มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ (ชื่อเดิม : วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ) เคยเป็นวิทยาเขตในสังกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดการเรียนการสอนในระดับต่ำกว่าปริญญา และระดับปริญญา เป็นวิทยาเขตที่มีจำนวนนักศึกษาและบุคลากรมากที่สุด ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในปี พ.ศ. 2552 มีนักศึกษา จำนวน 9,074 คน [1] ปัจจุบันไม่มีสถานะเป็นวิทยาเขต

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่
ชื่อเดิมวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ
วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ
ชื่อย่อมทร.ล.ชม. / RMUTL CM
คติพจน์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งล้านนา
ประเภทมหาวิทยาลัยของรัฐ
สถาปนา8 สิงหาคม พ.ศ. 2500
สถาบันหลักมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ที่อยู่
วิทยาเขตวิทยาเขตเจ็ดลิน
วิทยาเขตเจ็ดยอด
วิทยาเขตดอยสะเก็ด
วิทยาเขตจอมทอง
ส่วนเกี่ยวข้อง วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ
เว็บไซต์rmutl.ac.th

ประวัติ

แก้

วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ เป็นสถาบันการศึกษาวิชาชีพประจำภาค สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งขึ้น โดยประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ตั้งอยู่ภายในพื้นที่เมืองโบราณ เวียงเจ็ดลิน หรือเมืองเชษฎบุรี เลขที่ 128 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 6 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 90 ไร่ และต่อมาในปี พ.ศ. 2523 วิทยาเขตฯ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ให้ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ประจำหมู่บ้านช่างเคี่ยนอีกจำนวน 25 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 115 ไร่

ในปีเริ่มแรกได้เปิดสอนหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ใน 6 แผนกวิชา คือ ช่างยนต์ ช่างกลโลหะ ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ครุภัณฑ์ และพณิชยการ ต่อมาได้ปรับปรุงและขยายงาน ทั้งในด้านสถานที่ อาคารเรียน อุปกรณ์ เครื่องมือ บุคลากร และขยายการศึกษาโดยเปิดแผนกวิชาต่างๆ ในระดับที่สูงขึ้น

นอกจากเปิดสอนวิชาชีพ เพื่องานในทางอุตสาหกรรม พณิชยกรรม และศิลปกรรม ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับปริญญาตรีแล้ว วิทยาเขตฯ ยังได้มีโครงการสนับสนุนส่งเสริมศิลปหัตถกรรมภาคเหนือ โดยใช้ที่ดินซึ่งได้รับบริจาคจากคุณหญิงดารา ไชยยศสมบัติ จำนวน 5 ไร่ และวิทยาเขตฯ จัดซื้อเพิ่มอีก 5 ไร่ รวมเป็น 10 ไร่ บริเวณข้างวัดเจ็ดยอดโพธาราม และโรงเรียนวัดเจ็ดยอด โดยมีแผนกวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แผนกวิชาอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา แผนกวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ แผนกวิชาช่างอุตสาหกรรมเครื่องประดับ แผนกวิชาจิตรกรรม แผนกวิชาประติมากรรม แผนกวิชาศิลปะภาพพิมพ์ แผนกวิชาการพิมพ์ และแผนกวิชานิเทศศิลป์ เข้าไปปฏิบัติตามโครงการดังกล่าว

ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการโอนกิจการของวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ ไปสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา มีชื่อว่า "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ" และมีการเปิดสอนในระดับปริญญาเป็นครั้งแรกของสถาบัน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถาบันใหม่ว่า "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล" ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2532 ซึ่งชาวราชมงคลถือว่าวันดังกล่าวเป็น "วันราชมงคล"

ต่อมาปี พ.ศ. 2548 ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ประกาศยกฐานะสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ทำให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนระดับต่ำกว่าปริญญา ระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา

ความเป็นมาของชื่อวิทยาเขต

แก้
  • พ.ศ. 2500 ได้มีการจัดตั้ง "วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ" (วท.พ) สังกัด กรมอาชีวศึกษา] กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2520 ได้เข้าเป็นวิทยาเขตของ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา โดยใช้ชื่อวิทยาเขตว่า "วิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ" (วข.พ) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2531 "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ" (วข.พ) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2548 "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ" ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่" (มทร.ล.) สังกัด กระทรวงศึกษาธิการ ดังเช่นปัจจุบัน

รอยพระบาทยาตรา

แก้

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระกรุณาธิคุณต่อชาวเทคนิคภาคพายัพอย่างหาที่สุดมิได้ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยถึง 2 ครั้ง คือ

ครั้งแรก วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2530 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรการเรียนการสอนวิทยาเขตภาคพายัพ (เจ็ดยอด) เป็นการส่วนพระองค์

ครั้งที่ 2 วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยมีนายชัยยง เอื้อวิริยานุกูล อธิการบดีฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ในวโรกาสที่พระองค์ได้เสด็จทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยฯ ในครั้งนี้ คณะผู้บริหารได้รายงานโครงการที่ได้นำเสนอตามลำดับ คือ ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ โครงการฟักทองพันธุ์พระราชทาน "โอโตะ" ศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมทร.ล้านนา โครงการสาธิตกระบวนการผลิตแจกันศิลปกรรมเฉลิมพระเกียรติ และโครงการ Digitized Thailand Project

รายนามผู้อำนวยการวิทยาเขต

แก้
วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ
รายนามผู้อำนวยการ การดำรงตำแหน่ง
1. นายจรัญ สมชะนะ พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2503
2. นายเจนจิตต์ กุณฑลบุตร พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2506
3. ศาสตราจารย์สวาสดิ์ ไชยคุณา พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2515
4. นายชลิต สุวัตถี (รักษาการ) พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2516
5. นายภพ เลาหไพยบูลย์ (รักษาการ) พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2517
6. นายสุพจน์ พุทธาภิสิทธิ (รักษาการ) พ.ศ. 2517
7. นายจรัญ สมชะนะ พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2518
วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ
รายนามผู้อำนวยการ การดำรงตำแหน่ง
7. นายจรัญ สมชะนะ พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2519
8. นายโสภณ แสงไพโรจน์ พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2522
9. นายดิเรก มานะพงษ์ พ.ศ. 2522 - พ.ศ. 2533
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ
รายนามผู้อำนวยการ การดำรงตำแหน่ง
10. นายสุพจน์ พุทธาภิสิทธิกุล (รักษาการ) พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2535
11. นายไพรัช รุ้งรุจิเมฆ พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2537
12. นายเฉลิม เลาหะเพ็ญแสง พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2538
13. นายอัศดา จิตต์ปรารพ พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2543
14. นายชัยยง เอื้อวิริยานุกูล พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2550
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่
รายนามรองอธิการบดี การดำรงตำแหน่ง
15. ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน พ.ศ. 2550 - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
16. นายสุทิน ประเสริฐสุนทร 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2556
16. ผศ.อวยพร บัวใบ พ.ศ. 2557 - 30 กันยายน พ.ศ. 2557

สัญลักษณ์ราชมงคลล้านนา

แก้
 
ดอกปีบ

สีประจำมหาวิทยาลัย สีน้ำตาลทอง หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืน เปรียบได้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองทางด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม อันเป็นฐานความพร้อมในการเสริมสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณธรรม จริยธรรม และการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้าเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้สืบไป

สีน้ำตาลทอง คือสีกลางที่เกิดจากการรวมสี มีคุณลักษณะเป็นกลาง สามารถอยู่ร่วมกับทุกสีได้ และทำให้สีนั้นโดดเด่นสวยงาม เปรียบประดุจกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่สามารถบูรณาการ ผสานการบริหารจัดการร่วมกับเขตพื้นที่ ในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติที่ถึงพร้อมทุกด้าน ออกไปพัฒนาสังคม ประเทศชาติ และดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข พึ่งพาตนเองได้

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ต้นกาสะลอง (หรือต้นปีบ) เป็นต้นไม้ที่รู้จักกันแพร่หลายในถิ่นล้านนา มีดอกสีขาวอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์และคุณงามความดี ดอกมีกลิ่นหอมเปรียบประดุจชื่อเสียงและเกียรติคุณของมหาวิทยาลัย

ตามวัฒนธรรม ความเชื่อของสังคมไทย กาสะลองเป็นไม้มงคล สถานที่แห่งใดปลูกไม้มงคลนี้ไว้ จะนำมาซึ่งเกียรติคุณและชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วสารทิศ กาสะลองมีลำต้นที่แข็งแรงสูงโปร่ง มีช่อดอกสีขาวบานสะพรั่งโน้มลงมา เปรียบเสมือนคุณลักษณะของบัณฑิตที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่จะไปพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนต่อไป

ตราสัญลักษณ์กิจกรรม เป็นตราสัญลักษณ์ที่ถอดรูปแบบมาจากตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยมีลักษณะคล้ายกับตราประจำมหาวิทยาลัย และสื่อความหมายถึงเลข ๙ ซึ่งหมายถึง รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงพระราชทานนามมหาวิทยาลัย

คณะที่เปิดสอน

แก้

พื้นที่จัดการเรียนการสอน และบริการวิชาการ

แก้

ห้วยแก้ว

แก้
 
อาคารศูนย์ถ่ายทอดภูมิปัญญา วิทยาเขตดอยสะเก็ด
  • พื้นที่ห้วยแก้ว ตั้งอยู่เลขที่ 128 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดการเรียนการสอน 4 คณะ คือ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ (เฉพาะสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์)และวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ (บางส่วน) มีเนื้อที่ 115 ไร่ ตั้งอยู่ ณ พื้นที่ของเวียงเจ็ดลิน เดิม

เจ็ดยอด

แก้
  • พื้นที่เจ็ดยอด ตั้งอยู่เลขที่ 95 ถนนเชียงใหม่-ลำปาง ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่จัดการเรียนการสอนของคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีเนื้อที่ 10 ไร่ ซึ่งได้รับที่ดินบริจาคจากคุณหญิงดารา ไชยยศสมบัติ จำนวน 5 ไร่ และวิทยาเขตฯ จัดซื้อเพิ่มอีกรวมเป็น 10 ไร่

สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนวัดเจ็ดยอด เดิมมีแผนกวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แผนกวิชาอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา แผนกวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ แผนกวิชาช่างอุตสาหกรรมเครื่องประดับ แผนกวิชาจิตรกรรม แผนกวิชาประติมากรรม แผนกวิชาศิลปะภาพพิมพ์ แผนกวิชาการพิมพ์ และแผนกวิชานิเทศศิลป์ เข้าไปปฏิบัติตามโครงการสนับสนุนส่งเสริมศิลปหัตถกรรมภาคเหนือ

ดอยสะเก็ด

แก้
  • พื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการจัดสร้างเป็นศูนย์การศึกษาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยจัดตั้งสถานศึกษาเฉลิมพระเกียรติในเชิงปฏิรูปลักษณะเป็น ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับปริญญาตรี โดยให้กรมต่าง ๆ รับผิดชอบแต่ละส่วน และให้ประสานกับ จุดยุทธศาสตร์ของประเทศพร้อมกัน 3 แห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ อันเป็นจังหวัดที่ตั้งของพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ต่อมาประสบปัญหางบประมาณ ทำให้รัฐบาลสั่งระงับโครงการฯ ไว้ก่อน วิทยาเขตภาคพายัพ จึงได้จัดทำโครงการเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอเข้าไปดำเนินโครงการ ในพื้นที่ของโรงเรียนประจำพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ฯ ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยฯ จัดให้เป็นศูนย์ฝึกอบรม และบริการวิชาการแก่ชุมชน และจัดการศึกษาในส่วนของวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ

จอมทอง

แก้
  • พื้นที่อำเภอจอมทอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับความเห็นชอบ จากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ บริเวณทางหลวงหมายเลข 1009 ระหว่าง กม. ที่ 3-4 ติดกับ ค่ายลูกเสือแห่งชาติ จำนวนประมาณ 590 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ภาคพายัพ(จอมทอง) เพื่อรองรับการขยายตัวและขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความต้องการ และคาดหวังให้มหาวิทยาลัยฯ เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ในเขตพื้นที่อำเภอจอมทอง และเขตพื้นที่การศึกษาใกล้เคียง มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาต่อชุมชน และประเทศชาติโดยส่วนรวม ตั้งอยู่ 199 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2548 โดย พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธี และมี สุรพล เกียรติไชยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (ตำแหน่งขณะนั้น) ร่วมในพิธี

เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2550[2] โดยมีนายคูณธนา เบี้ยวบรรจง เป็นผู้อำนวยการคนแรก

 
อาคารเรียนหลังแรก

ปี 2559 ได้มีการจัดตั้งสถาบันภาษาภาษาและวัฒนธรรมจีน ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (จอมทอง) [3]

การจัดการเรียนการสอน

แก้

จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี จำนวน 1 คณะ คือ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ หลักสูตร 4 ปี เปิดทำการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ในปี พ.ศ. 2554 ได้ทำการเปิดหลักสูตร สาขาวิชาการจัดการ หลักสูตร 4 ปี

ในปี พ.ศ. 2555 ได้ทำการเปิดหลักสูตร สาขาวิชาการบัญชี หลักสูตร 4 ปี

ในปี พ.ศ. 2556 ได้ทำการเปิดหลักสูตร สาขาการท่องเที่ยว หลักสูตร 4 ปี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (จอมทอง) จัดการเรียนการสอนจนถึงปีการศึกษา 2563 มีนักศึกษากลุ่มสุดท้ายเป็นนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ จำนวน 95 คน[4] โดยในปีการศึกษา 2564 ไม่มีนักศึกษาในพื้นที่จอมทอง[5]

อาคารสถานที่สำคัญของมหาวิทยาลัย

แก้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2500 อาคารส่วนใหญ่ในบริเวณมหาวิทยาลัยจึงเป็นอาคารที่มีอายุมากกว่าสิบปี โดยมีอาคารสถานที่สำคัญ คือ

  • ศาลาราชมงคล เป็นอาคารที่ประดิษฐาน พระพุทธศรีศากยมุนี พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย และยังใช้เป็นอาคารหอประชุมในงานพิธีการสำคัญ สามารถจุคนได้ประมาณ 100 คน
  • ศาลาทรงงานสมเด็จพระเทพฯ เป็นอาคารชั้นเดียว ก่อสร้างในช่วงปลายปี พ.ศ. 2550 เพื่อรับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • อาคารอำนวยการ เป็นอาคารหลังแรกของวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ เริ่มวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2500 เป็นอาคาร 2 ชั้น ปัจจุบันใช้เป็นอาคารสำนักงานอธิการบดี (ชั่วคราว)
  • อาคารกิจกรรมนักศึกษา เป็นอาคารโรงยิมเนเซียม 2 ชั้น ภายในประกอบด้วย สนามบาสเกตบอล สนามแบดมินตัน ชั้นล่างเป็นห้องออกกำลังกาย ห้องแอโรบิค ห้องกิจกรรมชมรม และสำนักงานสภานักศึกษา อาคารโรงยิมเนเซียมเป็นรูปแบบที่ใช้เหมือนกันเกือบทุกวิทยาเขตทั่วประเทศ
  • อาคารศึกษาทั่วไป เป็นอาคารเรียน 6 ชั้น สร้างราวปี พ.ศ. 2516 นับเป็นอาคารที่มีความสูงมากในสมัยนั้น
  • ลานครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่บริเวณศาลพระภูมิ และศาลที่ประดิษฐานองค์พระครูบาศรีวิชัย บนแนวกำแพงโบราณ นับเป็นสิ่งศักดิ์คู่กับมหาวิทยาลัยมายาวนาน
  • แนวกำแพงเวียงเจ็ดลิน เป็นแนวกำแพงเมืองโบราณ (คันดิน) ของเวียงเจ็ดริน ปัจจุบันถูกทำลายลงไปบางส่วน ในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมามีการก่อสร้างอาคารบนแนวคันดินโบราณ คือ อาคารโรงอาหาร และอาคารสโมสรนักศึกษา ซึ่งยังใช้งานจนถึงปัจจุบัน

การเดินทางสู่มหาวิทยาลัย

แก้

การเดินทางมาสู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่

ห้วยแก้ว

แก้

เดินทางตามถนนเชียงใหม่-ลำปาง จนสิ้นสุดที่ทางแยกรินคำ จากนั้นจึงเลี้ยวขวาตามถนนห้วยแก้ว ประมาณ 3 กิโลเมตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ ตั้งอยู่ขวามือ ตรงข้ามกับสวนรุกขชาติห้วยแก้ว เยื้องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เล็กน้อย

สำหรับการเดินทางภายในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเดินทางได้ด้วยรถสี่ล้อแดง (รถสองแถว) รถแท๊กซี่ หรือรถโดยสารประจำทาง (อัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย) ดังนี้

 
รถสองแถว หรือที่รู้จักกันในชื่อ "รถแดง"
  • สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) เดินทางได้โดยรถสองแถว
  • สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2 (อาเขต) เดินทางได้โดยรถประจำทางสาย 11 (อาเขต-ไนท์ซาฟารี) ขึ้นรถที่สถานีขนส่งอาเขต-ลงที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ จากนั้นต่อสาย 12 (เวียงกุมกาม-สวนสัตว์เชียงใหม่) ขึ้นรถที่ข่วงประตูท่าแพ-ลงที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • สถานีรถไฟเชียงใหม่ โดยรถประจำทางสาย 13 (สถานีรถไฟ-ไนท์ซาฟารี) ขึ้นที่สถานีรถไฟเชียงใหม่-ลงที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ จากนั้นต่อสาย 12 (เวียงกุมกาม-สวนสัตว์) ขึ้นที่ข่วงประตูท่าแพ-ลงที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ โดยรถประจำทางสาย 11 (ไนท์ซาฟารี-อาเขต) ขึ้นที่ท่าอากาศยานฯ-ลงที่ตลาดสมเพชร จากนั้นต่อสาย 12 (เวียงกุมกาม-สวนสัตว์เชียงใหม่) ขึ้นที่ตลาดสมเพชร-ลงที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

เจ็ดยอด, ถนนห้วยแก้ว, ทางไปดอยสุเทพ

แก้

เดินทางตามถนนเชียงใหม่-ลำปาง ผ่านอุโมงค์ทางลอดข่วงสิงห์ จากนั้นเลี้ยวขวาบริเวณสามแยกหน้าวัดเจ็ดยอดโพธาราม เข้ามาประมาณ 1 กิโลเมตร มหาวิทยาลัยฯ ตั้งอยู่ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือก เส้นทางนี้ไม่มีรถโดยสารประจำทางผ่าน หรืออีกเส้นทางหนึ่ง : มุ่งหน้าไปยังทางขึ้นดอยสุเทพหรือทางไปหาอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย โดยเดินทางผ่านหน้าวัดเจ็ดยอดตามถนนเชียงใหม่-ลำปาง ไปถึงสี่แยกไฟแดงรินคำ (ห้างสรรพสินค้า MAYA อยู่ทางขวามือ) จากนั้นเลี้ยวขวา ไปตามเส้นทางถนนห้วยแก้ว ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ ไปประมาณ 100 เมตร จะพบทางเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ อยู่ทางขวามือ (ตรงข้ามกับสวนรุกขชาติเชียงใหม่) หรือถ้ามาจากเซ็นทรัล กาดสวนแก้ว มุ่งหน้าไปยังทางขึ้นดอยสุเทพหรือทางไปหาอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย โดยไปถึงสี่แยกไฟแดงรินคำ จากนั้นตรงไปตามเส้นทางถนนห้วยแก้ว ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ ไปประมาณ 100 เมตร จะพบทางเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ อยู่ทางขวามือ (ตรงข้ามกับสวนรุกขชาติเชียงใหม่)

ดอยสะเก็ด

แก้

เดินทางตามถนนเชียงใหม่-เชียงราย จากนั้นเลี้ยวเข้าตามถนนเลียบคลองชลประทาน ตรงข้ามทางเข้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา

จอมทอง

แก้

เดินทางตามถนนสายเชียงใหม่-จอมทอง ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับค่ายลูกเสือแห่งชาติ และวิทยาลัยการอาชีพจอมทอง

หน่วยงานของนักศึกษา

แก้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้กำหนดให้มีองค์กรของนักศึกษาในระดับเขตพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงาน และการดำเนินกิจกรรมของนักศึกษา[6] ได้แก่

  • หน่วยดำเนินกิจกรรม
    • สโมสรนักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และบริหารงานกิจกรรมของนักศึกษาในระดับเขตพื้นที่ มีนายกสโมสรนักศึกษาคณะในเขตพื้นที่ และผู้แทนนักศึกษา เป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายกสโมสรนักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
    • สโมสรนักศึกษาคณะ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และบริหารงานกิจกรรมของนักศึกษาในระดับคณะในแต่ละเขตพื้นที่ มีผู้แทนนักศึกษาในคณะ เป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายกสโมสรนักศึกษาคณะ เป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
    • ชมรม เป็นหน่วยดำเนินกิจกรรมของนักศึกษา โดยมีประธานชมรม เป็นผู้อำนวยการดำเนินงาน
  • หน่วยตรวจสอบ
    • สภานักศึกษาเขตพื้นที่ เป็นตัวแทนรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของนักศึกษา ควบคุม ตรวจสอบการบริหารงานและการดำเนินงานขององค์กรนักศึกษา (สโมสรนักศึกษา และชมรม) เป็นศูนย์กลางในการรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา

บุคคลที่มีชื่อเสียง จากวิทยาเขตภาคพายัพ

แก้

เกร็ดข้อมูล

แก้
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ เคยถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่อง เพื่อนสนิท โดยเนื้อหาเป็นเรื่องราวของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ตลอดทั้งเรื่องถ่ายทำใน วิทยาเขตภาคพายัพ
    • ฉากต้นไทร คือ บริเวณลานต้นไทร คณะสถาปัตยกรรม
    • ฉากป้ายคณะเกษตรศาสตร์ คือ หน้าอาคารคณะสถาปัตยกรรม
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ (ห้วยแก้ว) แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง โดยมีถนนพระนาง กั้นอยู่ นิยมเรียกว่า "วังหน้า" และ "วังหลัง" แต่นักศึกษาเจ็ดยอดจะเรียกรวมกันว่า "เทคโนบน"
  • บุคคลทั่วไปมักจะไม่รู้จักมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา แต่ทุกคนจะรู้จัก "เทคโนตีนดอย" (หมายถึง เชิงดอย)
  • อาคารเรียนรวม มีชั้นใต้ดินสำหรับจอดรถยนต์ แต่รถยนต์ไม่สามารถขับลงไปได้ (ใต้ท้องรถจะติดพื้นถนนบริเวณทางลง)
  • ในมหาวิทยาลัยฯ มีหัวจักรรถไฟ ตั้งอยู่หน้าสาขาช่างยนต์

อ้างอิง

แก้
  1. สรุปจำนวนักศึกษา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2552
  2. วุ่นไฟป่าโหมหลัง ม.ราชมงคลล้านนา (จอมทอง) สกัดยันเที่ยงคืน
  3. มทร.ล้านนา เปิดสถาบันภาษาและวัฒนธรรมจีน (จอมทอง)
  4. สรุปจำนวนนักศึกษา ปีการศึกษา 2563
  5. สรุปจำนวนนักศึกษา ปีการศึกษา 2564
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-08-27. สืบค้นเมื่อ 2010-04-26.