สิลา วีระวงส์

(เปลี่ยนทางจาก มหาสิลา วีระวงส์)

มหาสิลา วีระวงส์ (ลาว: ມະຫາສິລາ ວີຣະວົງສ໌) เป็นนักวิชาการทางด้านวรรณคดี นักประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชาวลาว เขาเป็นผู้ที่ริเริ่มในการค้นคว้าประวัติศาสตร์ลาวในยุคร่วมสมัย และเป็นผู้ที่ค้นพบต้นฉบับใบลานมหากาพย์ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง

มหา

สิลา วีระวงส์
ສິລາ ວີຣະວົງສ໌
เกิด1 สิงหาคม พ.ศ. 2448
บ้านหนองหมื่นถ่าน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศสยาม
เสียชีวิต18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 (81 ปี)
บ้านนาคำท่ง เมืองศรีโคตรบอง นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
สุสานวัดโสกป่าหลวง เมืองศรีสัตตนาค นครหลวงเวียงจันทน์
สัญชาติ
  • ไทย
  • ลาว
ชื่ออื่นสิลา จันทะนาม
การศึกษาป.4, น.ธ.เอก, ป.ธ.5
อาชีพ
  • กวี
  • นักเขียน
  • นักดาราศาสตร์
  • นักประวัติศาสตร์ลาว
  • นักปราชญ์
  • นักอักษรศาสตร์
ผลงานเด่น
  • ประวัติศาสตร์ลาว
  • พงศาวดารลาว
  • มหากาพย์ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง
  • อักษรลาวแบบพุทธบัณฑิตสภาจันทบุรี
  • อินทิญานสอนลูก
บุตร17 คน; ดวงเดือน บุนยาวงส์
บิดามารดา
  • เสน จันทะนาม (บิดา)
  • ดา จันทะนาม (มารดา)
ลายมือชื่อ

ในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2470 มหาสิลาได้รับทุนการศึกษาจากวิทยาลัยพุทธศาสนาในนครหลวงเวียงจันทน์และพุทธบัณฑิตสภา โดยเป็นผู้ที่คิดค้นตัวอักษรเพิ่มเติมให้กับชุดตัวอักษรลาวไว้สำหรับเขียนคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ซึ่งช่วยให้มีตัวอักษรครบในแต่ละวรรค[1] และพุทธบัณฑิตสภาก็ได้ตีพิมพ์หนังสือภาษาลาวที่ใช้รูปแบบอักขรวิธีดังกล่าวแต่ก็ยังไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายเท่าที่ควร จนกระทั่งระบบการเขียนดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไปอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2518 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2562 ถึงจะได้มีการบรรจุตัวอักษรที่ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้วลงไปในรหัสยูนิโคด 12[2] นอกจากนี้มหาสิลายังเป็นผู้ที่มีส่วนรวมในการออกแบบธงของรัฐบาลลาวอิสระในปี พ.ศ. 2488 ซึ่งต่อมาก็ได้กลายมาเป็นธงชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน

ประวัติ

แก้

มหาสิลา วีระวงส์ เดิมมีชื่อว่า สิลา จันทะนาม เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2448 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง เวลา 12.30 น. ที่บ้านหนองหมื่นถ่าน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย) มีบิดาชื่อนายเสน จันทะนาม และมารดาชื่อนางดา จันทะนาม ซึ่งเป็นครอบครัวชาวนา โดยเป็นบุตรคนที่ 4 ของครอบครัวจากจำนวนทั้งหมด 9 คน ตระกูลของมหาสิลาสืบเชื้อสายมาจากพญาเมืองปากที่มีศักดิ์เป็นปู่ทวด โดยพญาเมืองปากก็เป็นต้นตระกูลที่มีพื้นเพมาจากเมืองจำปาศักดิ์

ปฐมวัยและการศึกษา

แก้

มหาสิลาเริ่มเรียนหนังสือที่บ้านกับตาเมื่ออายุได้ 8 ปี โดยเริ่มจากการฝึกเขียน-อ่านอักษรไทน้อยหรืออักษรลาวเดิม หลังจากนั้นจึงได้เริ่มอ่านหนังสือกาพย์-กลอน ต่อมาก็ไปเป็นเด็กวัดและบวชเณรตามลำดับ ทำให้ได้เรียนและศึกษาอักษรไทย อักษรขอม และอักษรธรรมเพิ่มเติม แต่บวชได้เพียงไม่นานก็ต้องสึกเนื่องจากต้องไปดูแลแม่ที่เจ็บป่วย

จนกระทั่งเข้าปี พ.ศ.2460 เมื่ออายุได้ราว 12 ปี เมื่อรัฐบาลสยามได้ตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น และบังคับให้เด็กต้องเข้าเรียน ส่งผลให้มหาสิลาต้องเข้าเรียนตามระบบการศึกษาจากส่วนกลาง โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านหางหว้า ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านหนองหมื่นถ่านไป 12 กิโลเมตร (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหัวช้าง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) ก่อนที่จะบวชเณรอีกครั้ง โดยย้ายไปเรียนระบบสามัญในเวลากลางวันที่โรงเรียนบ้านทุ่งหมื่น (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหนองทัพไทย อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด) ซึ่งอยู่ใกล้บ้านหนองหมื่นถ่านมากกว่าโรงเรียนเดิม สลับกับการศึกษาธรรมะในเวลากลางคืน ก่อนจะย้ายไปเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และหลักสูตรนักธรรมตรีที่ในอำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด

เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากพระผู้ใหญ่ว่าหากเรียนทางสายปริยัติธรรมจะสามารถต่อยอดไปได้ไกลกว่าสายสามัญ หากสอบได้หลักสูตรภาษาบาลีชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยคแล้ว จะสามารถศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายและสอบเป็นผู้พิพากษาได้ มหาสิลาจึงมุ่งศึกษาในทางธรรมและเดินทางไปศึกษาต่อที่อุบลราชธานี ก่อนที่จะเข้าไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ที่สำนักเรียนวัดปทุมวนาราม เข้าเรียนนักธรรมชั้นเอกและสอบได้อันดับ 1 ของรุ่น จากการสอบทั่วกรุงเทพในปี พ.ศ. 2468 และก็สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยคได้เป็นผลสำเร็จตามความปรารถนาในปีต่อมา ภายหลังในปี พ.ศ. 2471 ก็สามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรมถึงชั้น 5 ประโยค

แต่เนื่องจากทางโรงเรียนกฎหมายมักเปลี่ยนระเบียบการรับนักศึกษาอยู่บ่อยครั้ง จากที่กำหนดคุณสมบัติให้ต้องจบชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค ก็เปลี่ยนเป็นต้องชั้นเปรียญธรรม ุ6 ประโยค และมีการเพิ่มเติมคุณสมบัติให้ต้องมีวุฒิชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และมีข้าราชการบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาให้การรับรองด้วย มหาสิลาจึงเกิดความท้อถอยและละทิ้งความตั้งใจที่จะเป็นผู้พิพากษาในรัฐบาลสยามตามที่ได้ตั้งใจไว้แต่เดิม โดยระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเองที่มหาสิลาได้อ่านงานประวัติศาสตร์ความบาดหมางระหว่างสยามส่วนกลางกับล้านช้างเวียงจันทน์ (กบฏเจ้าอนุวงศ์) ทำให้มหาสิลาเกิดแนวคิดอยาก “กู้ชาติ” ขึ้นมา แต่ความรุ่มร้อนก็ค่อย ๆ บรรเทาลง เมื่อมีพระผู้ใหญ่ในอีสานที่มหาสิลาเคารพนับถือ อธิบายให้เห็นว่าตัวท่านเองก็เคยคิดเช่นนั้น แต่มัน “เป็นไปไม่ได้” ทำให้มหาสิลาในขณะนั้นจึงต้องเก็บงำความคิดเรื่องกู้ชาติของตนเอาไว้[3]

การเสียชีวิต

แก้

มหาสิลาถึงแก่กรรมในวันที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 สิริรวมอายุได้ 82 ปี นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของแวดวงวิชาการลาว สีซะนะ สีสานประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์สังคมแห่งชาติลาว ได้ระบุเอาไว้ว่า: "ตลอดชีวิตของท่านมหาสิลา วีระวงส์ ได้อุทิศตนให้แก่การค้นคว้าภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และยังเป็นห่วงเป็นใยจนถึงวาระสุดท้ายของท่าน ด้วยอยากให้วรรณคดีลาวสมัยโบราณได้รับการพิมพ์ออกเผยแพร่ต่อมวลชนอย่างทั่วถึง บรรดานักศึกษา นักวิชาการทั้งลาวและต่างประเทศ ต่างก็ถือเอาท่านเป็นบ่อนอิง เพื่อถามเอาข้อมูล หลาย ๆ คนยกย่องและนับถือท่านเป็นอาจารย์ เป็นผู้ทรงคุณอุทิศ เป็นนักปราชญ์ผู้หนึ่งของลาว"

ผลงาน

แก้

งานประพันธ์

แก้
  1. เวสสันดรชาดกคำกลอน (พ.ศ. 2466)
  2. พุทธประวัติคำกลอน (พ.ศ. 2466)
  3. ท้าวเตมียกุมารชาดกคำกลอน (พ.ศ. 2473)
  4. ท้าวสุวรรณสามชาดกคำกลอน (พ.ศ. 2473)
  5. แบบสวดมนต์ของพระพร้อมทั้งคำแปล เรียกว่า ปฐมจุลปริตร์ (พ.ศ. 2476)
  6. แบบเรียนธรรมะ ภาค 1 ภาค 2 (พ.ศ. 2476)
  7. พุทธประวัติ บั้นพระโพธิสัตว์ คำกลอน (พ.ศ. 2476)
  8. แบบเรียนไวยากรณ์ลาว ภาค 1 อักขรวิธี (พ.ศ. 2478)
  9. แบบเรียนไวยากรณ์บาลี 4 ภาค (พ.ศ. 2481)
  10. แบบแต่งกลอนไทยเวียงจันทน์ และกาพย์สารวิลาสินี (พ.ศ. 2485)
  11. อุรังคนิทานคำกลอน (พ.ศ. 2486)
  12. พุทธทำนายคำกลอน (พ.ศ. 2488)
  13. ประเพณีบุราณลาวภาค 1 สูตรขวัญต่าง ๆ (พ.ศ. 2498)
  14. พงศาวดารชาติลาว ปรับปรุงใหม่ (พ.ศ. 2501)
  15. ประวัติเจดีย์พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2501)
  16. วจนานุกรมภาษาลาว (พ.ศ. 2503)
  17. วรรณคดีเพื่อการศึกษา (พ.ศ. 2503)
  18. ท้าวมหาชนกชาดกคำกลอน (พ.ศ. 2505)
  19. ประวัติพระเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ. 2511)
  20. ประวัติหนังสือลาว (พ.ศ. 2517)
  21. ประเพณีบุราณลาวภาค 2 ประเพณีการเกิด, การบวช, แต่งดอง, ตาย, การตั้งชื่อ (พ.ศ. 2516-18)
  22. ประวัตินครเวียงจันทน์ วัดภูจำปาศักดิ์ นครจำปาศักดิ์ (พ.ศ. 2516-18)
  23. ฮีตสิบสอง (บุญต่างๆ ใน 12 เดือน) (พ.ศ. 2517)
  24. ประวัติ 14 ตุลา 1945 (พ.ศ. 2518)
  25. ประวัติธงและธงลาว (พ.ศ. 2518)
  26. ชีวประวัติเจ้ามหาอุปราชเพชรราช (จัดพิมพ์ พ.ศ. 2538) - ฉบับภาษาไทยจัดพิมพ์ในชื่อเรื่อง เจ้าเพชรราช บุรุษเหล็กแห่งราชอาณาจักรลาว
  27. ไวยากรณ์ลาว 4 ภาค (จัดพิมพ์ พ.ศ. 2538)
  28. ประโยชน์ของวรรณคดี (จัดพิมพ์ พ.ศ. 2539)
  29. คำกลอนอัตชีวประวัติ และกลอนลำเกี้ยวสาว เดินดง ประวัติศาสตร์ (ไม่ระบุปีที่พิมพ์)

งานปริวรรต

แก้
  1. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์บูราณลาว (กฎหมายเก่าของลาว; พ.ศ. 2486)
  2. ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง (พ.ศ. 2486)
  3. พระเวสสันดรชาดก (พ.ศ. 2486)
  4. อินทิญาณสอนลูก (พ.ศ. 2486)
  5. สังข์ศิลป์ชัย (พ.ศ. 2494)
  6. สารลีพสูร (สารลึบพระสูรย์) (พ.ศ. 2495)
  7. เซียงเมี้ยง (พ.ศ. 2497)
  8. ตำนานพระบาง (พ.ศ. 2497)
  9. นิทานท้าวเสียวสวาด (พ.ศ. 2497)
  10. พระพุทธรูปปางภิเษกวิธี (พ.ศ. 2497)
  11. เรื่องพระอุปคุต (พ.ศ. 2508)
  12. ประวัติพระแทรกคำ (พ.ศ. 2510)
  13. ตำนานขุนบรม (พ.ศ. 2510)
  14. สานถอนอกน้อม (ไม่ระบุแน่ชัด อยู่ในช่วงพุทธทศวรรษ 2510)

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Rajan, Vinodh; Mitchell, Ben; Jansche, Martin; Brawer, Sascha. "Proposal to Encode Lao Characters for Pali" (PDF).
  2. "Lao Characters for Pali added to Unicode 12 | Computer Science Blog". blogs.cs.st-andrews.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2023-03-01.
  3. "มหาสิลา วีระวงศ์ ปราชญ์ลาวร้อยเอ็ด ปลุกสำนึกลาวผ่านประวัติศาสตร์". thepeople.co. สืบค้นเมื่อ 2020-07-07.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้