ฟอนต์แห่งชาติ[1] หรือมักเรียกในภาษาปากว่า ฟอนต์ซิป้า ("ซิป้า" เป็นชื่อย่อในภาษาอังกฤษของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน))[2] เป็นชุดแบบอักษรสิบสี่แบบ ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยแพร่หลังจากจัดประกวดแล้ว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างสรรค์ชุดแบบอักษรอันเป็นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ ชุดแบบอักษรทั้งสิบสี่กับทั้งฉบับปรับปรุงเปิดให้ดาวน์โหลดเปล่าที่ ฟ๐นต์.คอม ตั้งวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550[3] ทั้งนี้ ฟอนต์ชุดนี้รองรับการใช้งานบนระบบปฏิบัติการทั้ง Microsoft Windows ระบบปฏิบัติการ Open source THAI OS Ubuntu และระบบปฏิบัติการ Mac OS

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-14/2553 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา และใช้ชุดแบบอักษร "TH Sarabun PSK"
ดวงตราปัจจุบันของวิกิพีเดีย ซึ่งใช้ชุดแบบอักษร "TH Sarabun PSK"

วันที่ 7 กันยายน 2553 คณะรัฐมนตรีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติให้หน่วยงานฝ่ายบริหารทั้งหมดใช้ชุดแบบอักษร "TH Sarabun PSK" เป็นมาตรฐานเดียวกัน แทนที่ชุดแบบอักษรเดิมที่ซื้อมาจากบริษัทเอกชน เช่น ชุดแบบอักษร "Angsana New", "Browallia New", "Cordia New" และ "EucrosiaUPC" ตาม "โครงการฟอนต์มาตรฐานราชการไทย" ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ[4] โดยให้เหตุผลว่า "...ปัจจุบัน ส่วนราชการมีการใช้ฟอนต์อย่างหลากหลาย ไม่มีมาตรฐานในเอกสารทางราชการ อีกทั้งการใช้มาตรฐานฟอนต์ของบริษัทเอกชนที่ผูกขาดลิขสิทธิ์อาจมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้..." ทั้งนี้ มีคำสั่งให้หน่วยงานฝ่ายบริหารติดตั้งชุดแบบอักษรดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2553 และได้ขอความร่วมมือไปยังฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการให้สนับสนุนการใช้ชุดแบบอักษรนี้ด้วย[5]

ราชกิจจานุเบกษาเปลี่ยนจากชุดแบบอักษร "Angsana New" มาใช้ "TH Sarabun PSK" ตามนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ฉบับแรกที่ปรากฏ คือ ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 128 ตอน 1 ก ลงวันที่ 7 มกราคม 2554 ซึ่งมีประกาศแปดเรื่อง เรื่องแรก คือ "กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบรับรองแบบอากาศยานหรือใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติมที่ออกโดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือประเทศที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย เพื่อขอใบสำคัญสมควรเดินอากาศ พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2553"[6]

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” หรือ "Chulabhorn Likhit" เป็นชุดแบบอักษรมาตรฐานราชการไทยแบบที่ 14 ตามที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เสนอ เพื่อเป็นการจารึกพระนามและเนื่องในวโรกาสครบรอบ 64 พรรษา ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร[7]

ดวงตราปัจจุบันของวิกิพีเดียไทย ที่ชนะเลิศการประกวดเมื่อ พ.ศ. 2551 นั้น ก็ใช้ชุดแบบอักษร "TH Sarabun PSK" โดยเป็นผลงานการออกแบบของ ปรัชญา สิงห์โต เจ้าของเว็บไซต์ฟ๐นต์.คอม[8]

ชุดแบบอักษรทั้งสิบสี่ประกอบด้วย[3]

ที่ ชื่อ ผู้ออกแบบ ตัวอย่าง หมายเหตุ
1. TH Sarabun PSK ศุภกิจ เฉลิมลาภ ต่อมาปรับปรุง และเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 ในชื่อ "TH Sarabun New"
2. TH Chamornman เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช
3. TH Krub เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช
4. TH Srisakdi ทีมอักษราเมธี (ไพโรจน์ เปี่ยมประจักพงษ์ และบวร จรดล) อักษรไทยเป็นลายมืออาลักษณ์วังหลวงสมัยธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์
5. TH Niramit AS ทีมอักษราเมธี
6. TH Charm of AU กัลยาณมิตร นรรัตน์พุทธิ
7. TH Kodchasan กัลย์สุดา เปี่ยมประจักพงษ์
8. TH K2D July8 กานต์ รอดสวัสดิ์
9. TH Mali Grade 6 สุดารัตน์ เลิศสีทอง เป็นลายมือแบบเด็กหญิงประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งผู้สร้างสรรค์สมมุติชื่อให้ว่า "เด็กหญิงมะลิ"
10. TH Chakra Petch ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ
11. TH Bai Jamjuree CP ทีม PITA (รพี สุวีรานนท์ และวิโรจน์ จิรพัฒนกุล)
12. TH KoHo กลุ่ม ก-ฮ (ขาม จาตุรงคกุล, กนกวรรณ แพนไธสง และขนิษฐา สิทธิแย้ม)
13. TH Fah Kwang ทีมสิบเอ็ด (กิตติ ศิริรัตนบุญชัย และนิวัฒน์ ภัทโรวาสน์)
14. Chulabhorn Likhit ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ลิขสิทธิ์

แก้

ฟอนต์แห่งชาติมี กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ทรงลิขสิทธิ์ อนุญาตให้สาธารณชนใช้งาน ทำซ้ำ ดัดแปลง แจกจ่ายได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ห้ามขาย ยกเว้นขายรวมกับซอฟต์แวร์อื่น สำหรับการดัดแปลงฟอนต์ สามารถกระทำได้ แต่ห้ามใช้ชื่อฟอนต์เดิมและห้ามใช้ชื่อผู้ทรงลิขสิทธิ์และผู้พัฒนาในการโฆษณาฟอนต์ที่ดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ฟอนต์ที่ดัดแปลงจากฟอนต์แห่งชาติต้องอนุญาตให้ใช้ด้วยเงื่อนไขเดียวกับฟอนต์แห่งชาติ [9] ซึ่งก็คือ สัญญาอนุญาต GPL + Font exception

อ้างอิง

แก้
  1. ไทยรัฐออนไลน์ (2554-01-20). "ซิป้า จับมือ กรมทรัพย์สินฯ ทางปัญญา ยิ้มร่าอวดโฉม 13 ฟอนต์ไทย ใช้ในหน่วยงานราชการ". สืบค้นเมื่อ 2011-05-02.
  2. ไทยรัฐออนไลน์ (2553-12-13). "รัฐบาลกลัวละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ส่วนราชการใช้ฟอนต์ไทยจากซิป้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-31. สืบค้นเมื่อ 2011-05-02.
  3. 3.0 3.1 ฟ๐นต์.คอม (2007-06-28). "14 ฟอนต์ฟรีมาตรฐาน จากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA)". สืบค้นเมื่อ 2011-05-02.
  4. ฟ๐นต์.คอม (2010-09-08). "สั่งราชการโละฟอนต์ต่างชาติ ใช้ฟอนต์ไทยแลนด์". สืบค้นเมื่อ 2011-05-02.
  5. กรมประชาสัมพันธ์ (2010-09-07). "ครม.เห็นชอบให้ทุกหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการติดตั้งฟอนต์สารบรรณเพิ่ม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-12. สืบค้นเมื่อ 2011-05-02.
  6. ราชกิจจานุเบกษา (2011-01-07). "กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบรับรองแบบอากาศยานหรือใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติมที่ออกโดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือประเทศที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย เพื่อขอใบสำคัญสมควรเดินอากาศ พ.ศ. 2553" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2011-05-02.
  7. สำนักนายกรัฐมนตรี (2021-06-07). "ครม.เห็นชอบให้ชุดแบบอักษรพระราชทาน "จุฬาภรณ์ลิขิต" เป็นชุดแบบอักษรมาตรฐานราชการไทยแบบที่ 14". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-12. สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
  8. ฟ๐นต์.คอม (2008-06-05). "กระจู๋: อันว่าด้วยโลโก้วิกิพีเดียไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-26. สืบค้นเมื่อ 2011-05-02.
  9. http://www.scribd.com/doc/58559198/DIP-SIPA-Font-License-Agreement

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้