พูดคุย:จังหวัดปัตตานี

จังหวัดปัตตานี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิประเทศไทยและสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศไทย ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ จังหวัดปัตตานี หรือแวะไปที่หน้าโครงการหรือหน้าสถานีย่อยเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
 พอใช้  บทความนี้อยู่ที่ระดับพอใช้ ตามการจัดระดับการเขียนบทความ

ประวัติศาสตร์ปัตตานี “นครแห่งสันติภาพ” แก้

หมายเหตุ ผู้อ่านประวัติศาสตร์ควรใช้วิจารณญาณในการอ่านและรับรู้ข้อมูล เนื่องจากประวัติศาสตร์ไทยมีการเขียนในหลากหลายฉบับ หลายวิจารณ์ และมีข้อขัดแย้งในบางวรรคบางตอนระหว่างประวัติศาสตร์ของชาติไทย กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่างๆ ผู้เผยแพร่บทความขอแนะนำให้ท่านค้นคว้าและศึกษาเพิ่มเติมจากงานเขียนทั้งชาวไทยและบันทึกจากต่างประเทศ จะทำให้ท่านเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น บทความนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าจะช่วยให้ท่านได้รับความรู้อีกมุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ปัตตานี และเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในแบบฉบับย่อๆ แต่แน่นไปด้วยสาระ ตลอดจนความเป็นมาเป็นไปของปัตตานี ที่เข้ามาร่วมพงศ์ไพบูลย์กับสยามประเทศได้อย่างไร ขอบคุณครับ - TAMBRALINGA "ปัตตานี หรือ ปตานี " เป็นเมืองเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักของพ่อค้าต่างประเทศมาตั้งแต่โบราณและเป็นศูนย์การค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ สมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 นั้น นักประวัติศาสตร์รู้จักปัตตานีในนามของ"ลังกาสุกะ"(Langkasuka)” ซึ่ง เป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนในแหลมมลายู ลังกาสุกะ หรือ ลังกาโศภะ หรือที่จีนเรียกว่า “หลังยาซูว” หรือ “หลังหยาสิ้ว” เป็นอาณาจักรอันเก่าแก่แห่งหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ มีอาณาเขตครอบคลุมคาบสมุทรมลายูตอนล่าง ด้านใต้ของอาณาจักรตามพรลิงค์ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ลังกาสุกะพัฒนามาจากเมืองท่าเล็กๆ ของชาวพื้นเมือง จนเติบโตเป็นรัฐและมีฐานะเป็นอาณาจักรมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 ซึ่งจะเห็นได้ว่าในขณะที่ คนไทยทางภาคกลางยังอยู่ในอิทธิพลของพวกขอม แต่คนไทยทางภาคใต้ มีอาณาจักรเป็นของตนเองแล้ว

          ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อาณาจักรลังกาสุกะเริ่มเสื่อมอำนาจลง เนื่องจากภาวะของชายฝั่งทะเลตื้นเขิน สายน้ำเปลี่ยนทางเดิน เกิดศึกสงคราม โดยมีกองทัพจากเขมร และมะละกา เข้ามาโจมตีหลายครั้ง อาจเป็นเพราะคนอพยพไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากถูกโคลนทับเมือง หรือเกิดโรคระบาดหรือถูกโจมตีทำลาย จนชื่อหายไปจากประวัติศาสตร์ ส่วนดินแดนเดิมของลังกาสุกะ ได้เข้าไปรวมกับอาณาจักรตามพรลิงค์ ดังนั้นชาวลังกาสุกะส่วนใหญ่จึงนับถือพุทธศาสนาตามชาวตามพรลิงค์ไปด้วย

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗ ถึง ๑๙ ได้มีการก่อตั้งอาณาจักรตามพรลิงค์ หรือตัมพะลิงค์ มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณบ้านท่าเรือ บนสันทรายปากอ่าวนครศรีธรรมราช ทางเหนือของอาณาจักรลังกาสุกะ มีอาณาเขตทางตะวันออกจรดอ่าวไทย และทางตะวันตะวันตกจรดทะเลอันดามัน ทิศเหนือจรด เมืองกำเนินพคุณ (อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน) อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นอาณาจักรนครศรีธรรมราชในพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยเมือง ๑๒ เมือง หรือสิบสองนักษัตร คือ

1. เมืองสายบุรี สัญลักษณ์ ตราหนู (ชวด) มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช 2. เมืองปัตตานี สัญลักษณ์ ตราวัว (ฉลู) มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช 3. เมืองกลันตัน (ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย )สัญลักษณ์ ตราเสือ (ขาล) มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช 4. เมืองปะหัง (ปัจจุบัน มีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในรัฐมาเลเซีย ) สัญลักษณ์ ตรากระต่าย (เถาะ) มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช 5. เมืองไทรบุรี(ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในมาเลเซีย ชื่อว่า "เคดาห์" ) สัญลักษณ์ ตรางูใหญ่ (มะโรง) มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช 6. เมืองพัทลุง สัญลักษณ์ ตรางูเล็ก (มะเส็ง) มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง 7. เมืองตรัง สัญลักษณ์ ตราม้า (มะเมีย) มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง 8. เมืองชุมพร สัญลักษณ์ ตราแพะ (มะแม) มีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านทิศเหนือ คอยปกป้องพระราชอาณาจักร มีเมืองบริวารที่สำคัญได้แก่ เมืองกำเนิดนพคุณ (บางสะพาน) เมืองหลังสวน เป็นต้น 9. เมืองบันทายสมอ(อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี) สัญลักษณ์ ตราลิง (วอก) มีฐานะเป็นเมืองมหาอุปราช ปกครองโดยพระราชโอรสหรือพระอนุชาแห่งสมเด็จพระเจ้าศรีธรรมโศกราช 10. เมืองสงขลา สัญลักษณ์ ตราไก่ (ระกา) มีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านทิศใต้ คอยปกป้องพระราชอาณาจักร มีเมืองบริวารที่สำคัญได้แก่ เมืองเมืองเทพา เมืองจะนะ เป็นต้น 11. เมืองภูเก็ต (ถลาง) สัญลักษณ์ ตราหมา (จอ) มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ปกครองโดยเชื้อพระวงศ์ หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ 12. เมืองกระบุรี สัญลักษณ์ ตราหมู (กุน) มีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านทิศตะวันตก คอยปกป้องพระราชอาณาจักร มีเมืองบริวารที่สำคัญได้แก่ เมืองมะลิวัล (เกาะสอง) เป็นต้น

ประชาชนของอาณาจักรตามพรลิงค์ นับถือพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น มีการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ไว้เป็นที่สักการบูชา ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สมเด็จพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ได้โปรดส่งกองทัพเรือไปข้ามทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอลเพื่อโจมตี ประเทศลังกาถึงสองครั้ง ประวัติศาสตร์ลังกาบันทึกไว้ว่า กองทัพของพระเจ้าจันทรภาณุใช้ไม้ซางเป่าลูกดอก และธนูเป็นอาวุธ ในพ.ศ. ๑๘๓๗ อาณาจักรตามพรลิงค์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรสุโขทัย แต่ไม่ใช่เป็นเมืองประเทศราชของสุโขทัยแต่อย่างใด อย่างที่ในประวัติศาสตร์ไทยได้เขียนไว้ปัจจุบัน ต่อมาอาณาจักรตามพรลิงค์ เกิดไข้ห่าระบาดและโจรชวาปล้นเมืองถึง 3 ครั้ง ทำให้พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ปทุมวงศ์ และเมืองนครศรีธรรมราชถึงคราวสูญสิ้นและร้างไปนาน จากนั้นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดให้พระราชโอรส ที่ปกครองกรุงพริบพรี(เพชรบุรี) มาฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราชใหม่ จึงทำให้นครศรีธรรมราช ได้เข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์กับอยุธยาหรือสยามตอนบนอย่างแท้จริง (อยุธยา มีสิทธ์ในดินแดนแห่งนี้เนื่องจากการเจริญมิตรไมตรีดังญาติสนิท ในครั้งสงครามระหว่างพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และท้าวอู่ทอง เพื่อปักปันเขตแดนที่เมืองกำเนิดนพคุณ สงครามครั้งนั้นต่อสู้กันหลายวันทำให้ทหารตายเป็นจำนวนมาก กษัตริย์ทั้งสองอาณาจักรจึงทำไมตรีเป็นพระญาติซึ่งกันและกัน เมื่อกรุงตามพรลิงค์ได้เสื่อสลายลง อยุธยาจึงต้องมาฟื้นฟูเมืองใหม่ และสถาปนาราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช ปกครองอาณาจักรนครศรีธรรมราชต่อมา) ดังนั้นดินแดนลังกาสุกะจึงเข้ารวมกับอยุธยาไปด้วย ระหว่าง พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๘ ได้มีการก่อตั้งอาณาจักรศรีวิชัย (Sri Vijaya) โดยราชวงศ์ ไศเลนทรของชวา มีอาณาเขตครอบคลุม แหลมมลายู เกาะชวา สุมาตรา และควบคุมการเดินเรือในช่องแคบมะละกาโดยมีสายโซ่ขึงกั้นช่องแคบเพื่อเก็บเงินค่าผ่านทางจากเรือที่จะผ่านไปมา เข้าใจว่าศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน(ปัจจุบันมีนักวิชาการบางท่านแย้งว่า น่าจะอยู่บริเวณเขตรอยต่อระหว่างนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี) ประชาชนชาวศรีวิชัยนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานใช้ภาษาสันสกฤต หลวงจีนอี้จิงซึ่งได้เดินทางจากประเทศจีนทางเรือผ่านมาแถบนี้ในเดือน๑๑ พ.ศ. ๑๒๑๔ บันทึกไว้ว่า ประชาชนทางใต้ ของแหลมมลายูนับพุทธศาสนา แต่ได้ติดต่อกับพวกมุสลิมอาหรับที่เดินทางผ่านไปประเทศจีน ศาสนาอิสลามจึงได้ เผยแผ่ไปยังมะละกา กลันตัน ตรังกานู ปาหัง และปัตตานีจนกลายเป็นรัฐอิสลามไป พ.ศ.๑๕๖๘ อาณาจักร์ศรีวิชัยได้ทำสงครามกับอาณาจักรโจฬะในอินเดียใต้ และตกอยู่อำนาจของอาณาจักรมัชปาหิตในชวาใน พ.ศ. ๑๙๔๐

ดินแดนปัตตานีหลังยุคลังกาสุกะ

         ภายหลังจากสิ้นยุค ลังกาสุกะ อันรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมืองท่าแห่งใหม่ได้เกิดขึ้นที่ปัตตานีมีพ่อค้าชาว เปอร์เซีย อาหรับ ญี่ปุ่น จีน และชาวยุโรป เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ สเปน ฯลฯ เข้ามาทำการค้าขายเป็นจำนวนมาก มีท่าเรือน้ำลึกสำหรับขนถ่ายสินค้าไปยังต่างประเทศ พ่อค้าชาวอาหรับเรียกชื่อเมืองปัตตานีเป็นภาษาอาหรับว่า ฟาฎอนี (Fatani)
         แต่เดิมชาวปัตตานีนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ต่อมาศาสนาอิสลามเข้ามายังบริเวณปัตตานีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ประวัติศาสตร์ของรัฐกลันตันระบุว่าในราว พ.ศ. ๑๘๙๓ (ค.ศ. ๑๑๕๐) มีคนมุสลิมจากปัตตานีคนหนึ่งไปเผยแพร่อิสลามในเมืองนั้น ซึ่งแสดงว่าศาสนาอิสลามได้เข้ามาทางปัตตานีก่อนจะสร้างเมืองมะละกาถึง ๒๐๐ ปี นักประวัติศาสตร์ชื่อ d'Eredia เขียนไว้ว่า ศาสนาอิสลามเข้ามายังปัตตานีและปะหังก่อน แล้วจึงเข้าไปสู่มะละกา หลังจากที่ พ่อค้าชาวอาหรับเป็นผู้นำอิสลามเข้ามาเผยแพร่ในปัตตานีประมาณ ๓๐๐ ปีแล้ว เจ้าเมืองปัตตานีจึงเข้ารับนับถือศาสนา อิสลาม P.W.F Wertheim ใน Book van Bonang ได้เขียนไว้ว่า "เจ้าเมืองปัตตานีไม่เชื่อในศาสนาอิสลาม แต่พ่อค้าปัตตานีเป็นมุสลิม" เมื่อชาวเมืองในแถบนั้นได้เข้ามายอมรับในศาสนาอิสลาม สถูปเจดีย์และสิ่งสักการะในศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลามก็ถูกปล่อยปละละเลย ถูกยุคสมัยและกาลเวลากัดกร่อนไป เจ้าเมืองปัตตานีเปลี่ยนจากนับถือพุทธไปนับถืออิสลาม
         ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๗๓-๒๑๐๗ สุลต่าน มุฏ็อฟฟัร ชาห์ (ศรีสุลต่าน) ครองเมืองปัตตานี พระองค์ได้เสด็จมายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อเปิดสัมพันธภาพกับประเทศไทย พงศาวดารปัตตานี ระบุว่าสุลต่านได้ถาม สมุหนายกของพระองค์ว่า "ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างถ้าเราจะไปอยุธยาเพราะพระเจ้ากรุงสยามนั้นมิใช่อื่นจากเรา อีกอย่างหนึ่งการที่สองประเทศ อยู่ด้วยกัน ดีกว่าเราอยู่อย่างโดดเดี่ยว" บรรดามนตรีก็เห็นดีด้วยเพราะจะทำให้ ฐานของพระองค์ สูงยิ่งขึ้นในสายตาของเมืองอื่นๆ 
         พงศาวดารไทยเขียนไว้ว่า ใน พ.ศ. ๒๑๐๖ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองขอ งพม่า ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาพระยาตานีศรีสุลต่าน หรือ สุลต่าน มุชาฟาร์ ชาห์ (Sultan Muzafar Syah) ยกทัพเรือหย่าหยับ๒๐๐ ลำจากปัตตานี มาช่วยกรุงศรีอยุธยารบกับพม่า พระยาตานีศรีสุลต่านเห็นทหารอยุธยาไม่เข้มแข็งจึงเป็นกบฏยกกำลังเข้าไปยึดพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องทรงลงเรือศรีสักหลาดหนีไปเกาะมหาพราหมณ์ แต่พวกทหารอยุธยารวมกำลังกันไล่พวกพระยาตานีลงเรือหนีกลับไปสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงเสด็จกลับวังได้ สุลต่านมุชาฟาร์ สิ้นพระชนม์ ขณะเดินทางกลับ สุลต่านองค์นี้คือผู้ที่สร้างมัสยิดกรือแซะที่ปัตตานี 
           ปัตตานี เป็นส่วนหนึ่ง ของราชอาณาจักรสยาม มาตั้งแต่ กรุงสุโขทัย ในรูปของประเทศราช เนื่องจากได้นครศรีธรรมราช เป็นประเทศราช ปัตตานี ซึ่งเป็นประเทศราช ของนครศรีธรรมราช จนตกอยู่ในอิทธิพลของสุโขทัยด้วย โดยมีนโยบายให้นครศรีธรรมราช คอยควบคุม ดูแลนโยบายการเมืองของปัตตานีอยู่อย่างหลวมๆ เพื่อมิให้เจ้าผู้ครองนครเอาใจออกห่างเอนเอียงไปข้างประเทศอื่นที่จะนำภัยมาสู่ความมั่นคงของราชอาณาจักร ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของ โทเมปีเรส์ชาวโปรตุเกสว่า "ผู้เป็นใหญ่ (ในการบังคับบัญชาราชอาณาจักร) รองลงมา(จากพระเจ้าแผ่นดิน) คืออุปราชแห่งเมืองนครเรียกกัน ว่า "พ่ออยู่หัว"(Poyobya) เขาเป็นผู้ว่าราชการจากปาหังด้วย "หน้าที่ของประเทศราชที่มีต่อ ราชธานีก็คือการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำสงครามกับอริราชศัตรูที่มารุกรานและส่งเครื่องราชบรรณาการ ดอกไม้ทอง เงิน ถวายแก่พระมหากษัตริย์เป็นการถวายความจงรักภักดี ๓ ปีต่อครั้ง ส่วนอำนาจการปกครองภายในเมือง นั้นๆ เจ้าผู้ครองนครมีอิสระที่จะดำเนินการใดๆ ได้ภายใต้ตัวบทกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละท้องถิ่น แต่ไม่มีสิทธิอำนาจ นการทำสนธิ สัญญาใดๆ กับต่างประเทศก่อนจะได้รับความเห็นชอบจากราชธานี เมืองปัตตานีได้รวมเข้าเป็นหนึ่งในอาณาจักรอยุธยาเพราะอาณาจักร์ตามพรลิงค์(นครศรีธรรมราช)ได้เข้ารวมกับอาณาจักรอยุธยา มีการส่งบุหงามาศหรือดอกไม้เงินดอกไม้ทองเข้ามาเป็นเครื่องบรรณาการ ๓ ปีต่อครั้ง แต่เมื่อ่ใดที่กรุงศรีอยุธยาอ่อนแอ ก็มักจะเกิดการแข็งเมืองอยู่เป็นประจำ มีการก่อกบฏขึ้นในพ.ศ. ๒๑๐๖ สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๑๗๘ 
        สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระราช พงศาวดาร กรุงศรีอยุธยา ทุกฉบับ เรียกเมือง ปัตตานี ว่าเมืองตานี เรียกเจ้าผู้ครองนครปัตตานีว่า "พระยาตานีศรีสุลต่าน" บ้าง "นางพระยาตานี" บ้าง พ.ศ. ๒๑๔๔ (ค.ศ. ๑๖๐๑) 
        ชาวฮอลันดา เริ่มเดินทางมาทางแหลมมลายูและปัตตานี มีการเขียนรายงานของฮอลันดาไว้ว่า ได้พบเรือสยามที่ไปค้าที่ปัตตานี พ.ศ. ๒๑๔๙ (ค.ศ. ๑๖๐๖) พ่อค้าชาวฮอลันดาเข้ามาติดต่อค้าขายในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ โดยสร้างคลังสินค้าขึ้นที่ปัตตานีและอยุธยา พ.ศ. ๒๑๗๙ (ค.ศ. ๑๖๓๖) บริษัทการค้าฮอลันดาส่งเรือรบ ๖ ลำ มาช่วยสยามโจมตีปัตตานี ที่แข็งเมือง โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ ต้องให้ฮอลันดาผูกขาดซื้อหนังกวางและไม้ฝางเพื่อส่งไปขายต่างประเทศแต่ผู้เดียว เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๑๙๔ วันวลิต หรือ ฟานฟลีต พ่อค้าชาวฮอลันดา ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พร้อมกับ นายฟอน ซัม และนายมูรไดต์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดกระจกเงาบานใหญ่ที่วันวลิตนำไปถวายมาก พระราชทานช้างมีชีวิตให้ ๒ เชือกเพื่อส่งลงเรือไปปัตตาเวีย ต่อมาวันวลิตได้เดินทางไปปัตตานีและเข้าเฝ้านางพญาปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๑๙๕

ปัตตานีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

        ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ เมื่อตอนที่กรุงศรีอยุธยาแตกนั้น ปัตตานีได้ตั้งตัวเป็นอิสระเช่นเดียวกับชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ สมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สมเด็จกรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท พระยากลาโหมราชเสนา และพระยาราชบังสัน ได้ยกทัพสยาม ราว ๒๐,๐๐๐ คนทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งใช้เรือใบสำเภามีพลแจว รุกเข้าไปยังเมืองตานี กลันตัน ตรังกานู เคดาห์(เกอดะห์หรือไทรบุรี) และปีนัง (เกาะหมาก) ทำให้ปัตตานีเข้าอยู่ในอาณาจักรสยามอีกครั้ง สุลต่านมะหะหมัดหนีไปเมืองรามัณห์และสิ้นพระชนม์ในสนามรบ วังเจ้าเมืองและ มัสยิดกรือแซะอันศักดิ์สิทธิ์ถูกเพลิงไหม้ ต่อจากนั้นกองทัพสยามได้นำชาวปัตตานี และชาวมลายูทางใต้จำนวนนับแสนคนมาอยู่รอบกรุงเทพ คนมลายูพวกนี้ได้เป็นกำลังสำคัญในการขุดคลองแสนแสบเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงทหารไปยังกัมพูชา เมื่อขุดคลองเสร็จก็ตั้งบ้านเรือนทำนาเลี้ยงแพะวัวควาย และขายข้าวหมกไก่ โรตี มะตะบะ อยู่ในบริเวณสองฟากคลองแถบหนองจอก มีนบุรี และ แปดริ้ว จนถึงปัจจุบัน สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงตั้ง ตนกู ลับมิเด็น (ตนกูละมีดีน หรือ ตนกู เกาะมะรุดดีน)ซึ่งเป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองปัตตานีเก่าเป็นรายาหรือเจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ แต่ให้อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าเมืองสงขลา ส่วนพระยาไทร พระยากลันตัน และ พระยาตรังกานู นั้นขอร่วมเป็นขัณฑสีมาต่อกรุงเทพฯ โดยดี ปืนใหญ่ที่กองทัพไทยนำลงเรือสำเภามาจากปัตตานีในสมัยนั้น มีสองกระบอกด้วยกันคือกระบอกที่มีชื่อว่า "ศรีปัตตานี" กับ "กับศรีนาฆารา" ปืนใหญ่ที่ ชื่อ"ศรีนาฆารา ได้ตกลงไปในน้ำทะเลที่ท่าเรือหน้าเมืองปัตตานีระหว่างการขนส่งขึ้นเรือ ส่วนปืนใหญ่ "ศรีปัตตานี"ยาว ๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้วกึ่งกระสุน ๑๑ นิ้ว หล่อด้วยสำริดนั้น ได้จารึกนามลงไว้ที่กระบอกปืนว่า “พระยาตานี” โดยตกแต่ง ลวดลายท้ายสังข์ขัดสีใหม่ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพ 
        พ.ศ. ๒๓๒๙ สมัยรัชกาลที่ ๑ สยามเสียเกาะหมาก(ปีนัง) ให้อังกฤษ เพราะสุลต่านไทรบุรียกเมืองให้อังกฤษเพื่อให้พ้นจากการปกครองของสยาม

พ.ศ. ๒๓๓๒ ปีระกา พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุว่า องเชียงสือ กษัตริย์ญวน ส่งหนังสือมากราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ว่า รายาเมืองตานี ให้นักกุดาสุงถือหนังสือชักชวนให้ยกทัพมาตีกรุงเทพฯ เพราะมีความพยาบาทอยู่กับกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา แต่องเชียงสือมีความจงรักภักดีระลึกพระคุณเมื่อครั้งหนีพวกไกเซินมาอยู่กรุงเทพฯ ดังนั้นจึงทรงให้พระยากลาโหมราชเสนาเป็นแม่ทัพเรือยกไปตีเมืองตานี รายาเมืองตานีสู้มิได้ลงเรือหนีไป แต่ถูกจับได้ในกุฎีพระสงฆ์ในวัดแห่งหนึ่ง แล้วถูกนำตัวไปจำคุกไว้ พ.ศ. ๒๓๓๔ พวกเซี๊ยะ ซึ่งอยู่นอกพระราชอาณาเขต ได้ยกกำลังไปโจมตีเมืองสงขลา กรมการเมืองสู้ไม่ได้หนีไปอยู่เมืองพัทลุง พระยาศรีไกรลาศเจ้าเมืองพัทลุงหนีเข้าป่าไม่คิดต่อสู้ ทางกรุงเทพ ได้ส่งกำลังจากนครศรีธรรมราชไปช่วยสงขลา โจมตีพวกเซี๊ยะแตกพ่ายไป ส่วนพระยาพัทลุงถูกปลดและจำคุก

        ในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ (ค.ศ.๑๘๓๒ ) สมัยรัชกาลที่ ๓ สยามได้ยกทัพไปตีปัตตานีอีกครั้งหลังจากเกิดความวุ่นวาย โดยนำ เชลยศึกไม่น้อยกว่า 4,000 คน มาอยู่ที่สนามควาย (ถนนหลานหลวง)ในกรุงเทพฯ ดังนั้นบริเวณดังกล่าวจึงเป็นแหล่งละครชาตรี และหนังตะลุงจากปักษ์ใต้ จากนั้นไม่กี่ปี นายพ่ายเจ้าเมืองยะหริ่งสิ้นชีวิต ทางสงขลาจึงโยกย้ายเจ้าเมืองยะลา(คนต่อมา) คือนายยิ้มซ้าย ให้ดำรง ตำแหน่งเจ้าเมืองยะหริ่งแทนนายพ่าย และแต่งตั้งนายเมืองบุตรนายพ่าย เป็นเจ้าเมืองยะลา 
        ปี พ.ศ. ๒๓๘๕ (ค.ศ. ๑๘๔๒ ) เกิดสงครามกลางเมืองที่กลันตันระหว่างทายาทเจ้าของเมืองด้วยกัน ไทยได้ส่งพระยาเสน่หามนตรี กับ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญส่ง) ไปไกล่เกลี่ย ในระหว่างนั้นนายยิ้มซ้ายเจ้าเมืองยะหริ่งสิ้นชีวิต จึงย้ายนิยูซุฟ(เจ้าเมืองปัตตานีขณะนั้น) ไปเป็นเจ้าเมืองยะหริ่ง และเชิญตนกู มุฮำหมัด (ตนกู บึซาร์ หรือ ตนกูประสา) ซึ่งเกิด ขัดแย้งกับเจ้าเมืองกลันตัน จนเกิดสงครามกลางเมืองดังกล่าแล้ว มาเป็นเจ้าเมืองปัตตานีขนามนามว่า สุลต่าน มุฮำหมัด ตอนแรกสุลต่านมุฮำหมัดไปสร้างวังที่แหลมตันหยง ต่อมาสร้างวังไหม่ที่จะบังติกอ(วังที่มีอยู่เดี๋ยวนี้) นับตั้งแต่นั้นเมืองปัตตานีจึงมีสุลต่านเชื้อกลันตันปกครองเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ (ค.ศ. ๑๘๕๖) สุลต่านมุฮำหมัดสิ้นชีวิต ศพของพระองค์ถูกฝังที่สุสานตันหยงดาโต๊ะ ชาวปัตตานีรุ่นหลังจึงขนานนามพระองค์ว่า "มัรหูม ตันหยง" และมีผู้ได้แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองต่อๆมาหลายรุ่น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ สมัยรัชกาลที่ ๓ ศูนย์กลางการปกครองของเมืองปัตตานี ได้ย้ายมาอยู่ที่จะบังติกอ สถานที่สำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ วังจะบังติกอ มัสยิดรายา สุสานโต๊ะอาเยาะย่านถนนหน้าวัง แหล่งผลิตเครื่องทองเหลือง ฯลฯ ตลาดการค้าของเมืองปัตตานี เก่า อยู่ที่หัวตลาดบริเวณอาเนาะรู (ต้นกล้าสน) และถนนปัตตานีภิรมย์ เป็นย่านชาวจีนหรือไชน่าทาวน์ในสมัยนั้น สถานที่ที่สำคัญของชาวจีน คือ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง บ้านทรงจีนของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง บ้านพระจีนคณานุรักษ์ และบ้านหลวงสุนทรสิทธิโลหะ ฯลฯ ตั้งพระยาไทรบุรี สมัยรัชกาลที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๘ พระยาไทรบุรี ตวนกู แดอี รายาแห่งเคดะห์ ซึ่งเป็นโอรสของ รายามะระฮุ่ม อดีตรายาแห่งเคดะห์ ได้ทำหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าท่านได้ล้มเจ็บด้วยโรคเรื้อรัง จึงขอให้บุตรชายคนโต คือ ตวนกู อาห์มัด เป็นรายาแห่งเคดะห์แทนซึ่งได้ทรงอนุญาตตามคำขอ และพระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้ตวนกู อาห์มัดเป็นพระยา ฤทธิสงครามภักดี ศรีสุรธรรมมหาราชา มุนินวรวงศา พระยาไทรบุรี และทรงตั้งน้องชาย ตวนกูดิว เป็น พระเคได สวรินทร์ รองผู้ว่าการรัฐเคดะห์

ชายแดนใต้ สมัยรัชกาลที่ ๕

         ด้วยลักษณะรูปแบบการปกครองที่หละหลวมและการคมนาคมที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครองบริเวณชายแดนภาคใต้จึงยากแก่การควบคุมจากเมืองหลวงอีกทั้งผู้คนก็มีความ แตกต่างกันในทางวัฒนธรรมด้านภาษาศาสนาขนบธรรมเนียมประเพณีดังนั้นเมื่อใดที่ สถานการณ์เปิดโอกาสบรรดาดินแดนเหล่านี้ก็จะหาทางแยกตัวออกเป็นอิสระหรือไม่ก็หันเห ไปอยู่ในความปกครองของผู้ที่เข้มแข็งกว่า เช่นขณะที่พระเจ้าปราสาททองทรงขึ้นครองราชย์นั้น เมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ก็พากันแข็งเมือง ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงทรงเล็งเห็นว่าหากปล่อยให้มีการปกครอง (แบบกินเมือง) โดยเจ้าเมืองมีอิสระอย่างเดิมจะเป็นเหตุให้พวกอังกฤษหยิบฉวยโอกาสนำไปเป็นข้ออ้างถึงความไร้สมรรถภาพทางด้านการปกครองของไทย แล้วนำดินแดนไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทั้งนี้เพราะมีชาวเมืองรามันห์ เมืองยะหริ่ง เมืองระแงะ ได้ร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าเมืองว่าใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม กดขี่ข่มเหงราษฎรอยู่เสมอ จึงทรงคิดแผนปฏิรูปการปกครองนำมาใช้ปกครองบริเวณ ๗ หัวเมืองขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลดียิ่งขึ้น 
         พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้ พระณรงค์วังษา เป็นเจ้าเมืองรามันห์ ซึ่งมีเรื่องวุ่นวายหนักกว่าเมืองอื่น และเป็นเมืองต่อแขวงที่อาจเกิดความได้เป็นนิตย์ และทรงยกเงินค่าหางข้าวน้ำมันดินให้สำหรับทำบ้าน ทรงตั้งขุนรองมนตรีเป็นขุนราชมนตรี หะยีมะดงเป็นหมื่นศรีปะกุดา มีการจัดตั้งอำเภอแม่หวาดในเมืองรามันห์ขึ้นใหม่ ต่อมาเจ้าเมืองต่างๆทั้ง๗ หัวเมืองไม่พอใจการปกครองของกรุงเทพฯ เจ้าเมือง ปัตตานี คือตนกูอับดุลกาเดร์หรือพระยาวิชิตภักดี ได้ขัดขืนพระบรมราชโองการ ไม่ยอมให้เจ้าพนักงานของรัฐบาลสยามมาปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบการปกครองแผนใหม่ พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปลดตนกูอับดุลกาเดร์ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองปัตตานี และนำตัวไปกักกันบริเวณไว้ที่จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นเวลา ๒ ปี ครั้นถึงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๔๗ ตนกูอับดุลกาเดร์ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ กลับมาอยู่เมืองปัตตานีได้ หลังจากนั้น ตนกูอับดุลกาเดร์ ก็อพยพไปอยู่ในรัฐกลันตัน เพราะเป็นญาติกับสุลต่านแห่งรัฐกลันตัน จนกระทั่งถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ส่วนเจ้าเมืองระแงะ ถูกเนรเทศไปสงขลา 
         ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีเหตุไม่สงบเกิดขึ้นในท้องที่ต่างๆในภาคใต้ โดยมักจะมีผู้กล่าวพาดพิงไปว่า เบื้องหลังของเหตุการณ์ เนื่องมาจากการสนับสนุนของบรรดาเจ้าเมืองเก่าที่เสียผลประโยชน์ แต่อาจจะเป็นผลมาจากความบกพร่องของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองท้องที่อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ดังที่สมเด็จพระ พุทธเจ้าหลวงทรงบันทึกไว้ว่า "เราไม่สันทัดทางพูดและทำ ในการที่จะปกครองชาติอื่น มันจะตกไปในที่ กลัวไม่ควร กลัว กล้าไม่ควรกล้า ทำในทางที่ไม่ควรจะทำ ใจดีในที่ไม่ควรจะใจดี ถ้าจะใจร้ายขึ้นมาก็ใช้ถ้อยคำไม่พอที่จะ เกลื่อนใจร้ายให้ปรากฏว่าเพราะจะรักษาความสุขและประโยชน์ของคนทั้งปวง ไม่รู้จักใช้อำนาจในที่ควรจะใช้ การที่จะทำได้โดยตรงๆ ก็เกรงอกเกรงใจอะไรไปต่างๆ โดยไม่รู้จักที่จะพูดและหมิ่นอำนาจตัวเอง เมื่อได้เห็นการเป็น เช่นนี้นึกวิตกด้วยการที่จะปกครองเมืองมลายูเป็นอันมาก ขอให้เธอกรมดำรงตริตรองดูให้จงดี" (ม.๓/๔๙ พระราชหัตถเลขาของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง

กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ๖๐/๒๗๗ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๔๗)

         ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ อาณาจักรสยามได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑล โดย บริเวณ ๗ หัวเมืองของปัตตานีได้เป็นมณฑลหนึ่งของประเทศสยาม แยกออกจากมณฑลนครศรีธรรมราช โดยใช้ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล มีพระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค)เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก 
         พ.ศ.๒๔๕๑ สมัยรัชกาลที่ ๕ สยาม ยกรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส ให้แก่ อังกฤษ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เกิดความวุ่นวายต่อต้านรัฐบาลที่ปัตตานี เจ้าหน้าที่รัฐบาลจับกุม หะยีบุละ หัวหน้าผู้ก่อการได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องบาดเจ็บหลายคนจากการปะทะกันอย่างรุนแรง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้มีการยุบเลิกมณฑลปัตตานีแล้วรวมเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราชดังเดิม มีการเปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น"จังหวัด" ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ 

วัน๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้ยกเลิกมณฑลปัตตานี และยุบจังหวัดสายบุรีลงเป็นอำเภอขึ้นต่อจังหวัดปัตตานี

         ตั้งจังหวัดนราธิวาส ที่บ้านบางนรา สมัยรัชกาลที่ ๖ แต่เดิม บ้านบางนรา หรือ มะนาลอ เป็นเพียงหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางนราใกล้กับทะเล ในสมัยรัชกาลที่ ๑ บ้านบางนราถูกจัดอยู่ในเขตปกครองของเมืองสายบุรี ครั้นต่อมาเมื่อปัตตานีได้รับการยกฐานะเป็นมณฑล บ้านบางนราจึงย้ายมาสังกัดเมืองระแงะที่อยู่ในมณฑลปัตตานี กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๙ สมัยรัชกาลที่ ๕ บ้านบางนราได้เจริญเป็นชุมชน ใหญ่ มีการค้าทั้งทางบกและทะเลคึกคักมาก จึงได้ย้ายที่ว่าการจากเมืองระแงะมาตั้งที่บ้านมะนาลอ และในพ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ

ชายแดนใต้ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕

         พ.ศ. ๒๔๗๖ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร์ ได้แต่งตั้งนายแช่ม พรหมยงค์หรือหัจญีชำชุดดีน เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของชาวมุสลิมนิกายซุนหนี่ เพราะจุฬาราชมนตรีทั้ง ๑๓ คนที่แล้วมาล้วนแล้วแต่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ทั้งสิ้น
         พ.ศ. ๒๔๙๐ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี (บิดาของนายเด่น โต๊ะมีนา) ซึ่งเป็นครูสอนศาสนา เรียนจบมาจากเมกกะ เป็นผู้ตั้งโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแบบใหม่แห่งแรกของปัตตานี ชื่อ มัดซาเราะห์ อัลมูอารีฟ อัลวาฎอนียะฮ์ปัตตานี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่ตำบล อาเนาะรู โดยได้รับเงินสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หะยีสุหลงได้ยื่นข้อเรียกร้อง ๗ ข้อต่อรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ขอให้ ๔ จังหวัดเป็นแคว้นหนึ่ง ที่มีผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นมุสลิมจาก ๔ จังหวัด มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการได้ ขอให้เลือกคนมุสลิมมาเป็นข้าราชการ 80% ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ใช้กฎหมายมุสลิม และตั้งกรรมการมุสลิมดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๑

หะยีสุหลงถูกจับกุมข้อหาพิมพ์ใบปลิวกล่าวร้ายต่อรัฐบาล ศาลตัดสินจำคุก ๔ ปี เมื่อพ้นโทษออกมา หะยีสุหลงและลูกชายถูกอุ้มไปฆ่าถ่วงน้ำทะเลสาบสงขลา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ หะยีอามีนบุตรชาย ซึ่งเคยเป็น สส.ปัตตานี ถูกจับข้อหาขบถเพื่อแบ่งแยกดินแดน หนังสือต่างๆถูกเผา เมื่อได้รับการปล่อยตัว หะยีอามีนลี้ภัยไปอยู่รัฐกลันตัน หมู่บ้านดูซงยอ

           -ความเห็นเพิ่มเติม-

หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ มีเชื้อสายอดีตสุลต่านผู้ครองปัตตานีที่อพยพไปอยู่กลันตัน การกระทำของรัฐบาลดังกล่าวทำให้ความรุนแรงในพื้นที่ยุติลงไปได้ชั่วขณะหนึ่ง เพราะความที่ชาวบ้านกลัวอำนาจรัฐ ทำให้ความไม่พอใจรัฐบาลไทยยังคงมีอยู่ในใจชาวไทยมุสลิมอยู่เรื่อยมา เพราะความแตกต่างโดยเฉพาะศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ตรงต่อหน้าที่แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจในบางครั้ง พวกเขาจึงมองว่าถูกรังแก

         บางคนกล่าวว่า "กรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย" ประวัติศาสตร์ไทยที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ โดยรวมแล้วประเทศไทยมีเพียง กรุงเทพฯ อยุธยา และสุโขทัยเท่านั้น ส่วนเชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราชและปัตตานี เป็นเพียงประวัติศาสตร์ประกอบของไทย นอกจากเชียงใหม่แล้ว ส่วนอื่นของประเทศที่ไม่ใช่ภาคกลางและตะวันออกล้วนมีชาติพันธุ์ที่แตกต่างทั้งสิ้น เราควรจะมีตำราประวัติศาสตร์เสียใหม่ ที่ทุกคนไม่ใช่เรียนแต่ประวัติศาสตร์ของคนไทยภาคกลางเท่านั้น แต่มีตำราประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนได้เรียนประวัติศาสตร์ทั้งหมดเหมือนกัน เพื่อหล่อหลอมความเป็นคนไทย ไม่ให้ต้องแตกแยกและดูหมิ่นกันเหมือนทุกวันนี้
           อาเมน!

ประวัติ ปัตตานี แก้

ประวัติจังหวัดปัตตานี

    จากหลักฐานเอกสารโบราณของจีน อาหรับ ชวา มลายู และจารึกของชาวอินเดีย ที่ปรากฎ นามเมืองของรัฐสำคัญแห่งหนึ่งบนแหลมมลายู ซึ่งออกเสียงตามสำเนียงในแต่ละภาษา เช่น หลังยาซูว ,หลังยาซีเจีย (ภาษาจีน พุทธศตวรรษที่ 11-12 และ 16-18) ,ลังคาโศกะ ,อิลังกาโศกะ (ภาษาสันสกฤต ภาษาทมิฬ พุทธศตวรรษที่ 9 และพุทธศตวรรษที่ 16) ,เล็งกะสุกะ (ภาษาชวา พุทธศตวรรษที่ 20) ,ลังคะศุกา (ภาษาอาหรับ พุทธศตวรรษที่ 21) ,ลังกะสุกะ ,ลังกาสุกะ (ภาษามลายู พุทธศตวรรษที่ 24) (wheatly 1961 Sklling 1992:131; อมรา ศรีสุชาติ 2540;กรมศิลปากร 2540:10)
      ชื่อที่ปรากฏนี้ นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชื่อเมืองเดียวกัน ที่เคยตั้งอยู่ในรัฐเคดะห์ ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย และจังหวัดปัตตานีในประเทศไทย แต่ในสมัยหลังศูนย์กลางของเมืองแห่งนี้น่าจะอยู่ในจังหวัดปัตตานี เนื่องจากชาวพื้นเมืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ยังกล่าวว่าเมืองปัตตานี พัฒนาขึ้นมาจากเมืองลังกาสุกะสอดคล้องกับตำนานเมืองไทรบุรีที่กล่าวว่า ราชามะโรงมหาวงค์ทรงสร้างลังกาสุกะบนฝั่งตะวันตกที่เคดะห์ และพระราชนัดดาของพระองค์ได้มาสร้างลังกาสุกะที่ปัตตานี ชาวพื้นเมืองปัตตานีเรียกบริเวณแถบนี้ว่าลังกาสุกะมา จนกระทั่งแม่น้ำปัตตานีเปลี่ยนทางเดิน (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี,2539:107)
      ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ชุมชนลังกาสุกะเริ่มเสื่อมลงไปเนื่องจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และศาสนาวัฒธรรมของชาวเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป นักวิชาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเชื่อว่า ปัตตานีเป็นที่แวะพักจอดเรือเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าระหว่างพ่อค้าชาว อินเดียทางตะวันตกกับพ่อค้าชาวจีนทางตะวันออก และชนพื้นเมืองบนแผ่นดินและตามหมู่เกาะใกล้เคียงต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเชื่อมั่นอีกด้วยว่าปัตตานีเดิมเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ตามที่ปรากฎในเอกสารโบราณที่กล่าวมา (ภัคพดี อยู่คงดี,มปป:2)
      หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงร่องรอยของความเจริญร่งเรืองในอดีตของปัตตานีที่บริเวณอำเภอยะรังเป็นซากร่องรอยของเมืองโบราณขนาดใหญ่ซ้อนทับกันถึง 3 เมือง มีซากเป็นโบราณสถานปรากฏอยู่ไม่น้อยกว่า 40 แห่ง ซากเนินโบราณสถานบางแห่งได้รับการขุดแต่งและอนุรักษ์ไว้ เช่น โบราณสถานบ้านจาเละ 3 แห่ง ซึ่งเป็นซากอาคารศาสนสถานก่ออิฐที่มีการขัดแต่งประดับฐานชั้นล่าง ๆ และยังค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น สถูปจำลองดินเผ่า พระพิมพ์ดินดิบ และดินเผาบางชิ้นมีตัวอักษรซึ่งนักภาษาโบราณอ่านและแปลว่าเป็นอักษรปัลลวะ (อินเดียใต้) ภาษาสันสกฤตเขียนเป็นคาถาเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน พระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์และเศษภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ โบราณวัตถุเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 (กรมศิลปากร, 2535)
      สอดคล้องกับจดหมายเหตุจีนที่ได้กล่าวถึงไว้ นอกจากนั้นหลักฐานที่ได้ขุดค้นพบยังแสดงให้เห็นด้วยว่าบริเวณที่เป็นที่ตั้ง อำเภอยะรังในปัจจุบัน เป็นชุมชนที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียไว้อย่างเต็มที่ มีความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง เช่น บริเวณดินแดนภาคกลางของประเทศไทย และบริเวณคาบสมุทรอินโดจีนด้วย และคงจะเป็นชุมชนที่มีกิจกรรมสืบต่อเรื่อยมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 15 ก่อนที่อาณาจักรศรีวิชัยจะมีอำนาจรุ่งเรืองครอบคลุมคาบสมุทรมลายูในที่สุด (ภัคพดี อยู่คงดี,มปป.:2)
      นักภูมิศาสตร์เชื่อว่า เมืองโบราณขนาดใหญ่ที่บริเวณอำเภอยะรังนั้นหมดความสำคัญลงน่าจะมีเหตุผล ประการหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลช่วงระยะเวลา 1,000 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงไประดับหนึ่งมีผลทำให้ชายฝั่งทะเลถอยห่างออกไปจากเดิม ดังนั้น ที่ตั้งของชุมชนจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นทำเลของการเป็นเมืองท่าค้าขายอีกต่อไป และนำมาซึ่งการย้ายที่ตั้งของเมืองในระยะเวลาต่อมา ซึ่งสัมพันธ์กับตำนานการสร้างเมืองปัตตานีที่กล่าวไว้ในหนังสือหลายเล่ม เช่น Hikayat Patani:Story of Patani ของ A.Teeuw และ D.K.Wyatt:Sajaraj Kerajaan Melaya Patani หรือตำนานเมืองปัตตานีของ lbrahim Syukri เป็นต้น แม้ว่าจะไม่สามารถระบุระยะเวลากำเนิดของเมืองปัตตานีได้อย่างแน่ชัด แต่เมืองปัตตานีก็ได้ปรากฏชื่อและเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นลำดับ
      ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างน้อย เมืองปัตตานี ได้ชื่อว่าเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ปลายแหลมมาลายู มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรม ไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) และอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา ในปี พ.ศ.2054 โปรตุเกสสามารถยึดครองมะละกาได้สำเร็จ และพยายามขยายอิทธิพลทางการค้าขึ้นมาทางตอนเหนือของคาบสมุทรมาลายู ประกอบกับพระราชาธิบดีที่ 2 (พ.ศ.2034-2072) ทรงยินยอมให้โปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานีการค้าในเมืองชายฝั่งทะเล เช่น นครศรีธรรมราช มะริด ตะนาวศรี รวมทั้งปัตตานีด้วย ทำให้ปัตตานีกลายเป็นเมืองท่าหลักเมืองหนึ่ง เป็นที่ตั้งของสถานีการค้าของพ่อค้าทั้งชาวตะวันตกและชาวตะวันออก ทั้งชาวอินเดีย จีน และญี่ปุ่น สินค้าที่สำคัญของเมืองปัตตานียุคนั้น ได้แก่ ไม้กฤษณา ไม้ฝาง เครื่องเทศ ของป่า งาช้าง และนอแรด นอกจากนี้ปัตตานียังเป็นจุดรับส่งสินค้าของนานาชาติ เช่น เครื่องถ้วยชาม อาวุธ ดินปืน ดีบุก และผ้าไหม (สถาบันทักษิณคดีศึกษา: 2529)
 แม้ว่าปัตตานีเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาก็ตาม แต่ด้วยเหตุเมืองที่ปัตตานีมีความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ทำให้เจ้าเมืองปัตตานีต้องการเป็นอิสละหลายครั้ง ดังเช่น

ในปี พ.ศ.2092 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระยาตานีศรีสุลต่านได้นำกองทัพเรือประกอบด้วยเรือหย่าหยับ 200 ลำ ไปช่วยราชการสงคราม แต่เมื่อเห็นว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยาเสียทีพม่า จึงถือโอกาสทำการขบถยกกำลังบุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิหนีข้ามฝากไปประทับบนเกาะมหาพราหมณ์ จนเมื่อกองทัพไทยรวบรวมกำลังได้แล้ว จึงยกกองทัพเข้าโอบล้อมตีกองทหารเมืองตานีจนแตกพ่ายไป

ต่อมาในปี พ.ศ.2146 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีรับสั่งให้ออกญาเดโชยกทัพไปตีเมืองปัตตานี เพื่อยึดเข้าไว้ในพระราชอำนาจ แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากปัตตานีได้รับการช่วยเหลือจากพ่อค้าชาวยุโรป ทั้งอาวุธปืนใหญ่และทรัพย์สินเงินทอง

ในสมัยพระเพทราชา (พ.ศ.2231-2245) เมืองปัตตานีไม่พอใจในการสถาปนาขึ้นใหม่ของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ประกาศไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ทำให้ปัตตานีเป็นอิสระต่อเนื่องมา

จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ.2301 ตลอดมาจนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองปัตตานีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่เมืองโบราณ ยะรังแสดงว่าประชาชนโดยทั่วไปก่อนหน้านั้นนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์ และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม หลังจากที่อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง อิทธิพลของศาสนาอิสลามจากราชวงค์มัชปาหิตในชวาได้แผ่อำนาจเข้ามาสู่แหลม มลายูก่อตัวขึ้นเป็นอาณาจักรมะละกา

ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 แผ่อิทธิพลไปสู่เมืองต่าง ๆ ทำให้เจ้าเมืองเปลี่ยนการนับถือศาสนาเดิมมาเป็นศาสนาอิสลามทั้งหมด ก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการเมือง และการเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคนี้อย่างเข้มแข็ง ศาสนาอิสลามได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นควบคู่ไปกับการค้า มีการก่อสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ มัสยิดที่สำคัญคือ มัสยิดกรือเซะ ซึ่งเป็นมัสยิดใหญ่ประจำเมือง และมัสยิดบ้านดาโต๊ะ บริเวณที่เป็นท่าเรือทางตอนเหนือของอ่าวปัตตานี นอกจากนั้นยังมีมัสยิดและสุเหร่าในเขตชุมชนอิสลามถูกสร้างขึ้นอีกหลายแห่ง


       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325-2352) ทรงโปรดฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกทัพหลวงลงมาปราบปรามพม่าที่มาตีหัวเมืองทางแหลมมลายูจนเรียบร้อย และในปี พ.ศ.2328 กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับที่เมืองสงขลาให้ข้าหลวงเชิญกระแสรับสั่งออกไปยังหัวเมือง ที่เหลือ คือ เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี และเมืองตรังกานู ให้มายอมเป็นเมืองขึ้นเช่นเดิม แต่สุลต่านมูฮัมหมัดพระยาปัตตานีในขณะนั้นขัดขืน กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีรับสั่งให้พระยากลาโหมยกกองทัพไทยลงไปตีเมืองปัตตานีได้ในปี พ.ศ.2329 กวาดต้อนครอบครัวและศาสตราวุธมาเป็นอันมาก รวมทั้งปืนใหญ่ 2 กระบอก แต่สามารถนำไปได้เพียงกระบอกเดียว แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดฯ ให้จารึกชื่อเป็น ”พญาตานี” ซึ่งนับว่าเป็นปืนใหญ่กระบอกใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณหน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร
      ในปี พ.ศ.2332 ตนกูลามิดดินเจ้าเมืองปัตตานีมีหนังสือไปชวนองค์เชียงสือเจ้าอนัมก๊ก ให้ร่วมกันตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักร เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบ จึงโปรดฯ ให้ยกทัพไปตีเมืองปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2351 ดาตะปังกาลันได้ก่อความไม่สงบขึ้น รัชกาลที่ 1 โปรดให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) ยกทัพหลวงออกไปสมทบกับเมืองสงขลา พัทลุง จะนะ ตีเมืองปัตตานีได้สำเร็จ


       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.2352-2367) เกิดความไม่สงบบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงครามและพระยาสงขลา (เถี่ยนจ๋อง) ผู้กำกับดูแลหัวเมืองมลายูแบ่งเมืองตานีออกเป็น 7 หัวเมือง และแต่งตั้งให้พระยาเมืองเป็นผู้ปกครอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2359 เป็นต้นมา ได้แก่

1. เมืองปัตตานี ต่วนสุหลง เป็นเจ้าเมือง 2. เมืองยะหริ่ง นายพ่าย เป็นเจ้าเมือง 3. เมืองสาย นิเดะห์ เป็นเจ้าเมือง 4. เมืองหนองจิก ต่วนนิ เป็นเจ้าเมือง 5. เมืองระแงะ นิดะห์ เป็นเจ้าเมือง 6. เมืองรามันห์ ต่วนมันโซร์ เป็นเจ้าเมือง 7. เมืองยะลา ต่วนยาลอร์ เป็นเจ้าเมือง


(Ibrahim Syukri, 1985 : 61-62 ; ครองชัย หัตถา, 2451 : 140-142)


       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกวิธีการปกครองบ้านเมืองแบบจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2435 เป็นต้นมา จัดการปกครองเป็นแบบ 12 กระทรวง มีกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงการแผ่นดิน โดยให้จัดการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาล ทรงใช้นโยบายประนีประนอมและทรงดำเนินการทีละขั้นตอนโดยไม่ก่อ่ให้เกิดการ กระทบกระเทือนต่อการปกครองของเจ้าเมือง ทั้ง 7 หัวเมือง ในภาคใต้ทรงโปรดฯ ให้จัดแบ่งเป็น 4 มณฑล ได้แก่

๑. มณฑลภูเก็ต จัดตั้งในปี พ.ศ. 2437 ๒. มณฑลชุมพร จัดตั้งในปี พ.ศ. 2439 ๓. มณฑลนครศรีธรรมราช จัดตั้งในปี พ.ศ. 2439 ๔. มณฑลไทรบุรี จัดตั้งในปี พ.ศ. 2440


       มณฑลนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยเมือง 10 เมือง โดยรวมเอาบริเวณ 7 หัวเมืองเข้าไว้ด้วยคือ เมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตานี ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก ยะลา ระแงะ และรามันห์ มีผู้ว่าราชการเมืองดูแล อยู่ในการปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล ปี พ.ศ. 2447 ทรงพระกรุณาโปรดให้แยกหัวเมืองทั้ง 7 ออกจากมณฑลนครศรีธรรมราช มาตั้งเป็นมณฑลปัตตานี พร้อมทั้งเปลี่ยนฐานะเมืองเป็นอำเภอ และจังหวัด ได้แก่

จังหวัดปัตตานี รวมเมืองหนองจิกและเมืองยะหริ่ง จังหวัดสายบุรี รวมเมืองระแงะ จังหวัดยะลา รวมเมืองรามันห์


นอกจากนี้ยังแยกท้องที่อำเภอหนองจิกยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเมืองเก่า ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอมะกรูดและอำเภอโคกโพธิ์ตามลำดับ เมืองปัตตานีเดิมเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอปะกาฮะรัง และจัดตั้งอำเภอขึ้นใหม่อีก 2 อำเภอ คือ อำเภอยะรัง และอำเภอปะนาเระขึ้นกับจังหวัดปัตตานี


       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลจึงต้องตัดทอนรายจ่ายให้น้อยลงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังของ ประเทศ จึงยุบเลิกมณฑลปัตตานี คงสภาพเป็นจังหวัด ยุบจังหวัดสายบุรีเป็นอำเภอตะลุบัน และแบ่งพื้นที่บางส่วนของสายบุรี คือระแงะ และบาเจาะ ไปขึ้นกับจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา จังหวัดปัตตานีมีการปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัด พระยารัตนภัคดี (แจ้ง สุวรรณจินดา) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนแรก ภายใต้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแห่งราช อาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวในปี พ.ศ. 2499 และ พ.ศ. 2505 และใช้บริหารราชการแผ่นดินมาจนทุกวันนี้

--ความเห็นที่มิได้ลงชื่อโดย 171.101.170.70 (พูดคุย | ตรวจ) 16:14, 3 ธันวาคม 2556 (ICT)

กลับไปที่หน้า "จังหวัดปัตตานี"