พระโคตมพุทธเจ้าในศาสนาฮินดู

(เปลี่ยนทางจาก พุทธาวตาร)

พระโคตมพุทธเจ้าในศาสนาฮินดู ปรากฏในศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพระบุว่าพระโคตมพุทธเจ้าเป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุหรือเรียกว่าพุทธาวตาร[3][4] ชาวฮินดูเชื่อว่าพระโคตมพุทธเจ้าเป็นหนึ่งในทศาวตารหรืออวตารทั้งสิบของพระวิษณุหรือในเอกสารไทยเรียกนารายณ์สิบปาง เป็นอวตารที่เก้าและเป็นอวตารล่าสุด[5][6] ถือเป็นกระบวนการกลืนให้เป็นฮินดู[4][7]

เคาตมพุทธะ
गौतम बुद्ध
อวตารของพระวิษณุ
ส่วนหนึ่งของ ทศาวตาร[1]
พุทธาวตาร
ชื่ออื่นมายาโมหะ
เป็นที่บูชาในศาสนาฮินดู
สัญลักษณ์สวัสดิกะ, ธรรมจักร, โมทกะ
คัมภีร์ปุราณะ[2]
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครองตารา
บิดา-มารดา
  • ไชนะ[2] (บิดา)

อวตารของพระวิษณุ แก้

ใน คัมภีร์ปุราณะ ระบุว่าพระวิษณุอวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อหลอกลวงให้ผู้คนปฏิเสธพระเวท[6][8][note 1] ส่วนเอกสารเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชื่อ คีตโควินทะ (Gitagovinda) ของชยเทวะ กวีไวษณพ ระบุว่าว่าพระวิษณุอวตารเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อสั่งสอนมนุษย์และให้มนุษย์เว้นจากการฆ่าสัตว์[5] จากการศึกษาของคอนสตันซ์ โจนส์ และเจมส์ ดี. ไรอัน ระบุว่าพระพุทธเจ้าได้รับการเคารพนับถือจากชาวฮินดู เพราะมองว่า "ศาสนาพุทธคือฮินดูรูปแบบหนึ่ง"[8] ส่วนคมกฤช อุ่ยเต็กเค่งระบุว่าชาวฮินดูมองว่า "ศาสนาพุทธคือฮินดูที่ปฏิรูปแล้ว"[10] แต่พุทธศาสนิกชนไม่ยอมรับว่าพระพุทธเจ้าเป็นอวตารองค์หนึ่งของพระวิษณุ[3]

ในไทย แก้

ในไทยซึ่งมีศาสนาหลักคือศาสนาพุทธมาแต่ดั้งเดิม แม้แต่พราหมณ์ในราชสำนักทุกคนล้วนแต่เป็นพุทธศาสนิกชนที่นับถือเทพเจ้าฮินดูไปด้วย[11] ไม่มีการกล่าวถึงพุทธาวตารเลย ใน คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง ของไทยไม่มีพุทธาวตาร หากแต่มีสมณาวตาร ซึ่งเป็นนักบวชทำหน้าที่แย่งศิวลึงค์จากอสูรตรีบุรัม[12] แต่ใน คำกาพย์เรื่องพระศิวประติมา ซึ่งเป็นเอกสารสมัยรัตนโกสินทร์ กลับปรากฏเรื่องราวของพุทธาวตารไว้ ความว่า[13]

นี่แน่ สิทธารถอาจารย์ สูผู้อวตาร
จากท่านนารายณ์กลายมา
ตามเราสั่งสรรค์บัญชา สอนเหล่าชาวหล้า
บรรดาแพศย์ศูทรทรามพรรณ
พวกนี้มักใหญ่ใฝ่ฝัน แย่งพราหมณ์ครามครัน
เรียนธรรมเวทางค์อย่างพราหมณ์
ไปเกิดเมืองแมนแน่นหลาม เพื่อกันพรรณทราม
ลามปามแปดปนบนสรวง
เราใช้ให้ท่านเทศน์ลวง แพศย์ศูทรทั้งปวง
หายห่วงพระเวทวิทยา
จักได้เกิดในจตุรา บายกันชั้นฟ้า
ไว้ท่าพวกพราหมณ์งามพงศ์
เหตุใดท่านไม่ซื่อตรง ต่อตูผู้ทรง
เดชยงยิ่งลบภพสาม
ไม่ลวงแต่พรรณอันทราม ลวงกษัตริย์พราหมณ์
ลวงลามถึงเหล่าชาวสวรรค์
ให้หลงปลงใจใฝ่ฝัน ในคำรำพัน
แห่งท่านอันอกตัญญู
ลืมละพระเวทเดชตู กล่าวกลบลบหลู่
คิดสู้เราผู้สร้างสรรค์
เรามาไม่นบอภิวันท์ ยุให้ไพร่สรรพ์
คิดหันออกหาจากเรา
กาพย์เรื่องพระศิวประติมา

หลังการอพยพของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูสู่ไทยช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ก็ได้นำคติพุทธาวตารเข้ามาด้วย โดยให้พระพุทธเจ้ามีสถานะเท่ากับเทพฮินดู ซึ่งผิดแผกไปจากระบบจักรวาลวิทยาของไทยที่มองว่าพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเทพเจ้าองค์ใด ๆ[10] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ ลิลิตนารายณ์สิบปาง มีการระบุ "พุทธาวตาร" เป็นครั้งแรก แต่พระองค์มิได้ระบุรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับอวตารนี้เลย หากแต่ทรงกล่าวยกย่องพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า[14][15]

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถ แก้

หมายเหตุ
  1. พระพุทธเจ้าในเอกสารฮินดูให้ข้อมูลต่างจากเอกสารทางพุทธศาสนา Alf Hiltebeitel และนักวิชาการคนอื่น ๆ พบว่าเอกสารบาลีที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในชาดกบิดเบือนเนื้อหาจากตำนานฮินดู อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงธรรมเนียมพื้นถิ่นโบราณ และปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนในยุคแรก ๆ ของศาสนาอินเดียทั้งสอง[9]
อ้างอิง
  1. "Incarnations of Vāsudeva [Chapter 18]". 5 March 2020.
  2. 2.0 2.1 เพชรดา ชุนอ่อน (มกราคม–มิถุนายน 2559). "พุทธาวตารของพระวิษณุกับการพัฒนาการของศาสนาฮินดูในอินเดียระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 4-8". วารสารอักษรศาสตร์ (38:1). p. 210.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 Charles Russell Coulter (2013). Encyclopedia of Ancient Deities. Routledge. p. 109. ISBN 978-1-135-96390-3., เนื้อหาอธิบายว่า: "พุทธศาสนิกชนไม่ยอมรับว่าพระพุทธเจ้าเป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุ"
  4. 4.0 4.1 ราม วชิราวุธ. "ลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ คำนำ". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 James G. Lochtefeld (2002). The Illustrated Encyclopedia of Hinduism: A-M. The Rosen Publishing Group. pp. 73, 128. ISBN 978-0-8239-3179-8.
  6. 6.0 6.1 John Clifford Holt (2008). The Buddhist Viṣṇu: Religious Transformation, Politics, and Culture. Motilal Banarsidass. pp. 18–21. ISBN 978-81-208-3269-5.
  7. เพชรดา ชุนอ่อน (มกราคม–มิถุนายน 2559). "พุทธาวตารของพระวิษณุกับการพัฒนาการของศาสนาฮินดูในอินเดียระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 4-8". วารสารอักษรศาสตร์ (38:1). p. 216.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  8. 8.0 8.1 Constance Jones; James D. Ryan (2006). Encyclopedia of Hinduism. Infobase. p. 96. ISBN 978-0-8160-7564-5.
  9. Alf Hiltebeitel (1990). The Ritual of Battle: Krishna in the Mahabharata. State University of New York Press. pp. 64–68. ISBN 978-0-7914-0250-4.
  10. 10.0 10.1 คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1595
  11. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560, หน้า 15
  12. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560, หน้า 19
  13. แคทรียา อังทองกำเนิด (กรกฎาคม–ธันวาคม 2559). "“พุทธาวตาร” กับ “ทศรถชาดก” : พุทธในพราหมณ์-ฮินดู พราหมณ์-ฮินดูในพุทธ" (PDF). ไทยศึกษา (12:2). p. 27-28.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  14. แคทรียา อังทองกำเนิด (กรกฎาคม–ธันวาคม 2559). "“พุทธาวตาร” กับ “ทศรถชาดก” : พุทธในพราหมณ์-ฮินดู พราหมณ์-ฮินดูในพุทธ" (PDF). ไทยศึกษา (12:2). p. 23.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  15. ราม วชิราวุธ. "ลิลิตนารายณ์สิบปาง ปางที่ ๙ พุทธาวตาร". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้