สโมสรฟุตบอลฟีออเรนตีนา
สโมสรฟุตบอลฟีออเรนตีนา (อิตาลี: ACF Fiorentina) เป็นสโมสรฟุตบอลในประเทศอิตาลี ปัจจุบันเล่นอยู่ในเซเรียอา ลีกสูงสุดของฟุตบอลอิตาลี ตั้งอยู่ ณ เมืองฟลอเรนซ์ แคว้นทัสคานี แรกเริ่มนั้น สโมสรก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1926 ซึ่งเกิดจากควบรวมระหว่างสองสโมสรในเมืองฟลอเรนซ์ ได้แก่ สโมสรฟุตบอลฟีเรนเซ และสโมสรเวโลโดรโม ลิเบอร์ตัส สโมสรเคยประสบภาวะล้มละลายเป็นเหตุให้ต้องสร้างทีมขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 2002 ฟีออเรนตีนาลงเล่นในลีกสูงสุดอย่างเซเรียอาเป็นส่วนใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์สโมสร โดยมีเพียง 4 สโมสรที่ลงเล่นในลีกสูงสุดมากกว่า
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลฟีออเรนตีนา | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | Viola (สีม่วง) Gigliati (ดอกลิลลี่) ม่วงมหากาฬ (ในภาษาไทย) | |||
ก่อตั้ง | 1926 (AC Fiorentina) 2002 (ACF Fiorentina) | |||
สนาม | อาร์เตมีโอ ฟรังกี ฟลอเรนซ์ | |||
ความจุ | 43,147[1] | |||
เจ้าของสโมสร | ร็อคโค บี. คอมมิสโซ (98%) ฟิเรนเซ วิออล่า (2%) | |||
ประธานสโมสร | ร็อคโค บี. คอมมิสโซ | |||
ผู้จัดการทีม | ราฟฟาเอล ปาลลาดิโน | |||
ลีก | เซเรียอา | |||
2023–24 | อันดับที่ 8 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
|
สโมสรชนะเลิศฟุตบอลลีกสูงสุดสองสมัยในฤดูกาล 1955–56 และ 1968–69, โกปปาอีตาเลีย 6 สมัย และซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 1 สมัย ในการแข่งขันระดับทวีปยุโรป สโมสรชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1960–61 และเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลยุโรปอีก 5 ครั้ง โดยคว้ารองแชมป์ฟุตบอลยูโรเปียนคัพ ฤดูกาล 1956–57 (เป็นสโมสรแรกของอิตาลีที่เข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันรายการใหญ่ที่สุดของทวีป), ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ฤดูกาล 1961–62, ยูฟ่าคัพ ฤดูกาล 1989–90 และ ยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก ฤดูกาล 2022–23 และ 2023–24 และเนื่องจากรายการดังกล่าวเพิ่งจัดแข่งขันเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 2022 ส่งผลให้ฟีออเรนตีนาเป็นสโมสรแรกที่เข้าชิงชนะเลิศรายการนี้สองปีติดต่อกัน และแพ้ในรอบชิงชนะเลิศสองครั้งติดต่อกัน
ฟีออเรนตีนาเป็น 1 ใน 15 สโมสรที่เคยเข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันสามรายการหลักของสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ได้แก่ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก/ยูโรเปียนคัพ, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ และยูฟ่ายูโรปาลีก/ยูฟ่าคัพ จากการเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าคอนเฟอเรนซ์ลีกใน ค.ศ. 2023 พวกเขากลายเป็นสโมสรแรกที่เข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันรายการหลักของทวีปยุโรปครบทั้ง 4 รายการ (ไม่นับรายการยูฟ่าซูเปอร์คัพ)
สโมสรใช้สนามกีฬาอาร์เตมีโอ ฟรังกี เป็นสนามเหย้ามาตั้งแต่ ค.ศ. 1931 ความจุในปัจจุบันอยู่ที่ 43,147 ที่นั่ง สนามแห่งนี้เคยถูกเปลี่ยนชื่อและได้รับการบูรณะหลายครั้ง ฟีออเรนตีนามีสีประจำสโมสรและชุดแข่งขันเป็นสีม่วง จึงเป็นที่มาของฉายา วีโอลา (Viola) อันเป็นสีประจำเมืองฟลอเรนซ์[2] มีฉายาในภาษาไทยว่า "ม่วงมหากาฬ" สโมสรมีทีมคู่ปรับคือยูเวนตุส
ประวัติ
แก้ก่อตั้งทีมจนถึงยุคสงครามโลก
แก้ฟิออเรนตีนา ก่อตั้งสโมสรขึ้นใน ค.ศ. 1926 ผู้ก่อตั้งและประธานสโมสรคือ Luigi Ridolfi Vay da Verrazzano นักการเมือง นักธุรกิจ ซึ่งเป็นขุนนางชั้นสูงและเป็นสมาชิกของพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ โดยเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างสโมสรฟีเรนเซ และสโมสรเวโลโดรโม ลิเบอร์ตัส ด้วยจุดประสงค์ต้องการสร้างทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งซึ่งทำหน้าที่ตัวแทนของเมืองฟลอเรนซ์ และสโมสรในภูมิภาคทางเหนือในการแข่งขันระดับชาติ การก่อตั้งสโมสรยังได้รับอิทธิพลจากการฟื้นฟูวัฒนธรรมและการค้นพบใหม่ของ กัลซิโอ สตอริโก ฟิออเรนติโน ซึ่งเป็นฟุตบอลยุคต้นแบบที่มีกำเนิดในยุคกลางของอิตาลี ซึ่งถูกเล่นโดยตระกูลเมดีชี[3]
หลังจากระยะเวลาสามฤดูกาลอันยากลำบากในลีกระดับล่าง ในที่สุดสโมสรก็ไต่เต้าขึ้นสู่ลีกสูงสุดใน ค.ศ. 1931 ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการเปิดตัวสนามกีฬาแห่งใหม่ ซึ่งแต่เดิมตั้งชื่อตามจีโอวานนี แบร์ตา ซึ่งเป็นฟาสซิสต์ผู้มีชื่อเสียง แต่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อสตาดิโอ อาร์เตมิโอ ฟรังกี ในเวลานั้น สนามกีฬาแห่งนี้ถือเป็นผลงานชิ้นเอกทางวิศวกรรมของประเทศ และพิธีเปิดสนามกีฬาแห่งนี้นับว่ายิ่งใหญ่มาก เพื่อให้สามารถต่อกรกับทีมอื่น ๆ ที่มีผลงานดีในอิตาลีได้ ฟีออเรนตีนาเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมด้วยผู้เล่นใหม่บางคน โดยเฉพาะ เปโดร เปโตรเน ชาวอุรุกวัย รู้จักกันในนาม เอล อาร์ติลเลโร แม้จะมีผลงานในฤดูกาลแรกอย่างยอดเยี่ยมด้วยการจบอันดับ 4 โชคชะตาของสโมสรก็พลิกผันเมื่อพวกเขากตกชั้นในปีต่อมา แต่ก็สามารถเลื่อนชั้นกลับมาอย่างรวดเร็ว สโมสรได้รับถ้วยรางวัลใบแรกคือการชนะการแข่งขันโกปปาอิตาเลีย ค.ศ. 1941 ทว่าหลังจากนั้น สโมสรประสบปัญหาภายในหลายอย่างในทศวรรษ 1940 กอปรกับเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ความสำเร็จและการพัฒนาทีมหยุดชะงักไป
สกูเดตโตสมัยแรก และพัฒนาการของทีมในทศวรรษ 50–60
แก้ในทศวรรษ 1950 สโมสรเริ่มกลายเป็นทีมชั้นนำ และมักทำอันดับติด 1 ใน 5 อันดับแรกได้อย่างมั่นคงหลายฤดูกาล ทีมชุดนั้นมีผู้เล่นแกนหลักเป็นที่รู้จักหลายราย อาทิ จิวเลียโน ซาร์ติ, แซร์กิโอ เซอร์วาโต, กีโด กราตตัน, จูเซปเป เชียปเปลลา และผู้เล่นบราซิลอย่างฌูรีนยู สโมสรขึ้นถึงเกียรติประวัติสูงสุดด้วยแชมป์เซเรียอาในฤดูกาล 1955–56 มีคะแนนมากกว่าทีมอันดับสองอย่างเอซี มิลานถึง 12 คะแนน และพวกเขาแพ้ไปเพียงนัดเดียวทั้งฤดูกาล แต่พวกเขาก็เสียแชมป์ให้มิลานในฤดูกาลต่อมา อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้กลายเป็นสโมสรแรกของอิตาลีที่เข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลยูโรเปียนคัพ (รู้จักในชื่อยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในปัจจุบัน) ทำได้ใน ค.ศ. 1957 ซึ่งพวกเขาแพ้ทีมมหาอำนาจในรายการนี้อย่างเรอัลมาดริด 2–0 จากนั้น สโมสรคว้ารองแชมป์เซเรียอาอีกสามฤดูกาลติดต่อกัน ก่อนจะชนะเลิศโกปปาอิตาเลียสมัยที่สองในฤดูกาล 1960–61 ซึ่งเป็นปีที่พวกเขามีอันดับในลีกตกลงไปถึงอันดับ 7 แต่นับว่าพวกเขายังมีช่วงเวลาที่ดีในฟุตบอลยุโรป ด้วยการชนะเลิศถ้วยรางวัลแรกในยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ เอาชนะเรนเจอส์จากสกอตแลนด์ แม้สโมสรมีผลงานที่ตกต่ำลงในทศวรรษ 1960 แต่ยังมีความสำเร็จเพิ่มเติมในโกปปาอิตาเลีย ฤดูกาล 1965–66
สกูเดตโตสมัยที่สอง และทศวรรษ 1970
แก้สโมสรกลับมาลุ้นแชมป์ได้เต็มตัวในฤดูกาล 1968–69 เริ่มต้นโดยมีเอซี มิลานเป็นทีมนำของตาราง แต่ในนัดที่ 7 ของฤดูกาลมิลานพลาดแพ้โบโลญญา และถูกคัลยารีกัลโชของตำนานนักเตะอย่างลุยจี รีวา แซงขึ้นเป็นทีมนำ แม้ฟีออเรนตีนาจะเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก แต่สามารถแซงกลับขึ้นเป็นทีมนำได้ในเวลาต่อมา แต่ในช่วงครึ่งฤดูกาลแรกสโมสรปิดท้ายด้วยการเสมอกับวาเรเซ 2–2 ทำให้คัลยารีเป็นทีมนำอีกครั้งในช่วงเวลานี้ ก่อนที่ในครึ่งหลังฤดูกาลหลัง จะเป็นการขับเคี่ยวลุ้นแชมป์ระหว่างสามทีมคือมิลาน, คัลยารี และฟีออเรนตีนา เนื่องจากมิลานมุ่งความสนใจไปที่การแข่งขันฟุตบอลยุโรปมากกว่า จึงทำให้ผลงานตกลงไป และส่งผลให้คัลยารีเป็นทีมนำหลายสัปดาห์ ทว่าฟีออเรนตีนาก็กลับไปเป็นทีมนำหลังจากคัลยารีแพ้ยูเวนตุส และสามารถรักษาอันดับไว้ได้จนถึงนัดสุดท้ายที่พวกเขาเอาชนะยูเวนตุส คว้าแชมป์ลีกสูงสุดครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายถึงปัจจุบัน และพวกเขามีผลงานที่ดีในการแข่งขันฟุตบอลยุโรปในปีต่อมา รวมถึงการเอาชนะสโมสรฟุตบอลดือนามอกือยิว ซึ่งลงแข่งขันในนามสหภาพโซเวียต ก่อนจะยุติเส้นทางในรอบก่อนรองชนะเลิศโดยแพ้ทีมดังจากสกอตแลนด์อย่างเซลติกด้วยผลประตู 3–0[4]
ทศวรรษ 1970 นับว่าไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนักของสโมสร หลังจากจบอันดับ 5 ใน ค.ศ. 1971 พวกเขากลายเป็นทีมกลางตารางหลายฤดูกาล มักจะจบอันดับ 8 หรือ 9 ก่อนจะกลับมาคว้าอันดับสามในฤดูกาล 1976–77 แต่ต้องดิ้นรนหนีตกชั้นจนถึงนัดสุดท้ายในฤดูกาล 1977–78 รอดตกชั้นอย่างหวุดหวิดด้วยผลต่างประตูได้เสียที่ดีกว่าอันดับ 14 อย่างเจนัวเพียงหนึ่งประตู ความสำเร็จในช่วงนี้คือแองโกล-อิตาลี ลีก คัพ ค.ศ. 1974 และโกปปาอิตาเลีย ค.ศ. 1975 สโมสรมีผู้เล่นดาวรุ่งตัวหลักอย่างวินเซนโซ เกอรินี และโมเรโน รอจจีซึ่งได้รับบาดเจ็บจนส่งผลต่อการพัฒนาการเล่น ทศวรรษนี้ยังเป็นการแจ้งเกิดของจิอันการ์โล อันโตนโญนี กองกลางตัวรุกซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่รักของแฟน ๆ ฟีออเรนตีนา และเป็นที่จดจำในฐานะหนึ่งในผู้เล่นที่สำคัญที่สุดของสโมสรจวบจนปัจจุบัน จากการใช้ผู้เล่นอายุน้อยหลายรายเป็นแกนหลัก จึงทำให้สโมสรได้รับฉายาจากสื่อว่า "Fiorentina Ye-Ye"
ยุคการบริหารของ ฟลาวิโอ ปอนเตลโล
แก้ในทศวรรษ 1980 สโมสรถูกซื้อและบริหารกิจการโดยฟลาวิโอ ปอนเตลโล มาจากตระกูลนักธุรกิจร่ำรวยที่สร้างตัวมาจากธุรกิจการก่อสร้าง เขาปฏิวัติวัฒนธรรมสโมสรหลายอย่าง เช่น เปลี่ยนเพลงประจำสโมสร เปลี่ยนตราสโมสรให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างกระทันหันนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ของแฟน ๆ สโมสร แต่เขาก็ทดแทนด้วยการดึงผู้เล่นเข้ามาหลายราย เช่น ฟรันเชสโก กราซีอานี, เอรัลโด เปชชี มาจากโตรีโน, แดเนีบล แบร์โตนีจากเซบิยา, แดเนียล แมสซาโรจากมอนซา รวมถึงดาวรุ่งอย่างปิเอโตร เวียร์โควอดจากโคโม โดยยังมีอันโตนโญนีเป็นแกนหลัก ทำให้พวกเขามีช่วงเวลาที่ดีในฟุตบอลลีก โดยในฤดูกาล 1981–82 ถือเป็นหนึ่งในการขับเคี่ยวแย่งแชมป์ที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลอิตาลี หลังจากอันโตนโญนีประสบปัญหาการบาดเจ็บ ฟีออเรนตีนายังประคองตัวลุ้นแชมป์ได้จนนัดสุดท้าย พวกเขาทำประตูได้ในนัดที่พบกับคัลยารี แต่ผู้ตัดสินกลับไม่ให้ประตูอย่างน่ากังขา ทำให้ยูเวนตุสคว้าแชมป์ไปครองด้วยการได้ประตูจากจุดโทษซึ่งได้รับการวิจารณ์อีกเช่นกัน ฟีออเรนตีนาพลาดแชมป์โดยมีคะแนนน้อยกว่าเพียงคะแนนเดียว และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นความเป็นอริของทั้งสองสโมสร ฤดูกาลต่อมา สโมสรจบเพียงอันดับห้า และอันดับเริ่มตกต่ำลงอีกครั้งในหลายปีต่อมา ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 สโมสรนำเข้าผู้เล่นใหม่อย่าง ราโมน ดิอัซ และหนึ่งในผู้เล่นที่ได้รับจับตามองมากที่สุดอย่างโรแบร์โต บัจโจ
ต่อมาใน ค.ศ. 1990 สโมสรดิ้นรนหนีการตกชั้นอีกครั้งและรอดพ้นในนัดสุดท้าย และยังเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าคัพโดยพบกับอริอย่างยูเวนตุส ทั้งสองทีมแข่งขันกันสองนัดและยูเวนตุสเอาชนะด้วยผลประตูรวมสองนัด 3–1 นอกจากนี้บัจโจยังถูกขายให้กับยูเวนตุสใน ค.ศ. 1990 สร้างความโกรธแค้นให้แฟน ๆ ฟีออเรนตีนาอย่างมาก แม้ปอนเตลโลจะให้เหตุผลถึงการซื้อขายครั้งนี้ว่ามาจากการประสบปัญหาการเงิน และเขาไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ได้เป็นเหตุให้เขายุติบทบาทการเป็นเจ้าของทีม และผู้มาซื้อกิจการต่อก็คือมารีโอ เชกคี กอรี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์
ยุคของกอรี และจุดต่ำสุดของสโมสร
แก้ในช่วงแรกของการบริหารในยุคนี้เริ่มต้นได้อย่างมั่นคง ประธานสโมสรคนใหม่นำเข้าผู้เล่นหลายคน ได้แก่ ไบรอัน เลาดรูป, สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก, ฟรันเชสโก บายาโน และที่โด่งดังที่สุดก็คือกาบริเอล บาติสตูตา ซึ่งกลายเป็นตำนานของสโมสรมาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม โชคชะตาของสโมสรมาถึงจุดหักเหครั้งสำคัญจากการเสียชีวิตของกอรีในปี 1993 ประธานสโมสรและเจ้าของทีมคนใหม่อย่างวิตโตริโอ เชกคี กอรี บุตรชายของเขา แม้จะเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ได้ดี แต่กอรีตัดสินใจปลดผู้ฝึกสอนอย่างลุยจิ ราดิซ หลังพาทีมแพ้อาตาลันตา[5] และแทนที่โดยอัลโด อาโกรปี แต่สโมสรก็มีผลงานย่ำแย่ต่อเนื่อง โดยตกไปอยู่ท้ายตารางและตกชั้นในนัดสุดท้ายของฤดูกาล
เกลาดีโอ รานีเอรี เข้ามาคุมทีมในฤดูกาล 1993–94 ผู้พาทีมเลื่อนชั้นกลับสู่เซเรียอาในหนึ่งฤดูกาลในฐานะทีมชนะเลิศเซเรียบีฤดูกาล 1993–94 รานีเอรีได้รับการสนับสนุนจากกอรีในการนำเข้าผู้เล่นฝีเท้าดีหลายรายมาผนึกกำลังกับบาติสตูตา รวมถึงรุย กอชตาจากสปอร์ลิชบัวอีไบฟีกา และกองหลังชุดแชมป์โลกของทีมชาติบราซิลในฟุตบอลโลก 1994 อย่างมาร์ซิอู ซังตุช กอชตากลายเป็นหนึ่งในขวัญใจของแฟน ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่ซังตุชประสบปัญหาในการปรับตัว และถูกขายทิ้งเมื่อจบฤดูกาล ฟีออเรนตีนาจบอันดับ 10 ในฤดูกาลนั้น
ในฤดูกาลต่อมา ทีมยังลงทุนในตลาดซื้อขายต่อเนื่องด้วยการมาถึงของสเตฟาน ชวาร์ซชาวสวีเดน ทีมมีผลงานที่ดีในฟุตบอลถ้วยด้วยแชมป์โกปปาอิตาเลีย โดยเอาชนะอาตาลันตาและจบอันดับสามในเซเรียอา พวกเขายังเป็นสโมสรแรกที่ชนะเลิศซูแปร์โกปปาอีตาเลียนาในฐานะทีมแชมป์โกปปาอิตาเลีย โดยการเอาชนะมิลาน 2–1 ณ สนามซานซีโร ซึ่งตลอดการแข่งขันที่ผ่านมา ทีมที่คว้าแชมป์จะเป็นทีมที่มาจากการชนะเลิศเซเรียอาทั้งหมด ฟีออเรนตีนาทำผลงานน่าผิดหวังในเซเรียอา ฤดูกาล 1996–97 แต่ยังเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ก่อนจะแพ้แชมป์ในครั้งนั้นอย่างบาร์เซโลนาด้วยผลรวมสองนัด 3–1
รานีเอรีอำลาสโมสรเมื่อจบฤดูกาลเพื่อไปเป็นผู้ฝึกสอนบาเลนเซียในลาลิกา กอรีแต่งตั้งอัลแบร์โต มาเลซานีรับตำแหน่งต่อ แต่ก็คุมทีมได้เพียงฤดูกาลเดียวเนื่องจากผลงานไม่ดีนัก และโจวันนี ตราปัตโตนีผู้ฝึกสอนชื่อดังเข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งสโมสรมีช่วงเวลาที่ดีในฤดูกาล 1998–99 จากผลงานทำประตูของบาติสตูตา พวกเขาจบอันดับสามในเซเรียอาได้กลับไปแข่งยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกอีกครั้ง และเข้าชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลียแต่แพ้ปาร์มาด้วยกฎประตูทีมเยือน แม้พวกเขาจะมีผลงานย่ำแย่ในฤดูกาลถัดมา แต่สามารถเอาชนะอาร์เซนอลที่สนามกีฬาเวมบลีย์ (1923) ด้วยผลประตู 1–0 และชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่ฟลอเรนซ์ 2–0 ซึ่งได้รับการจดจำในฐานะหนึ่งในชัยชนะที่สำคัญในฟุตบอลยุโรปของสโมสรแม้จะตกรอบแบ่งกลุ่มรอบที่สอง ตราปัตโตนีอำลาทีม และผู้ที่เข้ามาแทนคือฟาทีห์ เทริม แต่สโมสรต้องพบการเปลี่ยนแปลงเมื่อคนสำคัญอย่างบาติสตูตาถูกขายให้แก่โรมาซึ่งพาทีมคว้าแชมป์เซเรียอาในเวลาต่อมา ฟีออเรนตีนาทำผลงานในช่วงครึ่งฤดูกาลแรก 2000–01 ได้ดีพอสมควร แต่ก็ตกลงไปจนจบเพียงอันดับ 9 เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลสโมสรอยู่ภายใต้การคุมทีมโดยโรแบร์โต มันชีนี พาทีมชนะเลิศโกปปาอิตาเลียฤดูกาลนั้น ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่ 6 และครั้งล่าสุดถึงปัจจุบัน
ในช่วงต้นทศวรรษนี้ สโมสรประสบปัญหาครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งทีม เมื่อ ค.ศ. 2001 ได้มีการประกาศรั้งสำคัญสำหรับสโมสร โดยมีการเปิดเผยสถานะทางการเงินที่วิกฤติอย่างหนัก พวกเขาไม่สามารถชำระค่าจ้างให้แก่บุคลากรได้ และมีหนี้สินรวมกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้เจ้าของสโมสรอย่างกอรีสามารถระดมเงินเพิ่มเติมได้ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เพียงพอที่จะรักษาสโมสรไว้ได้ พวกเขาตกชั้นในฤดูกาล 2001–02 และถูกควบคุมกิจการโดยตุลาการในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2002 และจากการล้มละลายทำให้สโมสรไม่สามารถลงแข่งขันเซเรียบีในฤดูกาลต่อมาได้ เนื่องจากยังคงสถานะเดิมของสโมสรที่ถูกฟ้องล้มละลาย
ฟื้นฟูกิจการ (ค.ศ. 2002–2010)
แก้สโมสรได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2002 ในชื่อ Associazione Calcio Fiorentina e Florentia Viola โดยมีผู้ประกอบการรองเท้าและเครื่องหนังอย่าง ดีเอโก เดลลา วัลเล เป็นเจ้าของคนใหม่ และสโมสรได้เข้าสู่เซเรียซี 2 ซึ่งเป็นลีกระดับที่ 4 ของฟุตบอลอิตาลี ผู้จากทีมชุดเก่าเพียงคนเดียวที่ยังอยู่กับทีมต่อในชุดนี้คือแอนเจโล ดิ ลิวิโอ ความจงรักภักดีของเขาทำให้เขากลายเป็นที่รักและยกย่องโดยแฟน ๆ และจากผลงาน 30 ประตูของกองหน้าอย่างกริสเตียน ริกาโน สโมสรคว้าแชมป์กลุ่มเซเรียซี 2 ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งโดยปกติจะนำไปสู่การเลื่อนชั้นสู่เซเรียซีระดับ 1 อย่างไรก็ตาม ฟีออเรนตีนาได้สิทธิข้ามการแข่งขันเซเรียซี 1 ไปสู่เซเรียบีทันทีในฤดูกาลถัดมา เนื่องจากเนื่องจากเหตุกาโซ คาตาเนีย อันแปลกประหลาด ซึ่งเกิดขึ้นโดยการตัดสินใจของสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (FIGC) ในการแก้ไขสถานการณ์คาตาเนียโดยการเพิ่มจำนวนทีมในเซเรียบีตจาก 20 ทีมเป็น 24 ทีมและเลื่อนชั้นทีมอย่างฟีออเรนตีนาขึ้นมา[6]
สโมสรซื้อลิขสิทธิ์นำชื่อฟีออเรนตีนากลับมาใช้อีกครั้งรวมถึงการใช้โทนสีเสื้อในลักษณะเดิมและใช้ชื่อทางการว่า ACF Fiorentina พวกเขาจบอันดับ 6 ในเซเรียบี แต่ไดสิทธิ์แข่งขันเพลย์ออฟเพื่อเลื่อนชั้น แลพสามารถเอาชนะเปรูจาเพื่อกลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง และพวกเขาไม่เคยตกชั้นอีกเลยนับจากนั้น แม้ในช่วงแรกพวกเขาจะพบความลำบากในการหนีตกชั้น โดยต้องลุ้นถึงนัดสุดท้ายอีกครั้ง แต่รอดด้วยผลงานเฮดทูเฮด (การพบกันระหว่างสโมสร) ที่ดีกว่าปาร์มา และโบโลญญา แปนตาเลโอ กอร์วิโน ได้รับแต่งตังเป็นผู้อำนวยการกีฬาใน ค.ศ. 2005 ตามด้วยการมาถึงของเซซาเร ปรันเดลลี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่ดีที่สุด ตามมาด้วยการนำเข้าผู้เล่นฝีเท่าดีเช่น ลูกา โตนี และ เซบาสเตียน เฟรย์ สโมสรจบอันดับ 4 ด้วยคะแนน 74 คะแนนมากที่สุดในรอบหลายปี กองหน้าอย่างโตนีทำผลงานด้วยจำนวน 31 ประตูจาก 38 นัด เป็นคนแรกที่ทำมากกว่า 30 ประตูในลีกสูงสุดนับตั้งแต่อันโตนีโอ อันเจลิลโลใน ค.ศ. 1959 ทำให้เขาได้รับรางวัลรองเท้าทองคำยุโรป
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 สโมสรถูกตัดสินให้ตกชั้นสู่เซเรียบีสืบเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีอื้อฉาวอย่างกัลโชโปลี แต่ได้อุทธรณ์ในเวลาต่อมาและถูกตัดคะแนนเบื้องต้น 12 คะแนน ก่อนจะเพิ่มเป็น 19 คะแนนในเวลาต่อมา และยังถูกตัดสิทธิออกจากการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาล 2006–07 ต่อมา สโมสรได้รับการลดโทษจากการถูกตัด 19 คะแนนเหลือ 15 คะแนน แม้จะถูกตัดคะแนนพวกเขายังทำอันดับไปเล่นยูฟ่าคัพในฤดูกาลถัดไปได้ ฟีออเรนตีนาทำผลงานได้ดีในปีต่อมา แม้โตนีจะย้ายไปร่วมทีมไบเอิร์นมิวนิก พวกเขาคว้าอันดับ 4 ในเซเรียอา ฤดูกาล 2007–08 พวกเขายังเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าคัพก่อนจะแพ้จุดโทษเรนเจอร์ 4–2 หลังจากเสมอกัน 0–0 ปรันเดลลียังทำผลงานคุมทีมได้ดีต่อเนื่อง ด้วยการจบอันดับ 4 อีกครั้งในฤดูกาลต่อมา ทำให้ได้สิทธิ์แข่งรอบเพลย์ออฟยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2009–10 แต่พวกเขาตกรอบยูฟ่าคัพเป็นปีที่สองอีกครั้ง โดยแพ้อาเอฟเซ อายักซ์
ฟีออเรนตีนามีผลงานตกลงไป จบเพียงอันดับ 11 ในเซเรียอา ฤดูกาล 2009–10 แต่ยังทำผลงานได้ดีในระดับหนึ่งในฟุตบอลยุโรป แม้จะบุกไปแพ้ออแล็งปิกลียอแนในนัดแรก แต่สามารถเอาชนะได้ใน 5 นัดถัดมาในรอบแบ่งกลุ่ม ผ่านเข้ารอบต่อไปในฐานะทีมม้ามืด (รวมถึงการชนะลิเวอร์พูลได้ทั้งนัดเหย้าและเยือน) พวกเขาตกรอบโดยแพ้ไบเอิร์นมิวนิกจากกฎการยิงประตูทีมเยือน และการตัดสินของผู้ตัดสินอย่างทอม เฮนนิง โอเวรเบอ จากนอร์เวย์ได้รับการวิจารณ์อย่างหนัก จากการให้ประตูไบเอิร์นมิวนิกในนัดแรกแม้จะล้ำหน้าอย่างชัดเจน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความสนใจถึงการนำภาพวิดีโอรีเพลย์มาใช้ในฟุคบอล แม้สโมสรจะทำผลงานในฟุตบอลยุโรปได้ดี และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในโกปปาอิตาเลีย แต่ฟีออเรนตีนาก็ไม่สามารถทำอันดับในลีกเพื่อผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลยุโรปฤดูกาลหน้า
ทศวรรษ 2010
แก้สโมสรต้องอำลาปรันเดลลี ผู้ซึ่งเป็นที่จดจำในฐานะผู้ฝึกสอนที่คุมทีมนานที่สุดของสโมสรเพื่อไปรับงานคุมทีมชาติอิตาลี และถูกแทนที่โดยซินิชา มิฮายลอวิชผู้จัดการทีมกาตาเนีย ในช่วงแรกของฤดูกาล 2010–11 สโมสรอยู่ท้ายตารางเป็นส่วนมาก แต่ทำผลงานดีขึ้นและจบในอันดับ 9 มิฮายลอวิชพ้นจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011 จากผลงานย่ำแย่และถูกแทนที่ด้วยเดลิโอ รอสซี[7] แม้จะมีผลงานดีขึ้นในช่วงสั้น ๆ แต่ทีมต้องดิ้นรนหนีการตกชั้นอีกครั้ง ส่งผลให้ปันตาเลโอ กอร์วิโน ผู้อำนวยการกีฬาถูกไล่ออกในต้นปี 2012 หลังจากพ่ายแพ้ในบ้าน 0–5 ต่อยูเวนตุส สโมสรยังคงประคองตัวรอดพ้นจากท้ายตารางได้จากชัยชนะซึ่งไม่น่าประทับใจหลายนัด รวมถึงการชนะโรมา และเอซี มิลาน ซึ่งพวกเขาเล่นได้ย่ำแย่ ต่อมา ในการแข่งขันพบกับโนวาราซึ่งพวกเขาเป็นฝ่ายตามหลัง 2–0 เมื่อจบครึ่งแรก รอสซีตัดสินใจเปลี่ยนตัวโดยถอดอเด็ม ลายิชออก ทำให้ลายิชประชดด้วยการปรบมือ ทำให้รอสซีโมโหและทำร้ายร่างกายลายิชส่งผลให้เขาพ้นจากตำแหน่ง[8] รักษาการตำแหน่งอย่างวินเซนโซ เกอรินี พาทีมจบอันดับ 13
สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อยกระดับทีมอีกครั้ง ด้วยการนำเข้าผู้เล่นใหม่มากถึง 17 รายในกลางปี 2012 รวมถึงการแต่งตั้งวินเชนโซ มอนเตลลา เข้ามาคุมทีม พวกเขามีผลงานที่ดีขึ้นโดยขึ้นสูงสุดถึงอันดับสามในช่วงปลายปีก่อนจะจบอันดับ 4 เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2012–13 ได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2013-14 รอบเพลย์ออฟ สโมสรต้องเสียผู้เล่นตัวหลักซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของแฟน ๆ อย่างสเตวาน ยอเวติช ซึ่งย้ายร่วมทีมแมนเชสเตอร์ซิตีใน ค.ศ. 2013 ด้วยมูลค่า 30 ล้านยูโร และยังปล่อยตัวอเด็ม ลายิช รวมถึงอเลสซิโอ แชร์ชี ให้แก่โรมาและโตรีโนตามลำดับ แลกมาด้วยผู้เล่นใหม่อย่างมารีโอ ก็อมเม็ส, ยอซิป อิลิชิช และอานเต เรบิช สโมสรมีผลงานที่ดีในฟุตบอลยุโรปด้วยการคว้าอันดับ 1 ของกลุ่ม เข้ารอบ 32 ทีมสุดท้ายไปพบกับเอสเบิร์กจากเดนมาร์ก และผ่านเข้ารอบต่อไปด้วยผลประตูรวม 4–2 แต่ต้องตกรอบต่อมาโดยแพ้อริอย่างยูเวนตุสด้วยผลรวม 2–1 และพวกเขายังทำผลงานยอดเยี่ยมในเซเรียอาด้วยการจบอันดับ 4 อีกครั้ง และเข้ารอบชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลียแต่แพ้นาโปลี 3–1
ในตลาดซื้อขายนักเตะช่วงฤดูหนาวฤดูกาล 2014–15 ฟีออเรนตีนาขายผู้เล่นคนสำคัญอีกครั้งได้แก่ ฮวน กัวดราโดซึ่งย้ายไปเชลซีในราคา 30 ล้านยูโร แต่ทีมล้มเหลวในการเจรจายืมตัวมุฮัมมัด เศาะลาห์เป็นข้อแลกเปลี่ยน สโมสรยังทำผลงานได้ดีในรายการยุโรป เข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2014–15 แต่แพ้แชมป์อย่างเซบิยา 5–0 แต่พวกเขาคว้าอันดับ 4 ในเซเรียอาได้อย่างต่อเนื่อง คว้าสิทธิ์แข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2015–16 มอนเตลลาพ้นจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2015 เนื่องจากผู้บริหารมองว่าเขาขาดความทะเยอทะยานในการพาสโมสรไปสู่จุดสูงสุด[9] เปาลู ซูซา เข้ามารับตำแหน่งต่ออีกสองฤดูกาล แต่สโมสรมีผลงานที่ตกลงไป จบอันดับ 5 และ 8 ตามลำดับ จากนั้น สเตฟาโน ปิโอลีเข้ามาคุมทีมต่อ[10] ในช่วงเวลานั้น สโมสรต้องพบความสูญเสียเมื่อกัปตันทีมอย่างดาวีเด อัสโตรี เสียชีวิตกระทันหันในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2018 จากภาวะหัวใจหยุดเต้นขณะพักอยู่ในโรงแรม[11] ทำให้สโมสรตัดสินใจรีไทร์หมายเลขเสื้อเบอร์ 13 เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา สโมสรมีผลงานย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายปีในเซเรียอา ฤดูกาล 2018–19 โดยวนเวียนอยู่ในพื้นที่ตกชั้น และมีช่วงเวลาเลวร้ายที่ไม่สามารถชนะทีมใดถึง 14 นัดติดต่อกัน จบเพียงอันดับ 16 ด้วยคะแนน 41 คะแนน มากกว่าทีมตกชั้นเพียง 3 คะแนน ปิโอลีอำลาทีมในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 และมอนเตลลากลับมาคุมทีมเป็นครั้งที่สอง[12]
ทศวรรษ 2020
แก้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2019 สโมสรถูกขายให้แก่มหาเศรษฐีชาวอิตาลี-อเมริกัน รอคโค บี. คอมมิสโซ ในราคา 160 ล้านยูโร เป็นจุดสิ้นสุดระยะเวลา 17 ปีภายใต้การบริหารของตระกูลเดลลา วัลเล[13] แต่ทีมก็ยังมีผลงานไม่สู้ดีนัก โดยมักอยู่กลางตารางและมอนเตลลาไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ได้ เขาถูกปลดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 หลังจากไม่ชนะใคร 7 นัดติดต่อกันและสโมสรอยู่อันดับ 15 เขาถูกแทนที่โดยจูเซปเป ยาคินี เข้ามาคุมทีมในช่วงสั้น ๆ ซึ่งพาฟีออเรนตีนาจบจบอันดับ 10 ในฤดูกาล 2019–20 ปรันเดลลีกลับมาคุมทีมรอบที่สองในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 แต่การรับตำแหน่งครั้งนี้ก็สั้นนัก เนื่องจากทีมมีผลงานย่ำแย่ต่อเนื่อง ชนะเพียง 6 จาก 23 นัดรวมทุกรายการที่เขาอยู่ สโมสรจบเพีบงอันดับ 13 ในฤดูกาล 2020–21
วินเชนโซ อิตาเลียโนอดีตนักฟุตบอลชาวอิตาลีและผู้ฝึกสอนสเปเซียกัลโช เข้ามายกระดับการเล่นของทีมด้วยผู้เล่นอายุน้อย และทีมคว้าอันดับ 7 ในฤดูกาล 2021–22 ตามด้วยอันดับ 8 ในอีกสองฤดูกาลต่อมา และเข้าชิงชนะเลิศโกปปาอีตาเลีย ฤดูกาล 2022–23 แต่แพ้อินเตอร์ด้วยผลประตู 2–1 ฟีออเรนตีนายังเข้าใกล้ความสำเร็จในฟุตบอลยุโรปมากที่สุดในรอบหลายสิบปี ด้วยการเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก ฤดูกาล 2022–23 และ 2023–24 แต่แพ้เวสต์แฮมยูไนเต็ด (2–1) และโอลิมเบียโกส (1–0) ตามลำดับ แต่ยังเป็นสโมสรแรกที่เข้าชิงชนะเลิศรายการนี้สองสมัยติดต่อกัน และเป็นสโมสรแรกในรอบ 11 ปีต่อจากไบฟีกาที่แพ้ในนัดตัดสินการแข่งขันฟุตบอลยุโรปสองฤดูกาลติดต่อกัน[14] อิตาเลียโนอำลาทีมเมื่อจบฤดูกาล 2023–24 ราฟฟาเอล ปาลลาดิโน ผู้ฝึกสอนของเอซี มอนซาเข้ามารับตำแหน่งต่อด้วยสัญญาสองปี
สนาม
แก้อาร์เตมีโอฟรังกี ซึ่งปัจจุบันมีความจุ 43,147 สนามกีฬาใช้ชื่อมาหลายปีแล้วและมีการปรับปรุงหลายครั้ง เป็นสนามเหย้าของฟิออเรนติน่า เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อเล่นว่าไวโอล่าซึ่งกล่าวถึงสีม่วงที่โดดเด่น
เอกลักษณ์
แก้ตราสโมสร
แก้ตราสัญลักษณ์โดยทั่วไปของสโมสรคือตราประจำเมืองฟลอเรนซ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ดอกลิลลีบนพื้นหลังสีขาว[15] ตลอดประวัติศาสตร์ของสโมสร พวกเขามีการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์หลายครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะปรากฏสัญลักษณ์ดอกลิลลีของเมืองฟลอเรนซ์ไว้ด้วยในทางใดทางหนึ่ง[16] ตราแบบแรกไม่มีความซับซ้อนเท่าไรนัก เป็นเพียงตราประจำเมืองที่ปรากฏโล่สีขาวพร้อมสัญลักษณ์ดอกลิลลีอยู่ภายใน[17] ต่อมาได้มีการออกแบบโทนสีให้ทันสมัยและดูสดใสยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มสัญลักษณ์ลิลลีเป็นโทนสีแดง และในฤดูกาลที่สโมสรคว้าแชมป์เซเรียอา มีการตกแต่งสัญลักษณ์ดอกลิลลีให้ทับซ้อนกับสัญลักษณ์ธงอิตาลี เพื่อสื่อถึงทีที่เป็นแชมป์เก่า (Scudetto)
ตราสโมสรรูปแบบต่อมาที่เจ้าของทีมอย่าง ฟลาวิโอ ปอนเตลโล เปิดตัวในปี 1980 มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยครึ่งหนึ่งของสัญลักษณ์ประจำเมืองฟลอเรนซ์ และครึ่งหนึ่งของตัวอักษร "F" สื่อถึงชื่อฟีออเรนตีนา และไม่เป็นที่นิยมเมื่อมีการเปิดตัว โดยเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจด้วยเหตผลทางการธุรกิจ และเนื่องจากสัญลักษณ์นี้มีความคล้ายคลึงกับง้าวมากกว่าดอกลิลลี นับตั้งแต่อดีตจนถึงฤดูกาล 2022–23 เมื่อสโมสรเปิดตัวตราสัญลักษณ์ใหม่ที่เรียบง่ายและมีสไตล์ สัญลักษณ์เป็นรูปข้าวหลามตัดสองชั้นล้อมรอบด้วยสีทอง ด้านนอกมีพื้นหลังสีม่วง ตัวอักษร "AC" สีขาว และตัวอักษร "F" สีแดง แทนชื่อของสโมสร ด้านในเป็นสีขาวขอบทองและมีตราประจำเมืองฟลอเรนซ์สีแดง ตราสัญลักษณ์ที่เห็นในปัจจุบันได้มาจากการประมูลด้วยมูลค่ากว่า 2.5 ล้านยูโร ทำให้เป็นตราสโมสรที่มูลค่าสูงสุดในอิตาลี
สี
แก้ในช่วงแรกของการก่อตั้ง ผู้เล่นฟีออเรนตีนาสวมชุดแข่งขันสีแดงและสีขาวอย่างละครึ่ง ซึ่งมาจากสัญลักษณ์ดอกลิลลีประจำเมือง[18] ชุดสีม่วงซึ่งเป็นที่รู้จักและโดดเด่นกว่านั้นถูกนำมาใช้ครั้งแรกใน ค.ศ. 1928 และมีการใช้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้เกิดชื่อเล่นว่า ลา วิโอลา ("เดอะเพอร์เพิล (ทีม)")[19] และยังมีเรื่องเล่าว่าฟีออเรนตีนาได้ชุดสีม่วงมาโดยไม่ได้ตั้งใจ หลังจากเกิดอุบัติเหตุในการนำชุดสีแดงและสีขาวไปทำความสะอาดในแม่น้ำแล้วสีซีดเป็นสีม่วง[20]
ทีมเยือนมักโดดเด่นด้วยสีขาวอยู่เสมอ บางฤดูกาลอาจมีสีแดงและสีม่วง และบางฤดูกาลก็เป็นสีขาวล้วน กางเกงขาสั้นเป็นสีม่วง บางครั้งอาจสวมชุดเหย้าพร้อมสวมกางเกงขาสั้นสีขาว ในฤดูกาล 1995–96 เป็นครั้งแรกที่ชุดเป็นสีแดงทั้งหมดโดยมีขอบสีม่วงและมีดอกลิลลีจำนวน 2 ดอกประดับบนไหล่[21]ชุดแข่งขันชุดที่สามของสโมสรมักเป็นสีแดงล้วน มีบางครั้งที่เป็นสีเหลืองเช่น ฤดูกาล 1997–98, 1999–00 และ 2010–11 ส่วนใหญ่จะสวมใส่ในรายการโกปปาอิตาเลีย
สำหรับฤดูกาล 2017–18 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สโมสรใช้ชุดแข่ง 5 ชุดในฤดูกาล ซึ่งประกอบด้วยชุดเหย้า 1 ชุด (สีม่วงล้วน) และชุดเยือนอีก 4 ชุด แต่ละชุดเป็นตัวแทนของโกมูเนแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองฟลอเรนซ์: น้ำเงินล้วน (Santa Croce), ขาวล้วน (Santo Spirito), เขียวล้วน (San Giovanni) และแดงล้วน[22]
เกียรติประวัติ
แก้ระดับประเทศ
แก้- เซเรียอา
- ชนะเลิศ (2): 1955–56, 1968–69
- โกปปาอีตาเลีย
- ชนะเลิศ (6): 1939–40, 1960–61, 1965–66, 1974–75, 1995–96, 2000–01
- ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา
- ชนะเลิศ (1): 1996
ระดับทวีปยุโรป
แก้- ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
- รองชนะเลิศ (1): 1956–57
- ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ
- ชนะเลิศ (1): 1960–61
- ยูฟ่าคัพ
- รองชนะเลิศ (1): 1989–90
ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
แก้หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
อดีตผู้เล่นที่มีชื่อเสียง
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "ViolaChannel – Stadio Franchi".
- ↑ Martin, Simon. Football and Fascism: The National Game Under Mussolini. Berg Publishers. ISBN 1-85973-705-6.
- ↑ Martin, Simon (2004-09). Football and Fascism: The National Game Under Mussolini (ภาษาอังกฤษ). Berg Publishers. ISBN 978-1-85973-705-7.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "Prediksi Skor Serie A, Fiorentina Vs Genoa 29 Januari 2017 | Portal Berita Bola". web.archive.org. 2017-02-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2024-11-24.
- ↑ "Archivio Corriere della Sera". archivio.corriere.it.
- ↑ "Repubblica.it/sport/calcio/calciomercato: Serie B a 24 squadre C'� anche la Fiorentina". www.repubblica.it.
- ↑ "Mihajlovic sacked as Fiorentina coach". CNN (ภาษาอังกฤษ). 2011-11-07.
- ↑ "Fiorentina boss Delio Rossi sacked for attacking player". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2012-05-02. สืบค้นเมื่อ 2024-11-24.
- ↑ "Official: Fiorentina sack Montella - Football Italia". football-italia.net (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2015-06-08.
- ↑ "Stefano Pioli: Fiorentina hire former Inter Milan and Lazio boss". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2017-06-06. สืบค้นเมื่อ 2024-11-25.
- ↑ McLaughlin, Eliott C. (2018-03-04). "Fiorentina captain Davide Astori dies of 'sudden illness' at 31, team says". CNN (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "UFFICIALE: Fiorentina, Pioli s'è dimesso. Oggi seduta affidata al suo vice - TUTTO mercato WEB". www.tuttomercatoweb.com (ภาษาอิตาลี).
- ↑ "Official: Commisso buys Fiorentina - Football Italia". football-italia.net (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-06-06.
- ↑ "Olympiakos 1-0 Fiorentina: Ayoub El Kaabi scores winner in extra-time to secure Europa Conference League title". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Fiorentina Logo History". Football Kit Archive (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Weltfussballarchiv". web.archive.org. 2012-10-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-19. สืบค้นเมื่อ 2024-11-25.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ fsc (2008-07-13). "Fiorentina 08/09 Lotto Home, Away, 3rd shirts - Football Shirt Culture - Latest Football Kit News and More". www.footballshirtculture.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Stemma Comune di Firenze". Comuni-Italiani.it.
- ↑ fsc (2009-07-31). "Fiorentina 09/10 Lotto Kits - Football Shirt Culture - Latest Football Kit News and More". www.footballshirtculture.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-05-19.
- ↑ aipakchi (2022-10-27). "Purple Pride: Connecting Florence and the U.S." ISI Florence - Study Abroad in Italy - Florence (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Fiorentina 1995-96 Kits". Football Kit Archive (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "First Club With 5 Player Kits - ACF Fiorentina 17-18 Home + 4 Away Kits Released". Footy Headlines (ภาษาอังกฤษ).
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ของแฟนคลับ เก็บถาวร 2019-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สโมสรฟุตบอลฟีออเรนตีนา ที่เฟซบุ๊ก
- สโมสรฟุตบอลฟีออเรนตีนา ที่เฟซบุ๊ก
- สโมสรฟุตบอลฟีออเรนตีนา ที่เฟซบุ๊ก