พญางำเมือง

(เปลี่ยนทางจาก พ่อขุนงำเมือง)

พญางำเมือง[2] (ไทยถิ่นเหนือ:  ; พ.ศ. 1781 – 1841) เป็นกษัตริย์ ลำดับที่ 12 แห่งอาณาจักรภูกามยาวสิงหราช ต่อจากพญามิ่งเมืองพระราชบิดา

พญางำเมือง
เจ้าผู้ครองนครพะเยา
ครองราชย์พ.ศ. 1801 - พ.ศ. 1841
ก่อนหน้าพญามิ่งเมือง
ถัดไปพญาคำแดง
ประสูติพ.ศ. 1781
สวรรคตพ.ศ. 1841
มเหสีนางพญาอั้วเชียงแสน[1]
ราชวงศ์ราชวงศ์พะเยา
พระราชบิดาพญามิ่งเมือง

พระราชประวัติ แก้

พญางำเมือง เป็นพระราชโอรสของพญามิ่งเมือง ประสูติในเวลารุ่งเช้า วันพฤหัสบดี ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ พ.ศ. 1781 (จ.ศ. 600) [3] เมื่อพระชนมายุได้ 14 พรรษา ได้ไปศึกษาเล่าเรียนพระเวทกับเทพฤๅษีตนหนึ่งที่ดอยด้วน เรียนอยู่ 2 ปี ครั้นพระชนมายุได้ 16 พรรษา ได้ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักสุกทันตฤๅษี กรุงละโว้ (ลพบุรี) เป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกับพญามังราย และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย จึงสนิทสนมร่วมผูกไมตรี เป็นพระสหายตั้งแต่นั้นมา[3] พญางำเมือง มีพระมเหสีนามว่า "นางพญาอั้วเชียงแสน"[1]

ปี พ.ศ. 1801 (จ.ศ. 620) พญามิ่งเมืองสิ้นพระชนม์ จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทน พญางำเมืองเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีอิทธิฤทธิ์มาก เมื่อพระองค์เสด็จ ไปทางไหน "แดดก่บ่ร้อน ฝนก่บ่รำ จักหื้อบดก่บด จักหื้อแดดก่แดด" จึงได้รับ พระนามว่า "งำเมือง" นอกจากนั้น พระองค์มีพระทัยหนักแน่นในศีลธรรม มีพระราชศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไม่ชอบทำสงคราม ทรงดำเนินพระราโชบาย การปกครองบ้านเมือง ด้วยความเที่ยงธรรม พยายาม ผูกไมตรีจิตต่อเจ้าประเทศราชที่มีอำนาจเหนือคน เพื่อหลีกเลี่ยงภัยสงครามแม้กระนั้น ก็ยังถูกพญามังรายยกกองทัพมาตี เมื่อปี พ.ศ. 1805 แต่ในที่สุดพญางำเมืองก็ยอมยกเมืองปลายแดน คือ เมืองพาน เมืองเชียงเคี่ยน เมืองเทิง เมืองเชียงของ ให้แก่พญามังราย ด้วยหวังผูกไมตรีต่อกันและคิดว่าภายภาคหน้าจะขอคืน[3]

พระราชกรณียกิจ แก้

 
พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ที่ศาลาว่าการจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหง, พญางำเมือง, และพญามังราย ตามลำดับ

ประวัติศาสตร์กล่าวถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระสหาย ได้เสด็จไปมาหาสู่กันเสมอมิได้ขาด จนเส้นทางที่เสด็จผ่านเป็นร่องลึกเรียกว่า แม่ร่องช้าง ในปัจจุบัน พระร่วงเจ้าเสด็จมาเมืองพะเยา ทรงเห็นพระนางอั้วเชียงแสน พระราชเทวีของพญางำเมือง มีรูปโฉมอันงามยิ่ง ก็บังเกิดปฏิพัทธิ์รักใคร่ และพระนางก็มีจิตปฏิพัทธ์เช่นกัน จึงได้ลักลอบปลอมแปลงพระองค์คล้ายกับพญางำเมือง เข้าสู่ห้องบรรทมพระนางอั้วเชียงแสน พญางำเมืองทราบเหตุ และสั่งให้อำมาตย์ ไพร่พล ทหารตามจับพระร่วงเจ้า นำไปขังได้และมีราชสาส์นเชิญพญามังราย ผู้เป็นสหายมาพิจารณาเหตุการณ์ พญามังรายทรงไกล่เกลี่ย ให้ทั้งสองพระองค์เป็นมิตรไมตรีต่อกันดังเดิม โดยขอให้พระร่วงเจ้าขอขมาโทษพญางำเมืองด้วยเบี้ยเก้าลุนทอง คือเก้าแสนเก้าหมื่นเบี้ย เพื่อกำชับพระราชไมตรีต่อกันยิ่งกว่าเก่า กษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ได้ตั้งสัตยาธิษฐานต่อกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำขนภู แม่น้ำแห่งนี้จึงเรียกชื่อภายหลังว่า "น้ำแม่อิง"

หลังจากนั้น เมื่อพญามังรายทรงสร้างเวียงเชียงใหม่ ได้เชิญพญางำเมืองและพระร่วงเจ้า ร่วมพิจารณาสร้างเมือง เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้ว พญางำเมืองเสด็จกลับ โดยพญามังรายทรงมอบผอบมณีรัตนะ อันเป็นสมบัติต้นวงศ์แห่งลาวลังกราช และทรงเวนคืนเมืองพาน เมืองเชียงเคี่ยน เมืองเทิงให้และพระราชทานกุลสตรีให้อีกนางหนึ่ง ฝ่ายพระนางอั้วเชียงแสนทรงทราบว่า พระราชสวามีมีพระชายาใหม่ ก็มีพระทัยโทมนัสยิ่ง รับสั่งให้เสนาอำมาตย์จัดแจงม้าพระที่นั่ง เสด็จออกติดตามพระสวามี หมายจักประหารพระชายาใหม่ให้สิ้นพระชนม์ แต่พระนางก็สิ้นพระชนม์เสียกลางทาง ด้วยเหตุพระทัยแตก พญางำเมืองทรงทราบด้วยความสลดพระทัยยิ่ง จัดพระราชทานเพลิงพระศพพระนางอั้วเชียงแสนตามพระราชประเพณี ต่อมาได้มอบพระราชกิจต่าง ๆ ในการปกครองบ้านเมืองให้พญาคำแดง แล้วเสด็จไปประทับพักผ่อนที่เมืองงาว ปี พ.ศ. 1841 พญางำเมืองก็เสด็จสวรรคต รวมพระชนมายุได้ 60 พรรษา

อนุสาวรีย์พญางำเมือง แก้

อนุสาวรีย์พญางำเมือง อดีตกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองภูกามยาว (พะเยา) มีการสร้างไว้สองแห่ง แห่งแรกประดิษฐานอยู่ที่สวนสาธารณะ เทศบาลหน้ากว๊านพะเยา เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2524 เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 พญางำเมืองเป็นพระสหายร่วมน้ำสาบาน กับ พญามังรายอดีต กษัตริย์เมืองเชียงราย และพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งทั้งสามกษัตริย์ได้ทรงกระทำสัตย์ต่อกัน ณ บริเวณน้ำแม่อิง ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณกว๊านพะเยา แห่งที่สองสร้างเมื่อปี 2560 ตั้งอยู่บริเวณ ริมแม่น้ำงาว ใกล้วัดท่านาคบ้านทุ่งศาลา ตำบลนาแก อำเภองาว จังหวัดลำปาง บริเวณนี้เชื่อว่าเป็นสถานที่สวรรคต

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ปริศนาโบราณคดี : คลีโอพัตราแห่งล้านนา “นางพญาอั้วเชียงแสน” มติชนสุดสัปดาห์ สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2559
  2. ประเสริฐ ณ นคร. ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด. กรุงเทพฯ: มติชน. 2549. ISBN 9743236007. หน้า 269.
  3. 3.0 3.1 3.2 "ประวัติพญางำเมือง โดย กองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-22. สืบค้นเมื่อ 2016-10-22.