ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา

จิตรกรรมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา

ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา คือ ภาพวาดสองภาพที่แสดงขบวนอัญเชิญพระบรมศพของสมเด็จพระเพทราชาสู่พระเมรุ คาดว่าวาดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2247–2248 ในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 โดยจิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐเดรสเดิน (Dresden State Art Collections) ประเทศเยอรมนี

สิ่งน่าสนใจเกี่ยวกับภาพวาดสองชิ้นนี้คือ เป็นโบราณวัตถุที่เพิ่งได้รับการระบุว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 หลังจากม้วนเก็บอยู่ในกระบอกบรรจุภาพ (canister) พร้อมกับบันทึกภาษาดัตช์จำนวนสามหน้า นานกว่า 300 ปี ในสภาพที่ดีเยี่ยม[1] นับว่าเป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไปเกี่ยวกับงานพระบรมศพในสมัยอยุธยาที่เหลือเพียงหลักฐานลายลักษณ์อักษรไม่กี่ฉบับ[2]

ประวัติ แก้

จุดกำเนิด แก้

ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้วาดภาพดังกล่าว แต่พบหลักฐานว่าใน ค.ศ. 1702 (พ.ศ. 2246) ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระเพทราชาสวรรคต อาร์เนาต์ เกลอร์ (Aernout Cleur) พ่อค้าชาวดัตช์ซึ่งประจำอยู่ที่สถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (เฟโอเซ) ในกรุงศรีอยุธยาหลายปี ได้เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานการค้า (opperhoofd/director) ของเฟโอเซแทนคีเดโอน ตันต์ (Gideon Tant)[3] และมีความเป็นไปได้สูงมากที่เกลอร์เป็นผู้ขอให้จิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยาวาดภาพดังกล่าวขึ้น แม้จะไม่ทราบเหตุผลที่ชี้ชัดว่าด้วยจุดประสงค์ประการใด อย่างไรก็ดี เมื่อสืบค้นข้อมูลจากเอกสารร่วมสมัยอื่นที่พบที่หอจดหมายเหตุดัตช์ในเดอะเฮก[4] พบว่าในช่วงต้น ค.ศ. 1704 (พ.ศ. 2247) เกลอร์ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับปัญหาการสืบราชสมบัติที่เพิ่งเกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาอย่างละเอียด โดยส่งรายงานถึงปัตตาเวียในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1704 และสำเนาชิ้นหนึ่งได้ถูกส่งไปยังสำนักงานใหญ่เฟโอเซที่เนเธอร์แลนด์[5]

เกลอร์ถึงแก่กรรมที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1712 ทรัพย์สินส่วนตัวของเขาถูกส่งไปยังอัมสเตอร์ดัมที่ซึ่งเอคีดียึส ฟัน เดิน แบ็มป์เดิน (Egidius van den Bempden) หนึ่งในกรรมการของเฟโอเซได้รับม้วนภาพวาดและบันทึกสามหน้า ต่อมาใน ค.ศ. 1716 ฟัน เดิน แบ็มป์เดิน ได้ขายเอกสารทั้งสามให้แก่ผู้แทนของพระเจ้าออกัสตัส เฟรเดอริก (หรือ "พระเจ้าออกัสตัสผู้แข็งแกร่ง") เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกแห่งซัคเซินและกษัตริย์แห่งโปแลนด์ ผู้ทรงเป็นนักสะสมสิ่งประดิษฐ์และศิลปะวัตถุจากทั่วทุกมุมโลก โดยบรรจุในกระบอกบรรจุภาพ ระบุเป็น "ภาพวาดจีน" จัดเก็บอย่างปลอดภัยจากแสงแดด ความชื้น และแมลงเป็นเวลาสามศตวรรษ ก่อนที่จะค้นพบอีกครั้งในศตวรรษที่ 21[6]

ใน ค.ศ. 1918 ของสะสมของพระเจ้าออกัสตัสผู้แข็งแกร่งและกษัตริย์องค์อื่น ๆ แห่งซัคเซินได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของของสะสมประจำหอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐ ณ นครเดรสเดิน[6]

การค้นพบ แก้

ภาพวาดพร้อมด้วยบันทึกสามหน้าปรากฏสู่สาธารณชนในรอบสามศตวรรษ เมื่อหอสะสมงานศิลปะฯ ได้ดำเนินโครงการจัดทำรายการสิ่งประดิษฐ์จากตะวันออก โดยตรวจสอบ "ภาพวาดจีน" ที่บรรจุในกระบอก พบว่ามีเนื้อหาที่ค่อนข้างแตกต่างจากวัตถุชิ้นอื่น ๆ จึงได้มีการเชิญบาเรินด์ ยัน แตร์วีล (Barend J. Terwiel) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาชาวดัตช์ ไปตรวจสอบเนื้อหาของเอกสาร[6] กระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เอกสารสามฉบับในกระบอกนั้นได้รับการระบุว่ามีต้นกำเนิดมาจากสยาม

การตีพิมพ์ภาพวาดสู่สาธารณชนชาวไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกดำเนินการเช่นกันโดยศาสตราจารย์บาเรินด์ ยัน แตร์วีล ในวารสาร สยามสมาคม เมื่อ พ.ศ. 2559 (Journal of the Siam Society Volume 104: 2016)[1][2] นับเป็นการค้นพบที่เรียกความตื่นตาตื่นใจให้กับแวดวงประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก[7]

ภาพวาด แก้

รายละเอียด แก้

ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชาประกอบด้วยภาพวาดจำนวน 2 ชิ้น คือ[8]

  1. ภาพลายเส้น วาดด้วยหมึกดำ บนกระดาษชนิดบางยาวต่อกัน 10 แผ่น ผนึกบนผ้าลินิน มีความยาวประมาณ 3.7 เมตร กว้าง 0.50–0.52 เมตร มีเพียงสองส่วนเล็ก ๆ ของสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งที่ลากพระราชยานเท่านั้นที่ทาสีทอง ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นขาวดำ มีการเขียนคำอธิบายจำนวนหนึ่งเป็นภาษาดัตช์ รวมทั้งคำภาษาไทยบางคำที่ถอดเป็นอักษรโรมัน
  2. ภาพสี วาดบนกระดาษแข็งต่อกัน 4 แผ่น ผนึกบนผ้า มีความยาว 2.15 เมตร กว้าง 0.42 เมตร เขียนร่างด้วยดินสอ จากนั้นจึงลงด้วยหมึก และทาสีเขียว แดง เหลือง ส้ม และน้ำเงินหลายเฉดสีด้วยสีน้ำ เฉพาะพระโกศที่ทาสีทอง มีการเขียนตัวอักษร ตัวเลขและสัญลักษณ์ทั่วภาพ

ทั้งสองภาพมีลักษณะที่สอดคล้องกัน คือ เป็นจิตรกรรมแนวเหนือจริงแบบไทยประเพณีแสดงพระเมรุและริ้วกระบวน และเป็นฉากเดียวกัน กล่าวคือ มีภาพพระเมรุเก้ายอดอยู่ทางซ้ายสุดของภาพ มีภาพบุรุษแต่งกายสวมลอมพอกที่รับบทเป็นพระยมและพระเจตคุปต์ยืนรอรับพระบรมศพอยู่นอกรั้วราชวัติพระเมรุ กระบวนรูปสัตว์ ราชรถน้อย 3 คันเทียมด้วยราชสีห์ และพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพเทียมด้วยราชสีห์[7][2]

อนึ่ง วัตถุอีกชิ้นที่พบพร้อมกับภาพสองภาพคือ บันทึกภาษาดัตช์จำนวนสามหน้า 85 บรรทัด เพื่ออธิบายตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ดังกล่าว[8] โดยมีข้อความเริ่มต้นว่า "หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์แห่งสยาม, พระปรมาภิไธยว่า พระทรงธรรม์ อันหมายถึง เทพเจ้าแห่งปัญญา, และสวรรคตเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และถวายพระเพลิงในวันที่ 26 ธันวาคม 1704"[9][1][10]

แรงจูงใจของภาพวาด แก้

ศาสตราจารย์บาเรินด์ ยัน แตร์วีล ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับแรงจูงใจที่สำคัญประการหนึ่งที่อาร์เนาต์ เกลอร์ ได้ให้จิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยาวาดภาพขึ้น คือ อาจจะอันเนื่องมาจากการที่เกลอร์ได้เห็นความสำเร็จของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) พ่อค้าของเฟโอเซที่ได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยา ที่ภายหลังได้เดินทางกลับเนเธอร์แลนด์และอาศัยอยู่อย่างเศรษฐีผู้มีเกียรติกระทั่งสิ้นอายุขัย สำหรับผู้สืบทอดเฟโอเซอย่างเกลอร์ ดูเหมือนฟาน ฟลีต จะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสิ่งที่พ่อค้าเฟโอเซสามารถบรรลุได้ จากการที่ชีวิตของฟาน ฟลีต ส่วนหนึ่งสร้างขึ้นจากงานเขียนของเขาเองเกี่ยวกับอยุธยา อาจส่งผลให้เกลอร์มีแรงบันดาลใจที่จะเลียนแบบฟาน ฟลีต ด้วยการเขียนรายงานเกี่ยวกับการผลัดแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา จัดส่งไปยังเมืองปัตตาเวียในช่วงต้น ค.ศ. 1704 ที่แม้ว่าเขาจะค่อนข้างเขียนอย่างละเอียด แต่น่าเสียดายที่ไม่มากเท่าที่ฟาน ฟลีต เขียน[11]

ครั้งถึงการพระบรมศพของสมเด็จพระเพทราชาในอีกแปดเดือนต่อมา อาจจะด้วยความปรารถนาที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้บังคับบัญชาของตน หรือความต้องการที่จะจัดทำหนังสือเล่มเล็กหรืออย่างน้อยก็แผ่นพับให้ประชาชนทั่วไปในเนเธอร์แลนด์ได้เห็น (หากนำเรื่องราวกรณีการผลัดแผ่นดินมารวมเป็นเล่ม) น่าจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับพ่อค้าชาวดัตช์ที่จะบรรยายพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่และแปลกตาเป็นร้อยแก้วหรือวาดเป็นรูปภาพด้วยตนเอง และนี่คงเป็นจังหวะที่เกลอร์ตัดสินใจขอให้ (หรือว่าจ้างให้) จิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยาวาดภาพขบวนเชิญพระบรมศพให้กับเขา[11]

ผลที่ได้ในขั้นนี้ คือ ภาพลายเส้น ซึ่งสันนิษฐานว่าเมื่อถึงมือเกลอร์แล้ว จิตรกรอาจได้อธิบายองค์ประกอบบนภาพ และเกลอร์ได้เขียนข้อความนั้นลงบนภาพทับด้วยลายมือของตนเป็นภาษาดัตช์[12] รวม 15 ข้อความ อย่างไรก็ตาม ต่อมาเกลอร์อาจจะได้ข้อสรุปว่า ภาพลายเส้น นี้ไม่เหมาะกับการเป็นจุดนำเสนอเพื่อกระตุ้นผู้อ่านชาวยุโรป เพราะมันมีขนาดที่ใหญ่เกินไป เนื้อหาซับซ้อน ยากแก่การเข้าใจ และใช้วัสดุที่ไม่ทนทาน[11]

ด้วยเหตุนี้ เกลอร์จึงอาจขอให้จิตรกรวาด ภาพสี ในขนาดที่เล็กลง บนกระดาษที่แข็งกว่า อย่างเรียบง่ายกว่าและมีสีสันมากขึ้นกว่า ภาพลายเส้น เกลอร์อาจได้ติดต่อผู้รู้เพื่อให้อธิบายรายละเอียดทั้งหมดของภาพสีนี้ พร้อมกับเขียนคำอธิบายลงบนภาพและบันทึกสามหน้าของเขา[11]

คุณค่า แก้

ศาสตราจารย์บาเรินด์ ยัน แตร์วีล ในฐานะผู้ค้นพบภาพ[2] ระบุว่าภาพวาดทั้งสองทำขึ้นโดยศิลปินชาวสยามผู้เชี่ยวชาญอย่างแน่นอน และเป็นงานร่วมสมัยกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างไม่มีข้อกังขา เพราะหอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐเดรสเดินเองชี้ว่าได้รับเอกสารเหล่านี้มาเมื่อ ค.ศ. 1716 (พ.ศ. 2259) ในขณะที่ไม่มีต้นฉบับภาพวาดในยุคนี้ที่มีที่มาและวันที่ที่ชัดเจนเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน จึงเป็นโบราณวัตถุอันมีเอกลักษณ์ (unique)[1]

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชญา สุ่มจินดา จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพวาดทั้งสองแสดงลักษณะทางสถาปัตยกรรมและรูปแบบริ้วกระบวน ที่ดูคล้ายงานพระเมรุใหญ่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ปรากฏในสมุดภาพและภาพถ่ายโบราณ แม้จะไม่ได้รายงานข้อเท็จจริงมากนัก แต่ช่วยเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไปของงานพระบรมศพในสมัยอยุธยาที่เหลือเพียงหลักฐานลายลักษณ์อักษรไม่กี่ฉบับ[2]

มีผู้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รูปแบบศิลปะในภาพวาดสามารถกำหนดอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยน่าจะเก่ากว่าตัวอย่างที่มีในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เช่น จิตรกรรมที่วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี) และมีความสอดคล้องกับข้อมูลที่เกี่ยวกับการพระเมรุและกระบวนแห่พระศพสมัยอยุธยาใน จดหมายเหตุการพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพ และ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม[13]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Two Scrolls Depicting Phra Phetracha's Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation". so06.tci-thaijo.org. Barend J. Terwiel. สืบค้นเมื่อ 1 November 2021., หน้า 79
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 น้อมส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่ฟ้าเสวยสวรรค์
  3. บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (เฟโอเซ) ทำการค้าขายในกรุงศรีอยุธยาระหว่าง ค.ศ. 1608 ถึง 1765; ใน ค.ศ. 1699 เกลอร์ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ค้ารายย่อย (onderkoopman) และต่อมาใน ค.ศ. 1703 จากการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ (opperhoofd) เขาก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพ่อค้า (koopman); ฟร็องซัว ฟาเลินไตน์ (François Valentijn) ขอบคุณเกลอร์สำหรับการคัดลอกเรื่องราวเกี่ยวกับการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์และการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเพทราชา แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าการสื่อสารนี้เกิดขึ้นเมื่อใด
  4. "บันทึกเหตุการณ์ระหว่างการประชวรและการสวรรคตของกษัตริย์แห่งสยามผู้ทรงพระนามว่าพระทรงธรรม์" (Relaas van’t voorgevallene bij de Zieke en overlijden van den Siamse koninck Phra Trong Than gernaamt)
  5. "Two Scrolls Depicting Phra Phetracha's Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation". so06.tci-thaijo.org. Barend J. Terwiel. สืบค้นเมื่อ 1 November 2021., หน้า 81-83
  6. 6.0 6.1 6.2 "Two Scrolls Depicting Phra Phetracha's Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation". so06.tci-thaijo.org. Barend J. Terwiel. สืบค้นเมื่อ 1 November 2021., หน้า 94
  7. 7.0 7.1 “สิงห์เทียมราชรถในงานพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา ‘แฟนซี’ หรือ ‘มีจริง’
  8. 8.0 8.1 Treasure of Old Siam in Dresden
  9. “Annotation concerning the place where the King of Siam was cremated, who had assumed the name of pra throng than, that means God of Wisdom, and had died on 5 February and been cremated on 26 December 1704.”
  10. สวรรคตเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ หมายถึง 5 กุมภาพันธ์ 1703 (พ.ศ. 2246) หรือนับได้ราว 22 เดือนก่อนถวายพระเพลิงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1704 (พ.ศ. 2247)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 "Two Scrolls Depicting Phra Phetracha's Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation". so06.tci-thaijo.org. Barend J. Terwiel. สืบค้นเมื่อ 1 November 2021., หน้า 92-93
  12. การวิเคราะห์ภาพกระบวนแห่พระศพและพระเมรุฉบับ Dresden State Art Collections หน้า 1
  13. การวิเคราะห์ภาพกระบวนแห่พระศพและพระเมรุฉบับ Dresden State Art Collections หน้า 134

แหล่งข้อมูลอื่น แก้