็ญเพียรอย่างโดดเดี่ยวเพื่อสั่งสมบุญบารมีสำหรับโลกหน้า ทว่าเขากลับมีสีหน้าเศร้าหมองยามลาจาก


นักบวชชรานึกถึงคฤหาสน์ของปู่ของภรรยาตนที่มีอยู่ชานนครหลวงริมแม่น้ำโออิ เขาให้บ่าวไพร่จัดการซ่อมแซมไว้รับรองแม่หญิงแห่งอะคะชิบุตรียามเดินทางเข้านครหลวง โดยจัดแต่งภูมิทัศน์ให้คล้ายคลึงกับคฤหาสน์ที่อะคะชิ ธารน้ำในสวนช่างน่ารื่นรมย์ ทว่าเก็นจิกลับไม่มาหานาง เพราะเขาไม่อาจปลีกตัวจากราชการงานเมืองได้ แม่หญิงอะคะชิจึงโศกเศร้าและคิดถึงบ้านที่จากมา นางนำคินของเก็นจิมาดีดบรรเลงบรรเทาความในใจ เสียงคินผสานกับเสียงลมที่ผัดผ่านทิวสน แม่ชีมารดาของนางเมื่อได้ฟังเสียงคินผสานเสียงลมพัดผ่านต้นสน จึงกล่าวเป็นกวีออกมา


และแล้วเก็นจิก็มีโอกาสไปพบแม่หญิงแห่งอะคะชิ โดยอ้างว่าไปดูแลการสร้างโบสถ์ส่วนตัวใกล้ๆวัดไดคะคุจิในซะงะ ซึ่งใกล้กับคฤหาสน์ริมแม่น้ำโออิ เขาอยู่กับนาง 3 วัน พ่อแม่ลูกต่างมีความสุขกันถ้วนหน้า พอเข้าวันที่สาม ขุนนางทั้งหลายต่างตามมาสมทบ จนเขาต้องย้ายไปพำนักที่คฤหาสน์ที่คัตสึระ (เนื่องจากเขาเก็บเรื่องของแม่หญิงอะคะชิเป็นความลับไม่อยากให้คนภายนอกรู้) จัดงานเลี้ยงแบบฉุกละหุก เสียงของชาวประมงในแม่น้ำคัตสึระทำให้เขาระลึกถึงเสียงของหญิงชาวประมงที่อะคะชิ ผู้คนต่างพากันดื่มสุรา เอื้อนกวี บรรเลงดนตรีอย่างสนุกสนาน ในที่สุดแล้ว กระทั่งองค์จักรพรรดิเรเซเองยังทรงส่งคนเดินสาส์นนำราชโองการส่วนตัวส่งให้เก็นจิ[2]

เก็นจิสารภาพเรื่องแม่หญิงอะคะชิกับมุระซะกิ นางไม่พอใจเขามาก แต่เมื่อเขาขอร้องให้นางช่วยเป็นแม่เลี้ยงดูท่านหญิงน้อยอะคะชิ เนื่องจากแม่หญิงอะคะชิมีฐานันดรต่ำหากให้เลี้ยงดูท่านหญิงน้อยอะคะชิในฐานะมารดา ท่านหญิงน้อยจะไม่สามารถแต่งสมรสกับบุคคลฐานันดรสูงได้ นางดีใจมาก เพราะนางรักเด็กมากแต่ตัวนางเองกลับยังไม่มีบุตรธิดาเลย

อ้างอิง แก้