พี่ชาย My Hero (อังกฤษ: How To Win At Checkers (Every Time)) เป็นภาพยนตร์ไทย กำกับโดยผู้กำกับชาวเกาหลี-อเมริกัน จอช คิม นำแสดงโดย ถิร ชุติกุล, อิงครัต ดำรงค์ศักดิ์กุล, จิณณะ นวรัตน์ และ โทนี่ รากแก่น ภายใต้การควบคุมการผลิตของ อิเล็คทริค อีลล์ ฟิล์ม เป็นภาพยนตร์แนวชีวิต ประเภทการเปลี่ยนผ่านของวัย (coming of age) มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ของพี่ชายที่เป็นเกย์ กับน้องชายที่เป็นชายแท้ และการเกณฑ์ทหารในประเทศไทย และประเด็นเรื่องความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การขายบริการทางเพศของชายรักชาย พิษร้ายแรงของยาเสพติด ความรักต้องร่วมฝ่าฟันของชาวเกย์ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน-คนรวย[1] เนื้อเรื่องมาจากหนังสือ Sightseeing เรื่องสั้น "Draft Day" คือเรื่องของการจับใบดำ-ใบแดง และ "At the Cafe Lovely" โดย รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์

พี่ชาย My Hero
กำกับจอช คิม
เขียนบทจอช คิม
อำนวยการสร้างEdward Gunawan
Chris Lee
อโนชา สุวิชากรพงศ์
นักแสดงนำถิร ชุติกุล
อิงครัต ดำรงค์ศักดิ์กุล
จิณณะ นวรัตน์
โทนี่ รากแก่น
ผู้บรรยายโทนี่ รากแก่น
กำกับภาพนิกร ศรีพงศ์วรกุล
ตัดต่อกมลธร เอกวัฒนกิจ
ดนตรีประกอบBöðvar Ísbjörnsson
ผู้จัดจำหน่ายAdd Word Productions, Chris Lee Productions and Electric Eel Films in association with Hidden Rooster Films
วันฉาย8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 (ปฐมทัศน์ที่เบอร์ลิน)
16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 และ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 (ไทย)
ความยาว80 นาที
ประเทศไทย
ภาษาไทย
ข้อมูลจาก IMDb

ออกฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ในโปรแกรมพาโนรามา Berlin International Film Festival 2015 (Panorama) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ไปคว้ารางวัล เบสต์อินเตอร์เนชันแนลฟีจเจอร์ Best International Feature ออเดียนอะวอร์ด ในเทศกาลฟิล์มเอาต์ซานดิเอโก และเป็นตัวแทนหนังไทย เพื่อไปชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 88 ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best Foreign Language Film Award) และออกฉายในประเทศไทย 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558[2]

เนื้อเรื่อง

แก้

เนื้อเรื่องเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ เด็กกำพร้าวัย 11 ขวบ ชื่อ โอ๊ต มีพี่ชายชื่อ เอก โอ๊ตและเอก กำพร้าสูญเสียพ่อและแม่ ทั้งคู่เลยต้องอาศัยอยู่กับ ป้า และลูกสาวของป้า

เอกเป็นพี่ชายที่แสนดี คอยดูแลและประคบประหงมโอ๊ตอย่างดี อย่างไรก็ตาม เอกเป็นเกย์ คบหากับไจ๋ คนรักเพื่อนชายวัยเดียวกันแต่ฐานะดีกว่า ตัวละครทั้ง 2 ดำเนินชีวิตเฉกเช่นคนปกติธรรมดา จนเมื่อเอกต้องไปเกณฑ์ทหาร โอ๊ตตัดสินใจขโมยของมีค่าไปมอบให้เสี่ยผู้มีอิทธิพลประจำตลาด เพื่ออ้อนวอนขอให้เสี่ยช่วยเหลือพี่ชายของตน ทั้งนี้เสี่ยผู้มีอิทธิพลเป็นเจ้าของบาร์ที่เอกทำงานอยู่

ท้ายสุด เอกจับได้ใบแดง ก่อนจะเข้ากรมกอง เอกได้ไปทำงานขายบริการทางเพศให้กับชายรักชาย โอ๊ตผู้เป็นน้องได้รับรู้ถึงงานที่เขาต้องทำ เอกตัดสินใจบอกเลิกกับแฟนผู้มีเส้นสายจนไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นทหาร ขณะเดียวกัน แฟนก็รู้สึกผิดหวังกับการทำงานขายบริการทางเพศของเอก ที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงน้องและครอบครัว

เอกถูกส่งไปชายแดนภาคใต้ และที่นี่ทำให้เขาต้องเสียชีวิต ฉากสุดท้ายของเรื่องตัดมาที่โอ๊ตตอนโต โดยโอ๊ตตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมใบดำถึงอยู่ที่คนท้าย ๆ ติด ๆ กันไปหมด รวมถึง "ไอ้ตี๋" ลูกชายเสี่ยก็จับได้ใบดำเช่นกัน ภาพในฉากโอ๊ตตอนโต ตื่นขึ้นมาในคอนโดมิเนียม หรูกลางกรุงเทพ ในวันที่เขาจับใบดำใบแดง และท้ายสุดก็ได้ใบดำ

นักแสดง

แก้

งานสร้างภาพยนตร์

แก้

หนังเรื่องนี้เป็นการร่วมทุนหลาย ๆ หุ้นส่วน จากไทย, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย และก็ยังได้รับเงินทุนมาจากองค์กรเฟรมไลน์จากอเมริกา

จอช คิมผู้กำกับชาวเกาหลีที่เกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกา สนใจเรื่องระบบการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยมากหลังจากได้อ่านเรื่องสั้น 'Draft Day' จากวรรณกรรมเรื่อง "Sightseeing" ของรัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ เพราะเป็นระบบที่อยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศเกาหลีที่บังคับให้ผู้ชายทุกคนเป็นทหาร และอเมริกาที่การเป็นทหารเกิดจากความสมัครใจ จึงได้ซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นหนัง ผ่านทางเอเยนต์ที่ดูแลอยู่ที่นิวยอร์ก[3] โดยทั้งสองเรื่องสั้นนั้นไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์เลย แต่รัฐวุฒิก็ยินดีให้ผู้เขียนบทภาพยนตร์สามารถนำไปดัดแปลงได้ หลังจากดราฟท์แรกยังอิงจากต้นฉบับอยู่ ผู้กำกับเดินทางมาประเทศไทยเพื่อศึกษาเรื่องการเกณฑ์ทหารเมื่อ 3 ปีก่อนหน้า และทำหนังสารคดีเรื่อง Draft Day (2013) ถ่ายทอดชีวิตของสาวประเภทสอง 2 คนที่ต้องมาเกณฑ์ทหาร ส่วนประเด็นเนื้อหาเกี่ยวกับหมากรุกนั้น มาจากชีวิตจริงของผู้กำกับ ที่พี่ชาย เขาเป็นคนสอนเล่น และตั้งใจว่าสักวันหนึ่งจะชนะเขาให้ได้[4]

ประเด็นเนื้อหามีตัวละครของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จอช คิม ผู้กำกับและเขียนบท ที่เติบโตในรัฐเท็กซัส เป็นรัฐที่ค่อนข้างมีความเป็นอนุรักษ์นิยม ได้เห็นการนำเสนอตัวละครที่มีความความหลากหลายทางเพศผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ ในลักษณะที่ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเต็มไปด้วยความเศร้า ไม่สมหวังในชีวิต จบลงด้วยความตาย จึงอยากสร้างภาพยนตร์ที่แสดงความสุขสมหวังของตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อสร้างสังคมในแบบที่คนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข[5]

เริ่มทดสอบหน้ากล้องนักแสดงกว่า 50 คนเมื่อเดือนมีนาคม 2557 และถ่ายทำในเดือนมิถุนายนในปีเดียวกัน ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 20 วัน โดยใช้สถานที่ถ่าย 29 แห่ง[6] จิณณะ นวรัตน์ ที่ได้รับบทไจ๋ เดิมจะได้รับบทเป็นเอก แต่มีบทที่ต้องถอดข้างล่าง ซึ่งเกินขอบเขต จึงไปรับบทไจ๋แทน[7] ด้านนักแสดงเด็ก อิงครัต ที่รับบทเป็นโอ๊ตตอนเด็ก ได้คัดเลือกเด็กกว่า 100 คน ทั้ง ๆ ที่ อังครัตได้มาทดสอบบทเป็นคนแรก ๆ ส่วนนักแสดงสมทบ นันทิตา ฆัมภิรานนท์ รับบทนักร้องในบาร์ ได้รับการติดต่อจากจอช คิมโดยตรงเพราะรู้จักจากรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์[8]

การตอบรับ

แก้

ในประเทศไทย หลังจากออกฉาย 2 อาทิตย์ภาพยนตร์ทำรายได้ 6 แสนบาท[9]

ธวัชชัย ดีพัฒนา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร แอตติจูด กล่าวว่า ผู้กำกับซึ่งเป็นคนเกาหลี แต่สามารถถ่ายทอดชีวิตแบบไทยๆ ได้อย่างเข้าใจคนไทยเอามาก ๆ หนังเรื่องนี้ได้ทำลายกำแพงของหนังเกย์แบบเก่าๆ ที่เราคุ้นเคย[10] ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ชมเชยว่า "เล่าเรื่องเกย์ได้ไม่ซ้ำซาก ทำให้เกย์เป็นเรื่องปกติธรรมดา สาระแก่นของหนังอยู่ที่เรื่องอื่น ก็สะท้อนสังคมได้เจ็บแสบลึกซึ้ง"[11] ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับคัดเลือกเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 88 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยบัณฑิต ทองดี นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ให้เหตุผลไว้ว่า "ถือว่าเป็นหนังที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดของปีนี้แล้ว หนังไม่ได้เล่าเรื่องชายรักชายอย่างเดียว หนังเล่าเรื่องอารมณ์ของมนุษย์ได้อย่างดี ถือว่าหนัง พี่ชาย My Hero ชนะอย่างเป็นเอกฉันท์"[12] วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ให้เหตุผลว่า "พี่ชาย my hero มีความน่าสนใจ และแปลกใหม่ ฉายภาพบริบทของสังคมไทย ได้อย่างน่าฉุกคิด นอกจากนี้ยังมองว่าเป็นเรื่องประจวบเหมาะ และสอดคล้องกับบรรยากาศบ้านเมืองในตอนนี้"[13]

เรื่องการตัดต่อ นิ้วกลม ตั้งข้อสังเกตว่า "ผู้กำกับและผู้ลำดับภาพมักเล่นกับห้วงคำนึงในหัวของตัวละคร ที่ชอบคิดไปไกลว่า "worst-case scenario" ของสถานการณ์ย่ำแย่ที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้น จะไปจบลงตรงจุดไหน"[14]

ด้านตัวละคร เนชั่น เห็นว่า ตัวละครมีความแปลกเหมือนหลุดมาจากภาพยนตร์ไทยยุคใหม่ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ถึงช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 ที่ภาพยนตร์ยุคนั้นมีนักเขียนบท ผู้กำกับอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, เป็นเอก รัตนเรือง, คงเดช จาตุรันต์รัศมี รวมถึงนักเขียนปราบดา หยุ่น เนชั่นยังเห็นว่า การแสดงของ ถิร ชุติกุลที่รับบทเอก "น่าจับตามอง"[15] และแนวหน้า ชื่นชมการแสดงของดาราเด็ก อิงครัต ดำรงค์ศักดิ์กุล ผู้รับบทเป็นโอ๊ตว่า "น่าทึ่ง"[16]

รางวัล

แก้

รางวัลต่างประเทศ

แก้
  • Los Angeles Asian Pacific Film Festival 2015, USA รางวัล Audience Award for Best Narrative Feature
  • Film Film Out San Diego LGBT Film Festival 2015, USA รางวัล Audience Award for Best International Feature Film
  • Toronto Inside Out LGBT Film Festival 2015, USA รางวัล Jury Award for Best International First Feature Film
  • Tel Aviv LGBT Film Festival 2015, Israel รางวัล Audience Award for Best Feature Film
  • Long Beach QFilm Festival 2015, USA รางวัล Jury Award for Best Narrative Feature Film
  • Oslo/Fusion International Film Festival 2015, Norway รางวัล Youth Jury Award for Best Film
  • Torino LGBT Film Festival 2015, Italy รางวัล Special Jury Mention for Best Feature
  • Miami LGBT Film Festival 2015, USA รางวัล Runner-Up Jury Award for Best Feature

รางวัลในประเทศไทย

แก้
ปี พ.ศ. รางวัล สาขา ผล
2559 รางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 6 รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รองชนะเลิศ
รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Josh Kim) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (อิงครัต ดำรงศักดิ์กุล) เสนอชื่อเข้าชิง
2559 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 25 รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Josh Kim) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ถิร ชุติกุล) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (อิงครัต ดำรงศักดิ์กุล) ได้รับรางวัล
รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Josh Kim) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
2559 รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 24 รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Josh Kim) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (อิงครัต ดำรงศักดิ์กุล) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ถิร ชุติกุล) ได้รับรางวัล
รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Josh Kim) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลนักทำหนังหน้าใหม่ยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
2559 Starpics Awards ครั้งที่ 13 รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล
รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Josh Kim) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (อิงครัต ดำรงศักดิ์กุล) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ถิร ชุติกุล) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Josh Kim) ได้รับรางวัล
รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
2559 คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 13 รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (อิงครัต ดำรงศักดิ์กุล) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ถิร ชุติกุล) ได้รับรางวัล
รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Josh Kim) เสนอชื่อเข้าชิง

อ้างอิง

แก้
  1. หนังทิ่มใจไปไกลระดับโลก โทนี่ อินจัด! น้ำตาแตก
  2. http://joshkim.tv/film/winatcheckers/
  3. ลาไทย! แต่ยังไปฉายโชว์ต่อค่อนโลก แรงร้ายเริด! กะซวกใจ!
  4. ‘จอช คิม”ผู้กำกับฯ‘พี่ชาย My Hero’ / โดย ช้างน้อย[ลิงก์เสีย]
  5. "พี่ชาย My Hero" ผ่านแว่นผู้กำกับ-โปรดิวเซอร์ ซูมมิติความหลากหลายทางเพศ มติชน
  6. "10 สิ่งควรรู้ก่อนไปดู HOW TO WIN AT CHECKER (EVERYTIME)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-23. สืบค้นเมื่อ 2015-10-15.
  7. ขายตัวเสพยา ซ่อนปมไฟใต้ โกงเกณฑ์ทหาร หนังเจ๋งจัดเจ็บ
  8. พอใจเบ้าหน้าแบบนี้ เบลล์ ซุ่มแซ่บหนุ่มแน่น?!?
  9. พี่ชาย My hero นิมิตรหมายที่ดีของหนังไทย ไทยรัฐทีวี
  10. บีบคั้นหัวใจ! มาริโอ้ ,ณเดชน์ ต้องดู! พี่ชาย my hero หนังตอกหน้าสังคมไทยๆ ไทยรัฐ
  11. ตีแตกวงจรอุบาทว์ หนังดีมากๆ จากใจ ผู้กำกับพันล้านโต้ง ถึง จอช คิม
  12. พี่ชาย My Hero เฉือนชนะ ฟรีแลนซ์ ตัวแทนหนังไทยชิงออสการ์ 2016![ลิงก์เสีย]
  13. "พี่ชาย My hero" มีลุ้นชิงออสการ์
  14. "พี่ชาย My Hero" หนังเรื่องนี้มีดีอะไร? คอลัมนิสต์จึงเขียนถึงพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
  15. Playing to win เก็บถาวร 2015-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เนชั่น
  16. คนเฝ้าจอ : พี่ชาย MY HERO แนวหน้า

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้